จิตต์สุภา ฉิน : ปัญญาประดิษฐ์ผู้ปัดเป่าทุกข์ภัย

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

บ่อยครั้งที่ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอถูกมอบบทบาทของการเป็นผู้ร้ายที่จะสามารถพัฒนาตัวเองให้ฉลาดล้ำเหนือมนุษย์จนทำให้มนุษย์หมดความหมายได้สักวันหนึ่ง

แม้ในความเป็นจริงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ยังไม่ได้ถูกพัฒนาไปใกล้เคียงกับความหวาดกลัวเหล่านั้น

แต่การถูกตอกย้ำด้วยภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดและซีรี่ส์จำนวนมากก็ทำให้มนุษย์อย่างเราอดหวั่นใจอยู่ลึกๆ ไม่ได้ ว่าสักวันเราจะด้อยกว่าหุ่นยนต์จริงๆ

แต่ทราบไหมคะว่า เทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์นั้นที่จริงแล้วถูกออกแบบมาให้เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ เป็นสิ่งที่จะทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น

แม้แต่ในด้านที่เราคาดไม่ถึง อย่างเช่น ด้านสิ่งแวดล้อม หายนภัย และการแพทย์ อนาคตของการที่หุ่นยนต์จะปกครองโลกโดยจับมนุษย์มาเป็นทาสอาจจะไม่มีวันเกิดขึ้นจริงเลยก็ได้

แต่การที่เอไอทำประโยชน์ให้มนุษย์นั้นเกิดขึ้นจริงแล้วทุกวันนี้ และอยู่รอบตัวเราชนิดที่เราอาจจะนึกไม่ถึงเลยว่ามันอยู่ใกล้ขนาดนี้

 

เริ่มจากวงการแพทย์ก่อนนะคะ ไม่ต้องยกตัวอย่างที่ไหนไกลเลยเพราะเรื่องนี้เกิดในประเทศไทยนี่แหละค่ะ

กูเกิลซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีผู้นำด้านการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ได้จับมือกับโรงพยาบาลราชวิถีในการพัฒนาเอไอเพื่อใช้วิเคราะห์ความเสี่ยงของการที่ผู้ป่วยเบาหวานจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นได้

ในประเทศไทยมีผู้ป่วยเบาหวานมากถึง 4-5 ล้านราย

ทุกรายมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา

ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานทุกรายจะต้องไปพบแพทย์เป็นประจำทุกปีเพื่อให้แพทย์วิเคราะห์ภาพด้านหลังของดวงตา หากพบสิ่งผิดปกติแต่เนิ่นๆ ก็อาจจะรักษาได้ทันท่วงที

แต่ปัญหาก็คือประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญด้านดวงตาเพียงแค่ 1,400 คน นับว่าไม่มากพอที่จะตรวจผู้ป่วยเบาหวานได้ครบถ้วนทันท่วงที ซึ่งเรื่องนี้หากตรวจช้า หรือรู้ผลช้า ก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยตาบอดได้

วิธีแก้ปัญหาที่ผ่านมาก็คือ ต้องมีการฝึกฝนให้พยาบาลหรือบุคลากรหรือเจ้าหน้าที่เทคนิคอ่านวิเคราะห์ภาพแทนแพทย์ แล้วส่งต่อให้แพทย์รักษาเป็นกรณีๆ ไป

ซึ่งก็นับว่าพอช่วยแบ่งเบาไปได้บ้าง แม้ว่าอัตราความแม่นยำที่ได้จากการอ่านจะลดน้อยกว่าเดิมก็ตาม

สิ่งที่กูเกิลทำร่วมกับโรงพยาบาลราชวิถีคือการฝึกให้ปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์ภาพด้านหลังดวงตาจำนวน 130,000 ภาพ และทำการวินิจฉัย 880,000 ครั้ง

