วิเคราะห์ : ประชาธิปไตยแผนใหม่ในจีน – ‘สีจิ้นผิง’ผู้สืบทอดระเบียบเศรษฐกิจเสรีนิยม [วิกฤติศตวรรษที่21]

วิกฤติประชาธิปไตย (35)

สีจิ้นผิงผู้สืบทอดระเบียบเศรษฐกิจเสรีนิยม

การประชุมสุดยอด กลุ่ม 20 ที่กรุงบัวโนสไอเรส นครหลวงของอาร์เจนตินา ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม 2018 เป็นที่คาดหมายกันว่าจะไม่ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันเป็นชิ้นเป็นอันอะไร เนื่องจากมีความแตกต่างทางความคิดกันมากในกลุ่มผู้ร่วมประชุมในเรื่องการจัดการปัญหาเศรษฐกิจ-การเงินโลก

จุดเด่นของเหตุการณ์กลายเป็นเรื่องการพบปะนอกรอบระหว่างสีจิ้นผิงผู้นำจีนกับประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐ ในเรื่อง “สงครามการค้า” ที่ไต่ระดับจนน่าหวาดเสียวว่าจะเป็นชนวนให้เกิดภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ

ผลปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายประกาศ “หยุดยิง” ชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน เพื่อเปิดการเจรจาที่ไม่รู้ว่าจะลงเอยอย่างไร

อีกเหตุการณ์หนึ่ง ได้แก่ การลงนามในข้อตกลงการค้าใหม่ ระหว่างสหรัฐ-เม็กซิโก-แคนาดา ที่ผู้นำสหรัฐเองประกาศว่าจะยกเลิกข้อตกลงนาฟต้าเดิมที่ไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐ และเจรจาข้อตกลงใหม่ที่ให้สหรัฐเป็นอิสระขึ้นและปิดล้อมทางเศรษฐกิจต่อจีนพร้อมกันไป

เหตุการณ์ท้ายสุด ได้แก่ กรณีภาวะโลกร้อนที่สหรัฐยืนยันการออกจากข้อตกลงปารีส การใช้พลังงานจากทุกแหล่ง ไม่ร่วมกับอีก 18 ประเทศ และสหภาพยุโรป ที่ยืนยันว่าข้อตกลงปารีสไม่อาจหวนกลับได้และจะปฏิบัติตามความตกลงนั้น จนมีการพูดเล่นกันว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมกลุ่ม 19

ที่น่าสังเกตได้แก่ คำปราศรัยของสีจิ้นผิงในการประชุม หัวข้อ “มองข้ามขอบฟ้า และนำพาเศรษฐกิจโลกไปในทิศทางที่ถูกต้อง”

สีเน้นว่า “เราต้องยึดมั่นต่อการเปิดกว้าง ร่วมมือและส่งเสริมระบบการค้าแบบพหุภาคี… เราจะต้องส่งเสริมการค้าเสรีและระบบการค้าเสรีพหุภาคีที่ยึดกฎระเบียบ”

คำปราศรัยของสีจิ้นผิง ประกอบด้วยสามส่วน ได้แก่

1) ส่วนวิเคราะห์สถานการณ์ ได้แก่ การชี้ว่า

ก) ผลกระทบของวิกฤติการเงินโลก 2008 ยังคงดำรงอยู่จนถึงทุกวันนี้

ข) ผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกรายใหม่ (ได้แก่จีน) กำลังเข้ามาแทนที่ผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกรายเก่า (สหรัฐ)

ค) ช่องว่างทางความมั่งคั่งขยายตัว ความขัดแย้งทางสังคมรุนแรงขึ้น

ง) การปฏิวัติเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมครั้งใหม่ ก่อให้เกิดการแปรโฉมทางดิจิตอลของเศรษฐกิจโลก

2) ส่วนชี้แนะแนวทางเดินต่อไปของเศรษฐกิจโลก คือ

ก) การยึดมั่นในวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์ในการร่วมมือกัน เหมือนเมื่อสิบปีก่อนในการช่วยกันแก้ปัญหาวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นในปี 2008 และประธานาธิบดีบุชของสหรัฐเองเป็นผู้จัดการประชุมสุดยอดครั้งแรกนี้

