แมลงวันในไร่ส้ม/ไทยรัฐสั่ง ‘เออร์ลี่รีไทร์’ สัญญาณจากยักษ์ใหญ่ การถดถอยของสื่อเก่า

แมลงวันในไร่ส้ม

ไทยรัฐสั่ง ‘เออร์ลี่รีไทร์’

สัญญาณจากยักษ์ใหญ่

การถดถอยของสื่อเก่า

 

อีกความเคลื่อนไหวของวงการสื่อ เมื่อไทยรัฐประกาศโครงการให้พนักงานลาออกด้วยความสมัครใจ

โดยนางยิ่งลักษณ์ วัชรพล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วัชรพล จำกัด เจ้าของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้ออกประกาศลงวันที่ 6 ธันวาคม 2561 เรื่องโครงการลาออกด้วยความสมัครใจ โดยได้รับความช่วยเหลือ

ประกาศระบุว่า ด้วยปัจจุบันสถานการณ์สิ่งพิมพ์ของบริษัท วัชรพล จำกัด ต้องเผชิญกับความท้าทายต่อสภาวะเศรษฐกิจและพฤติกรรมการบริโภคสื่อของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้สภาพทางธุรกิจของบริษัทไม่เป็นไปตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าบริษัทจะได้พยายามประคับประคองธุรกิจสิ่งพิมพ์ในทุกวิถีทางอย่างถึงที่สุดแล้วก็ตาม บริษัทมีความจำเป็นต้องลดโครงสร้างและอัตรากำลังคน เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินการต่อไปได้

บริษัทจึงมีนโยบายให้พนักงานสมัครเข้าโครงการลาออกด้วยความสมัครใจ โดยได้รับความช่วยเหลือ

ประกาศระบุวัตถุประสงค์ของโครงการว่า เพื่อให้บริษัทสามารถบริหารอัตรากำลังภายในองค์กรของแต่ละสาย/ฝ่ายอย่างเหมาะสมมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับนโยบายของบริษัท เพื่อปรับปรุงโครงสร้างต้นทุนบุคลากร และลดภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรโดยรวมในระยะยาว

หลักการของโครงการระบุว่า เป็นความประสงค์และสมัครใจร่วมกันทั้งสองฝ่าย ระหว่างบริษัทกับพนักงานที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ

เป็นสิทธิ์ฝ่ายเดียวของบริษัทในการอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้พนักงานลาออกตามโครงการ โดยเฉพาะตำแหน่งงานหลัก (Key Position) และตำแหน่งงานสำคัญ (Critical Position) ที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์และใช้ความรู้และประสบการณ์เฉพาะที่ไม่สามารถหาผู้ปฏิบัติงานแทนได้ และหรืออาจส่งผลเสียต่อธุรกิจของบริษัท

กรณีที่มีผู้เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก จนทำให้มีค่าใช้จ่ายเกินกว่างบประมาณที่ได้รับอนุมัติ บริษัทสงวนสิทธิ์ที่จะพิจารณาคัดเลือกตามเกณฑ์ที่บริษัทกำหนด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่บริษัทตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

บริษัทจะไม่รับพนักงานที่ได้รับอนุมัติเข้าร่วมโครงการกลับเข้าทำงานในฐานะพนักงาน หรือลูกจ้างของบริษัท รวมทั้งบริษัทในเครืออีก

คุณสมบัติของพนักงานที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ

พนักงานสังกัดบริษัท วัชรพล จำกัด ทุกระดับ ที่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำ

และระบุวิธีดำเนินการว่า พนักงานที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ ให้กรอกรายละเอียดในแบบฟอร์มหนังสือและแสดงความประสงค์ได้ที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ตั้งแต่วันที่ 17-30 ธันวาคม 2561

ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติพนักงานที่ยื่นความประสงค์เข้าร่วมโครงการและจัดทำรายชื่อ เพื่อนำเสนอในการพิจารณาของสายบังคับบัญชาตามขั้นตอนต่อไป

ผลการพิจารณาอนุมัติจากประธานกรรมการบริหาร ให้ถือเป็นที่สิ้นสุด

ผลประโยชน์ตอบแทนตามโครงการ

เงินช่วยเหลือตามอายุงาน โดยให้นับอายุงานตั้งแต่วันที่เข้าทำงานกับบริษัทจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2562  และเงินช่วยเหลือพิเศษอีก 30 วัน

อายุงานครบ 120 วันขึ้นไป แต่ไม่ครบ 1 ปี เงินช่วยเหลือเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน อายุงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี เงินช่วยเหลือเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน

อายุงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี เงินช่วยเหลือเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน อายุงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี เงินช่วยเหลือเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน

อายุงานครบ 10 ปีขึ้นไป เงินช่วยเหลือเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน

