(ว่าที่)ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ กับ คำถามจากอุษาคเนย์

Chip Somodevilla/Getty Images/AFP

ไอดีเอ็นนิวส์ รวบรวมความคิดเห็นจากบรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีต่อว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เอาไว้เกือบครบถ้วนทีเดียว

เริ่มจากความคาดหวังของไทยว่า อเมริกาภายใต้การนำของทรัมป์จะยึดกุมนโยบายต่างประเทศที่ “สมดุล” ต่อไป

ในขณะที่ สิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย แสดงความกังวลต่อแนวโน้มที่ว่า ผู้นำอเมริกันคนใหม่จะ “รื้อทิ้ง” ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ หรือ ทีพีพี ทิ้งไป ส่วนอินโดนีเซียเตือนให้พลเมืองของตัวเองให้ระงับ “ปฏิกิริยาในทางลบ” ต่อจุดยืน “แอนติ-อิสลามิก” ของทรัมป์

น่าสนใจมากที่สุดเห็นจะเป็น โรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ที่ชื่นชมยินดีกับชัยชนะของทรัมป์

ด้วยเหตุผลที่ว่า “เราสบถด้วยเหตุผลแค่นิดหน่อยเหมือนๆ กัน ถึงจะเป็นเรื่องเล็กเรื่องน้อยเราก็สบถเหมือนกัน”

 

ในปฏิกิริยามีคำถามหลายคำถาม บทบรรณาธิการของ สเตรต ไทม์ส หนังสือพิมพ์ที่สะท้อนทัศนะของทางการสิงคโปร์บอกเอาไว้ว่า

“หลายๆ ประเทศ ครั้งหนึ่งเคยกังวลว่าสหรัฐอเมริกามีทัศนะต่อโลกส่วนที่เหลือทั้งหมดอย่างไร แต่ตอนนี้ชาติเหล่านั้นต่างพากันกังวลมากกว่าว่า สหรัฐอเมริกามองตัวเองอย่างไร” พร้อมกับตั้งคำถามเอาไว้ว่า โลกทัศน์แบบ “อเมริกาเฟิร์สต์” ที่เป็นแก่นนโยบายของทรัมป์นั้นจะเป็นการ “เอาหัวพุ่งชนกำแพง” หรือไม่? และ “ถ้าหากพันธมิตรที่หวังพึ่งพา ไม่สามารถพึ่งพาสหรัฐอเมริกาได้อีกต่อไป และระเบียบแต่เก่าก่อนที่เคยคาดหมายกันได้ เป็นไปไม่ได้อีกต่อไปแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นตามมา?”

มุสตาปา โมฮัมเหม็ด รัฐมนตรีกิจการระหว่างประเทศ และอุตสาหกรรม การค้า ของมาเลเซีย ให้สัมภาษณ์ “สตาร์” ของมาเลเซียไว้ชัดเจนเกี่ยวกับทีพีพี ว่าจะพังทลายลงในทันทีที่สหรัฐอเมริกาถอนตัวออกไป เหตุผลนั้นชัดเจนอยู่ในรายละเอียดของความตกลงดังกล่าว ที่มาเลเซียลงนามไปแล้วเมื่อต้นปีนี้

“ในหมวด 30 ของความตกลงทีพีพี เราจำเป็นต้องมีประเทศซึ่งมีผลผลิตรวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 85 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตทั้งหมดของทีพีพี จึงจะทำให้ทีพีพีเกิดเป็นจริงขึ้นมาได้ ดังนั้น ถ้าไม่มีอเมริกา ก็จะไม่มีทีพีพี”

จูเลีย โกห์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคาร ยูไนเต็ด โอเวอร์ซี ของมาเลเซีย ไม่เชื่อว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะทำให้กองทุนเพื่อการลงทุนของสหรัฐอเมริกาจะถอนตัวออกจากภูมิภาคเพื่อ “กลับบ้าน” ได้ทั้งหมด ด้วยการยืนยันว่า อัตราดอกเบี้ยในเอเชียจะยังคง “น่าสนใจ” สำหรับกองทุนเหล่านั้น เพียงแต่ว่าในเวลานี้ทางฟากตะวันตกของโลก “โกลาหล” กันมากหน่อย เพราะบรรดานักลงทุนพากัน “รอดู” อันเนื่องมาจากหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นกรณีของทรัมป์, ผลกระทบต่อเนื่องจากเบร็กซิท เรื่อยไปจนกระทั่งถึงบรรยากาศทางเศรษฐกิจโดยรวมของสหภาพยุโรปเองอีกด้วย

ข้อสังเกตของจูเลียก็คือ จีนเองก็มีโปรเจ็กต์เส้นทางสายใหม่ๆ ซึ่งส่งผลกระทบ “ทางบวก” ต่อภาคสาธารณูปโภคและการค้าของภูมิภาค ทรัมป์จะปล่อยไปเช่นนี้หรือ?

 

เวียดนาม เป็นกังวลกับการถูกแซงก์ชั่นสินค้าออกไปยังสหรัฐอเมริกาไม่น้อย เพราะตกเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ถูกทรัมป์ระบุว่า “รุมทึ้ง” อเมริกา ประเทศอื่นๆ ที่เหลือคือ จีน, อินเดีย และญี่ปุ่น

เวียดนามนิวส์ สำนักข่าวของทางการเวียดนาม บอกว่า สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกสำคัญของสินค้าหลายอย่างของเวียดนาม ตั้งแต่สินค้าเกษตร, อาหารทะเล, สิ่งทอ และรองเท้า ในขณะที่สภาวะขัดแย้งในทะเลจีนใต้กับจีนก็ยังคาราคาซังอยู่ ในขณะที่รัฐบาลโอบามาเสนอที่จะติดอาวุธให้เวียดนามป้องกันตนเอง นโยบายต่างประเทศของทรัมป์กลับไม่มีความชัดเจนถึงระดับนั้น

“หลายคนเชื่อว่า กำลังเท่าที่มีอยู่ของสหรัฐอเมริกาในเอเชียตะวันออกยังห่างไกลจากความเพียงพอต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลตะวันออก (ทะเลจีนใต้) มีแนวโน้มว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะยิ่งทำให้ความรู้สึกดังกล่าวนี้เข้มข้นยิ่งขึ้น

“คำถามในตอนนี้ก็คือ ประธานาธิบดีทรัมป์จะทอดทิ้งพันธมิตรของตัวเองหรือไม่ และจะทอดทิ้งกันมากมายถึงขนาดไหนกัน?”

เดอร์วิน เปเรรา แห่งสเตรต ไทม์ส ฟันธงเอาไว้ว่า เอเชียที่เคยยึดถือว่าอนาคตในระยะยาวของตนวางอยู่เคียงข้างสหรัฐอเมริกา กลับพบเพียงแต่ความ “ไม่แน่นอน” ในอย่างน้อยก็อีก 4 ปีข้างหน้า

เท่านั้นยังไม่พอ ความไม่แน่นอนที่ว่าอาจเสี่ยงต่อการกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ “สุ่มเสี่ยงและขัดแย้ง” ได้ด้วยอีกต่างหาก