นงนุช สิงหเดชะ : การเลือกตั้งที่ ‘น่าลุ้น’ ‘ความต่อเนื่อง’ หรือ ‘ประชาธิปไตย’ สำคัญกว่า ?

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

การเลือกตั้งที่ ‘น่าลุ้น’ ความ ‘ต่อเนื่อง’ หรือ ปชต.สำคัญกว่า

 

การเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ ซึ่งกำหนดวันแน่นอนแล้วว่าเป็น 24 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นการเลือกตั้งที่น่าลุ้นมากอีกครั้งหนึ่งว่าประชาชนจะเลือกพรรคที่แสดงท่าทีจะจับขั้วกับพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป หรือว่าจะเลือกพรรคที่แสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เอาเผด็จการอย่างพรรคเพื่อไทยและพรรคในเครือข่าย เช่น ไทยรักษาชาติ พรรคอนาคตใหม่ เป็นต้น

พรรคเพื่อไทยและเครือข่ายใช้วิธีตอกย้ำว่า ถ้าไม่อยากได้เผด็จการ หรือถ้าไม่อยากให้เผด็จการสืบทอดอำนาจ ต้องเลือกพวกตน

แต่การปลุกเร้าเชิญชวนเช่นนี้ จะได้ผลหรือไม่ ยังไม่สามารถฟันธงได้

เพราะดูจากการเอาใจประชาชนระดับรากหญ้าอย่างหนักในโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง อย่างเช่นล่าสุดคือการแจกเงินคนจนหรือคนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐคนละ 500 บาทเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่แล้ว นับว่า “พลังประชารัฐ” ซึ่งผูกติดกับชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ “มาแรง” อย่างประมาทไม่ได้

แม้โอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร จะโพสต์โดยอ้างว่าชาวบ้าน (บุรีรัมย์) ไปกดเงิน 500 บาทที่รัฐแจก แต่ส่วนใหญ่บอกว่าจะเลือกพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างให้สอดคล้องกับสโลแกนหาเสียงอย่างไม่เป็นทางการของพรรคเพื่อไทยก่อนหน้านี้ที่ว่า “รับเงิน…กาเพื่อไทย”

แต่นั่นเป็นการอ้างเพียงฝ่ายเดียว ยังไม่มีอะไรยืนยันว่าเสียงนั้นสะท้อนคนส่วนใหญ่ที่ไปกดเงินหรือไม่ เพราะหากดูข่าวที่สื่อมวลชนมืออาชีพทั่วไปนำเสนอก็พบว่าชาวบ้าน เช่นที่ จ.ขอนแก่น บอกว่าอยากให้ลุงตู่เป็นนายกฯ ต่อไป นโยบายจะได้ต่อเนื่อง โครงการช่วยเหลือคนจนลักษณะนี้จะได้คงอยู่ต่อไป

ข้อมูลของโอ๊ค พานทองแท้ ค่อนข้างเลื่อนลอยเพราะไปอ้างอิงข้อมูลผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่ง ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใคร และไม่รู้ว่าเชื่อถือได้แค่ไหน และชาวบ้านตอบอย่างนั้นจริงหรือไม่

ถ้าเป็นคนจากพรรคเพื่อไทยที่ชาวบ้านคุ้นหน้าไปสอบถาม ชาวบ้านก็อาจจะอยากรักษาน้ำใจด้วยการตอบว่าจะเลือกเพื่อไทย

ซึ่งโอ๊คและเพื่อไทยควรถอดบทเรียนเจอ “โพลหลอก” จังๆ มาแล้ว 2 รอบ

รอบแรก การเลือกตั้งซ่อมเขต 3 สงขลา เมื่อปี 2547 พรรคไทยรักไทยมั่นใจมากว่าจะชนะ แต่ผลกลับพลิกล็อก สืบไปสืบมา พบว่าชาวบ้านแกล้งตอบเพื่อหลอกพรรคไทยรักไทย

เช่นเดียวกับโพลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เดือนมีนาคม 2556 ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่โพลออกมาว่า พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยจะชนะขาดลอย แต่ของจริงกลับออกมาตรงข้ามคือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากประชาธิปัตย์ ชนะเด็ดขาด

คำกล่าวอ้างของโอ๊ค อาจทำขึ้นเพื่อหวังผลทางจิตวิทยาเพื่อให้สอดรับสโลแกนของพรรคเพื่อไทย ชาวบ้านจะได้เชื่อและทำตามๆ กัน

 

แต่สโลแกนสวยหรู ดูมีอุดมการณ์ จะเอาชนะ “ของที่กินได้จริง” อย่างเงินสดช่วยลดค่าใช้จ่ายคนจนหัวละ 500 บาท แถมบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายรายเดือนอยู่แล้วได้หรือไม่ ก็น่าสงสัยอยู่

ชาวบ้านจะเอาของชัวร์ เช่น ได้รัฐบาลที่มีนายกฯ คนเดิมเพื่อให้มีความต่อเนื่องในแง่นโยบาย หรือไปเสี่ยงดวงเอากับพรรคเพื่อไทยหรือพรรคอื่นที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่

แม้พรรคเพื่อไทยและเครือข่าย ตลอดจนพรรคประชาธิปัตย์ จะโจมตีพรรคพลังประชารัฐด้วยหลายข้อหา เช่น กำหนดกติกาเลือกตั้งเอาเปรียบ หรือสืบทอดอำนาจเผด็จการ

