ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ทำไมหนึ่งสัปดาห์ จึงต้องมี 7 วัน?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

คําว่า “สัปดาห์” ในภาษาไทย มีรากมาจากภาษาสันสกฤตว่า “สปฺตาห” ที่แปลว่า “ขวบอาทิตย์” หรือ “รอบเจ็ดวัน” เพราะคำสันสกฤตที่ว่านี้มีรากมาจากคำว่า “สปฺตก” ที่แปลตรงตัวว่า “เจ็ด” หรือ “ที่เจ็ด” อีกทอดหนึ่ง

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจอะไรเลยนะครับ ที่พี่ไทยเราจะเอาวิธีการนับวันและจำนวนวันในรอบสัปดาห์มาจากพวกพ่อพราหมณ์อินเดียเขา เพราะแม้แต่คำเรียกรอบเจ็ดวันที่ว่านี้ ก็ยังยืมใช้คำของพ่อพราหมณ์อยู่นั่นเอง

แถมชื่อเรียกวันต่างๆ ในรอบสัปดาห์ไล่มาตั้งแต่วันอาทิตย์ เรื่อยไปจนถึงยันวันเสาร์นั้น ก็ยังคงเป็นระเบียบแบบแผนที่รับเอามาจากอินเดียเขาอยู่ดี

แต่ศูนย์กลางวัฒนธรรมและต้นกำเนิดความรู้ต่างๆ สารพัดระดับชมพูทวีปนั้น ก็ดูจะยังไม่ใช่อู่อารยธรรมที่ให้กำเนิดระบบการนับจำนวน 7 วันต่อรอบหนึ่งสัปดาห์ เพราะโดยทั่วไปแล้วมักจะเชื่อกันว่า หลักฐานเก่าแก่ที่สุดของการนับรอบสัปดาห์แบบนี้ เพิ่งจะมีปรากฏในอินเดียเมื่อราว พ.ศ.1100 หย่อนๆ

ดังปรากฏหลักฐานในชุดตำราการคำนวณทางดาราศาสตร์ที่มีชื่อเรียกรวมๆ กันว่า “ปัญจสิทธานติกา” เท่านั้น ในขณะที่โลกที่หลุดออกไปทางโพ้นตะวันตกของอินเดียนั้น มีหลักฐานของวิธีการนับรอบสัปดาห์แบบนี้ที่เก่าแก่กว่ากันมาก

 

แต่ในรอบสหัสวรรษใหม่เป็นต้นมานี้ ได้มีนักวิชาการชาวชมพูทวีปบางท่านอ้างว่า อันที่จริงแล้วระบบการนับรอบสัปดาห์แบบดังกล่าว ควรจะมีขึ้นในอินเดียตั้งแต่ช่วงราวๆ พ.ศ.550-650 มากกว่า เพราะมีหลักฐานปรากฏอยู่ในอินเดียตั้งแต่ในหนังสือยุคปุราณะ (อ่านว่า ยุ-คะ-ปุ-รา-นะ)

โดยปรากฏอยู่ในส่วนที่เรียกว่าครรคะสังหิตาของหนังสือโบราณที่อ้างกันว่า เขียนขึ้นตั้งแต่ช่วงที่ว่า

ถึงแม้ว่าหนังสือยุคปุราณะจะถูกเรียกว่าเป็นส่วนสุดท้าย ในชุดตำราทางด้านดาราศาสตร์ของอินเดียที่ชื่อวริทธครรคิยะสังหิตาก็ตาม

แต่เนื้อหาที่เขียนอยู่ภายในก็เป็นเรื่องทำนองกึ่งพงศาวดาร ที่ถูกถ่ายทอดผ่านท่วงทำนองการเขียนแบบทำนายทายทัก ประสมประสานกับเทพปกรณัม

มากกว่าที่จะเป็นตำราดาราศาสตร์ ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของการคำนวณและเลขพานาที ที่จะกล่าวถึงการนับจำนวนวันในรอบสัปดาห์อย่างเป็นระบบ

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การที่หนังสือที่มีอายุเก่าแก่ราว 2,000 ปีฉบับนี้ เป็นหนังสือร่วมสมัยเพียงฉบับเดียวที่เล่าถึงการรุกรานเข้าสู่แคว้นมคธของพวกกรีก หลังยุคสมัยของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์

 

มหาราชแห่งมาซิโดเนีย และปวงชนชาวกรีกพระองค์นี้ ทรงกรีธาทัพจากประเทศอัฟกานิสถาน โดยรุกข้ามเทือกเขาฮินดูกูช ผ่านหุบเขากาบูลทางช่องเขาไคเบอร์ จนเสด็จมาถึงบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ ในเขตประเทศปากีสถานปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ.217

