รู้จักเข้าใจ และ ความเป็นอยู่ในปัจจุบัน ของ กลุ่มชาติพันธุ์ “ต่องสู้”

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ต่องสู้” บางท้องถิ่นออกเสียงเป็น ต่องสู่ หรือ ต่องซู่

ต่องสู้ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่กระจัดกระจายในตอนเหนือของพม่า ส่วนมากคนต่องสู้มักอยู่ร่วมกับชนเผ่าไทยใหญ่ โดยไทยใหญ่อยู่ในที่ราบ และต่องสู้อยู่บนดอยและที่ราบเชิงเขา จึงมีวัฒนธรรมคล้ายไทยใหญ่

คนไทยใหญ่เรียกคนต่องสู้ว่า “ต่องสู้” พม่าเรียกว่า “ต่องตู่” แปลว่า ชาวดอย หรือ คนหลอย แต่คนต่องสู้เห็นว่าเป็นคำไม่สุภาพ และไม่ชอบคำนี้ จึงเรียกขานตัวเองว่า “ป่ะโอ่” หรือ ปะโอ แปลว่า คนดอยเช่นเดียวกัน

ส่วนคนล้านนาเรียกตามไทยใหญ่ว่า “ต่องสู้”

เดิมต่องสู้มีถิ่นฐานอยู่ที่อาณาจักรปะโอ แถบเมืองสะเทิม มีความเป็นปึกแผ่นและเจริญรุ่งเรืองทางพุทธศาสนา มีภาษาเขียนของตนเอง

ต่อมาพม่ายกกองทัพมารุกรานตีเมืองแตกและกวาดต้อนชาวปะโอไปสร้างเจดีย์ที่หงสาวดี

แต่ส่วนหนึ่งของคนต่องสู้หนีกระจัดกระจายเข้าไปอาศัยตามป่าเขาในรัฐฉาน และอยู่ใกล้ชิดกับไทยใหญ่ดังกล่าว

การแต่งกายของชาวต่องสู้นุ่งห่มด้วยผ้าฝ้ายสีดำทอมือ ย้อมมะเกลือ มีวิธีการทอผ้าเหมือนชาวกะเหรี่ยง กล่าวคือ ผู้หญิงนั่งเหยียดเท้าทอผ้าด้วยกี่ที่ลำตัวผูกกับเอว

ผู้ชายแต่งกายคล้ายชาวไทยใหญ่ สวมกางเกงเป้าหย่อนที่เรียกว่า เตี่ยวโหย่ง หรือโก๋นโฮง เสื้อคอกลมแขนกระบอก ผ่าอกตลอด กระดุมผ้าสอดเป็นห่วงแบบจีน

ผู้หญิงนุ่งผ้าถุงสีดำยาว สวมเสื้อคอวีแขนสั้น ชายเสื้อคลุมตะโพก คล้ายเสื้อกะเหรี่ยง เสื้อชั้นนอกสวมทับ แขนยาว เอวลอย ผ่าอกตลอด คอจีน มีลายแดงยาวพาดขวางเป็นระยะ พันหน้าแข้งเหมือนผู้หญิงชาวมูเซอ เครื่องประดับสวมกำไล สร้อยคอ ด้วยโลหะเงิน

ส่วนการโพกหัวของชาวต่องสู้แตกต่างจากกลุ่มชนต่างๆ ในพม่า ไม่เหมือนทั้งชาวพม่า มอญและไทยใหญ่

เมื่ออังกฤษเข้ามารุกรานพม่า คนต่องสู้ถูกปราบปราม จึงอพยพเข้ามาในล้านนาตามเส้นทางแม่ฮ่องสอน ฝาง แม่สาย และแม่สอด เข้ามาทำงานกับบริษัททำไม้ของอังกฤษ บริติชบอร์เนียว และบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่าร่วมกับคนไทยใหญ่ รับเอาไม้ไปขายเป็นรายย่อย

จนทั้งไทยใหญ่และต่องสู้มีฐานะมั่งคั่ง เอาเงินมาบูรณะวัดวาอารามในเชียงใหม่ เช่น จองหม่องพิส บูรณะเจดีย์ วิหารพระเจ้าตนหลวง วัดมหาวัน หลวงโยนการพิจิตร (ปันโหย่ว อุปโยคิน)

สร้างวัดอุปคุตม่านบริเวณพุทธสถานในทุกวันนี้

ต่อมาคนต่องสู้ได้ข่าวความร่ำรวยของพรรคพวกแห่งตน จึงเข้ามาในเมืองเชียงใหม่มากขึ้น แต่งงานกับคนเมืองตั้งร้านค้าแบบ “เรือนแพ” ค้าขายย่านถนนท่าแพ วัดอุปคุต ตลาดวโรรส วัดบุพพาราม วัดมหาวัน วัดเชตวัน วัดหนองคำ

มีลูกหลานสืบเชื้อสาย และถูกกลืนกลายเป็นคนเมืองไปหมดแล้ว

แต่ต่องสู้ที่ตั้งถิ่นฐานในอำเภอรอบนอก เช่น ในหางดง สันป่าตอง แม่ริม แม่อาย บ้านเวียงอำเภอฝาง และบ้านบ่อหินอำเภอพร้าวก็มี

ที่เห็นยังคงแต่งกายแบบชนเผ่าอย่างเหนียวแน่นน่าจะเป็นที่แม่ฮ่องสอน