สุรชาติ บำรุงสุข l หกตุลารำลึก : การเมืองนำการทหาร

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

หกตุลารำลึก (11) การเมืองนำการทหาร

“ผู้บริหารกองทัพบกในขณะนั้นเป็นนายทหารเก่าจากยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง จึงยากที่จะเข้าใจแนวทางการต่อต้านการก่อความไม่สงบ”

พลเอกสายหยุด เกิดผล

ย้อนกลับไปรำลึกถึงสถานการณ์สงครามปฏิวัติไทยแล้ว ก็อดนึกถึงช่วงที่ยังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลไม่ได้…

มีเพื่อนฝรั่งไปชมภาพยนตร์เรื่อง “Under Fire” แล้วมาตามบอกให้ไปดูให้ได้

ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายในปี 2526 มีดาราชาวอเมริกันชื่อนิก โนลเต (Nick Nolte) เป็นดารานำ รับบทเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่เข้าไปทำข่าวสงครามในนิการากัว

และในเรื่องเขาได้พบกับทหารรับจ้าง และในตอนสุดท้ายของหนังก่อนที่จะแยกจากกัน

ทหารรับจ้างคนนี้ได้ตะโกนบอกกับเขาว่า “แล้วเจอกันที่เมืองไทย” (“See you in Thailand”)

ประโยคสนทนาปิดท้ายของหนังเรื่องนี้ “ช็อก” นักศึกษาไทยกันอย่างมาก

เพราะเท่ากับเป็นสัญญาณว่า จุดต่อไปของสถานการณ์สงครามปฏิวัติที่จะเกิดขึ้นคือประเทศไทย

ไม่น่าแปลกใจเท่าใดนัก ที่บทภาพยนตร์จะมาขมวดปมจบด้วยการบอกว่า สงครามลำดับต่อจากการปฏิวัตินิการากัวคือไทย

เพราะต้องไม่ลืมว่าอินโดจีนแตกในปี 2518 ตามมาด้วยการล้อมปราบครั้งใหญ่ในไทยในปี 2519 และจากปี 2520-2521 สงครามปฏิวัติไทยเดินขึ้นสู่กระแสสูง

ต่อมากัมพูชาแตกจากการบุกของเวียดนามในปี 2522… สงครามปฏิวัติและกองทัพแดงของข้าศึกมาเคาะถึงหน้าประตูบ้านของไทยแล้ว

ถ้ามองด้วยความเชื่อพื้นฐานจากทฤษฎีโดมิโน เสียงตะโกนของทหารรับจ้างที่บอกแก่พระเอกที่เป็นผู้สื่อข่าวนั้น ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องที่เกินเลยความเป็นจริงแต่อย่างใด

ในมุมมองของหลายๆ คน ประเทศไทยคงเดินออกจาก “กับดักสงคราม” ไม่ได้

และการเดินบนเส้นทางนี้จะจบลงดังเช่นความพ่ายแพ้ของรัฐบาลฝ่ายขวาในอินโดจีน ซึ่งก็คือการล้มตามกันของตัวโดมิโน

เมื่อดูหนังเรื่องดังกล่าวจบแล้ว พวกเราที่เป็นนักเรียนไทยคิดคล้ายกันว่า ถ้าจุดต่อไปที่ทหารรับจ้างและผู้สื่อข่าวสงครามจะไปพบกันอีกคือประเทศไทย

ก็แปลว่าโลกตะวันตกมองว่าสงครามจะเกิดขึ้นในไทยเหมือนในนิการากัว

ในความเป็นจริงแล้ว สงครามปฏิวัติไทยหลังจากปี 2523 เป็นต้นมา กลับอยู่ในภาวะขาลงเป็นอย่างยิ่ง และก่อนที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะฉายในไทย สงครามปฏิวัติก็ปิดฉากลงแล้ว

ในด้านหนึ่งเป็นเพราะเงื่อนไขภายนอก อันเป็นผลจากความแตกแยกครั้งใหญ่ของบรรดาพรรคพี่น้องในเอเชีย

