วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์ /โรเนียว : ข้อสอบกับหนังสือใต้ดิน (1)

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

โรเนียว : ข้อสอบกับหนังสือใต้ดิน (1)

 

ทุกวันนี้เรามีความรู้สึกว่าแพลตฟอร์มใหญ่ๆ เช่น บล๊อก เฟซบุ๊ก กูเกิล และทวิตเตอร์ เป็นเพียงตัวกลางที่ส่งผ่านข้อมูล ในขณะที่เนื้อหานั้น เริ่มจากผู้เขียน ส่งออกไปสู่โลกสาธารณะ และตรงไปถึงผู้อ่าน

เมื่อร้อยปีที่แล้ว ขณะที่อินเตอร์เน็ตและเดสก์ท็อปพับลิชชิ่งยังมาไม่ถึง การเลือกระบบการพิมพ์ก็เหมือนเลือกแพลตฟอร์มที่จะใช้ส่งข้อความ

ยุคนั้นมีแพลตฟอร์มหลายอันให้เลือกใช้ และเลือกตามเงื่อนไขต่างๆ ได้แก่ ตามจำนวนพิมพ์ เช่น เมื่อต้องการจำนวนสิบหรือร้อยก๊อบปี้ และไม่สามารถส่งโรงพิมพ์ตัวตะกั่วได้ เนื่องจากกินเวลาและต้นทุนมาก ต้องใช้การอัดสำเนาแบบโรเนียว หรือตามเนื้อหาและการเข้าถึง เช่น เมื่อไม่ต้องการให้ต้นฉบับรั่วไหลไปได้ง่ายๆ ต้องใช้การอัดสำเนาแบบโรเนียว

โดยเฉพาะในวงการศึกษา โดยเฉพาะในช่วงก่อน พ.ศ.2530 หรือก่อนยุคฟองสบู่ คนที่เป็นครูต้องมีทักษะในการเขียนกระดาษไขและใช้เครื่องโรเนียว

ส่วนคนที่เป็นนักเรียนต้องคุ้นเคยกับกระดาษข้อสอบสีน้ำตาลอ่อน และหมึกที่มีกลิ่นและสีแปลกๆ เช่น นํ้าเงิน

เรียกได้ว่า ก่อนจะมีเครื่องพิมพ์แบบส่วนตัว ซึ่งมีรูปร่างเล็กและนํ้าหนักเบา เช่น ซีร็อกซ์ ดอท-แมทริกซ์ อิงค์เจ็ต และเลเซอร์ปริ๊นเตอร์ เครื่องอัดสำเนาแบบโรเนียวได้รับใช้เรามานาน

และเพิ่งจะสูญพันธุ์ไปไม่กี่สิบปีมานี้เอง

 

การอัดสำเนาเริ่มปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 หรือเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว โดยโทมัส อัลวา เอดิสัน โดยเรียกว่า autographic printing หรือ มีมมิโอกราฟ (mimeograph) ซึ่งประกอบด้วยกรอบผ้าสเตนซิล ลูกกลิ้งหมึกที่ใช้มือ และปากกาสำหรับเขียนหรือขูดลงบนสเตนซิล

จากนั้นในปี พ.ศ.2427 นักประดิษฐ์ในชิคาโกชื่ออัลเบิร์ต เบรก ดิ๊ก ผสมการใช้กระดาษไขเข้ากับแบบของเอดิสันและได้รับอนุญาตในสิทธิบัตรชิ้นนี้ เขาตั้งบริษัท A.B. Dick เพื่อผลิตเครื่องอัดสำเนาด้วยกระดาษไขออกจำหน่าย และรุ่นต่อๆ มา เปลี่ยนเป็นแบบปูกระดาษไขลงบนดรัมหรือลูกกลิ้งขนาดใหญ่ ซึ่งมีทั้งแบบหมุนด้วยมือและใช้ไฟฟ้า

ในขณะเดียวกันมีการคิดค้นเครื่องลักษณะเดียวกันนี้ในยุโรป โดยเรียกชื่อต่างกันออกไป โรเนียว (Roneo) เป็นชื่อของเครื่องอัดสำเนาที่ผลิตในอังกฤษ และได้รับความนิยมในสำนักงาน ทั้งของรัฐและเอกชน และสำหรับการทหาร ใช้กันมากตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โรเนียวถูกใช้ทั่วไป ทั้งในสำนักงาน บริษัท ห้างร้าน โรงเรียน และบ้าน เอกสารที่ผลิตทั้งโดยระบบราชการ ธุรกิจเอกชน และปัจเจกชน จึงมีจำนวนมากและกระจายไปทั่วโลก

 

หลักการทำงานของโรเนียวนั้นเหมือนสเตนซิล คือ ใช้เหล็กแหลมวาดหรือ “ปรุ” ลงบนกระดาษไขให้เป็นรอยบาก แล้วรีดหมึกให้ทะลุผ่านออกมาตามรอยนั้น อักษรที่ได้จะต่างจากที่ได้จากตัวพิมพ์โลหะหรือไม้ คือ ไม่คมชัด แต่ก็อ่านออกและใช้การได้สำหรับสิ่งพิมพ์ที่ไม่เน้นความสวยงามมาก

กระดาษที่ใช้มีขนาดตามเอกสารราชการคือเล็ตเตอร์และเลกัล มักเป็นกระดาษปรู๊ฟเนื้อหยาบ เพราะซับหมึกได้เร็วกว่ากระดาษขาว อีกทั้งประหยัดกว่า

