บทวิเคราะห์ : ย้อนมองนวัตกรรมอสังหาฯ

ใครคิดว่าอสังหาริมทรัพย์เป็นสินค้าก่ออิฐฉาบปูนง่ายๆ ไม่มีนวัตกรรมอะไร นับเป็นความเข้าใจผิดมหันต์ทีเดียว

หากถอยเวลาไป 5 ปี 10 ปี 15 ปี 20 ปีที่แล้วตามลำดับ ไปนับไปสังเกตโครงการที่อยู่อาศัยต่างๆ ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ คอนโดมิเนียม อาคารพาณิชย์ จะเห็นความเปลี่ยนแปลงมากมาย

นวัตกรรมอสังหาฯ ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ โดยความประสงค์ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เกิดจากการต่อสู้หรือหลีกหนีจากข้อจำกัด จนได้วิธีการใหม่ๆ หรือรูปแบบใหม่ขึ้นมา

การสู้กับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

ทำให้มีการนำเทคโนโลยีการก่อสร้างแบบพรีคาสต์มาใช้กับการก่อสร้างที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบและแนวสูง เปลี่ยนวิธีการก่อสร้างจากการก่ออิฐฉาบปูนมาเป็นแบบพรีคาสต์เป็นหลักในวันนี้ และยังส่งผลต่อรูปแบบการดีไซน์ที่อยู่อาศัยเพื่อให้เหมาะสมกับกระบวนการพรีคาสต์

รูปร่างหน้าตาทาวน์เฮาส์ บ้านแฝด บ้านเดี่ยว และห้องชุดที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ล้วนเป็นผลมาจากวิธีการก่อสร้างแบบใหม่นี้ทั้งสิ้น

 

การสู้กับปัญหาที่ดินราคาแพงมาก

ก็ทำให้เกิดขนาดและรูปแบบที่อยู่อาศัยใหม่ๆ ขึ้น เริ่มตั้งแต่การปรับทาวน์เฮาส์ซึ่งเดิมเป็นที่อยู่อาศัยราคาถูกสุดชานเมือง ให้ยกระดับมาเป็นทาวน์โฮมหรู 3-4 ชั้นในพื้นที่ชั้นกลางของกรุงเทพฯ สำหรับคนที่ไม่อยากอยู่คอนโดฯ สูงและไม่อยากไปอยู่ชานเมือง

ราคาที่ดินแพง ทำให้ขนาดห้องชุดเล็กสุดเดิมมักจะมีขนาด 32 ตารางเมตร ค่อยๆ ลดขนาดลงเป็น 28 ตร.ม. 24 ตร.ม. และล่าสุด 21 ตร.ม. ทั้งนี้ เพื่อทำให้ระดับราคาพอดีกับกำลังซื้อ หรือพูดง่ายๆ ว่าเพื่อให้ราคาใกล้เคียงเดิมเพื่อให้คนซื้อได้

นอกจากนี้ยังเปลี่ยนแปลงเข้าไปถึงการจัดวางเลย์เอาต์ในห้องชุดโดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีพื้นที่ใช้สอยให้มากที่สุด มีการใช้ประตูบานเลื่อนแทนประตูบานพับ การใช้เฟอร์นิเจอร์ขนาดกะทัดรัดสำหรับห้องชุด

คอนโดมิเนียมที่ขายดีรุ่นล่าสุดถึงกับเปลี่ยนการวางเลย์เอาต์ห้องชุด จากเดิมที่วางด้านหน้าแคบติดทางเดิน ตัวห้องยาวลึกเข้าไปด้านในจนถึงหน้าต่างและด้านนอกอาคาร เปลี่ยนมาเป็นการวางด้านยาวของห้องติดกับทางเดิน เพื่อให้รู้สึกว่าห้องกว้างขึ้น

ทั้งที่มีพื้นที่รวมเท่าเดิม

 

ล่าสุดที่กำลังเกิดขึ้นในระยะนี้คือพัฒนาการรูปแบบของบ้านแฝดซึ่งเป็นบ้านที่ต้องมีด้านหนึ่งติดกับบ้านอีกหลังหนึ่ง

บ้านแฝด เดิมเป็นรูปแบบที่อยู่อาศัยที่ไม่มีบริษัทพัฒนาอสังหาฯ ทำกัน เพราะผู้ซื้อไม่นิยม แต่ด้วยเหตุอันเนื่องมาจากที่ดินแพงจึงมีความพยายามพัฒนาบ้านแฝดซึ่งกฎหมายกำหนดว่าต้องสร้างบนขนาดที่ดินต่ำสุด 35 ตร.ว. (บ้านเดี่ยวกฎหมายกำหนดต้องสร้างบนที่ดินขนาดต่ำสุด 50 ตร.ว.) เพื่อให้บ้านแฝดดูเหมือนบ้านเดี่ยวให้มากที่สุด บนที่ดิน 35 ตร.ว. หรือ 40 ตร.ว. โดยยังมีพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านพอกันกับบ้านเดี่ยวขนาดกลางขนาดเล็ก ตอบสนองตลาดคนอยากอยู่บ้านเดี่ยว

ว่ากันว่า เวลานี้การยื่นขออนุญาตจัดสรรบ้านแฝดเกือบจะมีจำนวนยูนิตใกล้เคียงกับบ้านเดี่ยวแล้ว เพราะได้รับความนิยมมาก

แต่มีเรื่องแปลกอยู่หน่อยหนึ่ง จุดเชื่อมติดกันของบ้านแฝด 2 หลังบางเขตบางพื้นที่ ไม่เหมือนกัน เพราะเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายตีความไม่เหมือนกัน จึงมีทั้งแฝดที่เชื่อมกันด้วยคาน ด้วยหลังคาที่จอดรถ ด้วยครัว แตกต่างกันไป

แค่กฎหมายควบคุมอาคารเกี่ยวกับบ้านแฝดยังสร้างความแปลกแตกต่างได้ขนาดนี้

แล้วรัฐธรรมนูญกับกฎหมายประกอบปัจจุบัน จะทำให้รัฐบาลและบ้านเมืองหลังเลือกตั้งเป็นอย่างไรหนอ