จีนยุคบุราณรัฐ : ปัจฉิมกถา (ตอน3)

A replica tram runs down a once historical street in one of Beijing's oldest neighbourhoods which has now been turned into the city's newest tourist attraction on June 17, 2008. Beijing city and local banks have poured 9.2 billion yuan (1.3 billion dollars) into restoration work on Qianmen Street, they claim that their goal is to restore it to its former glory a century ago during the Qing dynasty (1644-1911), however critics have charged that the street has been turned into a Disney-style version of old China that bears little resemblence to reality. AFP PHOTO/Peter PARKS / AFP PHOTO / PETER PARKS

เพราะฉะนั้นแล้ว ประชากรในกลุ่มหลังจึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งของรัฐไปด้วย ชั่วอยู่แต่ว่ายังมีปัญหาฐานะในทางสังคม ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมองผ่านทัศนะของสำนักคิดใด

โดยที่หากถือตามทัศนะของฝ่ายจีนในปัจจุบันที่สมาทานลัทธิมาร์กซ์แล้ว ก็ย่อมเห็นว่าคนกลุ่มนี้เป็นทาส และจัดให้ช่วงหนึ่งของสังคมในยุคนี้เป็นยุคทาส

แต่หากถือตามทัศนะที่เป็นจริงของหลักฐานแล้วก็มิอาจถึงกับสรุปเช่นนั้นได้อย่างเต็มที่ คือยอมรับว่าเป็นกลุ่มคนที่ใช้แรงงานหนักกว่าราษฎรทั่วไปและไร้อิสรภาพจริง แต่ก็มิได้มีความเป็นอยู่ที่ทารุณโหดร้ายดังทาสในบางสังคม ยกเว้นแต่เป็นกลุ่มคนที่ถูกลงโทษเพราะมีความผิดเท่านั้น

ถัดจากระบบการเมืองการปกครองโดยสังเขปดังกล่าวก็คือ ระบบเศรษฐกิจ ที่พบว่าโดยหลักแล้วจะอยู่ในภาคเกษตรกรรม เศรษฐกิจในภาคนี้ก็ไม่ต่างกับระบบการเมืองการปกครองที่ค่อยๆ วิวัฒน์จนเป็นรูปเป็นร่าง

กล่าวคือ เริ่มจากการค้นพบวิธีปลูกพืชที่ใช้บริโภคได้ และทำให้สามารถปักหลักปักฐานโดยมิต้องเคลื่อนย้ายอีกต่อไป หรือยุติการใช้ชีวิตแบบหาของป่า-ล่าสัตว์ลงไปได้

และเมื่อประชากรเพิ่มจำนวนมากขึ้น การขยายดินแดนทั้งด้วยการบุกเบิกที่ดินทำกินใหม่ หรือด้วยการรุกรานชนเผ่าอื่นเพื่อแย่งชิงทรัพยากรก็ตามมา

เศรษฐกิจภาคเกษตรนี้วิวัฒน์ควบคู่ไปกับวิทยาการต่างๆ ที่ก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ โดยที่ควรกล่าวด้วยว่า วิทยาการเหล่านี้ส่วนหนึ่งแม้จะรับใช้การเกษตรก็จริง แต่ก็มีวิทยาการอีกไม่น้อยที่ต่อมาได้กลายเป็นงานหัตถกรรม และจากงานหัตถกรรมก็ก้าวไปสู่ภาคอุตสาหกรรมในที่สุด

หลักฐานจากงานก่อสร้าง เครื่องไม้ เครื่องสำริด เครื่องเหล็ก หรืองานศิลปะ ฯลฯ นับเป็นหลักฐานที่ดี ไม่เพียงเท่านั้น เรายังพบต่อไปว่า เศรษฐกิจในทุกภาคส่วนยังมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบอีกด้วย เช่น งานหัตถกรรมบางประเภทจะถูกจำกัดให้รับใช้เฉพาะราชสำนัก การได้รับการยกเว้นไม่ต้องเกณฑ์ทหารสำหรับครัวเรือนที่สร้างผลผลิตทางการเกษตรได้มาก หรือการจัดเก็บภาษีในระบบบ่อนา เป็นต้น

ควรกล่าวด้วยว่า ระบบเศรษฐกิจดังกล่าวมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับระบบศักดินา ที่พบว่าขุนนางแต่ละระดับจะได้ถือครองที่ดินของตนอยู่ด้วย ที่ดินเหล่านี้โดยมากแล้วถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตร

จากเหตุนี้ ขุนนางจึงย่อมมีแรงงานมาช่วยในการผลิตให้แก่ตน

แหล่งของแรงงานเหล่านี้อาจมาจากราษฎรที่ขึ้นต่อขุนนาง หรืออาจเป็นทาสที่เป็นเชลยศึกก็ได้

