ฉัตรสุมาลย์ วัดลอยฟ้าเมืองต้าถง

เราออกจากโรงแรมแต่เช้า ขณะออกมารอคณะ เราก็พ่นไอใส่กันเป็นควันโขมง

ใช่ค่ะ เช้านั้นหนาวมาก อุณหภูมิติดลบ ครั้นพ่นควันแล้วถ่ายรูปก็ไม่สนุก เดี๋ยวคนที่อยู่เมืองไทยไม่เห็นภาพ ต้องถ่ายเป็นคลิปวิดีโอไว้ด้วย เวลาพูดว่าหนาวขนาดติดลบ คนไทยที่ไม่เคยมาเมืองหนาวจะนึกไม่ออกจริงๆ นะ

คราวก่อนลูกทัวร์คนหนึ่งใส่เสื้อแจ๊กเก็ต แต่เอาซับในที่เขาใส่เพื่อความอบอุ่นออก เธอว่าเกะกะ คือไม่รู้จุดประสงค์ว่าเขาใส่เพื่อกันหนาว เธอว่า คิดว่าตัวนอกก็พอ

ปรากฏว่าที่เธอเรียกว่าตัวนอกนั้น เป็นเพียงกันลม ก็หนาวสั่นไป โทษทัวร์ก็ไม่ได้ เพราะก่อนออกเดินทาง ทัวร์ก็ให้ข้อมูลว่าอุณหภูมิขนาดไหน คนที่อยู่ในเมืองไทยก็ไม่สามารถคิดได้ว่ามันจะหนาวขนาดนั้น

คราวนี้ลูกทัวร์ทุกคนเตรียมตัวพร้อม ทั้งถุงมือ ถุงเท้า แม้สนับแข้งก็ยังมี

รู้สึกทุกคนใส่ heat tech เสื้อตัวนี้สำคัญ ใส่กระชับตัวไว้ข้างในเพื่อมิให้ร่างกายสูญเสียความร้อน แล้วมีแจ๊กเก็ตทับข้างนอกก็พอสู้กับความหนาวระดับนั้นได้ค่ะ

 

เช้านี้เราออกเดินทางจากเมืองต้าถง เมืองนี้อยู่ในมณฑลซานซี เนื่องจากเช้ามาก ก็เลยแวะที่จิ่วหลงปี้ คือกำแพงเก้ามังกร ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างในสมัยราชวงศ์หมิง ก่อด้วยอิฐเคลือบเงา น่าชื่นชมความสามารถของชาวจีนในสมัยนั้น

เดิมกำแพงเก้ามังกรตั้งอยู่อีกที่หนึ่ง แต่ในการพัฒนาผังเมือง เป็นทางที่รัฐบาลท้องถิ่นจะสร้างถนนผ่าน แต่เสียดายความงดงามและความเป็นเอกลักษณ์ของกำแพงนี้ จึงชะลอมาไว้ตรงจุดที่เราเห็นในปัจจุบัน

มีเรื่องราวเบื้องหลังผลงานคือ เป็นหน้าประตูตำหนักของพระโอรสองค์ที่ 13 ของกษัตริย์จูหยวนจาง ซึ่งเป็นปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิง กำแพงนี้ยาว 45.5 เมตร และมีความสูง 8 เมตร

ความจริงพระโอรสองค์ที่ 13 จะไม่มีสิทธิ์ที่จะสร้างกำแพงมังกร ท่านจึงหลบการที่จะถูกตำหนิ มังกรที่นี่มีเพียง 4 เล็บ มังกร 5 เล็บจะเป็นหมายของกษัตริย์เท่านั้น กำแพงบนผนังที่ว่านี้มีสีสันสวยงามมาก จนมีคนชมว่า คล้ายอยู่บนทะเลเมฆ

ฝีมือการวาดและการแกะสลักนับเป็นงานประณีต

ฝีมือเช่นนี้ ปัจจุบันจะหาชมได้ยาก ทั่วแผ่นดินจีนที่กว้างใหญ่คงเหลือกำแพงเก้ามังกรเพียง 4 แห่ง และที่ต้าถงที่เราไปชมนี้ เป็น 1 ใน 4 ของทั้งประเทศ