พนักงานที่ได้รับการพิจารณาอนุมัติให้ออกตามโครงการ จะได้รับเงินช่วยเหลือในวันที่ 30-31 มกราคม 2562 และกำหนดให้พ้นสภาพการเป็นพนักงานในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562

มีรายงานข่าวระบุว่า การปรับลดมีเป้าหมายลดพนักงานเครือไทยรัฐ 15% ถ้าสมัครใจไม่ครบ จะดำเนินการด้วยวิธีการอื่นต่อไป

 

การ “เออร์ลี่รีไทร์” ของไทยรัฐในครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจแต่อย่างใด

เพราะไทยรัฐเอง ที่ผ่านมาได้ลงทุนขยายกิจการด้วยเม็ดเงินมหาศาล

รวมถึงการเข้าประมูลทีวีดิจิตอล และเปิดไทยรัฐทีวีในปี 2557 ที่ทำให้ต้อง “แบก” ภาระค่าใช้จ่าย หลังจากที่เข้าไปร่วมลงทุนกับซีทีเอช เคเบิลทีวีที่เปิดตัวเกรียวกราวในปี 2552 และปิดตัวเองลงในปี 2559

ปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้ของการลงทุนด้านสื่อที่มีภาพไม่สดใสมาตลอดก็คือ เรื่องของการเมืองและเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อวงการสื่อ

รัฐประหารเมื่อปี 2549 และการตามถอนรากถอนโคนเครือข่ายตระกูลชินวัตร ทำให้การเมืองไทยอยู่ในสภาพวิกฤต หรือกึ่งๆ วิกฤตตลอดมา

วงการสื่อเองเข้าไปถือหางกลุ่มอำนาจ สนับสนุนปฏิบัติการดังกล่าว ทำให้ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของสื่อเสื่อมลงไปมาก

กระทั่งเกิดรัฐประหารซ้ำเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ช่วงเดียวกับที่ทีวีดิจิตอลกำลังเริ่มออกอากาศ การเซ็นเซอร์เนื้อหาการเมืองทำให้เดี้ยงไปตามๆ กัน

และถูกซ้ำเติมด้วยสภาพเศรษฐกิจเข้าไปอีก

อีกปัจจัยได้แก่การเติบโตอย่างรวดเร็วของ “นิวมีเดีย”

 

ด้วยปัจจัยการเมือง และการเติบโตแบบ “ดิสรัปต์” สื่อเดิมของนิวมีเดีย ทำให้วงการสื่อไทยหดตัวอย่างรุนแรงมากว่า 10 ปี และยิ่งชัดเจนใน 5 ปีหลังนี้

เม็ดเงินโฆษณาที่หล่อเลี้ยงสื่อลดลงจากระดับ 1.5 หมื่นล้านเมื่อ 10 ปีก่อน ลดลงเหลือ 7.7 พันล้านในปี 2560 ก่อนจะเหลือ 6 พันล้านในปี 2561 และคาดหมายว่าปี 2562 จะร่วงรุนแรงไปที่ 4 พันล้าน

หักลบกันแล้วเท่ากับเงินโฆษณาหายไปถึง 1 หมื่นล้านในชั่วเวลา 10 ปี

การเกิดขึ้นและขยายตัวของ “นิวมีเดีย” ที่ใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ต ประกอบกับบทบาทของโซเชียลมีเดียที่ทุกคนเข้าถึงได้ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมประชาชนในเรื่องของการรับข่าวสารไปหมด

สำนักข่าวออนไลน์เกิดขึ้นราวกับดอกเห็ดในแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย การเสนอข่าวทำได้อย่างฉับไวและตลอดเวลา ส่งผลให้สื่อเดิม คือหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ต้องปรับตัวตาม

โดยเดินสองขา รักษาสื่อกระดาษไว้เป็นฐาน ขณะที่เร่งบุกเบิกข่าวออนไลน์ แต่ยังมีปัญหาเรื่องเม็ดเงินโฆษณาที่ลดลง และค่าโฆษณาทางออนไลน์ยังไม่มีราคาที่เป็นมาตรฐาน

การเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอลในปี 2557 ทำให้มี “ตัวหาร” งบฯ โฆษณาเกิดขึ้น จากฟรีทีวีเดิมไม่กี่ช่อง กลายเป็น 24 ช่อง ก่อนจะเลิกไปเหลือ 22 ช่อง

ยิ่งทำให้เกิดอาการฝืดของเงินโฆษณา ทำให้บรรดาเจ้าของช่องร่ำร้องให้ กสทช. ผู้จัดประมูลหาทางช่วยเหลือเยียวยาตลอดเวลา

สัญญาณจากยักษ์ใหญ่ไทยรัฐชี้ว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมสื่อจากปี 2561 สู่ปี 2562 ประเด็นหลักยังอยู่ที่ความถดถอยของ “สื่อเก่า”

แต่อาจจะพอมี “ตัวช่วย” จากสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ หากการเลือกตั้งเกิดขึ้นและผ่านพ้นไปด้วยดี