นิธิ เอียวศรีวงศ์ : หมู่บ้านที่อ่านไม่ออก

นิธิ เอียวศรีวงศ์

สิ่งหนึ่งที่หมู่บ้านใกล้เมืองของเชียงใหม่ พากันบูรณะซ่อมแซมหรือสร้างขึ้นใหม่คือตัวศาลของผีอาฮักบ้าน ที่ดูแลพื้นที่หมู่บ้าน ยังความร่มเย็นเป็นสุขให้แก่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนั้น หากพูดภาษากลางคือผีบ้านนั่นเอง แต่คำเมืองเรียกในชื่ออื่น เช่น (ผี)พ่อบ้าน, (ผี)เจ้าพ่อ (คำว่าเจ้าในที่นี้มีความสำคัญ เพราะอาฮักบ้าน มักถูกบรรยายให้เชื่อมโยงไปกับผีอาฮักระดับที่สูงขึ้น จนเกิดโครงสร้างของลำดับอำนาจและเกียรติยศของผีที่สลับซับซ้อน เช่น อาฮักบ้าน และอาฮักเมืองของเชียงใหม่เชียงรายหลายตน มักมีประวัติเชื่อมโยงไปถึงเจ้าหลวงคำแดง ในปัจจุบัน ผีเจ้านายอาจเชื่อมโยงไปถึงบุคคลหรือผีที่มีอำนาจของ “ชาติ” หรือส่วนกลางด้วย)

ดังนั้น ศาลผีอาฮักของหลายหมู่บ้านจึงมีชื่อเดียวกับหมู่บ้าน เช่น เจ้าพ่อบ้านดู่, เจ้าพ่อหัวเสือ หรือพ่อบ้านปากกอง ฯลฯ ในบางหมู่บ้าน อาจยกอาฮักที่เคยดูแลเพียงบางพื้นที่ เช่น บริเวณไม้ใหญ่ หรือบริเวณที่มีน้ำจำ (น้ำซับ) ขึ้นมาเป็นอาฮักบ้าน จึงได้ชื่อเช่นเจ้าพ่อน้ำจำ ผมเคยไร้เดียงสาถึงขนาดไปถามชาวบ้านว่า “เปิ้นเป็นไผ” เพราะนึกว่าท่านเหล่านี้เคยเป็นบุคคลจริง

นี่เป็นปรากฏการณ์ใหม่นะครับ คือเกิดขึ้นไม่น่าจะเกิน 20 ปีมานี้เอง ผมจำได้ว่าเมื่อครั้งที่มาอยู่เชียงใหม่แรกๆ นั้น ผมเคยเห็นศาลอาฮักบ้านทั่วไป มักอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ ปลูกด้วยไม้เป็นเรือนสี่เสาเล็กๆ ที่มีฝาผนังสามด้าน มีบันไดทอดขึ้นไปยังชานเรือน และมักมีหิ้งบนเรือนเพื่อให้ชาวบ้านวางเครื่องเซ่นต่างๆ

ทั้งหมดที่ได้เห็นล้วนทรุดโทรม ถึงขนาดบางแห่งโย้เย้ทีเดียว แต่ในหมู่บ้านที่อยู่ติดเมืองปัจจุบัน ศาลดังกล่าวถูกรื้อลงแล้วสร้างใหม่เป็นศาลาปูน หรือหากยังทำด้วยไม้ก็ทำอย่างเรียบร้อยแข็งแรง

นี่เป็นปรากฏการณ์ประหลาด เพราะขัดแย้งกับปรากฏการณ์อื่นที่เป็นจริงในหมู่บ้านใกล้เมือง หรือติดเมืองของเชียงใหม่

%e0%b8%99%e0%b8%b4%e0%b8%98%e0%b8%b4-1892

ทั้งหมดของหมู่บ้านเหล่านี้หยุดทำเกษตรไปหมดแล้ว ผมเคยเห็นชาวบ้านที่จนมากๆ หน่อยสักคนหนึ่งหรือสองคน ที่อาจรับจ้างเลี้ยงวัว ซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเกษตรแบบเดิม เพราะคนที่เอาวัวมาจ้างเลี้ยงไม่ได้ต้องการแรงงานจากวัว เลี้ยงให้โตแล้วเอาไปขาย คนซื้อจะเอาไปทำลูกชิ้น หรือเอาไปใช้งานในไร่นา ผู้ขายก็ไม่เกี่ยว คาวบอยแก่ๆ เหล่านี้ได้ลูกที่ตกระหว่างรับจ้างเลี้ยงเป็นค่าตอบแทน