และในอีกด้านหนึ่งต้องยอมรับถึงความสำคัญในการปรับยุทธศาสตร์ของรัฐไทย ที่เป็นเงื่อนไขไม่ให้การปฏิวัติไทยเดินไปสู่การเป็นสงครามเวียดนาม

ฉะนั้น หากพิจารณาจากมุมของการปรับตัวแล้ว สิ่งนี้คือความสำเร็จทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของรัฐไทย

หรือในมุมมองเปรียบเทียบก็เป็นเช่นที่อังกฤษเคยประสบชัยชนะมาแล้วในมลายา และไม่น่าเชื่อว่ารัฐไทยจะพลิกความเป็นโดมิโนที่กำลังจะล้มในปี 2520-2521 กลายเป็นโดมิโนที่เข้มแข็งนับจากปี 2523 เป็นต้นมา… โดมิโนกรุงเทพฯ ไม่ล้มแล้ว

แม้ทหารรับจ้างจะตะโกนบอกสื่อให้มาเจอกันที่ไทย แต่นั่นเป็นเสียงจากภาพยนตร์ในปี 2526 และเป็นปีที่สงครามในไทยเริ่มยุติลง พร้อมกับการ “กลับบ้าน” ของนักปฏิวัติเดือนตุลา

…เสียงปืนกำลังดับลงแล้ว

สงครามของเคนเนดี้

สงครามก่อความไม่สงบในเวียดนามเป็นความท้าทายทางทฤษฎีการทหารอย่างมาก

เพราะแบบแผนของสงครามนี้ต่างจากสิ่งที่กองทัพอเมริกันมีความคุ้นชิน

ดังนั้น ในช่วงแรกๆ เมื่อประธานาธิบดีเคนเนดี้เข้ารับตำแหน่งในทำเนียบขาว เขาจึงพยายามผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้

อันนำไปสู่การกำเนิดหลักนิยมของ “การต่อต้านการก่อความไม่สงบ” (counterinsurgency หรือ COIN) เพื่อที่จะใช้เป็นแกนความคิดในการทำนโยบายของสหรัฐต่อสงครามคอมมิวนิสต์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก

และหนึ่งในคำถามแรกเมื่อเคนเนดี้เข้ารับตำแหน่งก็คือ “เราจะทำอย่างไรดีกับสงครามกองโจร?”

หากย้อนกลับไปแล้วจะพบว่า วุฒิสมาชิกเคนเนดี้ให้ความสนใจอย่างมากกับปัญหาสงครามกองโจร ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของฝรั่งเศสในเวียดนาม หรือในแอลจีเรียก็ตาม

และเขายอมรับว่า “อำนาจการตอบโต้ของอาวุธนิวเคลียร์ [ของสหรัฐ] เป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้” กับสงครามชุดนี้

เพราะอาวุธนิวเคลียร์ “ไม่สามารถป้องกันคอมมิวนิสต์ได้”

เมื่อขึ้นเป็นประธานาธิบดีแล้ว เขาจึงผลักดันให้สหรัฐเตรียมรับมือกับสงครามนี้อย่างจริงจัง

อันนำไปสู่การจัดทำหลักนิยมทหารและแนวคิดต่างๆ เช่น การใช้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นแนวทางในการต่อสู้

และตามมาด้วยการขยายความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและทางทหาร

การเตรียมรับสงครามกองโจรยังนำไปสู่การจัดตั้ง “หน่วยรบพิเศษ” หรือพวก “เบเร่ต์เขียว” (Green Beret) ขึ้นในกองทัพบก

และการเตรียมลงไปถึงระดับบุคคล เช่น หมวกไนล่อน รองเท้าบู๊ตที่จะใช้ในป่า เป็นต้น

และสำคัญกว่านั้นคือ การส่งออกทางความคิดในรูปของหลักนิยมของการต่อต้านการก่อความไม่สงบ

และจุดสำคัญประการหนึ่งคือ การขยายความช่วยเหลือทางทหารให้แก่ 3 ประเทศหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ เวียดนาม ลาว และไทย…

