ธงทอง จันทรางศุ : งานฤดูหนาว

ธงทอง จันทรางศุ

เมื่อแม่ของผมมีอายุมากพอสมควรแล้ว ผมได้เคยขอให้แม่เขียนบันทึกความทรงจำสมัยแม่เป็นเด็ก หรือเรื่องราวที่แม่เคยพบเคยเห็นมาแต่ก่อนเพื่อเก็บไว้ให้ลูกหลานได้อ่านได้ฟังบ้าง

เรื่องหนึ่งที่แม่เล่าให้ฟังคืองานฤดูหนาว ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนแม่เกิด เพราะแม่เป็นคนเกิดในสมัยรัชกาลที่ 7

แต่งานที่ว่านั้นมีประวัติตั้งต้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และสืบเนื่องมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 6

แม่บอกว่างานนั้นคืองานวัดเบญจฯ หรือเรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่างานฤดูหนาว ฟังแล้วงงไหมครับ

ต้องไล่เรียงและสืบค้นกันต่อไปจึงได้คำอธิบายว่า ในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสร้างพระราชวังดุสิต หรือที่เรียกกันในครั้งนั้นว่า “วังสวนดุสิต” แล้ว

ตามธรรมเนียมโบราณก็ต้องมีวัดสำหรับพระราชวัง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างวัดเบญจมบพิตรขึ้นอย่างประณีตเพื่อเฉลิมพระราชศรัทธา

เมื่อวัดเกิดขึ้นแล้ว แต่ละปีโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานไหว้พระประจำปีสำหรับพระอาราม เป็นงานที่มีความสนุกครึกครื้นมาก

พื้นที่จัดงานคือบริเวณภายในพระอารามและบริเวณด้านทิศตะวันตกของวัด แต่ไม่ข้ามพรมแดนมาทางสนามเสือป่าทุกวันนี้นะครับ

ภายในงานมีการออกร้านของเจ้านายและข้าราชการ ตลอดถึงพ่อค้าคหบดีที่มีความประสงค์จะร่วมโดยเสด็จพระราชกุศล

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงเล่าประทานไว้ในบทความเรื่อง “ความสนุกในวัดเบญจมบพิตร” เกี่ยวกับบรรยากาศของงานครั้งนั้นว่า

“ทุกคนที่ก้าวเข้าประตูเหล็กแดงเข้าไปแล้ว จะรู้สึกเหมือนเมืองๆ หนึ่งที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ผู้คนแต่งตัวสวยๆ งามๆ ร้านจัดการอย่างประณีตและเรียบร้อย ไม่มีเสียงอึกทึกโครมคราม นอกจากเสียงดนตรีเบาๆ พอได้ยินพูดกันได้ ไม่ต้องตะโกน… และสิ่งที่วิเศษยิ่งก็คือ ไม่มีขโมยเลย ฉะนั้น ทุกคนที่มีเพชรนิลจินดาก็แต่งกันได้วุบวับ (ที่ไม่มีอาจจะยืมเขามาบ้างก็คงมี) ทุกคนหน้าตาเบิกบาน เสียงทักทายกันแต่ว่า “ร้านอยู่ไหน? เดี๋ยวไป!” เพราะร้านของใครก็พาครอบครัวไปนั่งเป็นเจ้าของร้าน เป็นผู้ขาย ทั้งนี้ก็เพราะทุกคนจะได้เฝ้าฯ ในหลวงของเขาทั่วหน้ากัน ใครอยากเฝ้าฯ ก็นั่งอยู่หน้าร้าน เวลาเสด็จผ่านทรงหยุดทอดพระเนตรและทักทาย เจ้าของร้านทั้งครอบครัวก็ได้เฝ้าฯ ใครอยากทูลอะไร อยากถวายอะไรก็ถวายได้ ทุกคนจึงรู้สึกว่าในหลวงเป็นของตัว และตัวเป็นของในหลวงด้วยกันทุกคน…”

ครั้นเหตุการณ์ผ่านเลยมาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังคงมีการรักษาประเพณีการจัดงานวัดเบญจมบพิตรอยู่เหมือนเดิมเช่นในรัชกาลก่อน แต่มีการขยายขอบเขตงานออกไปมากขึ้น โดยใช้พื้นที่ตลอดไปจนถึงบริเวณสนามเสือป่าซึ่งอยู่ทางฝั่งด้านทิศเหนืออีกฟากหนึ่งของถนนศรีอยุธยาเป็นสถานที่จัดงานด้วย

ชื่อของงานก็เปลี่ยนไปเรียกว่า “งานฤดูหนาว”

เพราะสมัยนั้นกรุงเทพฯ ยังมีหน้าหนาวที่หนาวกันจริงจัง ชนิดที่ว่าต้องใส่เสื้อหนาวกันตลอดทั้งวัน

และความหนาวนี้ก็อยู่นานเป็นเดือน ไม่ใช่โผล่มาพอให้เราดีใจแล้วหายหน้าไปในวันรุ่งขึ้นอย่างสมัยนี้

