จีนยุคบุราณรัฐ : ปัจฉิมกถา (อวสาน)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล
A policeman takes a self-portrait with his mobile phone as officers secure the surroundings ahead of a visit by US Secretary of Defense Robert Gates to the Great Wall at Mutianyu on the outskirts of Beiijng on January 12, 2011. Gates earlier toured China's nuclear command centre as he wrapped up a visit upstaged by a bold display of Beijing's advanced weaponry, getting a rare look at the Second Artillery Corps headquarters outside Beijing, which oversees nuclear and missile forces in a stop meant to underscore China's readiness to recast uneasy defence ties. AFP PHOTO / Frederic J. BROWN / AFP PHOTO / FREDERIC J. BROWN

สู่รัฐจักรวรรดิ (ต่อ)

เมื่อพิจารณาในเชิงพัฒนาการแล้วจะเห็นได้ว่า ต้นเค้าความคิดเกี่ยวกับจักรวรรดิของจีนหาได้เริ่มปรากฏขึ้นในยุครัฐศึกไม่ เพราะหากเราเชื่อว่าพฤติกรรมหนึ่งของการเป็นจักรวรรดิคือการขยายดินแดนแล้ว พฤติกรรมนี้ได้ปรากฏมาตั้งแต่เมื่อชนชาติฮว๋าเซี่ยได้เกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นแล้วก็ว่าได้

เพราะเมื่อชนชาตินี้ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับการดำรงอยู่ของชนชาติอื่นแล้ว จะด้วยเหตุผลใดก็ตามที สิ่งที่พบในบันทึกก็คือ ชนชาติฮว๋าเซี่ยกับชนชาติอื่นมักจะมีความขัดแย้งกันอยู่เสมอ และเมื่อทำศึกต่อกันชนชาติฮว๋าเซี่ยก็เป็นฝ่ายชนะเป็นส่วนใหญ่ ชัยชนะแต่ละครั้งทำให้ชนชาตินี้ขยายดินแดนของตนได้กว้างไกลยิ่งขึ้นทุกครั้ง

พฤติกรรมเช่นนี้ของฮว๋าเซี่ยในยุคตำนานแม้จะไม่มีหลักฐานยืนยันก็ตามที แต่หลักฐานเท่าที่มีนับแต่สมัยซางเป็นต้นมาก็นับว่ามากพอที่จะยืนยันพฤติกรรมที่ว่าได้ดี

ที่เรียกว่า “ต้นเค้า” ทางความคิดเกี่ยวกับจักรวรรดิก็เพราะว่า การขยายดินแดนของชนชาติฮว๋าเซี่ยดังกล่าวมิได้กว้างใหญ่ไพศาลอย่างในชั้นหลังต่อมา ขณะเดียวกันก็นับเป็นเบาะแสแรกๆ ที่ฉายให้เห็นในเชิงพฤติกรรม

ที่สำคัญ พฤติกรรมนี้มีความต่อเนื่องแทบจะไม่ขาดสายและทอดเวลายาวนานนับพันปี และในห้วงเวลาที่ยาวนานเช่นนี้ก็มีบ้างที่ชนชาติฮว๋าเซี่ยจะเพลี่ยงพล้ำในการศึก มีบ้างที่จะอยู่ร่วมกับชนชาติอื่นอย่างสงบ และมีบ้างที่จะอยู่กินกับชนชาติอื่นด้วยการแต่งงาน

สภาพเช่นนี้ทำให้เราเห็นต่อไปว่า แท้ที่จริงแล้วการที่รัฐบาลจีนในปัจจุบันส่งเสริมให้ชาวจีนฮั่นไปตั้งรกรากยังดินแดนของชนชาติพันธุ์อื่น เช่น ทิเบต อุยกูร์ซินเจียง หรือไต (ในสิบสองปันนา) นั้น หาใช่นโยบายใหม่ไม่ หากเป็นนโยบายที่มีมานานหลายพันปีแล้ว ชั่วอยู่แต่ว่ายุคสมัยใดทำได้อย่างราบรื่นหรือเรรวนเท่านั้น