ข) การร่วมมือแบบชนะ-ชนะเป็นทางเลือกเดียวของเรา

ค) การสร้างหุ้นส่วนเป็นสินทรัพย์ทรงค่าที่สุดของกลุ่ม 20

ง) การปฏิรูปองค์การการค้าโลก ไม่ให้ประเทศใดประเทศหนึ่งมาครอบงำ

จ) การพัฒนาใดๆ ต้องมุ่งเน้นเพื่อการสร้างความพึงพอใจ ความสุข และความมั่งคั่งของประชาชน

3) ส่วนที่ให้ความมั่นใจว่าจีนเป็นหุ้นส่วนที่ไว้วางใจได้ คือ

ก) จีนยึดมั่นในแผนพัฒนาของตน เช่น การทำให้ความยากจนหมดไป

ข) จีนจะเปิดตลาดของตนมากขึ้น ขยายการนำเข้า

ค) ปฏิรูปโดยให้ความสำคัญแก่ตลาดมากขึ้น คุ้มครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน สนับสนุนการแข่งขันที่เป็นธรรม

(ดูคำปราศรัยเต็มของสีจิ้นผิง หัวข้อ “Look Beyond the Horizon and Steer the World Economy in the Right Direction ใน chinadaily.com.cn 01.12.2018)

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องแปลกมากอย่างหนึ่ง เพราะหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐได้ชื่อว่าเป็นผู้ก่อตั้ง “ระเบียบเศรษฐกิจเสรีนิยม” ขึ้น ประกอบด้วยธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ และข้อตกลงเบรตันวูด เป็นต้น และสร้างกรอบโครงสร้างวิธีดำเนินงานการค้าระหว่างประเทศขึ้น

ส่วนจีนได้ชื่อว่าเป็นคอมมิวนิสต์ตัวกลั่น เป็นปฏิปักษ์กับตลาดเสรี แต่ถึงปัจจุบันกลายเป็นว่าสหรัฐหันไปหาลัทธิปกป้องการค้า ลัทธิปฏิบัติการโดยลำพัง ทำลายระเบียบเศรษฐกิจเสรีนิยมและกรอบวิธีดำเนินงานการค้าระหว่างประเทศลง และจีนกลับเป็นผู้ส่งเสริมการค้าเสรี

เรื่องแบบนี้มีที่มาที่ไปของมัน เริ่มต้นด้วยประชาธิปไตยแผนใหม่ในจีน

ประชาธิปไตยแผนใหม่ในจีน

เมื่อจีนได้รับการปลดปล่อยในปี 1949 สภาพสังคมเป็นสังคมเกษตรโดยแท้ ไม่มีพื้นฐานอันใดที่จะดำเนินการปฏิวัติสังคมนิยมได้ นักวิชาการบางคนมีความเห็นว่า การต่อสู้ที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้น เนื้อแท้คือการปฏิวัติของชาวนาในสังคมก่อนทุนนิยม

ผู้นำจีนได้ส่งสัญญาณไปยังสหรัฐว่า ตนจะไม่ปฏิวัติสังคมนิยม แต่จะพัฒนาทุนนิยมของตนให้เข้มแข็ง

แต่สหรัฐขณะนั้นกำลังสนับสนุนจีนก๊กมินตั๋งเต็มตัว มีความคิดที่จะเปลี่ยนระบอบเหมาเป็นระบอบเจียงไคเช็กมากกว่า เข้าปิดล้อมจีนจนเป็นสาเหตุให้เกิดการปะทะกันในสงครามเกาหลี

จีนจึงเหมือนพัฒนาระบบทุนของตนไปโดยลำพัง

ความช่วยเหลือช่วงต้นจากสหภาพโซเวียตมีความสำคัญไม่น้อยในการวางรากฐานอุตสาหกรรมของจีน ได้ยุติลงฉับพลันในต้นทศวรรษ 1960 หลังการพิพาทกันในหลายเรื่องที่เริ่มตั้งแต่ปี 1956

