“หลังชนฝา” ภาพจำแลงวิญญาณของพลทหาร ที่สะท้อนสภาวะกดดันบีบคั้นของสังคม

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว ในตอนนี้เราขอพูดถึงนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจอีกนิทรรศการ ที่บังเอิญแสดงในหอศิลป์ใกล้เคียงกัน นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า

Up against the Wall หรือ หลังชนฝา

นิทรรศการแสดงเดี่ยวของณัฐพล สวัสดี ศิลปินไทยรุ่นใหม่มาแรง ผู้ทำงานศิลปะที่ผสมผสานเรื่องราวและประสบการณ์ส่วนตัว เข้ากับประเด็นทางสังคมและการเมืองได้อย่างกลมกลืน

ผลงานศิลปะของเขามักจะดึงให้ผู้ชมสัมผัสกับประสบการณ์ที่ไปไกลกว่าการมองเห็น หากแต่เป็นความรู้สึก ผัสสะ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสียง

เขามีนิทรรศการแสดงศิลปะทั้งในและต่างประเทศมากมายหลายแห่ง

ผลงานศิลปะในนิทรรศการ “หลังชนฝา” นี้ของเขา นำเสนอในรูปแบบของวิดีโอจัดวาง ที่เล่นกับแสง สี เสียง ในห้องมืด ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง Full Metal Jacket (1987) ของผู้กำกับฯ ชั้นครูชาวอเมริกัน สแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick)

ในฉากที่ตัวละครหนึ่งในหนังอย่างพลทหารไพล์ (Private Pyle) ที่เกิดอาการสติแตกจากการกดขี่ล่วงละเมิดและกลั่นแกล้งของครูฝึกและเพื่อนทหารในค่าย จนก่อโศกนาฏกรรมอันเลวร้ายขึ้น

โดยณัฐพลจำแลงตัวเองเป็นพลทหารไพล์ทั้งเสื้อผ้า ทรงผม รวมถึงสีหน้า อากัปกิริยาและอารมณ์บ้าคลั่งที่ใกล้จะถึงขีดปะทุอยู่รอมร่อ และบันทึกภาพเป็นวิดีโอที่ถ่ายทำด้วยเทคนิคสโลว์โมชั่น

โดยเปลี่ยนจากฉากสั้นๆ เพียงหนึ่งนาทีในหนัง ให้ยืดยาวขึ้นเป็นหนึ่งชั่วโมง

ณัฐพลหยิบเอาเหตุการณ์ในฉากนี้มาเป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบถึงประสบการณ์ในชีวิตจริง และสถานการณ์ในสังคมรอบตัว

ไม่ว่าจะเป็น สภาพการณ์ในแวดวงศิลปะ สภาวะความเหลื่อมล้ำในระบบชนชั้นของสังคม และสถานะของประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการ ซึ่งคนที่ตกอยู่ในอาการ “หลังชนฝา” แบบเดียวกับพลทหารไพล์ก็ยังคงมีตัวตนอยู่ไม่น้อย

“การมองและถูกจ้องมอง เป็นการสื่อสารอย่างหนึ่งที่สื่อความหมายนอกเหนือไปจากการใช้ภาษา ไม่ว่าจะเป็น ความเศร้า, เสียใจ โกรธแค้น ก็สามารถแสดงออกมาจากสายตาได้”

“ตัวละครพลทหารไพล์มีความพิเศษอย่างหนึ่งก็คือ เขาเป็นตัวละครที่เป็นตัวแทนของการต่อต้านระบบ แต่บุคลิกของเขาไม่ได้เป็นคนที่ดูขบถห้าวหาญอะไร ออกจะเป็นคนสมองทึบด้วยซ้ำ

โดยในหนัง เขาเริ่มต้นจากการเป็นเด็กหนุ่มใสซื่อ ค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นทหารที่เริ่มมีวินัย และสุดท้ายก็กลายเป็นฆาตกรโรคจิต”

“โดยฉากที่ผมหยิบมาเป็นฉากที่พลทหารไพล์มองไปที่ครูฝึกทหารที่ก่นด่าเขา จนในที่สุดเขาก็ยิงครูฝึกเสียชีวิต”

“ผมมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังก็ไม่ต่างกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง ในแวดวงสังคมไหนๆ เราอาจจะมีคนแบบพลทหารไพล์เกิดขึ้นอยู่ได้ตลอดเวลา สิ่งที่ผมทำก็แค่เพียงทำตัวเป็น “ร่างทรง” ของวิญญาณพลทหารไพล์ ให้เขาฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาใหม่ เพื่อได้จ้องมองไปยังพวกคุณอีกครั้ง”