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ถึงที่สุดของภาพรวมของยุคสมัยที่เรากำลังกล่าวถึงอยู่นี้ล้วนคือ การขยายดินแดนของชนชาติฮว๋าเซี่ยที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเวลาผ่านไปดินแดนที่ขยายได้ก็ยิ่งกว้างไกล ผลเช่นนี้เห็นได้ชัดมากขึ้นเมื่อถึงสมัยโจว

การขยายดินแดนนี้มิได้ข้ามน้ำข้ามทะเลออกไปยังดินแดนอื่น เพราะลำพังแผ่นดินใหญ่เพียงผืนเดียวที่กว้างใหญ่ไพศาลก็นับว่ามากพอแล้ว คือมากพอที่จะขยายให้ยาวไกลเพียงใดก็ได้หากมีสติปัญญาและความสามารถที่จะทำ

ที่สำคัญ การได้มาซึ่งดินแดนจากชนชาติอื่นในภาคพื้นเดียวกันนั้นก็นับว่ายากแล้ว การรักษาดินแดนที่ได้มายิ่งมิใช่เรื่องง่าย

เมื่อเป็นเช่นนี้การข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อขยายดินแดนจึงเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น

เหตุฉะนั้น เงื่อนปมหนึ่งที่ผูกติดกับการขยายดินแดนของชนชาติฮว๋าเซี่ยจึงคือ การที่ดินแดนที่ขยายได้มาจะมั่นคงอยู่ได้ก็แต่ต้องมีผู้นำที่เข้มแข็งเท่านั้น หาไม่แล้วก็ง่ายต่อการที่ชนชาติอื่นจะตั้งตนเป็นอิสระหรือกระด้างกระเดื่อง และหันกลับมาโจมตีชนชาติฮว๋าเซี่ยเองในที่สุด

เงื่อนปมนี้จึงมีความสำคัญในแง่ที่ว่า หลังจากราชวงศ์ฉินไปแล้วอีกกว่าพันปีต่อมา ชนชาติมองโกลก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า การขยายดินแดนไปทางทิศตะวันตกนั้นมีแผ่นดินที่กว้างใหญ่ไพศาลเพียงใด การข้ามน้ำข้ามทะเลที่มองโกลพยายามทำกับญี่ปุ่นและชวานั้นกลับพบกับความล้มเหลว

เหตุฉะนั้น เงื่อนปมนี้จึงผูกติดกับชนชาติฮว๋าเซี่ยหรือชนชาติจีนเรื่อยมา เป็นเงื่อนปมที่ตั้งอยู่ระหว่างการได้มาซึ่งดินแดนจากชนชาติอื่นในภาคพื้นแผ่นดินเดียวกัน กับการรักษาดินแดนให้ปลอดพ้นจากการต่อสู้เพื่อทวงคืนของชนชาติเจ้าของเดิม เงื่อนปมนี้ผูกติดกับจีนไม่เว้นแม้ในปัจจุบัน

ดังจะเห็นได้จากการทวงคืนดินแดนของชนชาติอุยกูร์หรือทิเบต เป็นต้น

จากที่กล่าวมานี้จะเห็นต่อไปได้ว่า เหตุใดการต่อสู้ทั้งเพื่อเอาตัวรอดก็ดี หรือเพื่อรวมจีนเป็นแผ่นดินเดียวกันก็ดี จึงใช้เวลายาวนานหลายร้อยปีในยุควสันตสารทและยุครัฐศึก

