เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์ /เพราะฉะนั้น ฉันจึงถาม

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

เพราะฉะนั้น ฉันจึงถาม

 

ใช่แล้วครับ ชื่อตอนเครื่องเคียงฯ ฉบับนี้ เป็นชื่อหนังสือเล่มล่าสุดของคนสนิทที่ชื่อตุ้ม-สรกล อดุลยานนท์ หรือนามปากกาว่า “หนุ่มเมืองจันท์” ที่เป็นคู่แข่งกับหนุ่มเมืองกรุงของผม…แฮ่ม

เพราะฉะนั้น ฉันจึงถาม เป็นผลงานลำดับที่ 30 แล้วในชุดฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ

นี่ใจคอคุณหนุ่มเขาจะเขียนไปถึงลำดับที่ 100 เลยรึเปล่าเนี่ย

ในหน้าคำนำผู้เขียนในหนังสือเล่มนี้ ตุ้มยังแซวตัวเองเลยว่า หนังสือ “เพชรพระอุมา” ของพนมเทียนยังมี 48 เล่ม ของเขาเองก็มาที่ 30 แล้ว เหลืออีก 18 เล่มเท่านั้นเองก็จะเทียบเท่า (ฮา)

นี่คืออารมณ์ขันที่โปรยอยู่ทั่วไปในงานเขียนของเขาที่ทำให้คนอ่านติดใจ รวมทั้งผมด้วย

ความจริงได้อ่านหนังสือเล่มนี้จบนานแล้ว ตั้งแต่ได้รับมาจากตุ้ม แต่เพิ่งมีโอกาสจะได้เขียนถึง ยังไงงานดีๆ เขียนถึงเมื่อไรก็ได้ใช่ไหมตุ้ม…อันนี้เพราะฉะนั้น ฉันจึงถามกลับนะ

 

คําโปรยที่ตุ้มให้ไว้กับผลงานเล่มนี้คือ โลกซับซ้อน ชีวิตสับสน “คำถาม” เรียบง่ายจึงสำคัญ

ในเรื่องต่างๆ ที่เขาเขียนได้มีการตั้งคำถามที่เหมือนจะเรียบง่าย แต่ก็ไม่ง่ายที่ใครจะคิดถาม

แต่เผอิญธรรมชาติการทำงานดั้งเดิมของเขาคือ “นักข่าว” ทำให้ต้องรู้จักตั้งคำถาม ชอบที่เขาบอกว่า อาวุธของนักข่าวคือ “คำถาม”

ตุ้มจึงมีคำถามกับหลายเรื่องที่เราอาจจะไม่ทันฉุกคิด และตั้งคำถามแบบเขา

อย่างกรณีของร้านกาแฟ “สตาร์บัคส์”

เขาสังเกตว่าทำไมโต๊ะในร้านสตาร์บัคส์จึงเป็นโต๊ะกลม ไม่ใช่โต๊ะเหลี่ยมแบบที่บางร้านใช้กัน

เมื่อตั้งคำถาม จึงไปค้นหาคำตอบและพบว่า สตาร์บัคส์ให้ความสำคัญกับ “ความรู้สึก” ของลูกค้า นั่นจึงเป็นที่มาของบรรยากาศสบายๆ นั่งแช่ได้ไม่ว่ากัน ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นบ้านหลังที่สองของลูกค้า

แล้วมันเกี่ยวอะไรกับโต๊ะกลม

เพราะโต๊ะกลมทำให้ความรู้สึกของคนที่มาคนเดียว รู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลง เอากับเขาสิ คิดได้ยังไง แต่เมื่อลองคิดดูก็จะเห็นคล้อยตาม เพราะพอเป็นเหลี่ยมมันเหมือนเตรียมไว้ให้กับคนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป

แต่โต๊ะกลมจะกี่คนก็ได้ คนเดียวก็ไม่เขิน หลายคนก็นั่งล้อมวงแบบเล่นไพ่ก็โอเค

สงสัยจะกลับไปบอกฝ่าย Hr. ที่ออฟฟิศดีกว่า ว่าให้เปลี่ยนโต๊ะทำงานเป็นโต๊ะกลมที เพราะตอนนี้นั่งเซ็นเอกสารไปก็ให้รู้สึกเหงาๆ ไม่น้อย

 

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมชอบมาก และผู้เขียนเองก็บอกไว้ในหนังสือว่าชอบมากเช่นกัน

คือกรณีของ “คิมจองอึน” ผู้นำเกาหลีเหนือ กับ “มุนแจอิน” ผู้นำเกาหลีใต้ ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับความสัมพันธ์ของสองประเทศ

ใครๆ ก็รู้ว่าเดิมทีสองประเทศพี่น้องนี้โกรธ เกลียดกันแบบไม่เผาผีกันเลย แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้นำรุ่นใหม่ของทั้งสอง และสภาพของการเมืองโลกเปลี่ยนไป จึงเห็นว่าพี่น้องเกาหลีเหมือนกันน่าจะกลับมาจับมือกันเพื่อสู้กับภัยต่างๆ จากทั่วโลก โดยเฉพาะการคานอำนาจกับจีน และสหรัฐอเมริกา

ดินแดนทั้งสองมีเส้นขนานที่ 38 ขวางอยู่ แล้วไอ้ตรงเส้นขนานที่ว่านี้มันหน้าตายังไง ทำไมมาขวางกั้นความรักความสัมพันธ์ของพี่น้องสองประเทศนี้ได้ ก็พบว่าเป็นแค่แท่งคอนกรีตสูงประมาณ 1-2 นิ้วเอง

ไม่น่าเชื่อว่าแค่แท่งแค่นี้ ทำให้สองประเทศห่างไกลกันได้ขนาดนี้

และเมื่อผู้นำทั้งสองตัดสินใจจะจับมือกัน ก็ต้องมาทำที่แท่งสัญลักษณ์นี้แหละ

มุนแจอินยืนรอที่ฝั่งเกาหลีใต้ เมื่อคิมจองอึนจากฝั่งเหนือเดินข้ามคอนกรีตนั้นมา เขาจึงเป็นผู้นำเกาหลีเหนือคนแรกที่ข้ามมาเหยียบแผ่นดินเกาหลีใต้

แล้วคำถามมันอยู่ตรงไหนเหรอ?

คงไม่ใช่ถามว่า “เป็นไง ข้ามมาสนุกไหม” หรอกนะ

แต่เป็นคำถามของมุนแจอินที่ถามแบบหยอกเล่นว่า “ตอนนี้ท่านข้ามมาเกาหลีใต้แล้ว เมื่อไรผมจะได้ไปที่นั่นบ้าง”

เป็นคำถามที่น่ารักและเด็ดดวง แฝงวาทะทางการทูตที่ลึกล้ำมาก

และคำตอบของคิมจองอึนก็น่ารักกว่าเมื่อตอบกลับไปว่า

“แล้วทำไมเราไม่ข้ามไปเสียตอนนี้เลย แทนที่จะต้องรอประชุมกันอย่างเป็นทางการ”

แล้วผู้นำทั้งสองก็เดินกลับไปที่แท่งเส้นขนานนั้นอีกครั้ง ก้าวสองก้าวก็กลับไปยืนฝั่งเกาหลีเหนือกันแล้ว เป็นการมาเยือนครั้งแรกของผู้นำเกาหลีใต้ยังเกาหลีเหนือ …น้ำตาจะไหลให้ได้

ภาพความประทับใจนี้คงไม่เกิด หากไม่มีการตั้ง “คำถาม” แถมเป็นคำถามที่น่ารักชวนตอบอีกด้วย และจากคำถามที่ดี มาสู่คำตอบที่ดีพอกัน ภาพประวัติศาสตร์สำคัญจึงเกิดขึ้น