“งานชิ้นนี้เริ่มต้นมาจากประเด็นทางการเมืองบวกกับสภาวะส่วนตัวที่ผมรู้สึกว่าเรากำลังถูกบีบคั้นให้บ้าคลั่ง เหมือนชื่องาน “หลังชนฝา” ซึ่งเป็นสภาวะที่คนเราถูกกดดันถึงขีดสุด จนทำอะไรก็ได้ อย่างเช่นในหนังเรื่องนี้ที่พลทหารไพล์ที่ถูกบีบคั้นจนถึงที่สุดจนท้ายที่สุดก็ยิงครูฝึกตายและฆ่าตัวตาย สำหรับผม การที่คนคนหนึ่งจะทำอะไรอย่างนั้นได้ ต้องถูกกระทำอะไรบางอย่างมาหนักหนาสาหัสเอาการ”

“เรื่องราวในงานวิดีโอชิ้นนี้เป็นการเปรียบเปรยถึงสังคมที่เราอาศัยอยู่ อย่างค่ายทหารในเรื่องก็อาจเปรียบเหมือนบ้านเมืองของเรา ครูฝึกในหนังก็อาจจะเปรียบเหมือนรัฐบาลทหาร พลทหารไพล์ก็อาจเปรียบเหมือนประชาชน ที่ถูกสิ่งเหล่านี้กดดันให้เราเปลี่ยนจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งอย่างสิ้นเชิง”

นอกจากภาพเคลื่อนไหวอันเนิบช้าแต่ทรงพลังของศิลปินที่จับจ้องสายตามายังผู้ชม (อย่างแทบจะไม่กะพริบตา) เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ตึงเครียด กดดัน บีบคั้น จนแทบจะปะทุอยู่รอมร่อ ทำให้เราอดหวาดหวั่นไม่ได้ว่าอาจจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นได้ในทุกขณะจิต และการจัดวางตำแหน่งการฉายภาพจากวิดีโอลงบนผนังทึบตันที่ตั้งอยู่ในห้องแสดงงาน จนทำให้ผู้ชมต้องยืนพิงดูชมในลักษณะหลังชนฝา ก็ทำให้เราซึมซับรับสารของศิลปินโดยที่เขาแทบจะไม่ต้องบอกกล่าวอะไร

องค์ประกอบอันโดดเด่นอีกประการในผลงานชิ้นนี้ก็คือสภาวะของแสงที่เกิดจากการทำปฏิกิริยาของแสงจากเครื่องฉายตัดกับหมอกควัน (จากเครื่องทำหมอก) ที่ล่องลอยอยู่ในห้องแสดงงาน จนกลายเป็นกรอบของลำแสง

คล้ายกับกำแพงสร้างความบีบคั้นแก่ผู้ชม ผนวกกับเสียงประกอบอันหลอนหลอกในห้องที่สร้างความอึดอัดกดดันให้ทวีคูณยิ่งขึ้นไปอีก

“เทคนิคแสงในงานนี้ผมได้แรงบันดาลใจจากตอนที่ได้ไปดูงานของพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) ที่หอศิลป์ Bangkok Citycity (Fever Room) ผมสร้างบรรยากาศแบบนี้ในห้องแสดงงานเพื่อสร้างความอึดอัด กดดัน เหมือนการสะกดจิตคนดู ส่วนเสียงในห้องผมทำเพื่อแสดงสภาวะจิตใจของตัวละครออกมา ด้วยการใช้คลื่นเสียงต่ำอัดใส่คนดูและมีเสียงแหลมแทรกขึ้นมาเป็นระยะๆ”

“ผมมองว่าพลทหารไพล์หรือตัวผมเองที่อยู่ในวิดีโอเหมือนเป็นผี ที่ปรากฏกายขึ้นมาจ้องมองเรา เป็นอะไรที่ง่ายๆ ไม่ได้ซับซ้อนอะไร เป็นแค่เรื่องของการสร้างแสง สี เสียง อย่างไรให้ส่งผลถึงอารมณ์ของคนดูให้มากที่สุด”

“ตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเป็นต้นมา ผมคิดว่าศิลปินหลายๆ คนถูกกดดันด้วยความกลัว ถึงตอนนี้จะดูเหมือนว่าบ้านเมืองสงบแล้ว ดูเหมือนว่าสังคมเราจะมีเสรีภาพกันแล้ว แต่ความจริงมันไม่มี ถึงตอนนี้ไม่มีใครอยากจะพูดอะไร เพราะไม่อยากให้ตัวเองหรือครอบครัวต้องเดือดร้อน แต่สี่ปีมันก็นานมากแล้ว ประชาชนเริ่มหลังชนฝากันแล้ว ผมก็แค่รู้สึกเป็นห่วงเท่านั้นเอง”

ณัฐพลกล่าวทิ้งท้าย

นิทรรศการ Up against the Wall หลังชนฝา จัดแสดงที่ Gallery VER Project Room ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน – 23 ธันวาคม 2561

ใครสนใจจะไปชมก็สอบถามรายละเอียดได้ที่ facebook @galleryver อีเมล [email protected] หรือเบอร์โทรศัพท์ 0-2103-4067 กันได้ตามอัธยาศัย

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากศิลปิน/แกลเลอรี่เวอร์