คำตอบเบื้องต้นคือ หนึ่ง เป็นเพราะรัฐส่วนใหญ่เชื่อในศักยภาพของตนพร้อมกับทุ่มเททรัพยากรเท่าที่มีเข้ากรำศึก และสอง ห้วงของการศึกที่ยาวนานหลายร้อยปีนี้พึงที่เราจะต้องระลึกอยู่เสมอด้วยว่า การศึกดังกล่าวหาใช่การศึกระหว่างชนชาติฮว๋าเซี่ยด้วยกันเองเท่านั้น หากยังเป็นการศึกระหว่างชนชาติฮว๋าเซี่ยกับชนชาติอื่นด้วยเช่นกัน

คำตอบเบื้องต้นนี้ทำให้เห็นว่า ลำพังการขับเคี่ยวทั้งเพื่อการอยู่รอดก็ดี หรือเพื่อรวมจีนเป็นแผ่นดินเดียวกันก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นการขับเคี่ยวของรัฐและชนชาติจำนวนมาก แต่ละรัฐต่างใช้กลยุทธ์เท่าที่ตนคิดได้เข้าต่อกรกับคู่กรณี โดยมิพักต้องคำนึงว่ากลยุทธ์นั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยจริยธรรม

เมื่อเป็นเช่นนี้การศึกที่เกิดขึ้นจึงมิอาจจบลงโดยง่าย และทำให้ทอดเวลายาวนานหลายร้อยปี

พ้นไปจากคำตอบเบื้องต้นแล้ว คำตอบเบื้องปลายก็มีความสำคัญไม่น้อย นั่นคือ เมื่อรัฐใดรัฐหนึ่งได้ชัยชนะมาชั่วขณะหนึ่งก็ดี หรือได้ชัยชนะจนขยายดินแดนได้กว้างขวางขึ้นก็ดี ต่างก็มีปัญหาร่วมอยู่ประการหนึ่งคือ การที่ต้องจัดวางนโยบายให้เป็นเอกภาพระหว่างความแข็งกร้าวกับความอ่อนโยน โดยมีประเด็นทางจริยธรรมอยู่กึ่งกลางให้แต่ละรัฐเลือกว่าจะให้น้ำหนักมากน้อยเพียงใด

การทำให้นโยบายมีเอกภาพจะมีผลต่อความมั่นคงของรัฐอย่างมาก เพราะหากทำไม่ได้รัฐนั้นก็จะอยู่ได้ไม่นาน ดังจะเห็นได้จากรัฐฉินที่สมาทานหลักคิดนิตินิยมที่ก้าวร้าวจนส่งผลเสีย แต่หากทำได้รัฐนั้นก็จะอยู่ได้นาน ดังจะเห็นได้จากรัฐฮั่นที่มาแทนที่รัฐฉินสมาทานหลักคิดสำนักหญู แต่ก็มิได้ละทิ้งนิตินิยมจนไม่เห็นค่า

และทำให้รัฐนี้อยู่ได้ยาวนานหลายร้อยปีภายใต้เอกภาพที่ว่า เป็นต้น

จะอย่างไรก็ตาม นอกจากนโยบายที่เป็นเอกภาพดังกล่าวแล้ว การดำรงอยู่อย่างมั่นคงของรัฐที่ขยายดินแดนได้ก็ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่น้อย นั่นคือ การที่รัฐนั้นพึงมีหลักประกันว่ารัฐอื่นที่ขึ้นต่อตนจักต้องสวามิภักดิ์อยู่เสมอ และหลักประกันนี้ก็คือ บรรณาการ หรือ ก้ง

แนวคิดเรื่องบรรณาการนี้เกิดขึ้นพร้อมกับแนวคิดเรื่องโอรสแห่งสวรรค์ และเป็นแนวคิดที่ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในยุคที่เรากำลังกล่าวถึงอยู่นี้ ส่วนสิ่งที่นำมาบรรณาการหรือที่เรียกกันว่าเครื่องบรรณาการนั้น อาจเป็นทรัพยากรที่รัฐนั้นมีอยู่มากมาย (แต่รัฐที่ตนขึ้นต่อไม่มีหรือมีน้อย) หรืออาจเป็นของมีค่าจำพวกแก้วแหวนเงินทอง เพชรนิลจินดา หยก ผ้าไหม หรือเครื่องสำริด (ซึ่งเวลานั้นถือเป็นของสูง) เป็นต้น