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าจุดอ่อนของเพื่อไทยและประชาธิปัตย์คือมีภาพของการเป็นคู่ขัดแย้งกันในอดีตจากเหตุการณ์ชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมา อาจทำให้ชาวบ้านหวั่นใจว่าเลือกมาแล้ว ก็จะก่อชนวนขัดแย้งอีกไม่จบสิ้น

ในขณะที่พลังประชารัฐมีภาพความเป็นกลางในเชิงการเมืองมากกว่า ไม่มีคู่ขัดแย้งชัดเจน

 

นอกจากนี้ การที่แกนนำเสื้อแดงตัวหลักๆ อย่างเช่น นางจุรีพร สินธุไพร รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด อดีตแกนนำเสื้อแดงพัทยา ซึ่งเป็นน้องสาวของนายนิสิต สินธุไพร อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย สร้างความตกตะลึงด้วยการกระโดดไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐและเตรียมจะลงสมัคร ส.ส.ร้อยเอ็ด ก็น่าเชื่อว่าจะมีส่วนทำให้คนเสื้อแดงที่เคยเหนียวแน่นกับเพื่อไทยหรือคุณทักษิณ เปลี่ยนความคิด

นายนิสิตยอมรับว่า ตกใจ เสียใจ ที่น้องสาวไปอยู่กับฝ่ายตรงข้าม พร้อมกับบอกว่า น้องสาวไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงินทองหรือเรื่องเศรษฐกิจ แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมตัดสินใจย้ายไปอยู่กับฝ่ายที่ตัวเองต่อต้านมาตลอด

คำให้สัมภาษณ์ของนายนิสิตเท่ากับเป็นเครื่องบ่งชี้ว่านางจุรีพรไม่ได้ไปอยู่กับพลังประชารัฐเพราะถูกอำนาจหรืออิทธิพลอะไรบีบ

ยิ่งเมื่อมาฟังคำให้สัมภาษณ์ของนางจุรีพร ก็จะเห็นร่องรอยว่าการย้ายมาอยู่พลังประชารัฐนั้นน่าจะเกิดจากการใช้ “เหตุผล” มาหว่านล้อมเธอมากกว่าการใช้อิทธิพล

เธอบอกว่า ตัดสินใจดีแล้วจึงย้ายมาอยู่ที่นี่ แม้ครอบครัวไม่เห็นด้วย ส่วนมวลชนคนเสื้อแดงที่ตนเคยช่วยเหลืออย่างไร ก็จะช่วยเหมือนเดิม เพียงแต่ไม่อยากให้แบ่งแยกแตกสี อยากจะช่วยในฐานะคนที่ทำเพื่อชาติบ้านเมืองคนหนึ่ง แม้ไม่ได้เดินร่วมแนวคิดกับพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง ก็ไม่ได้หมายความว่าจุดยืนของเธอจะเปลี่ยนไป

เช่นเดียวกับจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำใหญ่ของเสื้อแดง ที่มีน้ำเสียงและท่าทีอ่อนลง ไม่สุดโต่ง มองอะไรเป็นภาพรวมได้รอบด้านมากขึ้น

 

หากจะให้เดาใจ ทั้งจุรีพรและจตุพร คงได้คิดว่า หากจะไปร่วมหัวจมท้ายกับเพื่อไทยแล้วชูประเด็นเดิมคือต่อสู้เพื่อ “เอาทักษิณกลับบ้าน” นั้นเหนื่อยเปล่าและเสียเวลา โดยเฉพาะจตุพรที่ติดคุกมาแล้วคงเห็นสัจธรรมว่าสุดท้ายแล้วคนที่ลำบากมากที่สุดจากการต่อสู้ก็คือตัวเขาเอง รวมทั้งประชาชนทั้งประเทศ อนาคตของประเทศ

เมื่อตกอยู่ในหล่มความขัดแย้ง เศรษฐกิจก็เสียหาย จะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ไม่ต่างกัน

ถ้าจะเอาทักษิณกลับบ้าน ชาวบ้านก็อาจต้องเสียเวลาต่อเนื่องไปอีกหลายปีนับจากนี้กว่าบ้านเมืองจะสงบ เพราะเมื่อไหร่ที่คุณทักษิณกลับเมืองไทย ความขัดแย้งก็จะเริ่มต้นขึ้นทันทีเนื่องจากจะมีเสียงเรียกร้องให้รับโทษจำคุก เสร็จแล้วฝ่ายสนับสนุนคุณทักษิณก็จะออกมาอีกเพื่อเรียกร้องไม่ให้ติดคุก วนเวียนอยู่แบบนี้

คำถามคือ คนเสื้อแดงและชาวบ้านรากหญ้าจะทนรับผลกระทบทางเศรษฐกิจและปากท้องจากการปกป้องคุณทักษิณได้หรือไม่

หากพิจารณาจำนวนผู้ถือบัตรคนจนหรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 11.4 ล้านใบ อันเป็นโครงการของรัฐบาล คสช.แล้ว จะพบว่าจำนวนดังกล่าวเทียบเท่าเป๊ะกับจำนวนคะแนนเสียงทั่วประเทศของพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 และคิดเป็น 72% ของคะแนนเสียงพรรคเพื่อไทยในปีเดียวกัน (15.8 ล้านเสียง)

น่าลุ้นว่าผู้ถือบัตร 11.4 ล้านคน/ใบนี้จะลงคะแนนให้เพื่อไทยและเครือข่าย (ที่อ้างเรื่องประชาธิปไตย) หรือพลังประชารัฐที่จะทำให้โครงการต่างๆ มีความต่อเนื่องแน่นอนซึ่งดีต่อปากท้อง แม้จะมีภาพว่าสืบทอดเผด็จการ