จรัญ มะลูลีม : อันวาร์ อิบรอฮีม กับมุมมองเรื่องปาเลสไตน์

จรัญ มะลูลีม

ในการประชุมทางวิชาการนานาชาติปาเลสไตน์ : อดีต ปัจจุบันและอนาคต เมื่อวันที่ 22-23 พฤศจิกายน ปี 2561 ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดโดยสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย

มีนักวิชาการจากหลายประเทศเข้าร่วมนำเสนอความคิดเห็น อย่างเช่น อันวาร์ อิบรอฮีม อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง และปัจจุบันเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียหากนายกรัฐมนตรีมหฏิร โมฮัมมัด จะยังคงรักษาสัญญาที่ให้ไว้

นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงของไทยอย่าง ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ จากคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

Madam Ann Wright อดีตนายทหารแห่งกองทัพสหรัฐและเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นผู้ต่อต้านสงครามในอิรัก

รวมทั้งนักวิชาการและนักทำงานด้านสิทธิมนุษยชนจากรั้วมหาวิทยาลัยไทย อินโดนีเซีย อินเดีย และประเทศอาหรับอีกจำนวนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ในที่นี้ผู้เขียนขอยกเอาความคิดของอันวาร์ที่เขานำเสนอในการประชุมมากล่าวถึงด้วยการแนะนำประวัติของอันวาร์ อิบรอฮีม ซึ่งตีพิมพ์ในกำหนดการการสัมมนามากล่าวนำก่อนว่า

 

ดะโต๊ะ ศรี อันวาร์ อิบรอฮีม เป็นนักการเมืองและนักปฏิรูปชาวมาเลเซีย ผู้มีชื่อเสียง ซึ่งในเวลานี้เป็นหัวหน้าพรรคยุติธรรมเพื่อประชาชน (Parti Keadilan Rakyat) และเป็นผู้ร่วมอยู่ในพรรคผสม ปากาตันฮารับปัน

อันวาร์ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 10 เดือนสิงหาคม ปี 1947 ในหมู่บ้านเล็กๆ ของผืนแผ่นดินใหญ่ซูไหง บากัป (Sungai Bakap) เซอเบอร์รัง ไปร และถูกเลี้ยงดูอยู่ที่เจะโระก์ โตะกุน

อันวาร์ได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่เซอโกละฮ์ เมอลายู เจะโระก์ โตะกุน และต่อมาที่เซอโกละฮ์ เรินดะฮ์ ชโตเวล (Sekolah Rendah Stowell) บูกิต เมอร์ตาจัม ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในรัฐปีนัง

ในปี 1968 เมื่อเขาเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยมลายา (University of Malaya) ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เขาได้รับการเลือกตั้งให้เป็นนายกองค์การนักศึกษามุสลิมแห่งมาเลเซีย (National Union of Malaysian Muslim Students) และเป็นประธานสมาคมภาษาของมหาวิทยาลัยลายาด้วยเช่นกัน

ปี 1971 อันวาร์เป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์การอังกะตัน เบอลีเยอ อิสลาม มาเลเซีย (ABIM) หรือขบวนการคนหนุ่มสาวมุสลิมมาเลเซีย

เขายังได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานคนที่ 2 ของสภาคนหนุ่มสาวของมาเลเซีย (Malaysian Youth Council) หรือมัจญ์ลิส เบอลีเยอมาเลเซีย (MBM) ในปีเดียวกัน

ในช่วงทศวรรษ 1990 อันวาร์มีตำแหน่งหลายตำแหน่งในรัฐบาล และเป็นรองนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียจากปี 1993 ถึงปี 1998 รวมทั้งเป็นรัฐมนตรีคลังตั้งแต่ปี 1991 ถึงปี 1998

เขาได้รับรางวัล Presidential Medal จากมหาวิทยาลัย Georgetowns ในปี 1996

และ Distinquished Visiting Professor for Geogetown University”s School of Foreign Service ในปีเดียวกัน

 

ทั้งนี้ ในการนำเอาความคิดของอันวาร์ว่าด้วยชะตากรรมอันทุกข์ทรมานของชาวปาเลสไตน์มากล่าวถึง ผู้เขียนขอสรุปและเรียบเรียงจากงานของอิมติยาซ มุกบิล (Imtiaz Muqbil) อดีตคอลัมนิสต์ Bangkok Post นักเขียนอิสระของ Newsweek, Reuters และ Economic Digest

ในหัวข้อ Malaysian Leader Anwar Ibrahim on Palestine : Their pain is my pain ตีพิมพ์ใน Travel Newswire ในวันที่ 29 เดือนพฤศจิกายน ปี 2018 มากล่าวถึงซึ่งมีเนื้อหา

ดังต่อไปนี้

 

เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าอิสราเอลได้กวาดล้างชาวปาเลสไตน์ออกจากแผนที่อย่างช้าๆ รวมถึงประเทศอาหรับและแอฟริกาบางประเทศในระยะหลังๆ ก็มิได้ใส่ใจต่อปัญหาของชาวปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครองอย่างที่ควรจะเป็น

