สมหมาย ปาริจฉัตต์ : สมัชชาการศึกษาจังหวัดคืออะไร?

สมหมาย ปาริจฉัตต์

การศึกษาภาคประชาชน
สมัชชาการศึกษาจังหวัด

กลไกเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ โดยเฉพาะประเด็นการกระจายอำนาจไปให้สถานศึกษาเพื่อความอิสระ คล่องตัว ที่เขียนไว้ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ก็คือ การกำหนดให้มีเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา กับสมัชชาการศึกษาจังหวัด

ผมขอกล่าวถึงกลไกหลังก่อน เพราะแวดวงการศึกษาในระดับพื้นที่พูดกันมานาน ทำท่าว่าจะเข้มข้นขึ้นคราวนี้ ส่วนจะเป็นจริงครบถ้วน มีประสิทธิภาพเพียงไร ต้องรอติดตามความเป็นจริงในทางปฏิบัติกันต่อไป

สมัชชาการศึกษาระดับจังหวัด ร่างกฎหมายเขียนไว้ในมาตรา 61 ในแต่ละจังหวัด ให้มีสมัชชาการศึกษาระดับจังหวัด ตามความพร้อมและความสมัครใจรวมตัวของภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและหน่วยงานของรัฐ เพื่อศึกษาและเสนอแนวทางการพัฒนาการศึกษาของจังหวัดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัด และเสนอต่อคณะกรรมการนโยบาย

มีหน้าที่และอำนาจ 7 ข้อ อะไรบ้าง นักการศึกษาและผู้สนใจเปิดเว็บไซต์กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาหาอ่านได้ไม่ยากครับ

 

ประเด็นของผมคือ นอกจากจะส่งเสริมให้กลไกนี้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางแล้ว บทบาทที่เป็นจริง ความอิสระ คล่องตัว การสนับสนุนอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง เพื่อให้เข้มแข็ง ยั่งยืน เป็นจริงแค่ไหน

ในเมื่อกฎหมายทั้งตัว พ.ร.บ.แม่ และประกาศกระทรวง ตัวลูกที่จะออกมารองรับ ขาดสภาพบังคับ หากองค์กรหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการเสียอย่าง หรือดำเนินการแบบขอไปที หรือไม่ก็ตรงกันข้าม อย่างที่ผ่านมาในอดีต ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น ไม่มีใครทำอะไรได้ เพราะกฎหมายไม่บัญญัติบทลงโทษไว้

การสนับสนุนงบประมาณ บุคลากรและเรื่องอื่นๆ จากหน่วยงานของรัฐจึงเป็นไปอย่างเสียไม่ได้ พื้นฐานสำคัญที่เป็นเช่นนี้มาจากทัศนคติที่มองเห็นภาคประชาชนเป็นตัวปัญหา เป็นพวกการศึกษานอกกระแส เป็นตัวเหนี่ยวรั้งการศึกษาในระบบ ที่สำคัญคือ มาเบียดบังงบประมาณและผลประโยชน์

จริงอยู่ แม้ในร่าง พ.ร.บ. จะเขียนถึงการจัดตั้ง ดำเนินการและยุบเลิก ว่า ให้เป็นไปตามที่กำหนดในประกาศกระทรวงโดยคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบาย

และให้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายกำหนด

สาระในประกาศกระทรวงที่จะออกมาจากความที่ว่า “ตามที่กฎหมายกำหนด” นี่แหละสำคัญนัก ใครเขียนกฎหมาย คนนั้นก็มักจะเป็นคนกำหนด จึงมีความสำคัญจะเป็นคำตอบบ่งชี้ว่า แนวทางสร้างกลไกสมัชชาการศึกษาจังหวัด เพื่อช่วยผลักดันการปฏิรูปการศึกษาระดับพื้นที่ ให้โรงเรียนเป็นอิสระ ในทางปฏิบัติเป็นจริงสักแค่ไหน จากที่เป็นอยู่เวลานี้

 

