บทวิเคราะห์ : โศกนาฏกรรมแห่งผู้ลี้ภัย การตายของเด็กหญิงกัวเตมาลา

เรื่องราวของผู้ลี้ภัยที่ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อลี้ภัยสงครามหรือความอดอยาก โดยหวังจะไปอยู่ในเมืองที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่า เกิดขึ้นอยู่ทั่วโลกในขณะนี้

และหลายครั้งที่กลายเป็นโศกนาฏกรรมที่โลกต้องร่วมสลดด้วย

เช่นเดียวกับเรื่องราวล่าสุดที่เกิดกับเด็กหญิงชาวกัวเตมาลาวัย 7 ขวบ

ต้องจบชีวิตลงระหว่างถูกสหรัฐอเมริกากักตัวเอาไว้ หลังจากเดินทางรอนแรมจากกัวเตมาลามาถึงเม็กซิโก เพื่อข้ามชายแดนเข้าไปในสหรัฐอเมริกา

โดยกรมศุลกากรและปกป้องชายแดน (ซีบีพี) ของสหรัฐ อ้างในเบื้องต้นว่า เด็กเสียชีวิตเนื่องจากภาวะขาดน้ำและเกิดอาการช็อก

เนื่องจากเด็กหญิงไม่ได้กินอาหารหรือดื่มน้ำมาหลายวัน ก่อนหน้าที่จะถูกควบคุมตัว

 

เด็กหญิงผู้โชคร้ายรายนี้ชื่อว่า “จาเคลิน คาอัล” ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ของสหรัฐควบคุมตัวพร้อมกับนายเนรี คาอัล พ่อของเธอ ระหว่างพยายามเดินทางข้ามชายแดนจากประเทศเม็กซิโกเข้าไปในประเทศสหรัฐอเมริกา

โดยหลังจากที่เด็กหญิงเสียชีวิต พ่อของเด็กหญิงก็ถูกนำตัวไปอยู่ที่ศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัย ที่เมืองเอล ปาโซ รัฐเท็กซัส และได้ออกมาตอบโต้รายงานที่ว่า ลูกสาวของตนอยู่ในภาวะขาดน้ำและอาหารมาก่อน

โดยยืนยันว่าระหว่างการเดินทางจากกัวเตมาลาไปถึงเม็กซิโก จนไปถึงชายแดนที่ติดกับสหรัฐอเมริกา เด็กหญิงมีอาหารและน้ำกินอย่างเพียงพอตลอดการเดินทาง

นายรูเบน การ์เซีย ผู้อำนวยการศูนย์พักพิงแอนนันซิเอชั่น เฮาส์ เปิดเผยว่า นายคาอัลพ่อของเด็กหญิง บอกด้วยว่า เขาเองไม่ได้รู้สึกว่าลูกสาวป่วยเลยขณะเดินทางด้วยรถโดยสารพร้อมกับผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ อีกนับสิบคนมาถึงชายแดนที่เมืองอันเทโลเป เวลส์ รัฐนิวเม็กซิโก ชายแดนของสหรัฐ ในคืนวันที่ 6 ธันวาคม

และเจ้าหน้าที่ของซีบีพียังยืนยันเองด้วยว่า เด็กหญิงไม่ได้มีปัญหาเรื่องสุขภาพใดๆ จนกระทั่งเวลาผ่านไปอีกหลายชั่วโมง

โดยในแถลงการณ์ที่ครอบครัวของเด็กหญิงจาเคลินเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ที่นายการ์เซียเตรียมไว้สำหรับยื่นให้แก่ทนายความ ระบุว่า

“จาเคลินไม่ได้เดินทางข้ามทะเลทรายเป็นเวลาหลายวัน เธอและพ่อของเธอยื่นเรื่องขอลี้ภัยจากหน่วยลาดตระเวนชายแดนทันทีที่ข้ามชายแดนเข้าไป และไม่ได้อยู่ในสภาพขาดน้ำและอาหารมาก่อนที่จะมาถึงชายแดน”

 