ก่อนที่จะทรงรุกลึกเข้าไปยังศูนย์กลางของความเป็นชมพูทวีปในอินเดีย ทางแคว้นปัญจาบ ที่ซึ่งการเมืองในสมัยอาณานิคมได้ทำให้แยกออกจนตกอยู่ในเขตสองประเทศ ได้แก่ ปากีสถาน และอินเดีย

ถึงแม้ว่าพระองค์จะเสด็จรุกเข้าได้ไม่ไกลไปกว่าแคว้นปัญจาบเท่านั้น ก็ต้องเสด็จนำทัพกลับตะวันตกด้วยปัญหาภายในทัพกองหลัง ที่พระองค์ทิ้งไว้ในสถานที่อันห่างไกลเอง จนต้องเสด็จนำทัพกลับแล้วก็สิ้นพระชนม์ลงอย่างกะทันหันเมื่อ พ.ศ.220

แต่การรุกคืบเข้ามายังชมพูทวีปของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ในครั้งนั้น ก็ได้ทิ้งเอากองทัพและไพร่พลไว้ที่ทั้งในเขตของประเทศอัฟกานิสถานและปากีสถาน จนกระทั่งกลายเป็นทัพกรีกที่รุกรานเข้ามายังแคว้นมคธ ตามที่มีบันทึกอยู่ในหนังสือยุคปุราณะนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการรบพุ่งของพระองค์ก็คือ การนำมาซึ่งวัฒนธรรม ความรู้ เทคโนโลยี และอะไรอื่นๆ อีกมากที่กองทัพของชาวกรีกได้นำมาทิ้งไว้ให้กับชมพูทวีป ควรจะสังเกตด้วยว่า ถ้าระบบการนับจำนวน 7 วันต่อรอบหนึ่งสัปดาห์จะปรากฏในอินเดียเป็นครั้งแรก ก็จากหนังสือกึ่งพงศาวดารเก่าที่ว่าด้วยสงครามระหว่างชาวกรีกกับอินเดียไม่ใช่หรือครับ?

 

แน่นอนว่าข้อมูลที่ผมชี้นำให้เห็นข้างต้นนั้น ให้ความสำคัญกับการเข้ามาในอินเดียของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ราวกับว่า ถ้าไม่มีทัพของพระองค์แล้ว โลกตะวันออกจะไม่รู้จักกับระบบการนับจำนวนวันต่อสัปดาห์แบบนี้

ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้นก็มีหลักฐานว่า ราชวงศ์อาคีเมนิด (Achaemenid) ของเปอร์เซีย ซึ่งก็คืออิหร่าน (ที่ถูกทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์บุกเข้าโจมตีจนแตก ก่อนจะนำทัพเข้าสู่อินเดีย) ก็มีวิธีการนับจำนวน 7 วันต่อรอบหนึ่งสัปดาห์อยู่แล้ว

และก็แน่นอนอีกด้วยว่า ชาวชมพูทวีปเมื่อครั้งกระโน้นก็รู้จักกับพวกเปอร์เซียเป็นอย่างดี อย่างน้อยก็เป็นบ้านใกล้เรือนเคียงกันมากกว่าพวกกรีก ซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปมาก ดังนั้น จึงมีการแลกเปลี่ยนและปะทะสังสรรค์อะไรต่อมิอะไรระหว่างกันอยู่เสมอ แต่ในเมื่อมันไม่มีหลักฐานอะไรเลยสักนิดที่จะแสดงให้เห็นว่าชนชาวชมพูทวีปได้อิมพอร์ตเอาวิธีการนับวันต่อรอบสัปดาห์อย่างนี้ไปจากเปอร์เซีย

เราก็คงต้องยกความดีความชอบอันนี้ไปให้กับพวกกรีก

 

แต่ในยุคที่เก่าแก่นับพันๆ ปีมาแล้วในยุโรปนั้น พวกกรีกก็ไม่ใช่ชนชาติเดียวที่นับจำนวนวันในรอบสัปดาห์เท่ากับ 7 วันอย่างนี้หรอกนะครับ

เพราะกลุ่มอารยธรรมใหญ่อีกพวกหนึ่งอย่างโรมัน ก็มีระบบการนับวันในรอบสัปดาห์อย่างเดียวกันนี้ด้วย