โดยไม่ได้สำรวจจริง แต่ผมอยากจะยืนยันว่าทั้งหมดของชาวบ้านทำงานนอกภาคเกษตร นับตั้งแต่ขายแรงงาน (ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นผู้หญิง เพราะขาดทักษะ จึงทำได้แค่รับจ้างทำความสะอาดบ้าน ไปจนถึงทำสวนเป็นต้น ส่วนผู้ชายก็ขายแรงงานที่ประกอบด้วยทักษะมากขึ้น เช่น เป็นช่างไม้, ช่างกลึงไม้ของที่ระลึก, หรือแรงงานฝีมือของธุรกิจก่อสร้าง) อีกจำนวนมากซึ่งอาจถึงครึ่งทำงาน “ออฟฟิศ” คืองานวิชาชีพหรือกึ่งวิชาชีพ ส่วนที่เหลือก็คือพ่อค้าแม่ขายและผู้ประกอบการอื่นๆ เช่น รับเหมา

อาชีพอันหลากหลาย ซึ่งทำให้แต่ละคนต้องใช้เวลาต่างกันในรอบวัน, รอบเดือน และรอบปี ทำให้ “ชุมชน” หมู่บ้านอย่างที่เอนจีโอบางกลุ่มชอบพูดถึงไม่มีเหลืออีกแล้ว ไม่แตกต่างจากทำเลที่อยู่อาศัยของเมืองใหญ่ทั่วไป เพราะมันไม่มีความสัมพันธ์พิเศษอะไรในทำเลนั้น เมื่อไม่มีความสัมพันธ์ก็ไม่มีชุมชน

นอกจากนี้ ในทุกหมู่บ้าน ยังมีประชากรที่ไม่ได้เป็น “ชาวบ้าน” แท้ๆ เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยร่วมด้วย บางหมู่บ้านขายที่นาผืนใหญ่ให้แก่บริษัทบ้านจัดสรร ย่อมดึงเอาคนนอกที่ชาวบ้านไม่รู้หัวนอนปลายตีนจำนวนมากเข้ามาอยู่ติดหมู่บ้าน (และถูกนับโดยทางการให้เป็นคนในตำบลเดียวกัน) แต่นี่คนนอกไม่ได้เข้าไปอยู่ร่วมหมู่บ้าน เพราะบ้านจัดสรรมักแยกตัวเองออกไปด้วยรั้วรอบขอบชิด ที่กระทบหมู่บ้านมากกว่าคือคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไป ซึ่งเข้ามาซื้อหรือแบ่งที่ดินในหมู่บ้าน แล้วสร้างเรือนตึกแบบของตนขึ้นเป็นที่อยู่อาศัย

คนนอกอีกประเภทหนึ่งคือลูกหลานของคนใน ซึ่งมีฐานะพอส่งลูกหลานเรียนหนังสือไปได้สูงๆ หรือมีทุนรอนพอให้ลูกหลานทำธุรกิจบางอย่าง แล้วประสบความสำเร็จมีฐานะขึ้นมา คนเหล่านี้ปรับปรุงบ้านเรือนของบรรพบุรุษในหมู่บ้าน หรือรื้อแล้วสร้างใหม่ จนกลายเป็นเรือนตึกแบบเดียวกับของคนชั้นกลาง ชีวิตของพวกเขาสัมพันธ์เชื่อมโยงกับอะไรข้างนอกตลอด แม้แต่ลูกก็เข้าไปเรียนในโรงเรียนมีชื่อในตัวเมือง จนในที่สุดก็กลายเป็นคนนอกของหมู่บ้านไปโดยปริยาย บางรายไม่ได้เข้าร่วมไหว้ผีในเทศกาลด้วยซ้ำ