ที่น่าสนใจคือ ประเทศเอเชียต่างหากที่ยังคงให้ความสนใจต่อชะตากรรมของชาวปาเลสไตน์อยู่ต่อไป

ในวันที่ 23 พฤศจิกายน (2018) ที่ผ่านมา ผู้นำทางการเมืองของมาเลเซียที่ฟื้นขึ้นมาใหม่คืออันวาร์ อิบรอฮีม ได้นำเสนอสารที่เป็นแรงบันดาลใจในการสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ที่ทุกข์ทรมานมายาวนานในการแสวงหาสันติภาพเอกราชและความยุติธรรมของพวกเขา

อันวาร์มาที่กรุงเทพฯ เพื่อมาเยือนเป็นการส่วนตัวและเปิดตัวหนังสือการกลับมาทางการเมืองของเขา

อย่างไรก็ตาม เขาได้มาปรากฏตัวในการสัมมนาครั้งแรกในเรื่องปาเลสไตน์ ซึ่งจัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ สิ่งที่โดดเด่นที่สุดคือคำพูดของเขาที่ทำให้การสัมมนาครั้งนี้เต็มไปด้วยความรู้สึกที่มีความมุ่งหมาย

ยกระดับคุณค่าของการสัมมนาให้อยู่เหนือที่รวมแห่งเวทีการพูดแบบทั่วๆ ไป

ทั้งนี้ มีการคาดหมายกันว่า การสัมมนานี้อาจจะนำไปสู่การต่อต้านจากนักวิชาการมหาวิทยาลัยบางคนที่รู้สึกว่าการสัมมนาดังกล่าวอาจส่งสัญญาณ “การถือข้าง”

โดยสถาบันการศึกษา ข้อโต้แย้งนี้ถูกปฏิเสธบนพื้นฐานที่ว่ามหาวิทยาลัยมีเวทีอยู่หลายเวทีว่าด้วยประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์

ซึ่งที่ผ่านมาเรื่องที่เป็นแกนกลางของการมุ่งความสนใจจะไปอยู่ที่เรื่องของการก่อการร้ายที่มักจะพ่วงศาสนาอิสลามเข้าไปด้วยอย่างขาดความเข้าใจ

แต่กลับไม่มีการเปิดเวทีให้ในสิ่งที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นที่มาของการใช้ความรุนแรง นั่นคือ การที่อิสราเอลยึดครองปาเลสไตน์

 

ข้อโต้แย้งนี้ได้รับการเน้นย้ำโดย ศ.ดร.พิรงรอง รามสูตร รองอธิการบดีด้านสื่อสารบริการสังคมและพันธกิจสากล (Social Outreach and Global Engagement) เมื่อเธอให้ข้อคิดเห็นในการกล่าวเปิดของเธอว่า “ประเด็น (ของปาเลสไตน์) มิได้เป็นแค่ข้อกังวลของตะวันออกกลาง แต่ยังมีผลไปถึงประเทศไทยและอาเซียน”

เช่นเดียวกับโลกที่เหลือในส่วนอื่นๆ ความเกี่ยวข้องนี้มิได้วางอยู่ที่เรื่องของภูมิยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องความรับผิดชอบในด้านศีลธรรมสำหรับพวกเราที่เป็นสมาชิกของมนุษยชาติด้วย การทำความเข้าใจความขัดแย้งในมิติที่มีอยู่หลากหลายนี้ก็เพื่อยืนยันว่าประเทศไทยและดินแดนอาเซียนมีความเข้าใจยุทธศาสตร์ชาติและกระบวนการของภูมิภาคในประเด็นนี้

ศ.ดร.พิรงรอง ให้ข้อคิดเห็นว่าเวทีนี้เป็นไปตามทิศทางแห่งนโยบายของรัฐบาลที่ให้การยอมรับ การมีสองรัฐและตัวแทนของรัฐปาเลสไตน์ในสหประชาชาติ

เธอกล่าวว่า การที่นักวิชาการและผู้รู้ผู้มีชื่อเสียงมารวมกัน ดูเหมือนจะช่วยพวกเราให้เห็นแสงสว่างในประเด็นนี้ ซึ่งยังอาจจะต้องมีการสืบค้นในสิ่งที่ยังไม่ได้มีการรับรู้ต่อไป

การนำเสนอของพวกท่านจะช่วยให้พวกเรานำเสนอแง่มุมในด้านลึกที่มีต่อการเปลี่ยนผ่านและการแก้ปัญหาต่อไป

เธอกล่าวว่า เพิ่งเมื่อเดือนก่อนนี้เองที่มหฏิร โมฮัมมัด ได้มาบรรยายที่จุฬาฯ และนำเสนออย่างชัดเจนถึงความจำเป็นที่จะให้การยอมรับถึงรากเหง้าที่เป็นสาเหตุของการก่อการร้าย

เธอกล่าวต่อไปว่า การนำเสนอของอันวาร์ยืนยันถึงความพยายามในการทำงานร่วมกันที่จะนำเสนอหนึ่งในรากเหง้าของความขัดแย้งของโลกที่มีผลกระทบกับพวกเราทุกคน