แล้วเวลาของการทดสอบก็มาถึง เมื่อสหรัฐต้องเข้าสู่สงครามจริงๆ ในเวียดนาม

แนวคิดสามประการในสนาม

สหรัฐอาจจะใช้เทคโนโลยีสมรรถนะสูงของกำลังทางอากาศในการทำสงครามในเวียดนาม

แต่เมื่อสงครามต้องดำเนินไปบนภาคพื้นดิน ความเหนือกว่าทางเทคโนโลยีไม่ใช่ความเหนือกว่าเสมอไป

โดยหลักการสงครามของโลกตะวันตก ทหารราบมีภารกิจในการสังหารหรือจับกุมกำลังพลของฝ่ายข้าศึกในพื้นที่หนึ่งๆ

แต่เมื่อพวกเขาต้องเผชิญกับสงครามกองโจร ภารกิจนี้กลายเป็นความยากลำบากในตัวเอง

เพราะนักรบกองโจรพรางตัวปะปนอยู่กับประชาชน มีความคุ้นเคยกับพื้นที่ และมีความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว

ถ้าเช่นนั้น ทหารสหรัฐจะระบุพื้นที่และตัวตนของฝ่ายตรงข้ามอย่างไร

คำถามทางยุทธการเช่นนี้นำไปสู่การสร้างแนวคิดของการยุทธ์ในสนาม 3 ชุด และกลายเป็นรากฐานทางความคิดที่สำคัญของบรรดานักปราบคอมมิวนิสต์ทั้งหลาย คือ

1) การ “นับศพข้าศึก” (body count) คือ เมื่อเกิดการปะทะ ฝ่ายเราจะใช้อำนาจการยิงที่เหนือกว่าทำลายข้าศึกในทางกายภาพให้ได้มากที่สุดคือ มุ่งเน้นการทำลายชีวิตฝ่ายตรงข้าม และเชื่อว่าถ้าข้าศึกเสียชีวิตมากเท่าใด เราจะชนะเร็วขึ้นมากเท่านั้น

2) การ “ปิดล้อมและตรวจค้น” (seal and search) คือ วิธีที่ทำให้เราค้นพบและทำลายข้าศึก เช่น การปิดล้อมหมู่บ้านเป้าหมายตอนดึกหรือตอนรุ่งสาง ไม่อนุญาตให้มีการเข้า-ออกพื้นที่ และปฏิบัติการตรวจค้นบ้านทีละหลัง และหวังว่าการปิดล้อมจะทำให้เราพบและทำลายข้าศึกได้

3) การ “ค้นหาและทำลาย” (search and destroy) คือ เมื่อสามารถค้นพบที่ตั้งของหน่วยทหารข้าศึกแล้ว เราจะใช้กำลังที่เหนือกว่าเข้าทำลาย แต่หลายครั้งที่ในทางปฏิบัติกลับเป็น “ทำลายแล้วค้นหา” เช่น หลังกำลังรบฝ่ายเราได้ทำลายหมู่บ้านเป้าหมายไปแล้ว การค้นหาจึงตามมา

แนวคิดทางยุทธวิธี 3 ประการนี้เป็นมรดกสำคัญจากสงครามเวียดนามที่นายทหารไทยเข้าไปมีส่วนในการเรียนรู้

และขณะเดียวกันก็ดูจะกลายเป็นชุดความคิดหลักในทางยุทธวิธีของหลักนิยมที่ถูกนำมาใช้ปฏิบัติในหลายประเทศ ซึ่งรวมในไทยด้วย

แม้จะไม่มีความชัดเจนว่าหลัก 3 ประการนี้ก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ภายในกองทัพไทยอย่างไร แต่ก็สะท้อนให้เห็นได้จากแนวคิดที่เชื่อว่า อำนาจทางทหารที่เหนือกว่าจะเป็นปัจจัยหลักให้เราชนะข้าศึก