เอไอถูกสอนให้จับรูปแบบของภาพว่าแบบไหนไม่มีภาวะเสี่ยง แบบไหนมีภาวะเสี่ยง โดยจะตั้งค่าระดับความเสี่ยงเอาไว้ 5 ระดับ และส่งต่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอ่านค่ายืนยันอีกครั้ง

ความสำเร็จที่น่ายินดีคือเอไอสามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงได้แม่นยำถึง 97% เลยทีเดียว

นั่นแปลว่า เมื่อนำเทคโนโลยีนี้มาใช้อย่างเต็มรูปแบบเมื่อไหร่ ผู้ป่วยเบาหวานจะได้รับการตรวจภาวะแทรกซ้อนนี้อย่างทั่วถึงขึ้น เร็วขึ้น

ในขณะที่แพทย์ซึ่งไม่ต้องอ่านภาพทุกภาพด้วยตัวเองอีกต่อไปก็จะมีเวลาไปทำสิ่งที่ยากและซับซ้อนขึ้น

อย่างการรักษาหรือผ่าตัดคนไข้อื่นๆ ซึ่งเทคโนโลยีนี้สามารถนำไปใช้วินิจฉัยโรคอื่นๆ ได้ด้วย

ลองจินตนาการถึงอนาคตของการที่เอไอสามารถตรวจจับโรคได้อย่างว่องไวสิคะ

ในอนาคตข้างหน้าโรคบางโรคที่ทำให้เราทนทุกข์ทรมานทุกวันนี้มันอาจจะกลายเป็นโรคจิ๊บจ๊อยที่มนุษย์ไม่กลัวอีกต่อไป หรืออาจจะสูญหายไปเลยก็ได้

 

จากวงการแพทย์ ไปดูตัวอย่างอื่นบ้างค่ะ ภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหว หรือน้ำท่วม เป็นสิ่งที่สร้างความเสียหายมหาศาลให้กับเราโดยตลอด

คงจะยากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะบอกว่าจะมีเทคโนโลยีมาป้องกันไม่ให้เกิดหายนภัยเหล่านี้ขึ้นอีก แต่อย่างน้อยความเสียหายที่เกิดขึ้นก็น่าจะลดลงไปได้เยอะถ้าหากเราได้รับการเตือนภัยล่วงหน้านานพอที่เราจะเตรียมอพยพ โยกย้ายได้ทัน

การเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 1953 ถึง 2017 พบว่าภัยที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วมทั้งหมดที่เกิดขึ้นในโลกนั้นเกิดขึ้นในอินเดียถึง 20 เปอร์เซ็นต์ หลายต่อหลายครั้งความเสียหายเกิดขึ้นเพราะประชาชนไม่มีข้อมูลการเตือนภัยที่ดีพอจึงไม่รู้ว่าน้ำจะท่วมเมื่อไหร่บ้าง

ทีมนักวิจัยจึงได้ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมร่วมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการสร้างแผนที่ความสูงของระดับน้ำในแม่น้ำต่างๆ ของอินเดียเพื่อพยากรณ์ว่าบริเวณไหนมีความเสี่ยงที่น้ำจะท่วมบ้าง

จากนั้นก็นำข้อมูลระดับน้ำจริงที่วัดโดยรัฐบาลของอินเดียมาวางทับลงไป แล้วแชร์ข้อมูลทั้งหมดที่ได้ส่งตรงไปถึงสมาร์ตโฟนของประชาชน

ทำให้ทุกคนเห็นภาพว่ามีความน่าจะเป็นแค่ไหนที่น้ำจะท่วมบ้าน

ซึ่งสามารถเตือนได้อย่างแม่นยำก่อนล่วงหน้าได้ถึง 24 ชั่วโมงในช่วงมรสุม

และตั้งเป้าว่าจะขยายช่วงเวลาเตือนล่วงหน้าไปให้ได้ถึง 72 ชั่วโมง

 

