อุรุดา โควินท์ / อาหารไม่เคยโดดเดี่ยว : ความขมขื่นอาจจำเป็น

“เราไม่อยากเรียกน้ำพริกนี้ว่าน้ำพริกอีเก๋แล้วล่ะ” ฉันบอก

เพื่อนอยากกินน้ำพริกซึ่งเข้ากันกับหน่อไม้ที่สุด แต่เพื่อนทำไม่เป็น เพื่อนจึงหอบหน่อไม้มาบ้านฉัน

“มันไม่สุภาพเหรอ” เธอถาม

“กลัวมันผิด” ฉันหัวเราะ “กลัวว่าน้ำพริกอีเก๋ของคนอื่นจะเป็นอีกแบบ ไม่ใช่แบบที่เราเคยกินตั้งแต่เด็ก”

ฉันเคยเห็นเพื่อนใน FB ตำน้ำพริก ใส่แต่พริก กระเทียม กะปิ และเรียกมันว่าน้ำพริกอีเก๋ ซึ่งต่างจากที่ฉันเคยกินมาก

เปล่า ฉันไม่คิดว่าเธอผิด เพียงแต่เราเคยกินน้ำพริกอีเก๋ (ชื่อเดียวกัน) แต่ทำไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกับอาหารอีกหลายชนิดที่แต่ละครัวมีวิธีปรุงต่างกันไป

อาหารไม่มีถูกหรือผิด อาหารมีสองคำถาม หนึ่ง กินได้มั้ย สอง กินอร่อยมั้ย

สำหรับเรา (ฉันและเพื่อน) น้ำพริกอีเก๋ ให้คำตอบ Yes และ Yes

 

อย่างรวบรัดตัดความ อาจบอกได้ว่า น้ำพริกอีเก๋เวอร์ชั่นที่ฉันรู้จัก คือน้ำพริกกะปิใส่มะเขือขื่นและแคบหมู แต่หากลงรายละเอียด เราจะพบว่า มันเป็นน้ำพริกกะปิที่ไม่ใส่หัวหอม และนิยมใช้พริกขี้หนูสีแดง อีกทั้งรสไม่จัด ไม่หวานไป ไม่เค็มไป ไม่เปรี้ยวไป

แคบหมูทำให้น้ำพริกนุ่มนวล เหมาะจะกินกับข้าวเหนียวอุ่นๆ และหากมีหน่อไม้อร่อย เราก็ไม่ต้องการอะไรอีกเลย

เรารู้จักกินแบบนี้ตั้งแต่เด็ก กินข้าวให้อิ่ม ไม่เน้นเนื้อสัตว์ อาหารหลักของเราคือข้าว อะไรก็ตามที่กินกับข้าวอร่อย กินไม่เบื่อ จึงเป็นจานโปรดของเรา

ฉันรู้จักน้ำพริกชนิดนี้จากแม่ของเธอ ฉันชอบไปเที่ยวบ้านเธอ ฉันชอบที่แม่เธอไม่เคยถาม เรียนเป็นอย่างไรบ้าง อยากเรียนอะไรต่อ ไม่ถามกระทั่ง-การบ้านเสร็จหรือยัง (สุดยอดคุณแม่)

ที่แม่ของเพื่อนทำ คือ ยิ้มอ่อนหวาน ตอนยกกระติ๊บข้าวเหนียวมาให้ ในขันโตกมักมีน้ำพริกกับผัก และน้ำพริกที่แม่ทำอร่อยไม่เหมือนใครคือน้ำพริกอีเก๋

บางวันแม่ทอดหมู หรือทอดไข่ให้ และต่อให้ไม่มีโปรตีน เราก็ปั้นข้าวเหนียวจิ้มน้ำพริกใส่ปาก ตามด้วยผักนึ่งหรือผักต้ม คำแล้วคำเล่า กระทั่งกินต่อไม่ไหว

 

“คิดถึงแม่เหมือนกันนะ” ฉันว่า

เธอหัวเราะ “ไม่เป็นไร แม่ตายแล้ว แต่เธอยังอยู่ ทำน้ำพริกให้เรากินได้”

เพื่อนไม่ชอบทำอาหาร ไม่ชอบเอาเลย แต่หาเงินเก่งมาก แน่นอน-เพื่อนใช้เงินเก่งด้วย เก่งในความหมายที่ว่า ใช้อย่างคุ้มค่า สมควรจ่าย เธออาจซื้อกระเป๋าแพงมากสักใบ เพราะเธอต้องใช้มันบ่อย เธอซื้อรถแพง เพราะมันส่งเสริมบุคลิก ทำให้เธอน่าเชื่อถือ ในฐานะผู้จัดการธนาคาร

