บทวิเคราะห์ : อนาคต “เบร็กซิท” กับหนทางที่เป็นไปได้

หลังชาวอังกฤษทำประชามติตัดสินใจแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2016 ด้วยสัดส่วน 52 เปอร์เซ็นต์ ต่อ 48 เปอร์เซ็นต์

คำว่า “เบร็กซิท” ก็กลายมาเป็นประเด็นหลักใหญ่ในวงการการเมืองของประเทศอังกฤษนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การแยกตัวนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในทันที

แต่กำหนดไว้ในวันที่ 29 มีนาคมปี 2019 หรืออีกราวๆ 3 เดือนข้างหน้า

การเจรจาระหว่างอังกฤษและอียู มีมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2016 โดยประเด็นหลักๆ คือข้อตกลงในการ “แยกตัว” ที่เป็นคำตอบว่าอังกฤษจะแยกตัวออกจากอียูอย่างไร

แต่ไม่ได้พูดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้น

 

ข้อตกลงดังกล่าวรู้จักกันในนาม “ข้อตกลงแยกตัว” โดยสิ่งที่ทั้งอังกฤษและอียูต้องตกลงกันมีประเด็นหลักคือ หนึ่ง จำนวนเงินที่อังกฤษจะต้องจ่ายให้กับอียู เพื่อแยกตัวออกจากกัน

ซึ่งนั่นสามารถตกลงกันได้ด้วยจำนวนเงินราว 39,000 ล้านปอนด์ หรือราว 1.6 ล้านล้านบาท

สอง เป็นประเด็นเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในอียู และชาวอียูที่อาศัยอยู่ในอังกฤษ รวมไปถึงการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดชายแดนประเทศทางกายภาพที่เรียกว่า “ฮาร์ดบอร์เดอร์” หรือชายแดนมีด่านศุลกากรและตรวจคนเข้าเมืองระหว่าง “ไอร์แลนด์เหนือ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษและประเทศไอร์แลนด์ เส้นเขตแดนที่จะกลายเป็นเขตแดนทางบกแห่งเดียวที่กั้นระหว่าง “อังกฤษ” และ “อียู” ในอนาคต

นอกจากนี้ สองฝ่ายยังมีข้อตกลงเพื่อให้มี “ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน” เพื่อเปิดทางให้อังกฤษและอียูได้มีช่วงเวลาในการเจรจาทางการค้าและเปิดทางให้ภาคธุรกิจได้มีโอกาสได้ปรับตัว

และนั่นหมายความว่าหากมีความเห็นชอบร่วมกันในเรื่อง “ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน” แล้ว ในช่วงเวลาระหว่าง 29 มีนาคม 2019 จนถึง 31 ธันวาคม 2020 ช่วงระยะเวลาเกือบๆ 2 ปีนี้จะยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากนัก

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ร่าง “ปฏิญญาทางการเมือง” ร่วมกันเอาไว้เพื่อตั้งเป้าในการหารือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

 

เวลานี้ผู้นำอียู 27 ชาติได้ลงนามใน “ข้อตกลงแยกตัว” และ “ปฏิญญาทางการเมือง” ไปแล้ว และเป็นหน้าที่ของเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษที่จะต้องโน้มน้าวให้บรรดาสมาชิกรัฐสภาอังกฤษยกมือสนับสนุนข้อตกลงดังกล่าว

ทว่านั่นดูเหมือนจะไม่เกิดขึ้นเมื่อเมย์หยั่งเสียงแล้วยอมรับว่า “ไม่มีเสียงสนับสนุนมากพอ” จนต้องเลื่อนการลงมติซึ่งกำหนดเดิมต้องมีขึ้นในวันที่ 11 ธันวาคม ออกไป และเดินหน้าขอเจรจากับอียูใหม่ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์

กระทั่งถูกพรรคอนุรักษนิยมเปิดให้ลงคะแนนไม่ไว้วางใจ อย่างไรก็ตาม เมย์รอดพ้นการถูกปลดจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคไปได้