จึงไม่แปลกที่จะสรุปได้ในระดับหนึ่งว่าระบบศักดินาได้ปรากฏขึ้นแล้วในยุคที่ว่านี้

สิ่งที่ควรกล่าวถึงในประการต่อมาคือ เมื่อระบบเศรษฐกิจก้าวหน้าขึ้นโดยลำดับแล้ว ที่ตามมาอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ระบบการเงินการคลัง โดยเฉพาะในยุครัฐศึกพบว่าได้มีการใช้เงินตรากันแล้ว กล่าวเฉพาะรัฐทรงอิทธิพลจะมีเงินตราที่ถูกออกแบบมาใช้เฉพาะในรัฐของตน เงินตราของแต่ละรัฐจึงมีรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกัน

ที่สำคัญ การเกิดขึ้นของเงินตรานี้สะท้อนให้เห็นว่า รัฐในเวลานั้นแม้จะมีเศรษฐกิจแบบแลกเปลี่ยนสิ่งของกับสิ่งของ (barter) ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนทางตรงก็จริง แต่เศรษฐกิจแบบแลกเปลี่ยนสิ่งของกับเงินตราซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนทางอ้อมได้เกิดขึ้นแล้ว

เหตุดังนั้น ภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ย่อมตัดขาดไปจากการเกิดขึ้นของตลาดไปไม่ได้ ซึ่งจะได้กลายเป็นพื้นฐานที่ดีให้กับระบบเศรษฐกิจในอนาคต เมื่อความคิดเรื่องจักรวรรดิได้ปักหลักปักฐานมั่นคงแล้วในจีน

สุดท้ายคือ ระบบสังคมวัฒนธรรม ระบบนี้ก็เช่นเดียวกับระบบการเมืองการปกครองกับเศรษฐกิจ ที่วิวัฒน์ขึ้นอย่างช้าๆ จนเป็นรูปเป็นร่างและเป็นระบบระเบียบแบบแผนขึ้นมา

ระบบนี้หากพิจารณาจากหลักฐานทางโบราณคดีแล้ว จะพบว่าชาวจีนในยุคดึกดำบรรพ์เริ่มตั้งคำถามกับธรรมชาติที่แวดล้อมตน ว่าเหตุใดจึงมีความเปลี่ยนแปลงคล้ายกับมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากำหนดให้เป็นไปเช่นนั้น

คำตอบที่ได้ถูกแสดงผ่านพิธีกรรมต่างๆ ที่ตนคาดว่าน่าจะสร้างความพอใจให้แก่สิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติสิ่งนั้น

และก็เช่นเดียวกับระบบอื่นที่ระบบสังคมวัฒนธรรมได้แสดงตนเป็นที่เด่นชัดขึ้นในสมัยซาง (อย่างน้อยก็จากหลักฐานเท่าที่มีการค้นพบจนถึงปัจจุบัน) ในสมัยนี้ความคิดความเชื่อที่มีต่อธรรมชาติ หรือสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติได้มารวมศูนย์อยู่ที่ฟ้าหรือสวรรค์ (เทียน) ในฐานะสิ่งสูงสุดในสกลจักรวาล และเป็นสิ่งเดียวที่มนุษย์ยอมสยบให้

เมื่อฟ้ามีฐานะสูงส่งเช่นนั้น การประพฤติต่อฟ้าผ่านคำอธิบายและพิธีกรรมจึงค่อยๆ เกิดตามมา และผู้ที่เป็นสื่อกลางระหว่างฟ้ากับมนุษย์ก็คือ กษัตริย์ ในฐานะผู้ได้รับอาณัติจากฟ้า

ซึ่งความคิดนี้ได้ทำให้กษัตริย์อ้างอิงว่าตนคือโอรสแห่งสวรรค์ จากนั้นความคิดนี้ก็กลายเป็นความเชื่อที่ถูกนำมาอ้างอิงเพื่อความชอบธรรม และเป็นที่มาของระเบียบแบบแผนต่างๆ ที่ผูกพันชนทุกชั้นเข้าด้วยกันในที่สุด

ระเบียบแบบแผนดังกล่าวแสดงผ่านพิธีการและพิธีกรรมต่างๆ ในราชสำนัก ส่วนนอกราชสำนักซึ่งก็คือราษฎรนั้นก็มีระเบียบแบบแผนของตนเช่นกัน แต่มีความซับซ้อนน้อยกว่าราชสำนัก

เราเห็นระเบียบแบบแผนนี้ใน 2 ลักษณะด้วยกัน

ลักษณะหนึ่ง เป็นการแสดงออกในเชิงพฤติกรรมผ่านภาพที่ปรากฏอยู่ในเครื่องสำริดหรืออื่นๆ เป็นภาพการแสดงพิธีการในหมู่ชนชั้นปกครองด้วยกันเอง ในหมู่ชนชั้นปกครองกับราษฎร และระหว่างมนุษย์ (คือราษฎรกับชนชั้นปกครอง) กับฟ้าหรือสวรรค์