เนื่องจากเราไปถึงยังเช้ามาก ยังไม่มีเจ้าหน้าที่มาเปิดทำงาน แสงแดดตอนเช้าสาดมาด้านหน้าของกำแพง มีไม้กวาดด้ามยาวพิงอยู่ข้างกำแพง ท่านธัมมนันทาก็เลยถือโอกาสออกกำลังแก้หนาวด้วยการกวาดลานหน้าพระตำหนักไปด้วย

แต่จริงๆ เบื้องหลังกำแพงก็ไม่มีตำหนักแล้ว

 

เราข้ามถนนกลับมาขึ้นรถบัสที่จอดรอ ด้านนี้มีรั้วชั่วคราวกั้นอยู่ ด้านในรัฐบาลกำลังสร้างพระตำหนักโดยเลียนแบบของเก่า มองด้วยสายตาจากภายนอก หากเรามาที่นี่อีกสัก 2 ปีข้างหน้า เราน่าจะได้ชมพระตำหนักสร้างใหม่ แต่เลียนแบบสมัยราชวงศ์หมิงเป็นแน่

เท่าที่แอบดูจากช่องโหว่ทางประตูก็เห็นว่าเป็นอลังการงานสร้างทีเดียว

จากตรงนี้ไปอีก 84 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1.30 ชั่วโมง เราไปแวะชมวัดลอยฟ้า อยู่ในหุบเขา ตรงจุดที่ลมพัดเข้ามาทางช่องเขานั้น หนาวสุดๆ ต้องดึงผ้าพันคอมาปิดหน้า ปิดจมูก

วัดลอยฟ้า เรียกวัดเสวียนคง คนไทยมาเรียกเป็นวัดลอยฟ้า ตั้งอยู่ที่เชิงเขาเหิงซาน ซึ่งติดอันดับ 1 ใน 5 ของจีน สร้างในสมัยราชวงศ์เว่ยเหนือ มีความเป็นมากว่า 1,400 ปี เมื่อมองขึ้นไปที่หน้าผาที่สูงชันของภูเขาเหิงซาน วัดนี้เหมือนกับเอาไปแปะไว้ที่หน้าผา

สาเหตุที่สร้างเป็นวิหารแขวนหรือวัดลอยฟ้าเพราะสมัยก่อนบริเวณนี้มีน้ำท่วมสูงมาก จึงไม่สามารถสร้างวิหารบนที่ราบได้

ตัวอาคารสร้างด้วยไม้ ประกอบเป็นห้องเล็กห้องน้อยนับได้ถึง 40 ห้อง

สร้างเลียบไปตามหน้าผาโดยใช้เสาไม้เล็กๆ ค้ำยันไปกับหินผา ภายในแบ่งผนังห้องอย่างงดงามลงตัว แสดงถึงความชาญฉลาดของช่างสมัยนั้น

เป็นสถาปัตยกรรมและภูมิปัญญาอันยิ่งใหญ่ของชาวจีนโบราณ

จนได้รับการยอมรับจากหนังสือกินเนสส์บุ๊กว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก

 

คณะเราจอดรถที่ลานจอดรถขนาดใหญ่ แสดงว่าต้องมีนักท่องเที่ยวมากันเป็นจำนวนมาก

ลูกทัวร์บางคน ทั้งท่านธัมมนันทายืนยันว่า เห็นวัดลอยฟ้าเสวียนคงแล้วนึกถึงตั๊กซังหรือรังเสือ (tiger”s nest) ที่ประเทศภูฏาน เป็นวิหารแขวนอยู่กับหน้าผาเหมือนกัน แต่ที่นี่เข้าถึงง่ายกว่า

ที่ภูฏานนั้นทางขึ้น-ลงหฤโหดกว่ามาก โดยเฉพาะช่วงสุดท้าย ทางเดินเลาะหุบเขาลงไปลึกมากแล้วจึงปีนกลับขึ้นมาใหม่เพื่อให้ถึงตั๊กซัง

รัฐบาลท้องถิ่นทำทางเดินเป็นบันไดมาตรฐานให้เดินขึ้น-ลงได้ง่ายขึ้น มีระดับที่ให้พักขาเป็นช่วงๆ ประมาณ 10 ขั้น ก็จะเว้นเป็นทางลาด และสองข้างจะเล่าเรื่องราวการก่อสร้างวัด และรูปถ่ายวัดลอยฟ้าเสวียนคงในฤดูกาลต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อใบไม้เปลี่ยนสีในฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาวที่มีหิมะปกคลุมขาวโพลนไปทั่ว

