บทวิเคราะห์ : 2019 เมื่อไทย เป็น “ประธานอาเซียน”

ประศันธ์ พาราเมสวารัน แห่ง “เดอะ ดิพโพลแมต” เขียนเรื่อง “ความท้าทายของไทยในการเป็นประธานอาเซียนในปี 2019” เอาไว้ตั้งแต่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่หยิบมาพูดถึงตอนนี้ก็ยังไม่สาย ยังสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจสภาวการณ์ของประเทศสำหรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงได้เป็นอย่างดี

ก่อนถึง “ความท้าทาย” คอลัมนิสต์ประจำของดิพโพลแมตรายนี้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจเอาไว้เป็นปฐม 2 ประการ

แรกสุดคือ ตำแหน่ง “ประธานาอาเซียน” นั้น เป็นกระบวนการหมุนเวียนภาระรับผิดชอบในหมู่ชาติสมาชิกบนพื้นฐานของแนวทางแบบเดิม ไม่ใช่การ “ส่งไม้ต่อ” ไปยังชาติใดชาติหนึ่งภายใต้กระบวนการ “คัดสรร” เป็นพิเศษ เพื่อให้ “เสริมหรือสร้างแนวคิดใหม่” ในอันที่จะขับเคลื่อนประชาคมแต่อย่างใด

อีกอย่างก็คือ การเป็น “ประธานอาเซียน” นั้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับไทยแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคำนึงถึงว่ากลุ่มประเทศสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) นั้นก่อตั้งขึ้นในเมืองหลวงของไทย

เอกสารสำคัญในการก่อตั้งอาเซียนนั้นก็ยังเรียกขานกันว่า “ปฏิญญากรุงเทพฯ” หรือ “แบงค็อก ดีแคลเรชั่น” มาจนถึงทุกวันนี้

 

ดังนั้น การเป็นประธานอาเซียน จึงไม่น่าที่จะถูกขยายนัยความสำคัญจนเกินเหตุ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ “หัวโขน” หรือตำแหน่งพิธีการดาด-ดาด ที่ไร้ความหมาย และไร้ความท้าทาย ขึ้นอยู่กับสถานการณ์แวดล้อมในห้วงเวลาของการรับภาระเป็นประธานดังกล่าวเป็นสำคัญ

ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงเชื่อว่า ความท้าทายของไทยในห้วงแห่งการเป็นประธานอาเซียนนั้นมีหลากหลายและมากระดับด้วยกัน ตั้งแต่เงื่อนปมปัญหาการเมืองภายใน เงื่อนไขจากการกำหนดนโยบายด้านการต่างประเทศ และปมประเด็นทั้งหลายในระดับภูมิภาคและในระดับโลก ซึ่งผูกเป็นเงื่อนไขเอาไว้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า

“ความท้าทายเหล่านี้จะเพิ่มแรงกดดันให้กับไทยมากขึ้นนับแต่เริ่มต้นรับภาระการนำองค์กรที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคให้ก้าวผ่านห้วงเวลาในอีกหนึ่งปีข้างหน้า” เลยทีเดียว

 

ในแง่ปัญหาการเมืองภายในนั้น พาราเมสวารันเห็นว่า แม้จะไม่ได้เป็นประธานอาเซียน แต่ไทยก็ต้องถูกจับตามองมามากเป็นพิเศษอยู่แล้วในปี 2019 ที่ต้องถือว่าเป็นอีกหัวเลี้ยวหัวต่อหนึ่งของการเมืองภายในของไทยควบคู่ไปกับการเป็นผู้นำอาเซียน เมื่อการเลือกตั้ง “ที่น่าจะมีขึ้น” ในปีหน้า นำประเทศกลับมาสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย การตรวจสอบถี่ยิบย่อมเกิดขึ้นตามมาอย่างช่วยไม่ได้

แต่ความกังวลที่ว่าจะเกิดการประท้วงทางการเมืองจนกลายเป็นปัญหาต่อการประชุมอาเซียน เหมือนอย่างครั้งล่าสุดที่ไทยดำรงตำแหน่งนี้ในปี 2009 เป็นความกังวลที่ “มากเกินไป” ในทัศนะของผู้เขียน

สิ่งที่ผู้เขียนคาดว่า “อาจจะ” ได้เห็นก็คือ การเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน “มากขึ้นกว่าเดิม” ระหว่างวาระสำคัญภายในประเทศของไทยกับสิ่งที่ไทยพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นใน “ระดับภูมิภาค”

ควบคู่ไปกับการแสดงออกถึงความ “ระแวดระวัง” ประเด็นที่ละเอียดอ่อนทั้งหลายซึ่งอาจผุดขึ้นมาให้เห็นได้ในช่วงเวลาดังกล่าว

 

เงื่อนปมการเมืองภายในของไทยยังส่งผลต่อประเด็นของการกำหนดนโยบายต่างประเทศอย่างช่วยไม่ได้ ที่ผ่านมากิตติศัพท์ทางการทูตของไทยที่มีศักยภาพสูงในการ “สร้างดุลยภาพ” ให้เกิดขึ้นในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจของโลก อาจพบว่าการดำเนินการให้เกิดสมดุลดังกล่าวนั้นทำได้ยากมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกทั้งหลาย “ซับซ้อน” มากขึ้นนับตั้งแต่การรัฐประหารเรื่อยมา และความพยายามของไทยในการสร้างสัมพันธ์ใกล้ชิดกว่าเดิมกับประเทศอย่างญี่ปุ่น อินเดีย รวมไปจนถึงจีนและรัสเซีย รวมไปถึงสหรัฐอเมริกา ที่มี “ข้อจำกัดและความท้าทาย” ต่างๆ อยู่แล้ว

การจัดการกับความสัมพันธ์กับต่างประเทศของประธานอาเซียนอย่างไทยยิ่งน่าจับตามองมากขึ้นไปอีกเมื่อคำนึงถึงสภาวะแวดล้อมทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก ปัญหาในทะเลจีนใต้ยังคงเอาแน่นอนไม่ได้ และเกี่ยวพันไปถึงความเป็นเอกภาพของอาเซียนเองอีกด้วย

แนวทางปฏิบัติในทะเลจีนใต้ จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนหรือไม่ ความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง (อาร์เซป) จะได้ข้อยุติหรือไม่

เหล่านี้ล้วนถูกใช้เป็นมาตรวัดศักยภาพของประธานอาเซียนใหม่ได้ทั้งสิ้น

 

ข้อสังเกตปิดท้ายของผู้เขียนก็คือ

ไทยคุ้นเคยดีกับการทำหน้าที่ประธานของอาเซียน

นอกจากนั้น สิ่งที่ไทยพยายามชูธงให้กับอาเซียนในอีก 1 ปีข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน การเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมและการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนต่อประชาชนด้วยกัน ล้วนเป็นสิ่งที่ภูมิภาคอาเซียนจำเป็นต้องมี ต้องทำเพื่อพัฒนาการในอนาคต

แต่ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของไทยนั่นเอง