อีกลักษณะหนึ่ง เป็นการแสดงผ่านวัตถุธรรมต่างๆ ที่แต่ละชนชั้นมีสิทธิ์ในการถือครองที่แตกต่างกัน โดยชนชั้นปกครองมีสิทธิ์ที่จะถือครองวัตถุธรรมที่ล้ำค่าอย่างเช่น หยก ผ้าไหม หรือเครื่องสำริด เป็นต้น ในขณะที่ราษฎรหากจะเข้าถึงวัตถุธรรมนี้ได้ก็มีแต่จะมีความดีความชอบเท่านั้น

ทั้งนี้ ควรกล่าวด้วยว่า กล่าวเฉพาะเครื่องสำริดเท่าที่ค้นพบนั้นทำให้เห็นว่า ไม่เพียงวิทยาการในการหลอมโลหะเท่านั้นที่สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้า หากศิลปะที่ปรากฏอยู่ในเครื่องสำริดยังบอกให้รู้ถึงระดับวัฒนธรรมที่ก้าวมาถึงขั้นสูงอีกด้วย

นอกจากวิทยาการดังกล่าวแล้ว สิ่งที่ไม่อาจละเลยที่จะกล่าวถึงก็คือ การเกิดขึ้นของอักษรตัวเขียนหรือที่รู้จักกันในปัจจุบันในรูปของอักษรจีน

การเกิดขึ้นของตัวอักษรจีนถือเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญไม่น้อย ทั้งนี้ มิใช่เพราะบทบาทในการสื่อสารเท่านั้น หากแต่ในกรณีจีนยังเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นอักษรที่เกิดขึ้นโดยเอกเทศ หาได้รับอิทธิพลจากอักษรของชาติอื่นไม่ (อย่างน้อยก็ยังไม่พบหลักเชิงประจักษ์มาจนทุกวันนี้ว่าจีนรับอิทธิพลมาจากที่ใด)

การเกิดขึ้นของตัวอักษรจีนจึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมจีนที่ก้าวหน้า โดยเฉพาะเมื่อได้พัฒนามาถึงจุดที่กลายเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ ที่ใช้สื่อสารกันในทางการเมืองการปกครอง หรือกล่าวอีกอย่างคือ ใช้กันเฉพาะในหมู่ชนชั้นปกครองหรือผู้ดีที่มีการศึกษาสูงเท่านั้น

จากเหตุนี้ อักษรตัวเขียนกับภาษาศักดิ์สิทธิ์จึงมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน จนมีส่วนสำคัญยิ่งในการเชื่อมร้อยรัฐหรือชาติจีนให้เป็นชุมชนจินตกรรมเข้าไว้ด้วยกัน ที่สำคัญ อักษรตัวเขียนกับภาษาศักดิ์สิทธิ์นี้ต่อมาก็คือ สารที่ถูกนำมาตราเป็นระเบียบแบบแผนที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้

อย่างไรก็ตาม ระเบียบแบบแผนที่กล่าวไปข้างต้นนี้น่าจะมีในสมัยซางแล้ว ครั้นพอถึงสมัยโจวตะวันตกก็มีความชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ หากเราเชื่อบันทึกที่อ้างกันว่าเป็นระเบียบแบบแผนที่มีมาตั้งแต่สมัยนั้น (โดยเฉพาะใน เบญจปกรณ์)

ถึงกระนั้น ระเบียบแบบแผนเหล่านี้ก็ยังมิได้ถูกประมวลเป็นหลักคิดซึ่งถือเป็นพัฒนาการที่สำคัญยิ่ง ตราบจนสมัยโจวตะวันออกหรือกล่าวให้ชัดก็คือช่วงปลายยุควสันตสารทและต่อเนื่องตลอดยุครัฐศึก

ระเบียบแบบแผนที่ถูกประมวลเป็นหลักคิดก็ปรากฏผ่านสำนักปรัชญานับร้อยสำนัก

สํานักปรัชญาที่มีอยู่จำนวนมากเหล่านี้จะมีเพียงไม่กี่สำนักเท่านั้นที่มีชื่อเสียง ทั้งนี้ ควรกล่าวด้วยว่า สำนักที่มีชื่อเสียงนั้นหมายถึงมีชื่อเสียงในขณะนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องมีชื่อเสียงในชั้นหลังหรือในปัจจุบัน

เหตุดังนั้น สำนักที่มีชื่อเสียงต่อเนื่องยาวนานมาจนปัจจุบันจึงมีเพียงไม่กี่สำนัก และที่มีชื่อเสียงอย่างมากก็คือสำนักหญูกับสำนักเต้า ทั้งสองสำนักนี้มีหลักคิดที่แทบจะเรียกได้ว่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

แต่หากกล่าวในแง่ชื่อเสียงที่มีในขณะนั้นแล้ว นอกจากทั้งสองสำนักนี้แล้วก็ยังมีสำนักม่อและสำนักนิตินิยม เป็นต้น