วิเคราะห์ : ศึกชิงมง-มิสยูนิเวิร์ส ศึกศักดิ์ศรีเวทีความงาม สาวงามสวยปัง แต่ผู้จัดพัง!!

ปิดฉากลงแล้วสำหรับเวทีประกวด “มิสยูนิเวิร์ส” หรือนางงามจักรวาล เวทีประกวดระดับโลก โดยไทยเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 3 ในรอบ 13 ปี จากก่อนหน้าที่เคยเป็นเจ้าภาพมาแล้ว 2 ครั้งในปี 2535 และปี 2548

บนความสำเร็จของเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018 ที่ประเทศไทยได้อวดการจัดอีเวนต์ระดับโลกให้ปรากฏแก่สายตาคนดูกว่า 500 ล้านคนทั่วโลก

ขณะที่ด้านหลังเวทีประกวดครั้งนี้ กลับเจอความท้าทายและสารพัดปัญหา นั่นคือ เวลาน้อย หาสปอนเซอร์ยาก ออกสตาร์ตช้า ขณะที่ต้นทุนสูง

ทำให้อีเวนต์ใหญ่นี้ไม่ค่อยปัง

ทั้งที่ศักยภาพของอีเวนต์ระดับนี้สามารถต่อยอดสร้างแบรนดิ้ง โปรโมตประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักทั่วโลกได้ไม่ยาก

ถึงตอนนี้ เวทีประกวดจบลง โดยสาวงามจากฟิลิปปินส์คว้ามงกุฎมิสยูนิเวิร์ส 2018 ไปครอบครองเป็นที่เรียบร้อย แต่ด้านหลังเวทียังไม่ยอมจบ

เพราะส่อแวววุ่นวายตั้งแต่ยังไม่เริ่มงาน

 

ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของมิสยูนิเวิร์ส 2018 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ เรียกว่าดราม่าสุดๆ กลายเป็นศึกชิงลิขสิทธิ์มิสยูนิเวิร์ส 2018 บนหน้าสื่อ ระหว่างผู้ถือสิทธิ์เดิม คือ TW Investment Group และบริษัท ทีพีเอ็น 2018 จำกัด ภายใต้การนำทีมของ “สมชาย ชีวสุทธานนท์” หรือ “ตี๋ แมทชิ่ง” ในฐานะผู้ถือลิขสิทธิ์ในการจัดการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018 รายใหม่อย่างเป็นทางการ

เพราะล่าสุด TW Investment Group ได้ประกาศฟ้องร้องกลุ่มของ “ตี๋ แมทชิ่ง” ถึงโรงถึงศาล

แถมการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์มิสยูนิเวิร์ส 2018 ที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นเผือกร้อน เนื่องจากเวลาเตรียมงานระดับโลกแบบนี้เพียง 2 เดือนเศษๆ ต้องทำงานแบบไฟลนก้น

“ตี๋ แมทชิ่ง” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีเอ็น 2018 จำกัด ยอมรับว่าการหาสปอนเซอร์ถือเป็นอุปสรรคการจัดงาน เพราะเวลาจำกัด ทำให้หาสปอนเซอร์ได้น้อย หลังงานนี้จบลง อาจต้องใช้หนี้

“ถ้ายกเลิกงานนี้ก็เจ็บตัว ไม่ยกเลิกก็เจ็บตัว จึงขอตายในสนามรบดีกว่ายกธงขาว”

และดราม่ายิ่งขึ้นเมื่อ “ปิยาภรณ์ แสนโกศิก” กรรมการบริษัท ทีพีเอ็น 2018 จำกัด ระบายความในใจผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ทั้งประเด็นความสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน เนื่องจากผู้จัดรายเก่าขู่จะฟ้องร้องผู้สนับสนุน

ตามด้วยการโพสต์ภาพ “ตี๋ แมทชิ่ง” ที่แบกรับทุกเรื่อง จนร่างกายรับสภาพไม่ไหว

 

ประเมินรายได้การจัดประกวดนางงามโดยส่วนใหญ่มาจาก 3 ส่วนหลักๆ คือ การขายบัตร ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดภายในประเทศ และเม็ดเงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์ (สินค้า) มองไม่ยากว่า “ตี๋ แมทชิ่ง” ต้องเจออะไรมาบ้าง

ถึงขั้นแอดมิดโรงพยาบาล

ในส่วนการถ่ายทอดสดในประเทศ ทีพีเอ็น 2018 ขายสิทธิ์ถ่ายทอดสดในไทย 4 รอบให้แก่พีพีทีวี 36 ของนายทุนใหญ่ “หมอปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” จากเดิมที่คาดว่าจะเป็นช่อง 3 ซึ่งเรตติ้งสูงกว่า ขณะการขายบัตรเข้าชมการประกวดซึ่งแบ่งเป็น 3 รอบ ยอดขายบัตรถือว่ากลางๆ พอไปได้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะค่าบัตรที่สูงลิ่ว

หนักหน่อยคือ รายได้จากการสปอนเซอร์ผู้สนับสนุน

นับถึงช่วงแถลงเปิดตัวเมื่อปลายดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีเพียงการบินไทย วุฒิศักดิ์คลินิก โรงแรมดุสิตธานี แพลนบีมีเดีย พาซาย่า (PASAYA) ที่ประกาศตัวสนับสนุน เกือบวินาทีสุดท้ายถึงได้เบียร์ช้าง เซเว่นอีเลฟเว่น แคเรียร์ มาเพิ่มเติม

ต่างจากปี 2548 ที่มีสปอนเซอร์ใหญ่ๆ เช่น เบียร์สิงห์ การบินไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บีเอสซี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เอไอเอส เบนซ์ โรงแรมดุสิตธานี แกรมมี่ กสท. เอชพี ปูนอินทรี เซ็นทรัลเวิลด์