 

แม้ว่าแทบจะไม่มีชุมชนในความเป็นจริง แต่ในหมู่บ้านใกล้หรือติดเมือง มีชุมชนในสำนึกมากกว่าทำเลที่อยู่อาศัยของคนชั้นกลางในเมืองใหญ่ ผมคิดว่ามีเหตุผลอย่างน้อยสองอย่างที่ทำให้สำนึกนี้ยังอยู่อย่างแข็งแรงกว่า หนึ่ง ก็เพราะคนนอกไม่เกี่ยวกับกิจกรรมของหมู่บ้านเอาเลย ทำให้คนในที่ยังเหลืออยู่ ไม่ว่าจะมีจำนวนมากกว่าหรือน้อยกว่าคนนอก จับจองพื้นที่ “การเมือง” ของหมู่บ้านเอาไว้แต่ฝ่ายเดียว และสอง จำนวนไม่น้อยของคนในที่เหลืออยู่ แม้ไม่ใช่คนจน แต่ก็มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่มั่นคงเท่า อัตลักษณ์ชุมชน หรือความเป็นคนของชุมชน จึงมีประโยชน์แก่คนเหล่านี้ ในทางเศรษฐกิจและการเมือง-สังคมมากกว่าแก่คนนอก

การฟื้นฟูหอ “เจ้าพ่อ” หรือ “พ่อบ้าน” กลับขึ้นมาใหม่ ในชุมชนหมู่บ้านที่ไม่มีอะไรเหมือนเก่าสักอย่าง จึงเป็นเรื่องประหลาด และไม่น่าที่ผีเหล่านี้จะทำหน้าที่เก่าของตนได้ ไม่นับหอใหม่ที่เพิ่งสร้างขึ้นสักไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หออื่นๆ ทั้งหมดที่ผมได้ลงไปสำรวจดู ล้วนไม่มีเครื่องเซ่นหรือดอกไม้ธูปเทียนที่เหลือราอยู่ในหอเป็นพยานว่าถูกชาวบ้านคนใดคนหนึ่ง หรือหลายคน “ใช้” ประโยชน์เลย นอกจากเครื่องประดับกระดาษทองหรือพลาสติกแล้ว ทั้งหอของ “เจ้าพ่อ” ก็เต็มไปด้วยฝุ่น

แม้กระนั้นหอหรือศาลของ “พ่อบ้าน” ในหมู่บ้านติดเมือง ก็ถูกบุรณะปรับปรุงหรือสร้างขึ้นใหม่อยู่ตลอดมา เป็นปรากฏการณ์ที่น่าจะดำเนินต่อไปในอนาคตอันใกล้ด้วย โดยทั่วไปแล้ว เงินที่ใช้ในการสร้างหอนี้ มาจากการเรี่ยไรกันในหมู่ชาวบ้าน บางครั้งก็เรี่ยไรมาสมทบกับเงินอีกก้อนหนึ่งที่ได้มาเป็นสาธารณประโยชน์จากทางใดทางหนึ่ง ผมไม่เคยลงไปเก็บข้อมูลว่าใครจ่ายสมทบบ้าง โดยเฉพาะเหล่า “คนนอก” ในหมู่บ้านจ่ายด้วยหรือไม่ ในสัดส่วนเท่าไร

ถึงจ่ายหรือจ่ายในสัดส่วนที่สูง ผมก็ไม่แปลกใจนะครับ ดูเหมือนการควักกระเป๋าเป็นช่องทางมีส่วนร่วมในชุมชนเพียงอย่างเดียว ที่ “คนนอก” พอใจจะทำ และ “คนใน” ใช้เป็นมาตรฐานที่จะไม่ตั้งสมญาเชิงตำหนิแก่ “คนนอก” แต่ผมแน่ใจว่าความคิดริเริ่ม และแรงผลักดันจนเกิดศาลขึ้นได้นี้เป็นของชาวบ้าน “คนใน” เพียงฝ่ายเดียว