งานปรุกระดาษไขและใช้เครื่อง แม้จะทำให้มือเลอะอยู่เสมอ แต่เรียนรู้ได้ไม่ยาก บางสำนักงานกลายเป็นทักษะที่จำเป็น และอาจจะมี “ห้องโรเนียว” ซึ่งก็เหมือนห้องซีร็อกซ์หรือห้องปริ๊นเตอร์ในปัจจุบัน

ผู้ผลิตเอกสารเพียงแต่คุมตัวหนังสือหรือเนื้อหาที่ปรากฏบนกระดาษไข และนำไปส่งให้ห้องโรเนียว การพิมพ์จะถูกทำโดยพนักงานอีกคน บางโรงเรียน ห้องนี้จะผลิตข้อสอบ ซึ่งเป็นเอกสารปกปิดสำหรับนักเรียน มีแต่ครูผู้ออกข้อสอบและพนักงานโรเนียวเท่านั้นที่จะเข้าไปได้

สำหรับตัวเนื้อหา (บอดี้) พิมพ์ดีดซึ่งเกิดก่อนหน้านั้นถูกปรับให้ใช้ปรุกระดาษไขได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เช่น พิมพ์ได้โดยไม่ใช้ผ้าหมึก รวมทั้งใส่เครื่องหมายและสัญลักษณ์ที่จำเป็น เมื่อถึงยุคของพิมพ์ดีดไฟฟ้าและพิมพ์ดีดไอบีเอ็ม สามารถปรับแรง “ตอก” ที่เหมาะสมกับกระดาษไขได้

สำหรับหัว (เฮดไลน์) ตาราง และสูตรคณิตศาสตร์แปลกๆ ยังต้องใช้วิธีการวาดด้วยมือ ต่อมาการวาดมีความวิจิตรพิสดารมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ใช้เทมเพลตซึ่งมีลักษณะคล้ายไม้บรรทัด ใช้ปากกาปากแหลมสำหรับปรุเป็นจุดหรือวาดเส้นบนกระดาษไข ในช่วงปลาย มีระบบถ่ายภาพและพิมพ์สอดสีได้เช่นเดียวกับเอกสารซีร็อกซ์ของยุคต่อมา

รวมทั้งทำให้มีกระบวนการทำงานที่ซับซ้อนขึ้น เพราะต้องแบ่งงานกันมากมาย เช่น ตัวอักษร วาดรูป และตีเส้นต่างๆ

 

ดังที่กล่าวมาแล้ว ยุคสงครามเย็นหรือตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นช่วงที่อำนาจรัฐและบริษัทเอกชนสมัยใหม่เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏ มีความต้องการใช้เอกสารจากหน่วยงานต่างๆ มากขึ้นอย่างมหาศาล เครื่องอัดสำเนามีโอกาสมารับใช้สถานการณ์นี้พอดี

ในไทย โรเนียวกลายเป็นชื่อของระบบการพิมพ์แบบอัดสำเนา ที่ถูกใช้ในวงการต่างๆ และแม้ในตลาดจะมีหลายยี่ห้อ เช่น เกสเต็ดเนอร์ (Gestetner) ก็จะถูกเรียกรวมกันว่าโรเนียว

ที่สำคัญ เป็นอุปกรณ์ที่มีในโรงเรียนขนาดกลางขึ้นไป ในบทความของหลุยส์ เอช. คูน ชื่อ Reading Materials Printing Facilities in Six Northern Changwads (1970) บอกว่าโรเนียวทำให้ครูมีบทบาทในการสอน และมีรูปแท่นพิมพ์แบบอัดสำเนา ทั้งแบบเครื่องและทำมือ ในโรงเรียนต่างจังหวัดโดยเฉพาะในภาคเหนือและอีสาน

ขณะนั้นเป็นยุคของโรงพิมพ์ใหญ่ เช่น องค์การค้าของคุรุสภาและไทยวัฒนาพานิช ซึ่งใช้การเรียงตัวตะกั่วและแท่นพิมพ์ขนาดใหญ่ พิมพ์ตำราทีละมากๆ แล้วกระจายไปทั่วประเทศ แบบเรียนระดับประถมและมัธยมที่พิมพ์อย่างสวยงามจากกรุงเทพฯ จะถูกส่งออกไปสู่ภาคอื่นๆ และแม้โรงพิมพ์ต่างจังหวัดจะมีมากแล้ว แต่การพิมพ์ก็ยังเป็นของที่แพงและเรื่องที่กินเวลามาก

คูนพูดถึงการรวมศูนย์ทางการศึกษา โดยเปรียบเทียบหนังสือจากโรงพิมพ์กับชี้ตจากเครื่องโรเนียว และตั้งคำถามว่า หนังสือคือครู หรือครูคือหนังสือ? เพราะแบบเรียนจากกรุงเทพฯ นั้น ทำอย่างไรก็ไม่ทั่วถึงและไม่สอดคล้องกับนักเรียน ตรงกันข้าม ในต่างจังหวัด สื่อการสอนอื่นๆ มีความสำคัญมากกว่าหนังสือ พูดอีกอย่าง ครูเป็นหัวใจในการสอน เพราะเป็นคนผลิตเอกสารและอุปกรณ์การสอนด้วยตนเอง

และโรเนียว ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้การวาดและเดินเครื่องด้วยมือของครู เป็นหัวใจของการผลิตดังกล่าว