 

วงการโฆษณาวิเคราะห์ว่า ในแง่ของการรับรู้ของคนทั่วๆ ไป การประกวดครั้งนี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ เมื่อเทียบกับการที่ไทยเป็นเจ้าภาพ 2 ครั้งก่อน เนื่องจากเงื่อนเวลา จึงมีการประชาสัมพันธ์น้อย และความไม่ชัดเจนต่างๆ

ทำให้ธุรกิจหรือสินค้ารีๆ รอๆ ไม่กล้าตัดสินใจเข้ามาเป็นสปอนเซอร์

แม้ว่าในความเป็นจริง อีเวนต์ใหญ่ระดับจัดประกวดมิสยูนิเวิร์ส สามารถสร้างเม็ดเงินให้ประเทศได้มหาศาล โดยเฉพาะการท่องเที่ยว มีทีมงานกองประกวด กองเชียร์ สื่อมวลชน จำนวนมากที่เข้ามาติดตาม

ที่สำคัญ งานนี้จะถ่ายทอดสดไป 170 ประเทศทั่วโลก หมายถึงว่า เวทีประกวดที่เกิดขึ้นจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการโปรโมตประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

แต่ด้วยข้อจำกัดของเวลา ทำให้หลายๆ ฝ่ายไม่สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์ได้เท่าที่ควร

เช่นเดียวกับ “ณวัฒน์ อิสรไกรศีล” ผู้อำนวยกองประกวด มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล และมิสแกรนด์ไทยแลนด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดเวทีประกวดนางงาม มองว่าเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018 ไม่ว้าว

โอกาสทองมาอยู่ตรงหน้า แต่ไม่สามารถจะไขว่คว้าเอาไว้ได้

ผู้คว่ำหวอดจากวงการนางงามวิเคราะห์ว่า ในเชิงธุรกิจแม้บริษัทผู้จัดต้องเจ็บตัว ขาดทุนจากการจัดประกวด แต่ระยะยาว “ทีพีเอ็น 2018” มีโอกาสได้สิทธิ์ในเวทีจัดประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2019 เพื่อหาตัวแทนสาวไทยไปประกวดบนเวทีโลก รวมถึงแนวคิดตั้งโรงเรียนสอนนางงามเหมือนต่างประเทศ

สอบถามไปทางบริษัท ทีพีเอ็น 2018 จำกัด ยอมรับว่าอยู่ระหว่างตัดสินใจจะเข้าบริหารสิทธิ์การจัดประกวดมิสยูนิเวิร์สในประเทศไทยด้วยหรือไม่

“ตอนนี้ยังพอมีเวลาในการตัดสินใจ เพราะผลงานที่เราทำในปีนี้ถือว่าเข้าตากองประกวด ซึ่งการตัดสินใจต้องดูจากเงื่อนไขอื่นๆ ด้วย”

ถึงจะเข้าเนื้อ แต่โอกาสข้างหน้ายังเปิดกว้าง

โดยเฉพาะภาพที่ถูกถ่ายทอดสดสู่ผู้ชมชาวไทยทั่วประเทศและสายตาชาวโลกเมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าภาพที่ออกมาดีเกินคาด ทั้งโปรดักชั่น นางงามจากฟิลิปปินส์ผู้คว้ามงกุฎมิสยูนิเวิร์ส 2018 ที่งามสง่า รวมถึงการโปรโมตท่องเที่ยวไทยที่กระจายไปทั่วโลก

แม้เบื้องหลังการเตรียมงานจะไม่ปัง แต่ทีมของ “ตี๋ แมทชิ่ง” ได้โชว์ศักยภาพการทำงานระดับโลก พร้อมเป็นโปรไฟล์สำคัญต่อยอดธุรกิจในอนาคต

 

ในภาพใหญ่ธุรกิจประกวดนางงามของไทยยังน่าสนใจ เพราะมีผลประโยชน์มากมายเป็นผลตอบแทน มีผู้พร้อมสนับสนุนจำนวนมาก โดยในไทยเองมีเวทีประกวดใหญ่ๆ ระดับประเทศถึง 5 เวที

ไม่ว่าจะเป็นเวทีเก่าแก่อย่างนางสาวไทย, เวทีมิสเวิลด์ ไทยแลนด์ ซึ่งบีอีซี (ช่อง 3) เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ ตามด้วยไทยซูเปอร์โมเดลของช่อง 7, เวทีมิสยูนิเวิร์สของคุณแดง-สุรางค์ เปรมปรีดิ์

รวมถึงเวทีน้องใหม่มาแรงอย่างมิสแกรนด์ของ “ณวัฒน์ อิสรไกรศีล” ที่กระจายขายแฟรนไชส์ต่างๆ เป็นผู้จัดประกวดในระดับจังหวัด กลายเป็นอีกโมเดลน่าสนใจ

ไม่นับรวมเวทีเล็กๆ ระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด

อีกเป็นพันๆ เวที

ไม่แปลกที่เวทีขาอ่อนจะเป็นอีกธุรกิจที่แม้จะมีความเสี่ยง มีโอกาสกลืนเลือดขาดทุน แต่ยังมีคนพร้อมโดดเข้ามาตลอดเวลา เพราะเมื่อเวทีประกวดปิดฉากลง ได้ตัวผู้คว้ามงกุฎ แต่ในเชิงธุรกิจไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้น สามารถต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่นๆ สู่ธุรกิจนางแบบ ดารา เซเลบ สินค้าความงาม วงการโฆษณา ฯลฯ

หมายถึงเม็ดเงินที่ตามมาอีกมหาศาลนั่นเอง