ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ l เลือกตั้ง 2562 อย่าคิดว่าฝ่ายสืบทอดอำนาจจะชนะ

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

การเลือกตั้ง 2562 เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสว่า “คนรุ่นใหม่” คือประชากรกลุ่มที่จะกำหนดผลเลือกตั้งอย่างมีนัยยะสำคัญ

พรรคการเมืองทุกพรรคจึงเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งครั้งนี้โดยพูดถึงประชากรกลุ่มอื่นน้อยมาก และไม่ว่าจะเป็นคนอายุ 50++, กรรมกร, ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย ฯลฯ ล้วนไม่มีใครถูกพูดถึงเทียบเท่า “คนรุ่นใหม่” ได้เลย

แม้จะไม่มีใครนิยามชัดๆ ว่าคนรุ่นใหม่คือใคร แต่ความเชื่อว่าคนกลุ่มนี้สนใจการเมืองจนมีวาระของตัวเองนั้นมีมากแน่ๆ

เช่นเดียวกับความเชื่อต่อไปว่า การใช้สิทธิของคนกลุ่มนี้จะทำให้ประเทศเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

อย่างไรก็ดี การสำรวจของนิด้าโพลพบว่าคนเจนวายไม่ได้คาดหวังให้พรรคการเมืองพูดเรื่องประชาธิปไตยมากอย่างที่คิดกัน

คนอายุต่ำกว่า 40 ไม่ได้มีวาระทางการเมืองที่ต่างจากคนกลุ่มอื่นมากเป็นพิเศษ และคนกลุ่มนี้ไม่ได้สนใจสภาวะที่ประเทศไม่มีประชาธิปไตยมากนัก อย่างน้อยเมื่อเทียบกับปัญหาอื่นๆ ที่มีการสำรวจออกมา

เท่าที่นิด้าโพลระบุ ภารกิจที่คนเจนวายอยากให้พรรคการเมืองทำอันดับต้นๆ คือ แก้ปัญหาปากท้อง, ป้องกันทุจริต และคุมราคาสินค้า ส่วนเรื่องที่พวกเขารับไม่ได้ที่สุดคือ เศรษฐกิจตกต่ำ, ผู้มีอิทธิพล และความขัดแย้งในประเทศ

และเรื่องที่ “เจนวาย” สนใจน้อยคือ รัฐประหาร, ไม่มีเลือกตั้ง และการปราศจากเสรีภาพในการแสดงความเห็นอะไร

ถ้ายอมรับว่าเจนวายหมายถึงคนที่เกิดในช่วงปี 2523-2543 ซึ่งจะมีอายุ 19-30 ในการเลือกตั้งปี 2562 ผลสำรวจก็ชี้ว่า “คนรุ่นใหม่” ไม่ได้มีวาระของตัวเองที่แตกต่างจากคนช่วงอายุอื่นๆ

นั่นคือประชาธิปไตยไม่สำคัญเท่าเรื่องปากท้อง และการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพนั้นไม่ใช่ปัญหาใหญ่เท่าความขัดแย้งทางการเมือง

หากโพลนิด้าถูก พฤติกรรมการลงคะแนนของ “คนรุ่นใหม่” ก็จะมีผลต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มาก

และไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าที่ “คนรุ่นใหม่” คือประชากรกลุ่มที่จะทำให้ประเทศกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตย

ไม่มีใครรู้ว่าโพลจะตรงกับความรู้สึกนึกคิดของคนรุ่นใหม่จนมีนัยยะทางการเมืองอย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือ โพลให้ภาพคนรุ่นใหม่แตกต่างจากอาณาบริเวณอื่นๆ ตัวอย่างเช่น “ประเทศกูมี” ของคณะแร็พเปอร์นิรนามมียอดวิวเกือบ 50 ล้าน เมื่อเทียบกับเพลง Thailand 4.0 ที่จัดทำโดยรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐซึ่งมียอดวิว 4.5 ล้านเท่านั้นเอง