โดยมองว่าปัจจัยอื่นๆ มีผลเป็นรอง หรือมองไม่เห็นถึงนัยทางการเมืองของสงคราม และไม่เข้าใจต่อปัจจัยทางการเมืองที่ชี้ขาดชัยชนะ หรือเชื่อด้วยทัศนะของสงครามในแบบว่า “ชนะด้วยอำนาจการยิงที่เหนือกว่า”

อันส่งผลให้เกิดความโน้มเอียงไปสู่ทิศทาง “การทหารนำการเมือง” ในทางยุทธศาสตร์

การเมือง vs การทหาร

นับจากเหตุการณ์วันเสียงปืนแตกที่เกิดขึ้นในไทยในปี 2508 แล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยที่ผู้นำทหารไทยจะมีความโน้มเอียงไปสู่ทิศทางการทหารนำ เพราะไม่มีเหตุผลที่พวกเขาจะไม่เชื่อมั่นต่ออำนาจของอาวุธ ว่าที่จริงก็อาจจะไม่ต่างจากกองทัพสหรัฐในช่วงก่อนเข้าสู่สงครามเวียดนาม…

พวกเขาเชื่อมั่นว่า อำนาจกำลังรบที่เหนือกว่าจะเอาชนะข้าศึกที่อ่อนแอกว่าได้ในระยะเวลาอันสั้น

ทั้งที่สงครามเดียนเบียนฟูในปี 2497 ทิ้งบทเรียนสำคัญที่แย้งความเชื่อดังกล่าวไว้แล้ว

ดังที่จอมพลประภาสเชื่อมั่นว่า ถ้าเราทุ่มกำลังเต็มที่ เราจะชนะคอมมิวนิสต์ในหกเดือน

แต่สงครามนี้กลับกินระยะเวลาอีกยาวนาน

ในด้านหนึ่งมีการจัดตั้งกองบัญชาการขึ้นเป็นดัง “บก.ร่วม” ของพลเรือน ตำรวจ และทหารเพื่อรับมือกับสงครามนี้

แต่สุดท้ายก็กลายเป็นเพียง “บก.ทหาร” ภายใต้อำนาจรวมศูนย์ของกองทัพบก และการรบดำเนินไปในทิศทาง “ค้นหาและทำลาย” ด้วยความหวังว่าเราจะทำลายกำลังรบของ พคท. ให้ได้มากที่สุด แล้วเราจะชนะ

ต่อมาในเดือนมกราคม 2515 ยุทธการ “ภูขวาง” เริ่มด้วยการนำเอากำลังกองทัพภาคที่ 1 จากกรุงเทพฯ ขึ้นสู่พื้นที่รอยต่อสามจังหวัดภาคเหนือ อันเป็นภาพสะท้อนของความเชื่ออำนาจการยิงของผู้นำทหารไทย ที่ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นมรดกของการเรียนรู้จากเวียดนาม

แต่แล้วในเดือนเมษายน กำลังดังกล่าวก็ต้องถอนตัวกลับ

อันเป็นผลจากการสูญเสียอย่างหนัก

ยุทธการครั้งนี้พิสูจน์ชัดว่า รัฐไทยไม่อาจเอาชนะสงครามปฏิวัติด้วยการใช้อำนาจกำลังรบเช่นการทำสงครามในแบบ

ต่อมามีการใช้อำนาจทางทหารอย่างสุดโต่งเกิดขึ้นด้วยการ “ล้อมปราบ” การชุมนุมในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และนำไปสู่การขยายสงครามในเวลาต่อมาเช่นกัน

การใช้กำลังเช่นนี้บ่งบอกว่า การปราบปรามในเมืองไม่ใช่คำตอบของความสำเร็จ

เพราะการใช้นโยบายแบบทหารนำกลับกลายเป็นการสร้าง “แนวร่วมมุมกลับ” และส่งผลให้มีคนตัดสินใจเข้าร่วมสงครามในชนบทมากขึ้น

แนวร่วมของ พคท.ขยายตัวอย่างไม่เคยมีมาก่อน นโยบายการทหารนำเริ่มเป็นสัญญาณของความพ่ายแพ้ และหลายฝ่ายกังวลอย่างมากว่า โดมิโนตัวที่สี่จะล้มที่กรุงเทพฯ…