อย่างไรก็ตาม การที่ พ.ร.บ.ใหม่นำเรื่องสมัชชาการศึกษาจังหวัดเข้ามาบรรจุไว้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว เบื้องต้นแสดงว่ากลไกทางการศึกษานี้มีสถานภาพที่ชัดเจนขึ้น เพราะมีสถานะทางกฎหมายรองรับอย่างเป็นทางการแล้ว ไม่ได้เป็นองค์กรเถื่อนจากมุมมองของนักศึกษาตกขอบในอดีต

ประกาศที่จะยกร่างโดยกระทรวงศึกษาธิการจึงต้องเอื้ออำนวยให้การดำเนินงานของสมัชชาการศึกษาจังหวัดมีประสิทธิภาพจริง ไม่ใช่สนับสนุนแบบมีเงื่อนไขต่างๆ มากมายจนกลายเป็นการดึงมากกว่าดัน

บทบาทของคณะกรรมการนโยบายในการกำกับ สาระและการปฏิบัติ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนกลาง และหน่วยงานการศึกษาในจังหวัด ตอบรับข้อเสนอแนะต่างๆ ของสมัชชาการศึกษาจังหวัดเพียงไร

การจัดวางบทบาท ความสัมพันธ์ ระหว่างสมัชชาการศึกษาจังหวัด กับกรรมการการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เขตพื้นที่การศึกษาประถม มัธยม อาชีวะ กศน. อุดมศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในลักษณะเครือข่ายพันธมิตร หนุนเสริมซึ่งกันและกันจึงเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ

ปัญหาถ้าจะมีก็คือ การไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมปรับตัว ติดยึดวัฒนธรรมอำนาจ ความเคยชินเดิม และผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายที่เคยมีเคยได้เรื่อยมา ที่องค์กรใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น หรืออยู่ที่องค์กรเดิมก็ตาม

เฉพาะปัญหาทางการบริหารที่ดำรงอยู่เดิม ช่องว่างระหว่าง กศจ. กับเขตพื้นที่การศึกษา บทบาททับซ้อน ยังไม่แยกเด็ดขาดชัดเจน การไม่ประสานความร่วมมือกันอย่างเพียงพอระหว่างหน่วยงานทางการศึกษาต่างสังกัด ก็หนักหนาพอควรอยู่แล้ว

เมื่อทิศทางใหญ่ถูกกำหนดออกมาให้ปรับเปลี่ยนระบบการทำงาน พฤติกรรม และวัฒนธรรม การเกิดขึ้นของกลไกสมัชชาการศึกษาจังหวัด ที่มีพื้นฐานทางกฎหมายรองรับ สถานการณ์ทางการศึกษาในระดับพื้นที่ไปถึงโรงเรียนน่าจะเป็นบวกมากขึ้น

สมัชชาการศึกษาจังหวัดน่าจะส่งสริมให้ความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ดำเนินมาแล้วในหลายจังหวัดก่อนหน้านี้เข้มแข็งคึกคักขึ้นเช่นเดียวกัน

 

แต่หากมองอีกด้าน

ทุกอย่างมีสองด้านเสมอ ทั้งบวกและลบ หากจัดการไม่ดี กลไกใหม่อาจเกิดผลตรงข้ามกับความคาดหวัง จากเหตุที่มีกฎหมายรองรับ “อำนาจ” ซึ่งมักจะมาคู่กันเสมอ กลับทำให้สมัชชาการศึกษาจังหวัดกลายเป็นองค์กรอำนาจใหม่ขึ้นมาเสียเอง เพราะเหตุที่มี “ความเป็นรัฐ” เข้ามาใช้อำนาจเหนือกว่าประชาชน ผ่านกฎระเบียบต่างๆ อำนาจ หน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณและบุคลากรลงมาสนับสนุนอย่างที่ผ่านมานั่นเอง

ในที่สุดกลายเป็นอุปสรรคทำให้นวัตกรรมทางการศึกษา และโมเดลบริหารการศึกษาดีๆ ที่มีขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ เกิดปัญหาถดถอยลง ประเด็นนี้จึงเป็นข้อที่ควรระวัง