ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 ธันวาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
สุจิตต์ วงษ์เทศ
ทอดน่องท่องเที่ยว
คูน้ำคันดินเมืองโบราณ
สร้างสรรค์ป่าสมุนไพร
เมืองมโหสถ อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี เป็นเมืองสถานีการค้าของบ้านเมืองยุคเริ่มแรกในกัมพูชา เมื่อ 1,500 ปีมาแล้ว ตั้งแต่สมัยก่อนเมืองพระนคร (นครวัด) สืบเนื่องถึงเมืองพระนครหลวง (นครธม)
มีอายุเก่าแก่ตั้งแต่สมัยการค้าโลกเริ่มแรก (นักโบราณคดีไทยเรียกสมัยทวารวดี ร่วมสมัยเมืองอู่ทอง สุพรรณบุรี) ราว พ.ศ.1000 แล้วร้างไปราวหลัง พ.ศ.1800
ปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์ดูแลอย่างดีจากกรมศิลปากร ซึ่งควรพัฒนาเป็นป่าสมุนไพร แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์โบราณคดีและวัฒนธรรม
คูน้ำคันดินกําแพงเมือง
กําแพงเมืองมโหสถเป็นคูน้ำคันดิน สร้างขึ้นล้อมรอบพื้นที่สําคัญอันเป็นศูนย์กลางของเมืองที่อยู่ภายใน แยกออกจากพื้นที่ทั่วไปซึ่งอยู่รอบนอกคูน้ำคันดิน
กำแพงเมืองไม่เจตนาทำขึ้นเพื่อป้องกันข้าศึก ถ้าจะใช้ป้องกันบ้างก็ได้ แต่ไม่ได้ผลนัก ทำได้แค่ถ่วงเวลาการโจมตี ซึ่งก็ช่วยได้ไม่มาก
คันดิน ได้จากการขุดคูน้ำ เอาดินถมพูนเป็นเนินสูง ทําแนวขนานคูน้ำ
คูน้ำ ได้จากการขุดดินขึ้นไปถมพูนเป็นคันดิน ทำให้เหลือแอ่งเป็นคูน้ำใช้กักเก็บน้ำที่ชักจากน้ำป่าและได้จากตาน้ำ เช่น น้ำซึม, น้ำซับ
กลางเมืองมีคูน้ำเชื่อมคูเมืองด้านบน-ล่าง ทำแนวเหนือ-ใต้ ชาวบ้านเรียก คูลูกศร (เพราะเป็นแนวยาวตรงเหมือนลูกศร) เทน้ำจากด้านใต้ไปด้านเหนือ
คูน้ำคันดินเมืองมโหสถ มีศักยภาพพัฒนาได้ดีเป็นป่าสมุนไพร แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์โบราณคดีและวัฒนธรรม โดยชักน้ำจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งที่อยู่ไม่ไกลเข้าคูเมือง แม้ทำให้มีน้ำโดยรอบไม่ได้ขณะนี้ ก็ควรเลือกที่เหมาะสมช่วงใดช่วงหนึ่งก็ได้
แล้วสนับสนุนชาวบ้านรอบเมืองปลูกสมุนไพร เช่น กัญชา (ใช้ทางการแพทย์) ล้วนเข้ากันได้ดีกับ “อโรคยศาล” ศาลาไร้โรค และชื่อมโหสถสรรพยาสารพัด
เมืองมโหสถ
เมืองมโหสถ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นศูนย์กลาง กับส่วนที่เป็นปริมณฑล
- เมืองมโหสถศูนย์กลาง รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มุมมน พาดตามแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ทิศตะวันตกเฉียงใต้ กว้าง 700 เมตร ยาว 1,500 เมตร
เป็นที่ประทับของพระราชาและที่ตั้งศาสนสถานสําคัญ กับเป็นที่อยู่ของอํามาตย์, ขุนนาง, ข้าราชการ และนักบวช
- เมืองมโหสถปริมณฑล อยู่นอกคูน้ำคันดินออกไปโดยรอบทุกทิศทาง แต่จะแผ่กว้างไกลขนาดไหนกําหนดแน่นอนไม่ได้
เท่าที่พบหลักฐานและมีร่องรอยขณะนี้ ด้านเหนือถึงแม่น้ำปราจีนบุรี (อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี) ด้านใต้ถึงลําน้ำท่าลาด (อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา)
ใต้ภาพ
คูเมืองอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี (ซ้าย) ด้านหน้าอยู่กลางตลาดอู่ทองทุกวันนี้ (ขวา) ด้านหลัง ทางทิศตะวันตก เห็นทิวเขารางกะบิด เคยถูกทิ้งร้างเป็นป่ารกไม่เหลือคูน้ำ เพราะถูกทับถมด้วยสรรพสิ่งเปื่อยเน่ากลายเป็นดิน สิ้นสภาพคูเมืองเก่าแก่ แต่คุณบรรหาร ศิลปอาชา ร่วมกับข้าราชการหน่วยงานต่างๆ พัฒนาขึ้นใหม่ตามร่องรอยเดิม แล้วชักน้ำจากแม่น้ำท่าจีนเข้าหล่อเลี้ยงเหมือนแต่ก่อน กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวมีชีวิต (ภาพเมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม 2561 โดย ทรงยศ ศักดิ์ศรี)
แผนผังคูน้ำคันดินเมืองมโหสถ (700 x 1,500 เมตร) อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี
ราว พ.ศ.1000 ไม่พบหลักฐานว่าเมืองนี้ชื่ออะไร? หลัง พ.ศ.1500 เรียกเมืองสังโวก (เป็นภาษาเขมร แปลว่าภาชนะศักดิ์สิทธิ์ใส่ของ) บางทีเรียกเมืองอวัธยปุระ (เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่าไม่แพ้) หลัง พ.ศ.2380 เรียกเมืองมโหสถ (ตามชื่อนิทานชาดกเรื่องพระมโหสถจากทศชาติ แปลว่าสรรพยาศักดิ์สิทธิ์ รักษาสุขภาพร่างกายและปัญญา) แต่บางทีเรียกเมืองพระรถ (ตามชื่อนิทานบรรพชนลาวเรื่องพระรถ นางเมรี)
ชาวบ้านนิยมเรียกเมืองมโหสถมากกว่าอย่างอื่น ต่อมาเปลี่ยนชื่อ อ.โคกปีบ เป็น อ.ศรีมโหสถ ตามชื่อเมืองโบราณที่ชาวบ้านเรียก