ตั้งแต่ต้น จีนเรียกระบอบปกครองของตนว่า “ประชาธิปไตยแผนใหม่” ต่างกับเสรีประชาธิปไตยของตะวันตก และต่างกับประชาธิปไตยระบบโซเวียต (สภาประชาชน) ของสหภาพโซเวียต

ประธานเหมากล่าวถึงความหมายของประชาธิปไตยแผนใหม่ว่าเป็น “การพัฒนาทุนนิยมแห่งชาติภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์” ขยายความได้อีกว่า การพัฒนาทุนนี้เป็นเบื้องต้นเพื่อไปสู่ระบบสังคมนิยมและระบบคอมมิวนิสต์ในที่สุด

แนวคิดนี้ปรากฏเป็นสัญลักษณ์ดาวห้าดวงบนธงชาติจีน ดาวดวงใหญ่ที่สุดหมายถึงพรรคคอมมิวนิสต์ ดาวเล็กอีกสี่ดวงหมายถึง

ก) ชนชั้นคนงาน (มีน้อยกว่าร้อยละ 5 ของประชากรทั้งหมด ถ้านับรวมคนจนในเมืองที่ถือว่าเป็นพลังปฏิวัติสังคมนิยมก็น้อยกว่าร้อยละ 7)

ข) ชาวนา (ราวร้อยละ 88)

ค) นายทุนน้อยในเมือง

และ ง) นายทุนชาติ

ประชาธิปไตยแผนใหม่ของจีนได้ผ่านร้อนผ่านหนาวและการพลิกผันของสถานการณ์โลกมามาก ในปัจจุบันเราไม่ได้ยินคำว่าประชาธิปไตยแผนใหม่อีก

แต่ได้ยินคำอย่างเช่น “สังคมที่นิยมที่มีการพัฒนาในระดับปานกลางแทน” เนื่องจากว่าจีนได้พัฒนาทุนแห่งชาติ จนกลายเป็นทุนข้ามชาติไปแล้ว

แต่ว่าหัวใจหลักของประชาธิปไตยแผนใหม่ยังคงดำรงอยู่ ได้แก่ การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์

ในสมัยของประธานเหมาเจ๋อตงต้องเผชิญกับการท้าทายอย่างหนักหลายเรื่องพร้อมกัน ได้แก่ ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงในเมืองตั้งแต่สมัยเจียงไคเช็กที่ระบาดไปทั่วประเทศ

ทองคำที่เป็นทุนสำรองถูกขนย้ายไปที่ไต้หวัน

การปิดล้อมของสหรัฐจนกระทั่งจีนต้องเข้าร่วมสงครามเกาหลีในปี 1950 ซึ่งกองทัพประชาชนจีนก็ประกอบด้วยชาวนาเป็นสำคัญ ต่อมาต้องพิพาทกับสหภาพโซเวียต กล่าวได้ว่าถูกคุกคามทั้งปัญหาภายในและจากสหรัฐและสหภาพโซเวียต เพื่อรับมือกับการท้าทายและการคุกคามดังกล่าว ระบอบเหมาใช้หลักปฏิบัติที่สำคัญ ได้แก่

ก) การอาศัยชนชั้นคนงานและชาวนาเป็นพลังหลักในการปฏิวัติของจีนต่อไป ในช่วงนี้มีการเคลื่อนไหวใหญ่สองครั้งได้แก่ “การก้าวกระโดดใหญ่” (1958-1963 ตามแผนพัฒนาห้าปีฉบับที่สอง) เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและการเกษตรโดยเฉพาะในชนบท และ “การปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรมชนชั้นกรรมาชีพ” (1966-1976) ในการเคลื่อนไหวนี้มีการนำนักศึกษาราว 40 ล้านคนเข้าไปทำงานในชนบทถึงสามระลอกใหญ่ ระหว่างปี 1950-1952 ปี 1968-1970 และ 1974-1976 เป็นการเพิ่มกำลังงานที่มีคุณภาพสู่ชนบท พร้อมกับแก้ปัญหาการว่างงานในเมืองไปด้วย