“ประเทศกูมี” ด่าความหน้าไหว้หลังหลอกของ คสช. ยอดวิวที่สูงกว่าอีกฝ่ายเกินสิบเท่าจึงแสดงความพ่ายแพ้ของรัฐบาลทหารในสมรภูมิออนไลน์ และหากข้อมูลว่าคนไทยกลุ่มที่ใช้เฟซบุ๊กสูงสุดคือคนอายุ 18-34 คือภาพสะท้อนผู้ใช้เครือข่ายสังคมอื่นๆ ความพ่ายแพ้ของรัฐในสมรภูมินี้ก็แสดงว่าประชากรกลุ่มนี้ไม่นิยมรัฐบาลโดยตรง

นอกโลกออนไลน์ออกไป การสำรวจของนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองและอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในวันที่ 20 พฤษภาคม และ 26 กันยายน ก็ให้ผลว่าคนรุ่นใหม่ไม่นิยมรัฐบาลนี้เช่นกันด้วย

เพราะนักศึกษา มช. ที่อยากให้คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ มีแค่ 6%

ส่วนนักศึกษาทั่วประเทศที่ต้องการแบบนี้มีแค่ 1.6% ซึ่งถือว่าต่ำเหลือเกิน

หากเอาสามเรื่องนี้มาประกบกัน สิ่งที่เราพอจะสรุปก็คือคนรุ่นใหม่ไม่พอใจรัฐบาลจนไม่อยากให้คุณประยุทธ์เป็นนายกฯ อีกต่อไป

แต่ขณะเดียวกัน “คนรุ่นใหม่” ก็ไม่ได้คิดว่าพรรคการเมืองต้องมีบทบาทเป็นแกนนำในการต่อต้านนายกฯ ทหารหรือฟื้นฟูประชาธิปไตยเมื่อเทียบกับการแก้ปัญหาอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน

หลายเดือนหลังจากอนาคตใหม่จุดประกายไฟเรื่องคนรุ่นใหม่จนหลายพรรคพูดตามๆ กัน คนรุ่นใหม่กำลังถูกทำลายความเป็นการเมืองจนกลายเป็นประชากรกลุ่มที่มีเสียง แต่ไร้พลัง จนอาจไม่มีแม้กระทั่ง “กระแส” ในปัจจุบัน

สำหรับ “คนรุ่นใหม่” กลุ่มที่เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทิศทางข่าวที่เต็มไปด้วยเรื่องประเภท คสช. แทรกแซงการแบ่งเขตเลือกตั้งและบัตรเลือกตั้ง, พรรคพลังประชารัฐดูดอดีต ส.ส.กลุ่มผู้มีอิทธิพล, กกต.จำกัดจำนวนป้ายและรถหาเสียง ฯลฯ ทำให้ “คนรุ่นใหม่” เข้าสู่สนามเลือกตั้งโดยแทบไม่มีโอกาสสร้างกระแสเพื่อระดมคะแนนเสียงได้เลย

นอกจากแกนนำอนาคตใหม่กับคุณไอติมซึ่งได้แรงส่งจากความเป็นหลานคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ “คนรุ่นใหม่” แทบทุกพรรคมีพื้นที่ในสื่อหรือพื้นที่สาธารณะแบบอื่นน้อยมาก

ยกเว้นแต่ในเวทีซึ่งจัดให้ “คนรุ่นใหม่” พูดกันเองเพื่อตอกย้ำความสำคัญที่กลายเป็น Niche Market ซึ่งไม่มีความหมายอะไร

สำหรับ “คนรุ่นใหม่” ที่เป็นผู้ลงคะแนน ไม่ว่าจำนวนคนอายุ 18-24 ปี จะอยู่ที่ 5.6 ล้านคน หากรวบรวมจากข้อมูลของกรมการปกครองหรือไม่ คนเหล่านี้กำลังเข้าสู่การเลือกตั้งที่คณะรัฐประหารทำให้มีแรงจูงใจไปใช้สิทธินิดเดียว