โดยจิตวิทยาจะช่วยให้คนเดินทางที่อาจจะอ่อนล้าจากการเดินขึ้นบันได ได้พักทั้งสายตา และดึงดูดความสนใจไปจากความอ่อนล้าจากการเดินทาง

เมื่อไปถึงลานแคบๆ ก่อนที่จะเข้าสู่อาคารวัดลอยฟ้า คนอื่นๆ ก็จะขึ้นบันไดไม้แคบๆ ปีนขึ้นไปด้านบน

แต่ความน่าสนใจของวัดลอยฟ้าคือศิลาจารึกที่ตั้งไว้อยู่ใต้บันได เข้าใจว่าจะมีข้อมูลการสร้างและการซ่อมแซมตัววิหารในบันทึกที่สำคัญนี้ แต่เนื่องจากไม่ใช่ความสนใจของนักท่องเที่ยวทั่วไป ผู้ดูแลรักษาก็เลยเอามาแอบไว้ตรงนี้ก่อน

แท้ที่จริงแล้ว ในสายตาของนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดี นี่คือขุมทรัพย์ทางข้อมูลที่สำคัญ

ชาวจีนในอดีตที่ผ่านมาเป็นเลิศในการให้ความสำคัญกับการเก็บรักษาข้อมูล แต่เกรงว่าชาวจีนสมัยใหม่อาจจะมองข้ามสิ่งนี้ไป มิหนำซ้ำอักษรจีนสมัยใหม่ก็ประยุกต์ทำให้ง่ายเข้า โดยตัดทอนขีดเล็กขีดน้อยออก ทำให้สะดวกแก่การเขียน

ชาวจีนรุ่นใหม่จึงไม่สามารถอ่านพระคัมภีร์หรือบันทึกในประวัติศาสตร์ได้ กลายเป็นหน้าที่เฉพาะของผู้ที่สนใจเรื่องนี้เท่านั้น

 

บรรดาลูกทัวร์ขึ้นไปสำรวจดูห้องต่างๆ ทั้ง 40 ห้อง บ้างก็โผล่หน้าออกมาตามหน้าต่างบนวิหาร ให้คนที่อยู่ข้างล่างช่วยเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึก บางทีคนที่ขึ้นไปถึงข้างบนแล้วก็ถ่ายรูปคนที่ยังอยู่ข้างล่าง เป็นที่สนุกสนาน

ตามห้องต่างๆ จะมีพระพุทธรูปและภาพวาดต่างๆ ภาพสำคัญที่เห็นบ่อยๆ คือพระพุทธรูปสามพระองค์ คือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ขนาดของพระพุทธรูปจะเท่ากัน และอยู่ในท่านั่งขัดสมาธิ

บ้างก็เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งหมายถึง พระศากยมุนีพุทธะ มีพระสาวก ข้างขวาของพระองค์เป็นพระอานนท์ หน้าตาหนุ่มกว่าเสมอ ส่วนข้างซ้ายของพระองค์จะเป็นพระมหากัสสปะ หน้าตาเป็นพระภิกษุที่มีอายุมากกว่าชัดเจน

ถ้าไม่ใช่พระสาวกที่ว่านี้ก็จะเป็นพระโพธิสัตว์ซึ่งจะมีเครื่องทรงและเครื่องประดับที่ชัดเจน

แต่วัดนี้ไม่ได้เฉพาะเจาะจงเป็นวัดพุทธ เพราะในห้องหนึ่ง มีพระพุทธเจ้าประทับนั่งตรงกลาง มีพระสาวกคือพระอานนท์และพระมหากัสสปะ ขนาดเล็กกว่าอยู่ข้างหน้า

ทางด้านขวาพระหัตถ์เป็นเล่าจื๊อ หนวดขาวยาว ทางด้านซ้ายพระหัตถ์เป็นขงจื๊อ แต่งตัวเป็นนักปราชญ์

รูปทั้งสามเป็นไม้แกะสลักลงสีทอง แต่สาวกทาสีตามธรรมชาติ แสดงให้เห็นว่าศิลปินมุ่งเน้นที่ตัวแทนของสามศาสนา

บางคนถามว่า เอ๊ะ ลักษณะวิหารลอยฟ้านั้น แม้จะมีเสาไม้เล็กๆ ค้ำอยู่แต่ไม่น่าจะทนทานมาได้ถึง 1,400 ปี