ส่วนข้อมูลของทางซีบีพีระบุว่า เด็กหญิงและพ่อสามารถเข้าถึงน้ำและห้องน้ำได้ตลอด 7 ชั่วโมงที่รอขึ้นรถโดยสารของซีบีพีในช่วงเช้าวันที่ 7 ธันวาคม ซึ่งจะนำตัวผู้ลี้ภัยจากเมืองอันเทโลเป เวลส์ ไปยังสถานีลาดตระเวนชายแดนอีกแห่งที่เมืองลอร์ดส์เบิร์ก ที่อยู่ห่างออกไปราว 153 กิโลเมตร

ซีบีพีระบุด้วยว่า นายเนรีบอกกับเจ้าหน้าที่ก่อนที่รถโดยสารจะออกเดินทางว่า ลูกสาวของเขาอาเจียน และหลังจากที่ใช้เวลาเดินทางถึงจุดหมายเป็นเวลาราว 90 นาทีต่อมา เด็กหญิงก็หยุดหายใจแล้ว และถูกนำตัวเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วนที่ลอร์ดส์เบิร์ก

หลังจากนั้นจึงถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเอล ปาโซ ก่อนที่จะเสียชีวิตในเช้าวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 8 ธันวาคม

แม้ว่าพ่อของเด็กหญิงจะไม่ได้ออกมาโต้แย้งลำดับเหตุการณ์ที่ซีบีพีออกมาชี้แจง แต่แถลงการณ์ของครอบครัวเด็กหญิงจาเคลิน ได้เรียกร้องให้มีการสอบสวนอย่างยุติธรรมและละเอียดถี่ถ้วน ตามมาตรฐานของประเทศในเรื่องการจับกุมและควบคุมตัวเด็กเอาไว้

 

ในขณะที่นางคลอเดีย มาควิน แม่ของเด็กหญิง เปิดเผยกับรอยเตอร์จากหมู่บ้านซาน อันโตนิโอ เดอ คอร์เตซ ประเทศกัวเตลามา ระบุว่า จาเคลินมีพี่น้องอีก 3 คน สามีของเธอและลูกสาวเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้ลี้ภัยที่ต้องการหนีจากความยากไร้ในที่ที่อาศัยอยู่

มาควินบอกด้วยว่า จาเคลินเคยบอกไว้ว่า เมื่อเธอโตขึ้นเธอจะทำงาน แล้วส่งเงินกลับมาให้แม่กับยาย และด้วยความที่จาเคลินไม่เคยเจอประเทศใหญ่ๆ เธอจึงดีใจอย่างมากที่จะได้ไปที่นั่น

ส่วนตัวสามีนั้นต้องการที่จะไปสหรัฐอเมริกาเพื่อหนีจากความยากจนในประเทศกัวเตมาลา

ในประเทศกัวเตมาลา มีประชากรถึง 80 เปอร์เซ็นต์ที่อยู่ในภาวะยากจน และครึ่งหนึ่งของกลุ่มคนยากจนเหล่านี้อยู่ในฐานะ “ยากจนมาก”

และนายกเทศมนตรีของซาน อันโตนิโอ บอกว่า ครอบครัวคาอัลเป็นหนึ่งในครอบครัวที่ยากจนที่สุดในหมู่บ้านแล้ว และมีอีกหลายครอบครัวที่ทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดเพื่อไปยังสหรัฐอเมริกา โดยจะขายที่บ้านเพื่อนำเงินมาจ่ายให้กับคนที่รับเป็นผู้นำทางคนเหล่านี้เดินทางไกลกว่า 3,200 กิโลเมตรเพื่อให้ไปถึงสหรัฐอเมริกา

การเสียชีวิตของจาเคลิน ยิ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความละเลยของเจ้าหน้าที่ชายแดน หรือการเมินเฉยเกี่ยวกับเรื่องการรักษาพยาบาลผู้ลี้ภัย และตอกย้ำถึงนโยบายที่เข้มงวดเกินไปสำหรับผู้ลี้ภัย ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

แต่ไม่ว่าจะเป็นเพราะมาตรการจัดการผู้ลี้ภัยของทรัมป์ที่เข้มงวดมากขึ้น หรือเป็นเพราะตัวเด็กที่ป่วยอยู่แล้ว ที่สุดแล้ว ผู้ลี้ภัยอีกจำนวนมากก็ยังต้องกัดฟันเดินทางออกจากบ้านตัวเอง เพื่อออกไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า

แม้รู้ว่าเสี่ยงที่อาจจะต้องตาย ก็ต้องยอม