ปรบมือสิครับ รออะไร

อีกอย่างที่เห็นได้จากเรื่องนี้คือ คิดแล้วถ้าว่าดี ทำเลย…ไม่ต้องไปรออะไรที่เป็นทางการ หรือตามระเบียบ บางทีเรื่องดีๆ ก็เกิดขึ้นง่ายๆ นี่เอง

เหมือนกับชื่อหนังสือเล่มหนึ่งของหนุ่มเมืองจันท์ที่ว่า “ชีวิตไม่ยาก ถ้าตั้งโจทย์ง่าย” อันนี้ก็เห็นจะจริงแท้ทรู

 

เมื่อพูดถึง “คำถาม” จะมีสัญลักษณ์หนึ่งที่ติดตามมาเป็นเงา นั่นคือ ?

ใช่แล้ว มันเป็นเครื่องหมายคำถามที่เราคุ้นเคยนั่นเอง

ผมไม่รู้ว่าใครเป็นคนคิดเครื่องหมายนี้ขึ้นมา ผมว่าเจ๋งมากเลย

เพราะเมื่อเราพูดถึง “คำถาม” แสดงว่าต้องมี “ความสงสัย” การจะสงสัยชี้ให้เห็นว่าต้องมีการ “รับรู้-คิด-รู้สึก” ซึ่งไอ้อาการรับรู้-คิด-รู้สึก นี้ มันเกิดขึ้นที่ “สมอง” ที่อยู่ในหัวกะโหลกของเรา

ที่ผมว่าเจ๋งคือ เครื่องหมาย ? นี้ มันมีรูปร่างเหมือนหัวกระโหลกคนไงล่ะครับ

เมื่อเป็นเช่นนี้ แล้วไอ้เป็นจุด ตอนล่างนั้นล่ะจะเป็นอะไรดี

ผมว่ามันน่าจะเป็น “คำตอบ” นะครับ

คือเมื่อคิด คิด คิด เป็นคำถาม แล้วสุดท้ายก็ต้องมาจบที่ “คำตอบ” จึงจะลงตัวแฮปปี้ เอ็นดิ้ง นอนหลับสบายใจ

หากมีคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้ มันคงค้างคาใจอยู่ร่ำไปนั่นเอง

แล้วการจะหาคำตอบให้ได้ มันจะต้องทำยังไง เพราะคำถามหลายคำถามที่เกิดขึ้นในชีวิตเราก็ยากต่อการหาคำตอบเสียจริง

ถ้างั้นต้องหยิบฟาสต์ฟู้ดธุรกิจเล่มที่ผมบอกไปมาอ่านครับ “ชีวิตไม่ยาก ถ้าตั้งโจทย์ง่าย” หรือไม่ก็ต้องหยิบเล่ม “พลิกมุมคิด ชีวิตเปลี่ยน” เพราะพอคิดมุมใหม่ ไอ้ที่เราคิดว่าเป็นปัญหาหนัก เป็นคำถามใหญ่ มันอาจจะไม่ใช่ก็ได้

แต่ถ้าอ่าน 2 เล่มที่ว่าแล้ว ยังหาคำตอบไม่ได้สักที คราวนี้เห็นทีจะต้องแนะให้ทำใจให้ปลง

งั้นต้องไปอ่านเล่ม “ดีที่สุด ในสิ่งที่เป็น” แทน

ไม่ก็เล่ม “โลกที่เห็น เป็นอย่างที่คิด” ก็คงได้

สำหรับคอลัมน์เครื่องเคียงฯ ฉบับนี้ สาบานได้ว่าไม่ได้รับเงินสักกะบาทจากหนุ่มเมืองจันท์เขาเลยนะ ไม่รู้ว่าคุณผู้อ่านจะเชื่อรึเปล่า

เพราะ “ความเชื่อคือเข็มทิศ ชีวิตเป็นของเรา”

เอาใหญ่แล้วตู จบดีกว่า…แฮ่ม