ที่โดยรวมแล้วถือเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการสวามิภักดิ์ของรัฐที่ขึ้นต่อรัฐที่เหนือตน ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นสิ่งที่ค้ำจุนให้รัฐที่ได้รับเครื่องบรรณาการดำรงอยู่ได้

ดังนั้น ยามใดหากรัฐที่ขึ้นต่อขาดการบรรณาการแล้วก็ย่อมแสดงว่า รัฐนั้นกำลังส่งสัญญาณว่ากำลังตั้งตนเป็นอิสระ ซึ่งก็คือกำลังกระด้างกระเดื่องต่อรัฐที่เหนือตนไปโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่แนวคิดเรื่องจักรวรรดิก็ดี หรือจักรวรรดิจีนได้ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างอย่างมั่นคงในชั้นหลังแล้วก็ดี แนวคิดเรื่องบรรณาการก็ถูกสร้างให้เป็นระบบมากขึ้น

จากที่กล่าวมาโดยตลอดนี้จะเห็นได้ว่า แนวคิดรัฐจักรวรรดิของจีนมีพื้นฐานมาจากการขยายดินแดนของพวกฮว๋าเซี่ยเป็นหลัก การขยายดินแดนนี้เป็นไปทั้งเพื่อแสวงหาทรัพยากรมาสนองตอบต่อตน และเพื่อป้องกันมิให้ชนชาติอื่นที่มิใช่ฮว๋าเซี่ยเป็นภัยคุกคามแก่ตน

ในกรณีหลังนี้พึงเข้าใจด้วยว่า ด้านหนึ่ง เป็นความจริงที่ว่าชนชาติอื่นที่มิใช่ฮว๋าเซี่ยเป็นภัยคุกคามจริง แต่ในอีกด้านหนึ่ง พวกฮว๋าเซี่ยก็เป็นภัยคุกคามของชนชาติอื่นด้วยเช่นกัน โดยเมื่อจักรวรรดิจีนตั้งมั่นได้ในชั้นหลังแล้ว ต่างฝ่ายต่างก็เป็นภัยคุกคามระหว่างกันเรื่อยมา แต่กล่าวให้ถึงที่สุดแล้วฮว๋าเซี่ยมักเป็นภัยคุกคามมากกว่า

พื้นฐานดังกล่าวทำให้พบว่า จีนก็ไม่ต่างกับจักรวรรดิอื่นๆ ทั้งในยุคสมัยเดียวกันหรือยุคต่อๆ มา ที่ต่างก็แสวงหาทรัพยากรจากดินแดนอื่นด้วยการขยายดินแดนทั้งสิ้น

ถัดจากพื้นฐานที่ว่าแล้ว สิ่งที่ตามมาภายหลังก็คือ ระบบและระเบียบแบบแผนต่างๆ ทางด้านการเมืองและการปกครอง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ที่ยิ่งเวลาผ่านไปก็ยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น

โดยในกรณีจีนจะมีศูนย์รวมแนวคิดในเรื่องโอรสแห่งสวรรค์ อันเป็นแนวคิดที่อาจถือเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะแนวคิดนี้เชื่อว่าผู้ที่เผด็จอำนาจขึ้นได้นั้น ย่อมเป็นเพราะได้รับบัญชาจากสวรรค์หรือสวรรค์มอบอาณัติให้

สำหรับจีนแล้ว ผู้ได้รับอาณัติจากสวรรค์จะเป็นใครก็ได้ตั้งแต่ชาวนาจนถึงคนที่มีภูมิหลังเป็นชนชั้นสูง แต่การจะเป็นโอรสแห่งสวรรค์ที่ได้รับอาณัติมาก็มิใช่เรื่องง่าย และเมื่อได้มาแล้วก็จะมีชีวิตที่เสพสุขประดุจหนึ่งโอรสแห่งสวรรค์จริงๆ