ภายใต้กติกาเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญที่ คสช.ทำเพื่อสร้างความได้เปรียบให้การเมืองรุ่นเก่าในเครือข่ายอำนาจ (political network) “คนรุ่นใหม่” จำนวนมากรู้สึกเหมือนคนกลุ่มอื่นๆ ว่าผลเลือกตั้งแทบจะถูกล็อกไว้ล่วงหน้าโดย คสช. จนคนกลุ่มที่มีสัดส่วน 10-14% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งอาจเป็นคนกลุ่มที่ไปลงคะแนนน้อยที่สุดโดยปริยาย

ในแง่นี้ “คนรุ่นใหม่” ของไทยอาจมีชะตาคล้าย “คนรุ่นใหม่” ในหลายประเทศที่มี “กระแส” แต่ถึงวันลงคะแนนจริงๆ กลับไปใช้สิทธิไม่มากเท่าคนช่วงอายุอื่นๆ จนผลการลงคะแนนสวนทางกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ ตัวอย่างเช่น การเลือกนายกรัฐมนตรีอังกฤษและประธานาธิบดีอเมริกาช่วงที่ผ่านมา

คนไม่น้อยเข้าใจว่าฝ่ายอนุรักษนิยมในสองประเทศชนะเพราะ “คนรุ่นใหม่” ไม่ลงคะแนน

แต่ที่จริงคนอังกฤษอายุ 18-24 ไปใช้สิทธิเลือกตั้งปีที่แล้วสูงกว่า 67% ซึ่งมากกว่าจำนวนคนวัยนี้ที่ไปลงประชามติสหภาพยุโรปและการเลือกตั้งครั้งก่อน

เพียงแต่คนกลุ่มนี้มีสัดส่วนแค่ 10% เมื่อเทียบกับผู้ไปใช้สิทธิทั้งหมดในการเลือกตั้งครั้งเดียวกัน

ในการเลือกตั้งกลางเทอมของอเมริกาครั้งที่ผ่านมา “คนรุ่นใหม่” อายุ 18-29 ที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งคิดเป็น 31% ของผู้มีสิทธิในวัยนี้ทั้งหมด ตัวเลขนี้สูงกว่าจำนวนประชากรกลุ่มนี้ซึ่งไปใช้สิทธิเลือกตั้งกลางเทอมสี่ปีก่อนราวๆ 10%

ด้วยเหตุดังนี้ หนึ่งในโจทย์ที่พรรคการเมืองต้องทำในการเลือกตั้งปี 2562 คือการทำให้ “คนรุ่นใหม่” เห็นว่าการเลือกตั้งคือวิถีทางสร้างอนาคตที่ดีขึ้น, เชื่อมั่นว่าการลงคะแนนทำให้ประเทศเปลี่ยนได้ และความเชื่อมั่นนั้นต้องมีพลังให้คนไปเลือกตั้งท่ามกลางการล้างสมองว่าถึงอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นนายกฯ ต่อไป

เท่าที่เป็นอยู่จนปัจจุบัน พรรคการเมืองนำเสนอ “คนรุ่นใหม่” ด้วยภาพที่เป็นตัวแทนคนชนชั้นเดียวแทบทั้งหมด เครื่องแบบคนกลุ่มนี้ในพรรคเก่าหรือพรรคใหม่จึงเป็นเสื้อยืดขาวสไตล์คุณหนูที่ไม่ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำอย่างคนทั่วไป จากนั้นก็ถ่ายรูปด้วยสายตาจิกกล้องเพื่อโชว์ความเป็นผู้นำ ปิดท้ายด้วยการบอกโลกว่าพ่อแม่ส่งเรียนที่ไหนมา