ดังนั้น จะเข้าใจบทบาทหน้าที่ของศาลผีที่ถูกฟื้นฟูขึ้นใหม่เหล่านี้ จึงควรพิจารณาเชื่อมโยงกับสถานะและความใฝ่ฝันของชาวบ้านที่เป็นคนใน ผมจึงมีคำอธิบายของตัวเอง ซึ่งไม่ยืนยันว่า “จริง” ที่สุด แต่มัน “สวย” ที่สุดในสายตาของผม

เมื่อไรที่พูดถึงผี เรากำลังพูดถึงการจัดการอำนาจ

ชาวบ้านที่อยู่มาดั้งเดิมในหมู่บ้านติดเมืองเชียงใหม่ กำลังคิดว่า โดยอาศัยศาลอาฮักบ้านที่ถูกฟื้นฟูขึ้นใหม่นี้ พวกเขาจะสามารถต่อรองอำนาจในชุมชนหมู่บ้าน และในรัฐไทย (แน่นอนสองแหล่งนี้ย่อมเชื่อมโยงกัน) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างน้อยพวกเขาก็ถูก “มองเห็น” หรือถูก “อ่านออก” (visible/legible) ความคิดของชาวบ้านเช่นนี้คงมีส่วนถูกอยู่มาก ไม่อย่างนั้นเขาจะพากันบุรณะหรือสร้างศาล “เจ้าพ่อ” ขึ้นไปทั่วหมู่บ้านต่างๆ เช่นนี้ไปทำไม

อำนาจของชาวบ้านดั้งเดิมในชุมชนลดลงไปอย่างมาก เพราะคนนอกที่เข้ามาอยู่ในชุมชนมีอำนาจทางเศรษฐกิจและสังคมสูงกว่าอย่างมาก ซ้ำร้ายพวกเขายังเป็น “นายจ้าง” ของคนจำนวนหนึ่งในหมู่บ้าน เช่น จ้างให้ทำสวน, ทำความสะอาดบ้าน, เฝ้าบ้าน ไปจนถึงจ้างเลี้ยงหมา คนนอกยังมีความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์กับชาวบ้านทั่วไปด้วย เพราะเขาคือผู้สมทบทุนรายใหญ่ให้แก่ “การพัฒนา” ของหมู่บ้าน เช่นทำท่อระบายน้ำ เมื่อได้งบจาก อบต. ไม่เพียงพอ แม้เป็นความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ที่ไม่มีการแลกเปลี่ยนกันโดยตรง แต่ต่างก็คาดหวังการแลกเปลี่ยนบางอย่างอยู่ในใจ อย่างน้อยก็ทำให้ “รัฐ” ซึ่งก็คือผู้ใหญ่บ้านและกรรมการหมู่บ้านและ/หรือ อบต. ออกจะเกรงใจ

(ผมทราบครับ ว่าโดยทางกฎหมายกรรมการหมู่บ้าน/อบต. ไม่ใช่ “รัฐ” แต่ชาวบ้านมักฉลาดกว่ากฎหมายย่อมมองว่าเป็นรัฐ ซึ่งก็ถูกต้องเพราะ อปท. ของไทยไม่ได้เป็นอิสระจากรัฐจริง ส่วนใหญ่ขอหรือใช้งบประมาณ ยังขึ้นอยู่กับ “รัฐ” เป็นต้น)

 

ศาลอาฮักบ้าน จึงเป็นสัญลักษณ์ของการฟื้นฟูอำนาจของคนใน พวกเขามีตัวมีตน และมีสิทธิเท่ากับคนอื่นในการใช้ทรัพยากรสาธารณะของชุมชน ซ้ำยังมีกฎเกณฑ์ตามประเพณีที่กำหนดพฤติกรรมของทุกคนในหมู่บ้านด้วย ศาลอาฮักบ้านจึงเป็นรูปธรรมของการหวนกลับไปสู่ “วัฒนธรรมชุมชน” ซึ่งจะเคยมีอยู่จริงหรือไม่ก็ตาม แต่เป็นวัฒนธรรมที่ให้อำนาจแก่คนในชุมชนอย่างค่อนข้างเสมอภาค ซ้ำเป็นวัฒนธรรมที่รัฐไม่ปฏิเสธ เพราะถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ “ความเป็นไทย” ไปแล้ว