ในกรณีของแผ่นดินไหวก็คล้ายๆ กันค่ะ ตามหลักการแล้วแผ่นดินไหวครั้งใหญ่จะตามด้วยอาฟเตอร์ช็อกจำนวนมาก ซึ่งอาฟเตอร์ช็อกเหล่านี้ยิ่งทำให้การฟื้นฟูจากแผ่นดินไหวใหญ่ครั้งแรกทำได้ยากกว่าเก่า หรือในบางกรณีอาฟเตอร์ช็อกสามารถสร้างความสูญเสียได้ใหญ่หลวงยิ่งกว่าแผ่นดินไหวครั้งแรกเสียด้วยซ้ำ

ที่ผ่านมาผู้ชำนาญการพอจะคาดการณ์ได้ว่าอาฟเตอร์ช็อกจะใหญ่แค่ไหน แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนบ้าง

แต่ตอนนี้ปัญญาประดิษฐ์สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและหารูปแบบเพื่อคาดการณ์ให้ได้ว่าจุดไหนบ้างที่มีแนวโน้มจะเกิดอาฟเตอร์ช็อกและเตือนให้ประชาชนในละแวกนั้นเตรียมตัวตั้งรับได้ทัน

ไปดูอีกหนึ่งตัวอย่างนะคะ เวลาเรากินปลาในจานที่อยู่ตรงหน้าเราอาจจะไม่ค่อยได้สนใจถึงที่มาของปลาตัวนั้นกันสักเท่าไหร่ใช่ไหมคะ

ข้อมูลระบุว่า กว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของสัตว์ทะเลที่กลายเป็นอาหารของเรานั้นมาจากการทำประมงผิดกฎหมาย ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเพียงด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการที่ปลาบางชนิดอาจจะสูญพันธุ์

หรือการใช้แรงงานประมงผิดกฎหมายที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ซึ่งก็เคยเป็นข่าวใหญ่ในบ้านเรามาแล้ว

การตรวจสอบการทำประมงผิดกฎหมายเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้หลายหน่วยงานซึ่งรวมถึงกูเกิลด้วยก็จับมือกันนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ร่วมกับข้อมูลจากจีพีเอสในการที่จะตรวจสอบเรือว่าเรือแต่ละลำที่ทำประมงนั้นได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องหรือเปล่า เรือทุกลำจะต้องติดตั้งกล้องที่เชื่อมต่อเข้ากับระบบสื่อสารของเรือ

ฟุตเทจทั้งหมดของการทำประมงจะถูกบันทึกเอาไว้อย่างละเอียด แต่ภาพวิดีโอทั้งหมดที่ได้มาเป็นร้อยๆ ชั่วโมงนั้นถ้าให้มนุษย์มาคอยนั่งดูก็อาจจะดูกันจนตาแตก ปัญญาประดิษฐ์จึงต้องเข้ามาช่วยเป็นสมองและตาแทนมนุษย์ มาคอยแยกแยะให้ว่าปลาที่ถ่ายวิดีโอมานั้นเป็นปลาชนิดไหนบ้าง มีปลาที่ห้ามจับรวมอยู่ในนั้นด้วยหรือเปล่า โดยดูจากขนาด รูปร่าง และสี ทำให้มนุษย์เอาเวลาไปทำงานอย่างอื่นที่ยากและสลับซับซ้อนกว่านั้นได้

ปัญญาประดิษฐ์ถูกออกแบบมาให้เป็นเครื่องมือช่วยอำนวยความสะดวกให้มนุษย์ เปรียบเสมือนกับสมองกับสองตาของเรานี่แหละค่ะ แต่เป็นสมองกับตาที่ทำงานได้อย่างแม่นยำ ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และไม่มีความผิดพลาด

หลังจากนี้ไปเทคโนโลยีนี้จะกลายเป็นของธรรมดาที่ล้อมรอบตัวเราทั่วไป คล้ายๆ กับตอนที่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือสมาร์ตโฟนเริ่มรุกล้ำเข้ามาในชีวิตเราจนมาถึงจุดที่เราแทบไม่สังเกตการมีอยู่ของมันไปเสียแล้ว

รู้แต่ว่าชีวิตจะลำบากมากถ้าหากขาดไป