ข) การปฏิวัติต่อเนื่องไม่หยุดให้นักลัทธิแก้และพวกเดินหนทางทุนนิยมเพียงหยิบมือเดียวขึ้นมากุมอำนาจในพรรคได้

ค) การพึ่งตนเองและเศรษฐกิจยามสงครามมีการเตรียมรับมือกับสงครามกับสหรัฐและสหภาพโซเวียตอย่างเต็มที่ จีนตั้งตัวเองเป็นป้อมปราการปฏิวัติของประเทศโลกที่สาม ต่อสู้กับโลกที่หนึ่ง และโลกที่สองคือสหรัฐและสภาพโซเวียต เช่น การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตนอย่างรวดเร็ว การย้ายฐานอุตสาหกรรมจากชายทะเลตะวันออก ลึกเข้ามาในแผ่นดิน เผื่อไว้สำหรับการถูกโจมตีจากสหรัฐ และคำขวัญ “ขุดอุโมงค์ให้ลึก สะสมธัญญาหารให้มาก” เป็นต้น

ง) การปฏิรูปที่ดินอย่างถึงราก ไม่เพียงนำที่ดินทำกินมากระจายแก่ชาวนาผู้ไถหว่านเท่านั้น ยังจัดขึ้นเป็นระบบนารวมและคอมมูนขึ้นด้วย การแจกที่ดินให้แก่ชาวนานั้นก่อให้เกิดความหลากหลายในการผลิตตามสภาพทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม ช่วยทำให้ชนบทแยกตัวจากภาวะเงินเฟ้อรุนแรงในเมืองได้ ระบบนารวมและคอมมูนนำให้การเกษตรและเศรษฐกิจในชนบทรวมเข้าเป็นเศรษฐกิจแห่งชาติ เป็นการสะสมทุนเบื้องต้นสำหรับการอุตสาหกรรมทั้งในชนบทและในเมือง

มาสมัยเติ้งเสี่ยวผิง เห็นได้ว่าการปฏิวัติโดยอาศัยชนชั้นชาวนา-กรรมกรอย่างที่กระทำในสมัยประธานเหมาถึงจุดอิ่มตัว หมดพลังที่จะนำให้ประเทศทันสมัยและพ้นจากความยากจนได้ การสะสมทุนเพื่อการอุตสาหกรรมในชนบทก็ถึงขั้นพอสมควรแล้ว ทั้งสถานการณ์สากลก็เปลี่ยนไปโดยสหรัฐหันมา “เล่นไพ่จีน” เปิดโอกาสให้จีนเข้าถึงเงินทุน เทคโนโลยีและตลาดเสรีจากตะวันตก จึงได้ปรับกระบวนทัศน์การบริหารปกครองใหม่ เพิ่มความสำคัญของเศรษฐกิจแบบตลาดและชนชั้นนายทุนในการวางแผน

เรียกว่า “ระบบตลาดแบบสังคมนิยม” หรือ “สังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะของจีน” มุ่งหน้าพัฒนาพลังการผลิตให้สูงขึ้น ให้บางพื้นที่รวยก่อน

อย่างไรก็ตาม เติ้งเสี่ยวผิงก็ไม่ได้ละเลยชนบท ในช่วงนี้ยังมีการประกันกรรมสิทธิ์รวมหมู่ของที่ดิน สิทธิการใช้ที่ดินของชาวนา และส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจชนบท โดยใช้ “วิสาหกิจเมืองและชนบท” เป็นกลไกหลัก

ซึ่งเจียงเจ๋อหมิน (ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค 1989-2003) ได้ทำต่อ