เสื้อหนาวก็ต้องมีไว้หลายตัวจะได้สลับผลัดเปลี่ยนกันได้

บางปีนอกจากการพระราชกุศลเพื่อวัดเบญจมบพิตรแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมวัตถุประสงค์เพื่อสาธารณประโยชน์อื่นเข้าไว้ในงานด้วย เช่น การเรี่ยไรเงินเพื่อสร้างเรือรบหลวงพระร่วง เมื่อพุทธศักราช 2459 เป็นต้น

งานครั้งนั้นมีการสร้างสระน้ำขึ้นกลางบริเวณฝั่งทางด้านสนามเสือป่า ที่กลางสระมีเรือรบหลวงพระร่วงจำลองลำเขื่องตั้งอยู่ให้คนได้ชม

แถมยังมีกิจกรรมจำลองการยุทธ์ทางเรือที่สระน้ำในพื้นที่เขาดินวนาด้วย รายรอบบริเวณสนามเสือป่าก็มีร้านรวงนับสิบร้าน ขายสินค้าและให้บริการต่างๆ กับผู้เข้าร่วมชมงาน

เจ้าของร้านล้วนแต่เป็นเจ้านายและข้าราชการที่ทรงรู้จักคุ้นเคย

ผมเคยเห็นแผนที่ที่มีรายพระนามและรายนามเจ้าของร้านเรียงรายกันไปตลอดเส้นทาง

ร้านสำคัญที่สุดคือ ร้านของหลวง คือร้านที่เป็นร้านส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเอง

ร้านของหลวงเป็นร้านถ่ายรูปครับ ผมเคยได้ยินเรื่องเล่าว่า เมื่อท่านผู้มาใช้บริการได้ถ่ายภาพเสร็จเรียบร้อย ได้รับภาพของตัวเองกลับไปตามความประสงค์แล้ว มีธรรมเนียมปฏิบัติที่จะนำภาพที่พระเจ้าอยู่หัวทรงฉายครั้งนั้น ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเป็นที่ระลึกหนึ่งภาพ

พร้อมทั้งเขียนข้อความสำแดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พร้อมกับลงลายมือชื่อของตัวเองไว้ในรูปภาพด้วย

แม่ของผมเล่าถึงบรรยากาศงานฤดูหนาวในสมัยรัชกาลที่ 6 ว่า คุณตาของผมเป็นข้าหลวงเดิมได้รับแบ่งปันพื้นที่ให้ไปออกร้านขายของในงานฤดูหนาวด้วย

ร้านของคุณตาเป็นร้านขายรองเท้า ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ใช่อาชีพของคุณตานะครับ หน้าที่ราชการของท่านเป็นผู้พิพากษา และไม่เคยเกี่ยวข้องกับร้านขายรองเท้ามาก่อนเลย

แม่ขยายความว่า คุณตาคงไปหาซื้อรองเท้ามาจากผู้ผลิตแล้วก็มาออกร้านขายในงานนี้แหละ

แต่ละคืนเวลากลางดึก พระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมร้านต่างๆ คุณตาคุณยายพาลูกๆ ไปนอนค้างอยู่หลังร้าน

เมื่อใกล้จะเสด็จพระราชดำเนินถึง จึงปลุกลูกทั้งหลายออกมารับเสด็จ

เมื่อเสด็จถึงเข้าจริงๆ ด้วยความที่ทรงพระเมตตาต่อคุณตาผู้เป็นข้าหลวงเดิม ฉลองพระบาทที่ทรงลองสวมดูคืนนั้น ไม่มีคู่ไหนเลยที่ทรงลองแล้วได้พอดี ถ้าไม่เล็กไปก็หลวมไป

แต่ปรากฏว่าทรงพระกรุณาให้ซื้อไปหลายคู่ ทั้งๆ ที่เมื่อทรงซื้อไปแล้วคงไม่ได้ทรงใช้อย่างแน่นอน

ที่วิเศษยิ่งกว่านั้นคือ เวลานั้นคุณตาคุณยายมีลูกที่โตพอจะไปเฝ้าฯ รับเสด็จได้สองคน เป็นลูกสาวทั้งคู่

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินมาถึงร้าน มีแต่เพียงคุณป้าคนใหญ่ของผมคนเดียวที่ตื่นทันและได้เข้าไปกราบพระบาท กับทั้งได้รับพระราชทานเสมาเป็นที่ระลึก

ส่วนคุณป้าคนรองที่ถัดลงมา นอนหลับสนิท จนใครปลุกก็ไม่ตื่น เลยไม่ได้เข้าเฝ้าฯ และไม่ได้รับพระราชทานเสมา

เป็นที่เสียใจมาอีกนานปีครับ

งานฤดูหนาวอย่างนี้มาเว้นไปเสียปีหนึ่ง คือเมื่อพุทธศักราช 2460 เพราะเป็นช่วงเวลาที่สยามประเทศของเราเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 ต้องมีการเตรียมงานหลายแผนกเพื่อส่งกองกำลังทหารอาสาของเราออกไปงานพระราชสงครามที่ทวีปยุโรป

