บทวิเคราะห์ : มองความเปลี่ยนแปลง “ภูมิอากาศ” ผ่าน 12 ตัวชี้วัด

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ปิดฉากไปแล้วกับการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศโลกครั้งที่ 24 ของสหประชาชาติ ที่เมืองคาโตวีตเซ ประเทศโปแลนด์ ประเทศต่างๆ เข้าร่วมเกือบ 200 ประเทศรวมทั้งไทยด้วยนั้น ต่างเห็นตรงกันว่า ถ้าต่างฝ่ายต่างเมินข้อตกลง “ปารีส” เหมือนเช่นวันนี้ อุณหภูมิโลกพุ่งแน่นอน

บางฝ่ายบอกชัดๆ เลยว่า ชาวโลกมีเวลาร่วมมือลดปริมาณการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศเหลือแค่ 12 ปีเท่านั้น

เชื่อได้ว่าอนาคตลูกหลานจะเผชิญกับวิกฤตจากสภาวะอากาศแปรปรวนทั้งหนาวจัด ร้อนจัด พายุฝนถล่มหนัก น้ำทะเลเพิ่มสูงท่วมชายฝั่งหนักยิ่งกว่าที่กำลังเกิดขึ้นในยุคนี้

ผลสรุปจากการประชุมนั่นคือ ทุกประเทศต้องเดินตามกฎกติกาที่เขียนไว้ในข้อตกลงกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2558

 

ตามกฎกติกาหรือที่บางสื่อเรียกว่าคู่มือปารีส (Paris Rulebook) มีประเด็นหลักๆ

1. ทุกประเทศต้องร่วมกันรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ( ํc ) เมื่อเปรียบเทียบกับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรมและพยายามควบคุมอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 1.5 c

2. ต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซพิษให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

3. ประเทศร่ำรวยต้องช่วยประเทศยากจน เลี่ยงการใช้พลังงานที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

4. ช่วยกันหาหนทางปรับตัวและเตรียมแผนรับมือกับภัยที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศโลก

คู่มือปารีสจะเอามาใช้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้แค่ไหน

โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งนายโดนัลด์ ทรัมป์ คนเซ็นสัญญาล้มข้อตกลง “ปารีส” จะเปลี่ยนใจยอมเดินตามกฎ “ปารีส” หรือไม่ ต้องติดตามดูกัน

กลับมาว่ากันต่อถึงรายละเอียดในรายงานประเมินผลสภาวะภูมิอากาศแห่งชาติของสหรัฐ ฉบับที่ 4 (Fourth National Climate Assessment) หรือเอ็นซีเอ ที่ผมเรียบเรียงและนำเสนอในคอลัมน์นี้มาเป็นลำดับ ตั้งแต่ตอนที่ 156

เอ็นซีเอหยิบยกผลที่เกิดขึ้นจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกหรือก๊าซพิษที่ชาวโลกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ นักวิทยาศาสตร์ทั้งของสหรัฐและทั่วโลกได้ข้อสรุปว่ามีผลกระทบขยายเป็นวงกว้างกว่าในอดีตมาก

ในรายงานเปิดหลักฐานภาพถ่ายบริเวณ “ทีโอก้า พาสส์” บนยอดเขาเซียร่าเนวาด้า ความสูงที่ 8 พันฟุตเหนือระดับน้ำทะเล กลายเป็นเขาโล้นๆ ไม่มีหิมะปกคลุมอยู่เลย ทั้งที่เดือนมกราคม 2558 เป็นปีที่ถ่ายภาพนี้ ยังอยู่ในช่วงฤดูหนาว

ในหน้าถัดไปเอ็นซีเอทำกราฟิกสรุปตัวชี้วัดของการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศในสหรัฐ 12 ตัวด้วยกัน (ดูในภาพประกอบ)

เอ็นซีเออธิบายตัวชี้วัดไว้ดังนี้

 