จนอดที่จะคิดย้อนเวลาไม่ได้ว่า ถ้าภาพยนตร์เรื่อง Under Fire ออกฉายในปี 2520-2521 คงจะมีผลต่อความกลัวมากกว่านี้

แนวคิดการเมืองนำการทหารด้านหนึ่งคือ การสร้างให้เกิดการประสานการปฏิบัติของสามฝ่ายในการต่อสู้คือ พลเรือน ตำรวจ และทหาร

แต่ในปี 2510 ผู้นำทหารบกมี “อาการสะวิง” เน้นการทหารเป็นหลัก

แต่ในปี 2512 ก็มีความพยายามที่ผลักกลับสู่ทิศทางการเมืองนำ ด้วยการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 110/2512 ที่เน้นการใช้มาตรการทางการเมืองในสงครามคอมมิวนิสต์ และขยายผลด้วยคำสั่งในปี 2514 แต่ก็ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ

จนในปี 2523 ทิศทางการเมืองนำการทหารจึงปรากฏตัวอย่างชัดเจนในเวทีสาธารณะ

การประกาศคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 และตามมาด้วยคำสั่ง 65/2525 เป็นสัญญาณที่ชัดเจนของความเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์ของรัฐไทย

คำสั่งเช่นนี้เป็นดังการยกเลิกชุดความคิดทางยุทธการแบบเก่าที่ถูกพิสูจน์ด้วยสถานการณ์จริงว่า สงครามไม่ชนะด้วยการค้นหาและทำลาย หรือความสำเร็จไม่เกิดจากการ “ฆ่า” ข้าศึกได้มาก เท่าๆ กับที่สงครามไม่ชนะด้วยการปราบปรามประชาชน

อันเสมือนกับการยอมรับความคิดฝ่ายซ้ายว่า สงครามชนะด้วยการชิงประชาชน ดังที่ประธานเหมากล่าวว่า “สิ่งที่ชี้ขาดแพ้-ชนะในสงครามนั้นคือประชาชน” (กล่าวในปี 2489)…

ทหารไทยเริ่มเรียนรู้ว่า จะเอาชนะสงคราม พวกเขาต้อง “ชิงมวลชน” ให้มาอยู่กับฝ่ายรัฐให้ได้

และยอมรับว่าเผด็จการเอาชนะคอมมิวนิสต์ไม่ได้

สงครามของคนเดือนตุลาจบแล้ว

ยุทธศาสตร์การเมืองนำการทหารประสานเข้ากับการแตกแยกของพรรคคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคที่ก่อให้เกิดอาการ “ป่าแตก” ในมุมมองของนักวิชาการอเมริกันสงครามที่เหลืออยู่ในชนบทจึงเป็นเพียง “ปัญหากวนใจ [ที่] มิได้เป็นภัยคุกคาม [ต่อรัฐไทย] เช่นเดิมอีกต่อไป” และสงครามที่เริ่มเมื่อกลางปี 2508 ก็ค่อยๆ รูดม่านปิดฉากลงในตอนกลางปี 2526 นักปฏิวัติเดือนตุลาต่างทยอยเดินทางกลับกันมา…

ความเป็นคนในยุคเดือนตุลาเหลือเป็นเพียงประวัติชีวิตของแต่ละคน ที่จบลงด้วยการสิ้นสุดของสงคราม

หลายคนกลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในสังคมไทย และพวกเขานับจากนี้ล้วนมีชีวิตบนวิถีของแต่ละคน ทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตการเมือง

และที่สำคัญคือ เมื่อสิ้นสงครามปฏิวัติก็สิ้นความเป็นคนเดือนตุลาตามกันไป ชีวิตหลัง “เสียงปืนดับ” จึงเป็นบริบทใหม่ ไม่ใช่บริบทของความเป็นคนเดือนตุลา

กล่าวสั้นๆ ได้ว่า ใครจะรักใครชอบใครก็ไม่ใช่เรื่องของความเป็นคนเดือนตุลาอีกแล้ว!