จนเมื่อเราได้รับชัยชนะแล้ว ในพุทธศักราช 2461 จึงมีการจัดงานฤดูหนาวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

แต่คราวนี้ย้ายไปจัดงานที่สวนจิตรลดาซึ่งไม่อยู่ห่างกันไกลกันมากนัก

หลังจากนั้นการจัดงานฤดูหนาวก็มีต่อเนื่องไปทุกปีจนสิ้นรัชกาล ส่วนสถานที่จัดงานนั้นก็เปลี่ยนไปมาระหว่างสถานที่สองสามแห่งคือ ที่สนามเสือป่าบ้าง สวนจิตรลดาบ้าง และที่พระราชอุทยานสราญรมย์บ้าง

เมื่อยุคสมัยของบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป งานวัดเบญจมบพิตรซึ่งแปลงโฉมมาเป็นงานฤดูหนาวก็ได้สูญหายไปจากความทรงจำของผู้คนในชั้นหลัง ผู้ที่ทันเที่ยวงานฤดูหนาวในรัชกาลที่ 6 มีจำนวนน้อยลงไปเรื่อยๆ

จนแทบจะนึกไม่ออกแล้วว่า งานที่พระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดขึ้นเพื่อการกุศลนั้นจะมีหน้าตาบรรยากาศเป็นอย่างไร

แต่พวกเราโชคดีนะครับ ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระมหากรุณาให้จัดงานในลักษณะที่มีความใกล้เคียงกันขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

เป็นงานที่คนทั่วไปเรียกกันติดปากแล้วว่า “งานอุ่นไอรักฯ”

สถานที่จัดงานก็ย้อนประวัติศาสตร์โดยใช้พื้นที่บริเวณสนามเสือป่า ตลอดมาจนถึงพระลานพระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่อยู่กลางพระนคร สามารถเดินทางไปมาได้โดยสะดวก มีทั้งกิจกรรมนานาชนิด ร้านค้า การแสดงมหรสพ การประดับประดาตกแต่ง ทุกอย่างประณีตงดงาม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานปีนี้ที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดไปเมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่กลางพระลานพระราชวังดุสิต มีการจำลองพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมไทยที่ลือชื่อ พร้อมทั้งเรือพระที่นั่งในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคสำคัญหลายลำ

เช่น เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์และเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชมาจัดแสดง

พร้อมกับสวนไม้ดอกไม้ประดับที่ออกดอกหลากหลายสีสันเบ่งบาน น่าตื่นตาตื่นใจมาก

ใครที่ไปเที่ยวงานมาแล้วก็อดไม่ได้ที่จะมาบอกเล่าให้ผู้ที่ยังไม่มีโอกาส ได้เกิดความอยากจะไปเที่ยวงานกับเขาบ้าง

เป็นบรรยากาศแห่งความสุขของทุกคนอย่างแท้จริงครับ

ความสนุกอีกอย่างหนึ่งของงานอุ่นไอรักฯ การได้แต่งตัวอย่างไทยไปเดินในงาน อันที่จริงเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ภาคบังคับนะครับ เนื่องจากเป็นงานที่จัดขึ้นในเขตพระราชฐาน การแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย จึงเป็นมาตรฐานที่พึงปฏิบัติอยู่แล้ว และก็ไม่ใช่ข้อยุ่งยากอะไร เพราะเป็นเรื่องที่คนไทยทั้งหลายย่อมรู้อยู่แก่ใจแล้วว่าควรทำอะไรหรือไม่ทำอะไร

แต่งานอุ่นไอรักฯ ตั้งแต่ครั้งแรกมาจนถึงครั้งนี้ ได้มีการเชิญชวนกันแต่งกายสวยงามอย่างไทย เพื่อสร้างเสริมบรรยากาศของงานให้น่าดูน่าชมยิ่งขึ้น

ปรากฏว่าคำเชิญชวนที่ว่าได้รับความนิยมมาก หลายคนหลายท่านเตรียมการและเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้มานานพอสมควร ผลที่ได้นอกจากความงดงามพร้อมเพรียงแล้ว ยังมีคนบอกผมว่าทำให้เศรษฐกิจในเรื่องการค้าขายเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับที่เกี่ยวข้องเฟื่องฟูขึ้นทันตาเห็นทีเดียว แถมยังเป็นโอกาสให้ผู้ที่สนใจได้กลับไปศึกษาค้นคว้าหาความรู้ว่าเครื่องแต่งกายในอดีตนั้นท่านแต่งกันอย่างไร ได้ประโยชน์หลายสถานมากทีเดียว

เมื่อเราได้ไปพบกันพร้อมหน้า และได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรืออย่างน้อยได้เห็นภาพของพระองค์ท่านในวันเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงาน ทำให้ผมนึกถึงประโยคที่ท่านหญิงพูนฯ ท่านทรงเขียนเล่าไว้ และผมขออนุญาตเชิญมากล่าวซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ในงานอย่างนี้

“…ทุกคนจึงรู้สึกว่าในหลวงเป็นของตัว และตัวเป็นของในหลวงด้วยกันทุกคน…”