แต่ในขณะเดียวกันต่างก็จักต้องแลกกับการเป็นผู้ปกครองที่ดีและมีปรีชาชาญ หาไม่แล้วสวรรค์ก็มีสิทธิ์ที่จะถอนอาณัติได้ และมอบอาณัติที่ถอนไปนี้ให้แก่โอรสแห่งสวรรค์องค์ใหม่ต่อไป ดังจะเห็นได้ตลอดสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นับแต่ราชวงศ์ฉินเรื่อยมา อันเป็นสมัยที่จีนเขาสู่ยุคประวัติศาสตร์และแนวคิดรัฐจักรวรรดิได้ตั้งมั่นไปแล้ว

ท้ายบท

รัฐจีนในยุคโบราณจากที่งานนี้ได้ศึกษามาโดยตลอดจนถึงบทสุดท้ายนี้ ได้ชี้ให้เห็นโดยลำดับว่า การก่อเกิดขึ้นของรัฐจีนมีวิวัฒนาการไม่ต่างกับรัฐอื่นๆ

แต่กล่าวเฉพาะจีนแล้วการเกิดขึ้นของรัฐมีลักษณะเฉพาะที่เป็นของตนเองในหลายประการ

และที่ดูโดดเด่นคือลักษณะทางวัฒนธรรมที่ค่อนข้างเป็นเอกเทศ ลักษณะเฉพาะนี้ทำให้จีนมีตำนานให้เล่าขานและชวนให้ถามกันและถกเถียงกัน

จนเมื่อพ้นไปจากยุคตำนานมาปรากฏตนเป็นสังคมชนเผ่า สังคมผู้ปกครอง และสังคมรัฐแล้ว วัฒนธรรมนั้นก็ได้ขัดเกลาให้จีนเป็นรัฐจีนอย่างที่งานศึกษานี้ได้ฉายให้เห็น คือเป็นรัฐจีนที่มีทั้งความรุ่งโรจน์และความเสื่อมถอย

เป็นรัฐจีนที่มีการสร้างสรรค์ภูมิปัญญาในด้านต่างๆ ขึ้นมา

และเป็นรัฐจีนที่มีชุดความคิดหรือระเบียบแบบแผนทางเศรษฐกิจการเมืองเป็นของตนเอง

ภาพที่ว่าเกิดขึ้นและดำรงอยู่ภายใต้กระแสพัฒนาการที่มีทั้งสันติภาพและสงคราม แล้วจึงค่อยๆ ก่อรูปเป็นแนวคิดจักรวรรดิขึ้นมาอย่างช้าๆ

จนเมื่อจักรวรรดิเกิดขึ้นเมื่อราว 2,200 ปีก่อน แนวคิดนี้จึงปักหลักปักฐานได้อย่างมั่นคง แต่แนวคิดที่มั่นคงนี้ก็มิได้หมายความว่าในทางที่เป็นจริงแล้วจะมั่นคงไปด้วยไม่ เพราะมีบางช่วงจักรวรรดิก็ล่มสลายลง แล้วถูกแทนที่ด้วยความแตกแยกยาวนาน ไม่ต่างกับยุควสันตสารทกับยุครัฐศึก

ด้วยเหตุนี้ การรักษาจักรวรรดิให้มั่นคงยาวนานที่สุดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง เป็นความมั่นคงของจักรวรรดิบนผืนแผ่นดินที่กว้างใหญ่ไพศาล มิได้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังแผ่นดินอื่น เป็นจักรวรรดิที่อยู่ใต้เงื้อมเงากำแพงอันยาวไกล

ซึ่งเรียกว่าเป็น “จักรวรรดิในกำแพง” ก็คงไม่ผิดนัก