ในประเทศ / รัฐสวัสดิกะ..กะ..การ

ในประเทศ

รัฐสวัสดิกะ..กะ..การ

 

รัฐสวัสดิการ

ที่วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ให้ความหมายไว้ว่า

“คือ มโนทัศน์การปกครองซึ่งรัฐมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจและสังคมของพลเมือง โดยอาศัยหลักความเสมอภาคของโอกาส การกระจายความมั่งคั่งอย่างชอบธรรม และความรับผิดชอบต่อสาธารณะแก่ผู้ไม่สามารถจัดหาขั้นต่ำสำหรับชีวิตที่ดีได้”

กำลังกลายเป็นศัพท์ฮิตของนักการเมือง พรรคการเมืองตอนนี้

และกำลังถูกนำมาแปะทับคำว่า “ประชานิยม”

ที่แม้นักการเมือง พรรคการเมือง จะรังเกียจ

อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวไว้เมื่อ 29 ตุลาคม 2558

“แก้ปัญหาด้วยการซับสิไดซ์ (Subsidize = มาตรการอุดหนุน) ไปตลอด มันก็คือความไม่ยั่งยืนนะ คงแก้ได้เพียงปีเดียวแหละ การจ่ายเงินก็จ่ายได้ครั้งเดียว พอครั้งต่อไปก็จ่ายยากแล้วนะ มันจะกลายเป็นการเพาะนิสัย มันก็เหมือนการให้ปลานะ อันนี้เราให้ทั้งปลาด้วยแต่ตัวเล็กหน่อย และให้เบ็ดไป สำหรับที่จะหาปลาเพิ่มนะ”

และยืนยันเรื่องนี้มาตลอด 4 ปี

 

ทั้งนี้ รัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร ถูกนำมาเป็นตัวอย่างของรัฐบาลที่มุ่งผลิตนโยบายประชานิยม

ไม่ว่าการพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย 3 ปี และการลดภาระหนี้

การปรับโครงสร้างหนี้ของสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร โดยรัฐบาลได้ร่วมกับสถาบันการเงิน 10 แห่ง ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ ชะลอการดำเนินคดีหรือการบังคับคดีกับสมาชิกเป็นการชั่วคราวจนกว่าการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้จะเสร็จ

การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

การจัดตั้งธนาคารประชาชน

การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน เป็นการสร้างโอกาสให้เกษตรกรในการเข้าถึงแหล่งทุนโดยสามารถนำสินทรัพย์ 5 ประเภท อันได้แก่ ที่ดิน สัญญาเช่า เช่าซื้อ หนังสืออนุญาตให้ประโยชน์และหนังสือรับรองทรัพย์สินทางปัญญาและเครื่องจักร เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ได้

โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)

โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค หรือโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

โครงการบ้านเอื้ออาทร

โครงการบ้านมั่นคง

เป็นต้น

นโยบายเหล่านี้ถูกวิพากษ์ว่าเป็นประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ ที่มุ่งสร้างคะแนนนิยมในหมู่คนยากจนทั้งในชนบทและในเมือง จะไม่เลียนแบบ หรือเตรียมจะปรับปรุงให้ดีขึ้น

 

แต่เมื่อปี่กลองการเลือกตั้งถูกประโคมขึ้น สิ่งที่นักการเมืองและพรรคการเมือง ทั้ง “เก่าและใหม่” หยิบฉวยมาหาเสียงสนับสนุน

กลับกลายเป็นแนวทางประชานิยมข้างต้นทั้งสิ้น

ยิ่งเมื่อศูนย์กลางแห่งอำนาจหลอมตัวกลายเป็นพรรคการเมือง ในนามพลังประชารัฐ เพื่อปูทางสู่การครองอำนาจต่อไป

สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็พลิกผันไป

รวมถึงสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์โพสต์ผ่านเว็บไซต์ว่า

“ครม.เห็นชอบให้เพิ่มมาตรการช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยจะช่วยบรรเทาค่าน้ำ 100 บาท และค่าไฟ 230 บาทต่อครัวเรือน ต่อเดือน ตั้งแต่ธันวาคม 2561 ถึงกันยายน 2562 และพิเศษในเดือนธันวาคมปีนี้จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก 500 บาทเพื่อใช้จับจ่ายในช่วงปีใหม่นี้ นอกจากนั้นจะสนับสนุนค่าเดินทางรักษาพยาบาลแก่ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 1,000 บาทต่อคน และช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน 400 บาทต่อคน ต่อเดือน ตั้งแต่ธันวาคม 2561 ถึงกันยายน 2562 ครับ”

เกิดอาการเหวอในหมู่คนที่ได้รับทราบ

รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรีล่าสุดที่แจกบัตรคนจนอีก 3 ล้านคน รวมถึงคืนภาษีแวต 5% ให้คนชั้นกลางที่ช้อปปิ้งผ่านบัตรเดบิตในช่วงตรุษจีน โดยตั้งวงเงินไว้ที่ 9 พันล้านบาท