ตัวชี้วัดที่ 1 หมายถึง อุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีทั่วสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.8 องศาฟาเรนไฮต์ ( ํF) นับตั้งแต่เริ่มต้นศตวรรษที่ 20

เฉพาะรัฐอะแลสกา อุณหภูมิเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก

เร็วเป็น 2 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยอุณหภูมิโลก ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20

ตัวชี้วัดที่ 2 เป็นช่วงที่เกิดคลื่นความร้อนในหลายๆ เมืองของสหรัฐ พบว่าตั้งแต่ปี 2503 จำนวนวันที่เกิดคลื่นความร้อนมีมากขึ้น เฉลี่ยเกิดขึ้นนานกว่า 40 วัน

3. ปริมาณฝนตกเฉลี่ยทั้งปี เมื่อนำสถิติตั้งแต่ปี 2453 มาเปรียบเทียบ มีจำนวนมากขึ้น หรือนับในวันที่มีฝนตก ปริมาณน้ำฝนก็มีมากกว่า

4. นับจากปี 2498 เป็นต้นมาจนถึงปี 2559 ปริมาณหิมะที่ตกในภาคตะวันตกของสหรัฐมีจำนวนน้อยลง

5. ภาวะแห้งแล้งในสหรัฐ เปรียบเทียบให้เห็นค่าเฉลี่ยต่อปี กับค่าเฉลี่ย 9 ปีต่อครั้งภัยแล้งมีความถี่เพิ่มขึ้น

6. ปริมาณน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเหนือมีปริมาณลดลง ในอัตราเฉลี่ย 11-16% ต่อ 10 ปี

7. ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 ระดับน้ำทะเลตลอดแนวชายฝั่งสหรัฐเพิ่มขึ้นปีละ 9 นิ้ว อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นและหิมะละลายเร็วขึ้น

8. จากการบันทึกเมื่อปี 2525 ฝูงปลา หอยและสัตว์น้ำอื่นๆ บริเวณแนวชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลแบริ่งตอนเหนือ อพยพเคลื่อนย้ายไปอยู่ในแหล่งน้ำที่ลึกกว่า อุณหภูมิเย็นกว่า

9. อุณหภูมิผิวมหาสมุทรดูดซับความร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลกในสัดส่วนปีละ 1 ต่อ 4 ทำให้น้ำทะเลมีความเป็นกรดสูงขึ้น

10. ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 ฤดูใบไม้ผลินานกว่าในอดีต ทั้งนี้ ฤดูใบไม้ผลิมาเร็วกว่าเดิมและฤดูใบไม้ร่วงหดสั้นลง

11. สภาพอากาศที่อุ่นขึ้นและแห้งมากขึ้นนั้นทำให้เกิดไฟป่าถี่บ่อยครั้งในฝั่งตะวันตกของสหรัฐและตอนกลางของรัฐอะแลสกา

ตัวชี้วัดที่ 12 เอ็นซีเออธิบายว่า ช่วงศตวรรษนี้ จำนวนวันที่อุณหภูมิสูงขึ้นนั้นยาวกว่าจำนวนวันที่อุณหภูมิลดลง

ชาวอเมริกันต้องการเครื่องปรับอากาศมีมากกว่าต้องการเครื่องฮีตเตอร์ที่มาทำความอบอุ่น

 

ตัวชี้วัดทั้งหมดนี้เป็นข้อสรุปในรายงานที่นักวิทยาศาสตร์สหรัฐทำขึ้นเพื่อยืนยันว่า ปรากฏการณ์โลกร้อนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และเกิดขึ้นต่อเนื่องอย่างแน่นอน

แต่น่าแปลกใจว่า ทำไมนายทรัมป์กลับไม่เชื่อข้อมูลวิทยาศาสตร์เหล่านี้

หรือว่านายทรัมป์มีแนวคิดและพฤติกรรมเหมือนนายทุนทั้งหลายที่คิดเพียงแค่อยากได้ อยากรวย

ส่วนโลกจะเป็นอย่างไร “กูไม่สน”