ศาลอาฮักบ้านยังช่วยเชื่อมโยงชาวบ้านเข้ากับรัฐสมัยใหม่ในอีกลักษณะหนึ่ง ถึงอย่างไรชุมชนหมู่บ้านก็เชื่อมโยงกับรัฐอยู่แล้ว มีตัวตนอยู่ในทะเบียนของกระทรวงมหาดไทยแน่นอน และได้รับบริการจากรัฐหลายรูปแบบ แต่ความเชื่อมโยงในฐานะ “หมู่บ้าน” เช่นนี้ ไม่ได้เชื่อมโยงทุกคนในหมู่บ้านอย่างเท่าเทียมกัน รัฐก็เหมือนต้นมะม่วง ใครมือยาวก็เก็บมะม่วงมากินได้มากกว่าคนอื่น ถ้ารัฐไม่โน้มกิ่งลงมา ชาวบ้านดั้งเดิมก็เก็บมะม่วงได้น้อย

ดังนั้น นอกจากศาลอาฮักบ้านจะช่วยทำให้คนอื่นในหมู่บ้านได้เห็นชาวบ้านดั้งเดิมแล้ว ยังทำให้คนที่ไม่ได้อยู่ในชุมชน โดยเฉพาะรัฐได้มองเห็นพวกเขาด้วย

 

ผมสังเกตมานานแล้วว่า ศาลอาฮักบ้านที่ถูกสร้างขึ้นใหม่มักจะติดถนน แต่นั่นอาจเป็นเพราะถนนถูกสร้างให้ผ่านศาลอาฮักบ้านก็ได้ ผมไม่ได้สืบค้นว่าใครมาก่อนใคร ที่สำคัญกว่าติดถนนคือสี ซึ่งมักใช้สีค่อนข้างสด เช่นแดงเลือดหมู และต้องมีป้ายติดให้รู้ชื่อเสียงเรียงนาม ซึ่งก็มักเป็นชื่อเดียวกับหมู่บ้าน (อันไม่จำเป็นแก่ชาวบ้าน เพราะถึงอย่างไรก็รู้อยู่แล้ว) ศาลอาฮักบ้านแห่งหนึ่งที่เพิ่งสร้างใหม่ไม่นานก่อนผลัดแผ่นดิน มีธงราวติดจากตัวศาลอยู่ด้วย ประกอบด้วยธงชาติและธงตราสัญลักษณ์ฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี ในอีกบางแห่ง มีธงชาติเล็กๆ ปักอยู่ในตัวศาล

ศาลอาฮักบ้านที่สร้างขึ้นใหม่เหล่านี้ จึงใหม่แท้ ผมหมายความว่าไม่ได้มีเจตนาหลักในการสืบประเพณีความเชื่อศาลอาฮักแบบเก่าอย่างแท้จริง ที่ผมกล่าวข้างต้นคือหน้าที่และบทบาทใหม่ ในบริบทใหม่ของชุมชนหมู่บ้านติดเมือง อย่างน้อย ในเชิงรูปธรรม ผมไม่เคยเห็นศาลอาฮักบ้านที่สร้างใหม่ที่ไหนสักแห่ง มีหลักช้างหลักม้าอยู่ใกล้หรือในบริเวณ อันเป็นสิ่งที่มักปรากฏทั่วไปในศาลอาฮักบ้านเดิม

นอกจากเหตุผลหลายอย่างที่อาฮักบ้านเหมาะจะเป็นสัญลักษณ์ของความพยายามเชื่อมต่อกับรัฐแล้ว ยังมีมิติทางเพศสภาพด้วย กล่าวคือ ในวัฒนธรรมเดิมนั้น ในขณะที่ผีเรือนหรือผีปู่ย่าของทางเหนือเป็นอาณาบริเวณของผู้หญิง ผีอาฮักเป็นอาณาบริเวณของผู้ชาย เช่นเดียวกับการติดต่อสัมพันธ์กับรัฐ ทั้งในอดีตและสืบมาจนปัจจุบัน ก็เป็นอาณาบริเวณของผู้ชาย ศาลอาฮักบ้านบางแห่งติดป้ายไว้ด้วยว่า ห้ามผู้หญิงขึ้นไปบนศาล