ล่าสุดนายกรัฐมนตรีอังกฤษกำหนดวันลงมติใหม่ ให้มีขึ้นในช่วงกลางเดือนมกราคม 2019

ข้อตกลงดังกล่าวที่ “เมย์” ได้ทำไว้กับ “อียู” นั้นมีส่วนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน นั่นก็คือเรื่องเกี่ยวกับชายแดนระหว่างไอร์แลนด์และไอร์แลนด์เหนือซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษ

สำหรับ “อียู” และ “อังกฤษ” เองนั้นพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดด่านศุลกากร และการตรวจคนเข้าเมืองขึ้นมาอีกครั้ง เนื่องจากขัดต่อ “ข้อตกลงสันติภาพกู๊ดไฟรเดย์” ที่ไอร์แลนด์ทำไว้กับอังกฤษ นอกจากนี้ ชายแดนลักษณะดังกล่าวยังจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจที่สินค้าเข้าออกอย่างอิสระในเวลานี้อย่างมหาศาล

ข้อกังวลนี้เองนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “แบ๊กสต็อป” หรือหลักประกันที่จะไม่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านั้นตามมา

 

นายกรัฐมนตรีอังกฤษยืนยันว่า “แบ๊กสต็อป” เป็นหลักประกันทางเลือกสุดท้ายในกรณีที่ทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผน ซึ่งนั่นก็หมายความว่า หากเกิด “เบร็กซิท” และไม่สามารถตกลงในเรื่องชายแดนดังกล่าวได้ ไอร์แลนด์เหนือจะเป็นพื้นที่เดียวในอังกฤษที่จะยังคงใช้กฎในเรื่องของการนำเข้าส่งออกสินค้าของอียู

และนั่นสร้างความไม่พอใจกับสมาชิกรัฐสภาอังกฤษบางส่วนที่มองว่านั่นจะทำให้อังกฤษไม่สามารถแยกตัวจากอียูได้อย่างเด็ดขาด

คำถามก็คือ หากรัฐสภาอังกฤษลงมติปฏิเสธข้อตกลงที่เมย์ทำไว้กับอียูจะเป็นอย่างไร

นั่นจะทำให้อังกฤษแยกตัวออกจากอียูโดยไร้ข้อตกลงใดๆ หรือที่เรียกกันว่า “โน-ดีล เบร็กซิท” เหตุการณ์ที่ดูเหมือนเป็นสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากที่สุดจะส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ

ขณะที่ราคาข้าวของเครื่องใช้ทุกอย่างในอังกฤษจะมีราคาสูงขึ้น เกิดสภาพเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งภูมิภาคอียูจะชะลอตัวลง

เวลานี้ภาคธุรกิจในอังกฤษต่างเริ่มกักตุนสินค้า ขณะที่ทั้งอียูและอังกฤษต่างก็เตรียมพร้อมรับมือกับการเกิด “โน-ดีล เบร็กซิท” นี้ขึ้นแล้วในช่วงสองถึงสามสัปดาห์ที่ผ่านมา

ขณะที่อีกแนวทางที่อาจเป็นไปได้คือการเปิดทางให้ “รัฐสภาอังกฤษ” ลงมติเกี่ยวกับกลยุทธของรัฐบาลอังกฤษที่มีในทางเลือกต่างๆ ของเบร็กซิท ไม่ว่าจะเป็น “ข้อตกลงของเมย์” เอง, โน-ดีล เบร็กซิท หรือแม้แต่การจัดการลงประชามติขึ้นอีกเป็นครั้งที่สองก็ตาม

เวลานี้ทิศทางเดินของอังกฤษเหมือนกับยังคงอยู่ในเขาวงกตที่หันไปทางไหนดูเหมือนจะพบเจอแต่ทางตัน

และยิ่งเวลาผ่านไปมากเท่าไร “เบร็กซิท” ก็ยิ่งดูเหมือนจะสร้างบาดแผลให้อังกฤษมากขึ้นเท่านั้น