การให้ความสำคัญแก่การพัฒนาอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลโดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 1990 ได้ก่อปัญหาความไม่สมดุลรุนแรงระหว่างเมือง-ชนบท การไม่สนใจสิทธิของชาวนาหรือการปกครองตนเองในชนบทและการพัฒนาชนบทน้อยเกินไป การแก้วิกฤติการเงินปี 1997-1998 เอื้อต่อเมืองยิ่งกว่าชนบท เหล่านี้สร้างความขัดแย้งระหว่างชาวนากับรัฐบาลท้องถิ่นในชนบทอย่างกว้างขวาง

ฝ่ายนำจีนในสมัยหูจิ่นเทา (ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคปี 2002-2012) จึงได้ปรับนโยบายทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่อีกครั้ง เสนอปัญหาชนบทจีนสามประเด็นได้แก่ การเกษตร พื้นที่ชนบท และชาวนา ได้รับความสนใจอย่างเต็มที่ ก่อรูปเป็นนโยบายชนบทสามประเด็น ตั้งแต่ปี 2003 ปัจจัยการผลิตได้แก่ทุนและแรงงานได้ไหลสู่ชนบท

ในปี 2005 มีการเสนอโครงการ “สังคมนิยมในชนบทใหม่” ก่อให้เกิดการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านหยวน เพื่อแก้ไขความไม่สมดุลในการพัฒนาระหว่างเมือง-ชนบท การลงทุนโดยตรงของรัฐบาลได้สร้างมูลค่าทางกายภาพขึ้นมากในชนบท ประมาณว่า มูลค่าสินทรัพย์ที่เป็นจริงของชาวนาเพิ่มจาก 10 ล้านล้านหยวนในปลายทศวรรษ 1990 เป็นกว่า 100 ล้านล้านหวนในปัจจุบัน กระตุ้นการบริโภคและการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ในปี 2000-2003 ยอดขายปลีกในชนบทจีนมูลค่าราว 100 พันล้านหยวน แต่ในปี 2004 ยอดขายปลีกเพิ่มขึ้นเป็น 231.2 พันล้านหยวน (ดูบทความของ Sit Sui ชื่อ Rural Communities and Economic Crises in Modern China ใน monthlyreview.org ฉบับเดือนกันยายน 2018)

ในสมัยสีจิ้นผิง เขาเห็นว่าจีนใหญ่เกินไปกว่าที่จะซ่อนตัว จำต้องก้าวขึ้นมามีบทบาทบนเวทีโลก

เขามีแผนการใหญ่ในการพัฒนาจีนสู่ระบบสังคมนิยมที่ก้าวหน้าปานกลางภายในปี 2035

ด้านหนึ่งคือ โครงการหนึ่งแถบหนึ่งทาง

อีกด้านหนึ่งคือ การฟื้นพลังของชนบทให้ทัดเทียมการพัฒนาของเมือง และการสร้าง “ประเทศจีนที่สวยงาม” เป็น “ผู้ถือคบไฟแห่งความพยายามของโลกในการสร้างอารยธรรมนิเวศ”

ประเทศจีนที่สวยงามนี้เป็นทั้งในเมืองและชนบท

แต่สีจิ้นผิงได้กล่าวปราศรัยในหลายที่ให้ความสำคัญแก่ชนบทจีนที่สวยงาม เขาชี้ให้เห็นตัวอย่างจากมณฑลเจ้อเจียงที่ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาได้สร้าง “หมู่บ้านที่สวยงามนับหมื่นแห่ง”

เมื่อถึงปี 2016 หมู่บ้านร้อยละ 85 ของมณฑลได้รับการ “ยกเครื่อง” ใหม่ (ดูข่าวหัวข้อ Xi stress efforts to build beautiful countryside with pleasant living environment ใน zinhuanet.com 23.04.2018)

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการสร้างชนบทที่เข้มแข็งของจีนมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างความทันสมัยและปฏิรูปเศรษฐกิจ-สังคมจีนให้เป็นอย่างที่เป็นอยู่ แต่จีนยังต้องเดินหน้าต่อไป

ฉบับหน้าจะกล่าวถึงจีนกับการก้าวไปบนหนทางโลกาภิวัตน์ที่ไม่อาจหวนกลับ และสงครามการปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ระหว่างจีนกับสหรัฐ