ถ้าถือว่าคนรุ่นใหม่คือคนที่อายุต่ำกว่า 30 ลงไป จะเป็นอาชีพไหนหรือชนชั้นอะไรก็มีคนวัยนี้ทั้งสิ้น คนรุ่นใหม่สไตล์นี้จึงไม่ใช่ตัวแทนคนวัยนี้อีกหลายล้านที่เป็นไทบ้าน, ลูกชาวสวนยาง, เด็กห้องแถว, เรียนอาชีวะ ฯลฯ จนไม่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ไปลงคะแนนอย่างกว้างขวางได้เลย

การเลือกตั้งอเมริกาในเดือนพฤศจิกายนเป็นตัวอย่างของการนำเสนอ “คนรุ่นใหม่” ที่ทำให้คนออกมาลงคะแนนมากขึ้น และตัวเลข “คนรุ่นใหม่” ที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสูงกว่าในอดีตนั้นมีผลแน่ๆ

ต่อชัยชนะของ “คนรุ่นใหม่” ที่ทำให้รัฐสภาอเมริกาเดินหน้าสู่ความหลากหลายทางศาสนา/ชาติพันธุ์/เพศวิถี/ชนชั้น/สีผิว อย่างไม่เคยเป็น

ตรงข้ามกับประเทศไทยที่ “คนรุ่นใหม่” เป็นแบรนด์เพื่อชิงพื้นที่ทางการเมือง

“คนรุ่นใหม่” ในอเมริกานำเสนอตัวเองในฐานะตัวแทนชนผู้ไม่มีเสียงในระบบการเมืองทั้งหมด ผู้สมัครหน้าใหม่จำนวนมากจึงแสดงให้เห็นภูมิหลังที่มาจากครอบครัวกรรมกร, ถืออิสลาม, รักเพศเดียวกัน, มีเชื้อสายอินเดียนแดง, แม่เลี้ยงเดี่ยว ฯลฯ โดยไม่ลังเล

วิธีนำเสนอตัวเองแบบนี้ทำให้คนกลุ่มต่างๆ แห่ไปลงคะแนนให้ “คนรุ่นใหม่” จนผลเลือกตั้งทำให้ “โฉมหน้า” รัฐสภาอเมริกาเปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น Jahana Hayes กับ Ayanna Pressley เป็น ส.ส.หญิงผิวดำคนแรกของคอนเน็กทิคัตและแมสซาชูเซตส์ หรือ Rashida Tlaib กับ Ilhan Omar เป็น ส.ส.หญิงมุสลิมคู่แรกของอเมริกา

นอกเหนือจากนั้นSharice Davids กับ Deb Haaland เป็นคนเชื้อสายอินเดียนแดงคู่แรกที่ชนะเลือกตั้ง ส่วน Alexandria Ocasio-Cortez เป็นผู้หญิงอายุน้อยที่สุดที่ได้เป็น ส.ส. ทั้งที่อายุแค่ 29 และถูกโจมตีว่าเป็นสังคมนิยม

ท่ามกลางผู้นำบ้าอำนาจอย่างทรัมป์ พรรคการเมืองทำงานบนความเชื่อว่าประเทศเปลี่ยนได้ และ “คนรุ่นใหม่” เชื่อมโยงกับประชากรที่ไร้ปากเสียงจนสามารถระดมคะแนนสู่ผลเลือกตั้งที่ฝ่ายอำนาจนิยมผูกขาดประเทศไม่ได้ต่อไป

การเลือกตั้งปี 2562 ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งเป็นบันไดขั้นแรกที่จะสกัดไม่ให้ คสช.สืบทอดอำนาจ

การผลักดันให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิอย่างกว้างขวางคือปัจจัยสำคัญต่อกระบวนการนี้

และการปลดแอกความเท็จว่าเลือกแบบไหนก็ได้ พล.อ.ประยุทธ์ คือภารกิจที่ทุกพรรคและคนรุ่นใหม่ทุกคนต้องสื่อสารกับประชาชน