จึงเกิดคำถามว่า นี่แตกต่างจาก “ประชานิยม” อย่างไร

 

ขณะที่ฝ่ายรัฐยืนกรานว่านี่คือ “สวัสดิการแห่งรัฐ” ที่มอบให้ประชาชน เพื่อให้มีความแข็งแรงและพึ่งตนเองได้ต่อไป

แต่คู่แข่งทางการเมืองอย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนกรานว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่ได้ตอบโจทย์ระบบรัฐสวัสดิการ และหลายคนมองว่าไม่ใช่ หลักของระบบรัฐสวัสดิการนั้น ต้องเป็นสิทธิของพลเมืองที่จะได้รับโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่รัฐบาลอยากให้ การบริการทั้งหลายต้องมีถ้วนหน้า ทุกคนมีสิทธิ ทุกคนต้องได้รับ และควรมีระบบ มีหลักเกณฑ์ว่าควรจะได้เท่าไร อย่างไร

และในเวลาต่อมาไม่นาน นายกรณ์ จาติกวณิช ก็ได้โชว์นโยบายการศึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ‘เกิดปั๊บได้สิทธิรับเงินแสน’ โดยยืนยันนี้คือตัวอย่างรัฐสวัสดิการ ที่ไม่ใช่ประชานิยม

โดยอ้างว่า จะยกเครื่องการศึกษาไทย พร้อมแก้ปัญหาหลักการศึกษาไทยในทุกด้าน

ซึ่งนายกรณ์ย้ำว่า หากมีโอกาสได้ผลักดันนโยบายตามที่เสนอ จะทำให้การศึกษาบ้านเราเปลี่ยน เด็กไทยจะแข็งแรงขึ้น เก่งขึ้น และมีทักษะที่ช่วยเขาเผชิญกับโลกยุคใหม่ได้ดีขึ้น

ซึ่งก็เผชิญคำถามเช่นกันว่า

นี่ไม่ใช่ประชานิยมหรือ

 

ในมุมมองของนักวิชาการอย่าง ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งกล่าวในเวทีเสวนาสาธารณะ “สวัสดิการประชาชน และมาตรการแก้จนของรัฐบาล บนโจทย์วินัยทางการคลัง” เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ว่า

“เราอยากเห็นรัฐบาลจ่ายเงินด้านสวัสดิการทางสังคมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสังคมไทยที่มีความเหลื่อมล้ำสูง แต่การใช้จ่ายเงินอย่างไรให้ยั่งยืน และแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้างและความเหลื่อมล้ำได้จริง นั่นคือคำถาม”

“สำหรับการแจกเงินลักษณะ one-time ครั้งเดียวหมดไปไม่ได้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นรูปแบบนโยบายที่ไม่พึงปรารถนาเท่าไหร่”

“จะเห็นว่านโยบายประชานิยมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จะทำนโยบายซ้ำรอยกันเมื่อเข้าสู่ฤดูกาลเลือกตั้ง ยิ่งจะเห็นลักษณะการแจกเงินให้แล้วจบไปยิ่งมากขึ้น ทั้งหมดมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ยังไม่มีการแก้ไข และเราจะอยู่กับสภาวะนี้เรื่อยๆ”

ผศ.ดร.ประจักษ์ชี้ว่า การแจกหรือให้ของพรรคการเมืองในช่วงเลือกตั้ง จะมีแค่ 3 วิธีหลักเท่านั้น

คือ 1. การแจกเงิน รายหัว หรือแจกสิ่งของ ยุคหนึ่งเราถึงขั้นแจกปลาทู ให้รองเท้าไปก่อน 1 ข้าง เป็นต้น

  1. เป็นการให้เชิงโครงการ ให้กับคนในพื้นที่นั้นๆ เช่น การตัดถนนเข้าหมู่บ้าน การสร้างบ่อน้ำ สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น

และ 3. การหาเสียง สัญญาจะให้เชิงนโยบาย ครอบคลุมคนทั้งประเทศ

“ในสังคมที่พรรคการเมืองอ่อนแอ จะพบ 2 รูปแบบแรกเป็นหลัก ยิ่งสังคมไร้เสถียรภาพทางการเมือง ก็จะหาวิธีรวดเร็วที่สุดเอาชนะใจประชาชน ก่อนปี 2540 เราพบรูปแบบการซื้อเสียง แจกเงิน รูปแบบที่ 1 และรูปแบบที่ 2 มาช่วงปีหลัง 2540 ที่เราพบการแข่งขันเชิงนโยบายมากขึ้น เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งดีกว่านโยบายรถคันแรก บ้านหลังแรก แต่ก็ยังไม่ดีอย่างที่เราปรารถนา แต่ดีกว่ายุคแรกๆ” ผศ.ดร.ประจักษ์กล่าว และว่า การหาเสียงของพรรคการเมืองช่วงหลังปี 2540 ก็ยังเป็นแบบรูปผสม พบทั้ง 3 รูปแบบ การซื้อเสียงก็ยังไม่หมดไป ยิ่งไม่มีฐานเสียงแน่นหนาก็ต้องแจกเงินไว้ก่อน ระบบอุปถัมภ์ยังอยู่ รูปแบบที่ 3 ก็งอกขึ้นมา