พอดีในทัวร์นี้ ดร.วันชัย อาจารย์ทางสถาปัตยกรรมท่านไปด้วย ท่านอธิบายว่า มีความเป็นไปได้ด้วยการที่มีคานไม้รับน้ำหนักโดยเจาะรูเท่าขนาดความใหญ่ของไม้ฝังเข้าไปในหิน แต่เรามองจากข้างนอกไม่เห็นด้วยตาเปล่า

ที่เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น เพราะเราเห็นร่องรอยของการใส่เครื่องไม้เป็นคานรับน้ำหนักหลังคา เป็นวิธีที่ใช้ทั้งที่ถ้ำไม้จีซานที่เราเคยไปเมื่อปีที่แล้ว ไม้ค้ำเสื่อมสภาพผุไปตามกาลเวลา แต่การที่เจาะเข้าไปในภูเขายังทิ้งร่องรอยให้เราได้ศึกษา ทั้งที่พระพุทธรูปที่ถ้ำหลงเหมิน ก็มีรูๆ เป็นแนวอยู่ แสดงว่าเคยมีเครื่องไม้รับน้ำหนักหลังคา

เราเดินทางมาครั้งนี้ ได้เห็นทั้งความงามทางศิลปะ ความเป็นเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม ความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนาของชาวจีนในสมัยต่างๆ ได้เห็นถึงความเสื่อมที่สอนสัจธรรมให้เราได้ดีเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อกลับมาแล้วมานั่งย่อยความรู้และประสบการณ์อีกครั้งยิ่งมีความรู้สึกว่าตัวเราเองเห็นภาพของสรรพสิ่งชัดเจนขึ้น สรรพสิ่งที่ว่านี้นับรวมตัวเราเองด้วยนะ

 

ค่อยๆ ไต่ลงมาข้างล่าง เราจะกลับทางไหน มีสะพานข้ามสองทาง ลูกทัวร์คนหนึ่งว่า “ทางโน้นค่ะ เมื่อกี้เราข้ามสะพานไม้มา” เออ ใช่ ตรงราวสะพานมีธงแบบทิเบตมีสีสันงดงาม

น้ำในลำธารข้างล่างเป็นน้ำแข็งไปแล้ว แสดงถึงความหนาวเย็นในวันนั้น และจะหนาวเย็นมากขึ้น เพราะช่วงที่เราไปยังไม่เข้าหน้าหนาวดีนัก

เมื่อข้ามสะพานกลับมา อดไม่ได้ที่จะหันกลับไปชมวัดลอยฟ้าอีกครั้งหนึ่ง ศรัทธาในความคิดของคนสร้างจริงๆ ทุกอย่างที่เราเห็นเป็นวัตถุธรรมล้วนมาจากความคิด เออ น่าอัศจรรย์

ทุกจุดที่รัฐบาลเปิดให้เป็นจุดท่องเที่ยว จะมีที่จอดรถขนาดใหญ่ และก่อนจะขึ้นรถกลับให้เข้าห้องน้ำกันเสียก่อน ห้องน้ำสาธารณะเป็นอีกหนึ่งพัฒนาการก้าวกระโดดของจีนในช่วงทศวรรษหลังนี้ ทางหลวงจะสร้างจุดที่รถพัก พร้อมห้องน้ำไว้อย่างมากไม่เกินทุก 2 ชั่วโมงการเดินทาง

ห้องน้ำสาธารณะสะอาดพอสมควร หญิงซ้าย ชายขวา อันนี้เอาแน่ไม่ได้ค่ะ บางทีหญิงขวา ชายซ้าย อย่างหนึ่งที่ท่านธัมมนันทาต้องทำคือ ยิ้มหวานกับพนักงานดูแลห้องน้ำ มิฉะนั้น จะถูกเอ็ดให้ไปเข้าห้องน้ำผู้ชาย ที่ว่ายิ้มหวานคือ ให้แน่ใจว่าเป็นหญิงค่ะ

ถือเป็นวัตรปฏิบัติในการเดินทางของเรา อย่าบอกว่า “ยังไม่ปวด”

เพราะเวลาปวดเข้าจริงๆ จอดไม่ได้บนทางด่วนค่ะ ไม่มีเด็ดดอกไม้หรือเก็บเห็ดข้างทางอย่างทัวร์สังเวชนียสถานในอินเดียนะ แล้วจะทำอย่างไร

เราจะได้พิสูจน์ในทริปนี้แหละ