(ผมมีข้อสังเกตนอกเรื่องตรงนี้ด้วย เหตุที่คนทรงผีเจ้านายซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง มักต้องผ่านการเจ็บป่วยเจียนตาย ก่อนจะมาเป็นคนทรงนั้น ก็เพราะผู้หญิงเหล่านี้ต้องข้ามอาณาบริเวณทางเพศที่ใหญ่มาก ก่อนจะมาปรนนิบัติผีเจ้านายอันเป็นอาณาบริเวณของผู้ชายได้ ความเจ็บป่วยเจียนตายนั้นทำให้เธอสูญเสียหรือละทิ้งความเป็นผู้หญิงออกไป จนกลายเป็นไม่ใช่ผู้หญิง)
สิ่งก่อสร้างอีกอย่างที่มักเห็นตามหมู่บ้านของเชียงใหม่ปัจจุบัน ไม่แต่เฉพาะหมู่บ้านติดหรือใกล้เมืองเท่านั้น แม้หมู่บ้านห่างไกลก็ได้เห็นอยู่บ่อยเหมือนกัน คือซุ้มประตูป่าตรงทางเข้าหมู่บ้าน แต่ไม่ได้ทำด้วยไม้ไผ่เป็นการชั่วคราวอย่างแต่ก่อน หากก่อสร้างเป็นปูนสูงใหญ่ พร้อมป้ายชื่อหมู่บ้านติดไว้อย่างเด่นชัดทีเดียว

ชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งหนึ่งบอกผมว่า ซุ้มประตูป่าของหมู่บ้านเขาสร้างขึ้นจากเงินเรี่ยไร เพราะมีถนนหนทางในหมู่บ้านแล้ว จึงต้องสร้างประตูป่าขึ้น ผมถามว่ามันเกี่ยวกันอย่างไรหรือ เขาบอกว่า เผื่อมีคนมาติดต่อหรือต้องการพบปะใครในหมู่บ้านจะได้หาหมู่บ้านพบได้ง่าย ผมไม่ได้ซักเขาต่อว่า แต่เดิมก็มีป้ายติดอยู่ข้างถนนใหญ่ และจนถึงบัดนี้ป้ายนั้นก็ยังอยู่ ไม่พอที่จะบอกหรอกหรือ

ผมคิดว่าซุ้มประตูป่าปูนขนาดใหญ่สะท้อนความต้องการสัมพันธ์กับโลกข้างนอกของชาวบ้าน และรัฐเป็นส่วนสำคัญที่สุดของ “ข้างนอก” ที่ชาวบ้านต้องการเชื่อมไปถึง ป้ายข้างทางก็เชื่อมกับโลกภายนอกได้เท่ากัน แต่ป้ายไม่มีอะไรที่เป็น “วัฒนธรรมชาวบ้าน” ติดอยู่เลย จึงไม่เหมือนซุ้มประตูป่าซึ่งอาจเชื่อมชาวบ้านที่อยากให้ถูกเห็นถูกอ่านในฐานะ “ความเป็นไทย” ที่หายใจได้จริงๆ

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ มีคนอีกไม่น้อยที่รู้สึกว่าไม่ถูกอำนาจสมัยใหม่มองเห็น หรือถึงมองเห็นก็อ่านไม่ออก หากการเมืองให้โอกาส เขาก็อยากแสดงตัวให้เห็นชัดๆ มากขึ้น หากการเมืองไม่เปิดโอกาส เขาก็แสดงตัวผ่านอะไรอื่นที่เนียน (subtle) กว่านั้น

ที่ผมชวนคุยมาทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับชาวนาการเมืองของศาสตราจารย์ Andrew Walker เลย ไม่ว่ามันจะพอฟังขึ้นหรือไม่ก็ตาม ผมอยากพูดว่าหากไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ผมคงคิดคำตอบแก่คำถามที่สงสัยมานานแล้วของผมไม่ได้ ผมคิดว่านี่เป็นหนังสือที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้ที่สนใจความเปลี่ยนแปลงสู่ความทันสมัยของสังคมไทยทุกคน