น้ำพริกยังเป็นอาหารโปรดของเธอ เช่นเดียวกับแกงผัก ทุกครั้งที่เธออยากกิน เธอจะมาหาฉัน เธอเคยพูดอย่างทีเล่นทีจริงว่า เธอไม่มีวันห่างไปจากฉัน เพราะฉันทำอาหารอร่อย

ข้าวนึ่งสุกแล้ว ข้าวใหม่ของปีนี้ จะมีอะไรหอมเท่าข้าวใหม่ที่เพิ่งสุกอีกเล่า

“กินเลยมั้ย มื้อเย็นตั้งแต่บ่ายสี่นี่ล่ะ” เธอว่า

ฉันรีบพยักหน้า ฉันหิว เมื่อได้กลิ่นข้าวใหม่

ตักกะปิใส่ตอง ห่อให้มิดชิด ย่างกะปิหน่อย น้ำพริกจะอร่อยขึ้น ย่างบนกระทะแทฟลอน นาบไปเรื่อยๆ เดี๋ยวตองก็กลายเป็นสีน้ำตาล ตอนนั้นล่ะ ค่อยปิดเตา

หย่อนกระเทียมกับพริกขี้หนูลงครก ย้ำว่าต้องเป็นพริกขี้หนู ไม่ใช่พริกจินดา ตำให้ละเอียด แล้วใส่มะเขือขื่นสองลูก ตำต่อให้เข้ากัน จึงใส่กะปิย่าง ตามด้วยน้ำตาลทรายแดง บีบมะนาวนิดหน่อย คนให้ทั่ว แล้วชิม จะได้น้ำพริกกะปิที่มีรสแปลกออกไป มีความขื่นที่ปลายลิ้น ฉันมักปรุงให้รสจัดกว่าที่ต้องการ เพราะรสจะอ่อนลงเมื่อใส่แคบหมู

เค็มจากกะปิ ไม่เติมน้ำปลา รสหวานต่อจากเค็ม ที่รั้งท้ายคือรสเปรี้ยว น้ำพริกอีเก๋ควรเป็นเช่นนี้

“ใส่เยอะๆ เลย” เธอบอก เมื่อเห็นฉันใส่แคบหมูลงครก

“มากไปก็ไม่เหลือรสน้ำพริกสิ ไว้เธอกินแคบหมูต่างหากแล้วกัน”

ใส่แคบหมูนิดหน่อย ตำรวมกับน้ำพริก ให้น้ำพริกแห้ง ไม่เหลือน้ำ ถือว่าใช้ได้

ตักใส่ถ้วยดินเผาใบที่เพื่อนชอบ แล้วฉันก็ซอยมะเขือขื่นโรยหน้าอีกที ไม่ใช่แค่ตกแต่ง แต่มันอร่อยมาก

 

“ถ้าไม่มีมะเขือขื่น ใช้มะเขือเปราะแทนได้มั้ย” เธอถาม

“แม่เธอเคยใช้มั้ย”

“แม่จะใช้ทำไม บ้านเราปลูกมะเขือขื่น ไม่เคยขาด”

เคยมีคนถามคำถามนี้กับฉัน แน่นอน-ใช้แทนได้ แต่คงไม่เหมือนกันเสียทีเดียว และคงต้องใส่น้อยลง เพราะมะเขือเปราะมีเนื้อเยอะกว่ามะเขือขื่น

“เราก็เพิ่งปลูกนะ เพราะถ้าแม่ค้ามะเขือไม่มาก็อด” หัวเราะ “และก็ บ่อยมากที่อยากกินน้ำพริกอีเก๋ แต่ขี้เกียจไปตลาด มีทุกอย่าง ยกเว้นมะเขือขื่น”

” ฮือ…ความขื่นมันจำเป็นนะ” เธอว่า

“ความขมด้วย”

 

เราช่วยกันจัดโต๊ะ ซึ่งประกอบด้วยหน่อไม้ต้ม ข้าวใหม่นึ่ง และน้ำพริก เราตกลงใจไม่กินทั้งหมูทอด ไข่ทอด ไม่ใช่เพราะขี้เกียจทำ แต่เราชอบแบบนี้ แค่นี้ก็ดีเกินพอ

“อยากได้ของขมมั้ย ออกไปซื้อให้” เธอถาม

เธอหมายถึงเบียร์

ฉันสั่นหัว “ไม่เอา มันจะอิ่มเร็ว กินข้าวได้น้อย”

ใจฉันขมอยู่แล้ว เก็บประโยคนี้ไว้ในใจ แต่เชื่อว่าเพื่อนคงรู้

ก็…ทั้งขมและขื่น เราต่างรู้จักมันพอๆ กัน