ถึงแม้ว่าพวกโรมันจะสืบทอดเอาศิลปวัฒนธรรม และความรู้ต่างๆ จากกรีกมาให้เพียบเสียจนถ้าจะเอาระบบการนับจำนวน 7 วันในรอบหนึ่งสัปดาห์จากกรีกมาใช้ก็ไม่เห็นจะแปลกอะไร แต่ก็มีหลักฐานด้วยว่า โรมันเมื่อยุคที่ยังปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐนั้นนับจำนวนวันต่อรอบสัปดาห์เท่ากับ 8 วันต่างหาก

ต่อมาเมื่อเซเลบของประวัติศาสตร์โลกอีกคนอย่างจูเลียส ซีซาร์ ได้ทำการปฏิรูปปฏิทินของโรมันเมื่อ พ.ศ.496 ซึ่งทำให้ระบบการนับวันในแต่ละปีมีจำนวนเท่ากับ 365.25 วัน จนต้องมีปีอธิกสุรทิน (คือปีที่มี 366 วันในทุกๆ รอบ 4 ปี ซึ่งก็คือปีที่มีวันที่ 29 กุมภาพันธ์ อย่างในทุกวันนี้นี่เอง) ก็ทำให้ระบบการนับสัปดาห์ละ 8 วันค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงไป จนกระทั่งจักรพรรดิคอนสแตนติน (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.849-880) จึงทรงประกาศให้โรมในยุคจักรวรรดิ ใช้ระบบการนับจำนวน 7 วันต่อหนึ่งสัปดาห์แทนอย่างเป็นทางการ

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างก็คือ ระบบการนับวันอย่างเก่าของชาวโรมันที่มีสัปดาห์ละ 8 วันนั้น ใช้ชื่อตัวอักษรโรมัน (ซึ่งก็คือตัวอักษรที่ใช้ในการเขียนภาษาอังกฤษปัจจุบันนั่นแหละ) เรียงลำดับตั้งแต่ A-H ในการเรียกชื่อวันมาก่อน แต่พอเมื่อมีความนิยมในการใช้ระบบสัปดาห์ละ 7 วันตามอย่างกรีกแล้ว ก็จึงมีการเรียกชื่อวันด้วยชื่อเทพเจ้าประจำดวงดาวต่างๆ ตามอย่างกรีกด้วย

ดังนั้น ชื่อวันของโรมันจึงมีความหมายตามลำดับว่า วันจันทร์ คือวันของเทพีลูนา (Luna เทพีแห่งดวงจันทร์ กรีกเรียก ซีลีน, Selene)

วันอังคาร ของเทพมาร์ส (Mars เทพเจ้าแห่งสงครามและดาวอังคาร กรีกเรียก อาเรส, Ares)

วันพุธ ของเทพเมอร์คิวรี (Mercury เทพเจ้าแห่งการสื่อสาร การค้า และดาวพุธ กรีกเรียก เฮอร์มีส, Hermes)

วันพฤหัสบดี ของเทพจูปิเตอร์ (Jupiter ราชาแห่งทวยเทพและดาวพฤหัสบดี กรีกเรียก ซุส, Zeus)

วันศุกร์ ของเทพีวีนัส (Venus เทพีแห่งความงาม ความรัก และดาวศุกร์ กรีกเรียก อโฟรไดต์, Aphrodite)

วันเสาร์ ของเทพแซเทิร์น (Saturn ราชาแห่งคณะเทพไทแทน เทพเจ้าแห่งการเก็บเกี่ยว อายุขัย และดาวเสาร์ กรีกเรียก โครนอส, Cronus)

และวันอาทิตย์ แห่งเทพโซล (Sol เทพเจ้าประจำดวงอาทิตย์ กรีกเรียก เฮลิออส, Helios)

 

โรมันเป็นอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ และมีอิทธิพลอย่างมากต่อวัฒนธรรมอื่นๆ โดยเฉพาะที่อยู่ในยุโรปด้วยกันเอง

ดังนั้น จึงเป็นธรรมดาที่บรรดาผู้คนที่ถูกพวกโรมันเรียกว่า “อนารยชน” ซึ่งพูดภาษาตระกูลเยอรมนิก (หมายถึง เยอรมนิกโบราณ หรือ Proto Germanic ที่เป็นภาษาต้นตระกูลของพวกนอร์สอีกทอดหนึ่ง) จะรับเอาทั้งระบบการนับจำนวน 7 วันต่อหนึ่งสัปดาห์ และวิธีการเรียกชื่อวันด้วยเทพเจ้าอย่างกรีก ผ่านจากโรมันไปอีกทอด

แต่พวกที่ถูกดูแคลนว่าเป็นอนารยชนเหล่านี้ก็ปรับเอาชื่อเทพเจ้าของตนเอง มาแทนชื่อเทพของพวกโรมันเสียหลายวันคือ วันอังคาร กลายเป็นวันของเทพทิว (Tiw หรือที่พวกนอร์สเรียก เทพแขนเดียวไทร์, Tys)