ผศ.ดร.ประจักษ์ยังกล่าวถึงตัวเลขค่าเฉลี่ยการซื้อเสียงของประเทศไทยอยู่ที่ 500 บาทต่อหัว ฉะนั้น 500 บาท ไม่ได้มาโดยบังเอิญ มีการทำการบ้านมาแล้ว นี่คือราคาตลาดการซื้อเสียง และระดับชาติราคาถูกกว่าท้องถิ่น ถ้าระดับ อบต. เทศบาลอาจไปที่ 1-2 พันบาทต่อหัว เพราะจำนวนผู้เลือกตั้งน้อย ส่วนจังหวัดที่ตระกูลการเมืองผูกขาด จ่าย 100 บาทก็พอ

“ส่วนการเลือกตั้งที่จะมาถึงปีหน้านั้น รูปแบบการหาเสียงจะกลับไปรูปแบบที่ 1 และ 2 เพราะรัฐธรรมนูญและระบบการเลือกตั้งลดทอนความเข้มแข็งพรรคการเมือง ออกแบบให้การแข่งขันไปอยู่ที่ระบบเขตเลือกตั้ง การแข่งขันเชิงนโยบายจะลดน้อยลง เราจะเห็นทำไมพรรคการเมืองถึงดูด ส.ส.เจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพลเข้าไปอยู่มากที่สุด ไม่มีปาร์ตี้ลิสต์แล้ว การออกแบบการเมือง ระบบเลือกตั้งใหม่ เราจะพบการแจกเงิน ซื้อเสียง การหาเสียงระยะสั้นมากกว่าการหาเสียงด้วยนโยบาย ปัจจุบันเราเห็นนโยบายของขวัญปีใหม่ออกมาช่วงนี้ ผูกกับฤดูเลือกตั้ง หากเรากลับไปดูอดีต ทหารไทยเก่งทำรัฐประหาร แต่ไม่เก่งในการเมืองการเลือกตั้งมาตั้งแต่สมัยจอมพลถนอม กิตติขจรแล้ว เมื่ออยากมีอำนาจต่อก็อาศัยบริการนักการเมืองตั้งพรรคใหม่ พรรคเฉพาะกิจ พรรคนอมินี และเห็นนโยบายการแจกแบบนี้”

ผศ.ดร.ประจักษ์ระบุ

 

ตามความเห็นของนักวิชาการ ผศ.ดร.ประจักษ์ ข้างต้น น่าจะทำให้เราไม่แปลกใจมากนัก ที่กระแสประชานิยมจะหวนกลับมา “พัดแรง” ในหมู่พรรคการเมือง ที่พาเหรดชิงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งที่จะมาถึง

เพียงแต่อาจจะปรับโฉม หรือเปลี่ยนการเรียกดื้อๆ ว่า ไม่ใช่ประชานิยม แต่เป็นแนวทางอื่น

ซึ่งที่กำลังมาแรงนั่นก็คือคำว่า “สวัสดิการของรัฐ”

ที่ยังให้บทบาทรัฐอย่างสูงในการเข้ามาช่วยเหลือประชาชน

ล่าสุด รัฐบาลซึ่งถูกโจมตีว่าหนีไม่พ้นประชานิยม และล้มเหลวในการแก้ไขความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ก็พลิกสถานการณ์อีกครั้ง ด้วยการให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบูรณาการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจน พ.ศ. … ตามข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

โดยให้มีคณะกรรมการนโยบายการลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจน (กนล.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ

ถือเป็นการพลิกเกมล่าสุด

แม้จะมีเสียงจากคู่แข่งอย่างประชาธิปัตย์ว่า คงไม่ทันการณ์แล้ว

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็น่าห่วง เพราะรัฐบาล คสช.และพรรคแนวร่วม อาจเสียคะแนนนิยม

จนอาจต้องหันเหออกจากแนวทางรัฐสวัสดิการไปทางอื่น

แต่ก็คงไม่ถึงขั้น “หน้ามืด”

หันไปหาแนวทาง รัฐ “สวัสดิกะ”

ที่มุ่งเอาเรื่องชาตินิยมและอำนาจนิยมมาเพื่อหวังคว้าชัย อย่างไม่สนใจอะไรอีกแล้ว!!