แน่นอนว่า มรดกตกทอดของชื่อนี้ในภาษาอังกฤษของโลกปัจจุบันก็คือ Tuesday ที่แปลว่า วันอังคาร

วันพุธ ของเทพโวเดน (Woden ปางหนึ่งของราชาเทพของพวกนอร์สที่ชื่อโอดิน, Odin) ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า Wednesday, วันพฤหัสบดี ของเทพธูนอร์ (?unor หรือที่พวกนอร์สเรียกว่า เทพสายฟ้า ธอร์, Thor) ที่กลายมาเป็น Thursday และวันศุกร์ ของเทพีฟราญา (Freyja ในภาษาเขียนแบบปัจจุบัน เป็นเทพีแห่งความงาม และดาวศุกร์) อันเป็นที่มาของคำว่า Friday (ส่วนวันอาทิตย์, จันทร์ และเสาร์ ใช้คำว่า พระอาทิตย์, พระจันทร์ และเทพแซเทิร์น ตามอย่างโรมัน)

และจึงไม่แปลกอะไรเลยที่คำว่า “week” ที่แปลว่า “สัปดาห์” ในภาษาอังกฤษ จะเพี้ยนมาจากภาษาอังกฤษโบราณว่า “wice” ซึ่งยืมมาจากภาษาเยอรมนิกว่า “wikpn-” ที่มีรากมาจากคำว่า “wik” ที่หมายถึง “การเปลี่ยน” “การเคลื่อนที่” หรือ “การผลัด” อีกทอดหนึ่ง

 

ถึงแม้จะดูเหมือนว่าพวกกรีกจะมีอิทธิพลต่อการแพร่กระจายของระบบการนับจำนวน 7 วันเท่ากับหนึ่งสัปดาห์ เพราะเป็นรากให้กับพวกโรมัน อนารยชนที่พูดภาษาเยอรมนิก รวมไปถึงพวกนอร์ส และภาษาอังกฤษปัจจุบัน ในยุโรป และส่งผ่านมาถึงอินเดีย ที่ตกทอดมาจนถึงไทยเราในโลกตะวันออกก็ตาม แต่พวกเขาก็ไม่ใช่ผู้ที่คิดค้นระบบนี้ขึ้นมาเองหรอกนะครับ

หลักฐานของการนับจำนวน 7 วันเท่ากับหนึ่งสัปดาห์ที่เก่าแก่ที่สุดนั้น มาจากวัฒนธรรมของพวกบาบิโลเนีย ในเมโสโปเตเมีย (ราชวงศ์อาคีเมนิดแห่งเปอร์เซีย ก็คงจะได้มรดกตกทอดมาจากวิธีการนับสัปดาห์ของกรุงบาบิโลน ที่แพร่หลายอยู่ในดินแดนเมโสโปเตเมีย คือตอนบนของภูมิภาคตะวันออกกลางนี่เอง)

ฟรีดริช เดอลิตช์ (Friedrich Delitzsch) นักค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องประวัติศาสตร์และโบราณคดีของเมโสโปเตเมีย (โดยเฉพาะเรื่องของพวกอัสซีเรีย) ชาวเยอรมัน ที่มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.2393-2465 ดูจะเป็นคนแรกๆ ที่ระบุว่า นักดาราศาสตร์ของบาบิโลนสังเกตดูดวงจันทร์และแบ่งช่วงเวลาปรากฏการณ์เดือนมืดเดือนหงายออกเป็น 29 วัน

ซึ่งนับเท่ากับ 1 เดือน ก่อนที่จะตัดทอนลงมาเหลือ 28 วันเพื่อให้คำนวณได้ง่ายเข้า เมื่อซอยช่วงเวลาให้ย่อยเข้าไปเป็นเดือนละ 4 สัปดาห์

ส่วนที่สัปดาห์หนึ่งต้องมี 7 วันนั้น เขาสันนิษฐาน (ศัพท์วิชาการของคำว่าเดา) ว่า เป็นเพราะพวกบาบิโลนให้ความสำคัญกับดาวที่พวกเขาสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า คือพระอาทิตย์, พระจันทร์, ดาวอังคาร, ดาวพุธ, ดาวพฤหัสบดี, ดาวศุกร์ และดาวเสาร์ ซึ่งจะจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้? เพราะไม่มีหลักฐานว่าพวกบาบิโลเนียเรียกชื่อวันตามชื่อดาวเหล่านั้นเหมือนอย่างพวกกรีกนั่นเอง