คุยกับทูตโปแลนด์ ผู้ที่เคย Backpackมาเที่ยวไทย เพราะหลงใหลวิถีชีวิต-ผู้คน และการฝึกความอดทนกับสภาพจราจร

คุยกับทูต วาลเดอมาร์ ดูบันยอฟสกี้ โปแลนด์แดนมหัศจรรย์แห่งนกอินทรีขาว (1)

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโปแลนด์มีมายาวนานกว่า 100 ปี

ตั้งแต่ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปรวมทั้งโปแลนด์ เมื่อปี ค.ศ.1897

ซึ่งครั้งนั้นโปแลนด์ยังเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย แต่อุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันทำให้แบ่งเป็นสองขั้วอำนาจ

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโปแลนด์จึงต้องห่างเหินไปในช่วงสงครามเย็น

เมื่อไทยและโปแลนด์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในวันที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ.1972 ณ นครนิวยอร์ก ได้มีการแลกเปลี่ยนบันทึกระหว่างผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติของกันและกัน

ผู้แทนของฝ่ายไทยในขณะนั้นคือ นายอานันท์ ปันยารชุน

ต่อมาในปี ค.ศ.1976 จึงมีการจัดตั้งสถานเอกอัครราชทูตไทยขึ้นที่กรุงวอร์ซอ เมืองหลวงของโปแลนด์

ตั้งแต่นั้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโปแลนด์เป็นไปด้วยความราบรื่น

ทั้งสองต่างมีค่านิยมและแนวอุดมการณ์ทางการเมืองด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนร่วมกัน

ปัจจุบัน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโปแลนด์ประจำประเทศไทยคือ นายวาลเดอมาร์ ดูบันยอฟสกี้ (His Excellency Mr. Waldemar Dubaniowski)

มารับตำแหน่งเมื่อปลายเดือนกันยายน ปี ค.ศ.2017

มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศเมียนมา กัมพูชา และลาว

ท่านทูตวาลเดอมาร์ ดูบันยอฟสกี้ เล่าว่า

“ผมเกิดเมื่อปี ค.ศ.1964 ที่กรุงวอร์ซอ เมืองหลวงของโปแลนด์ และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโททางด้านสังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และการบริหารจัดการจาก University of Warsaw; KSAP และ Warsaw School of Economics”

“ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดในปี ค.ศ.1998 มีหน้าที่ด้านการสื่อสารโทรคมนาคม ต่อมาเป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรีของประธานาธิบดีโปแลนด์ นายอาเล็กซันแดร์ กวาชเนียฟสกี้ (Aleksander Kwaśniewski) ผมทำงานกับประธานาธิบดีจนหมดเทอมที่สองในเดือนธันวาคมปี ค.ศ.2005 จากนั้นจึงเริ่มงานในภาคธุรกิจ”

“ประธานาธิบดีคนถัดไปคือ นายเลกซ์ คัชชินสกี้ (Lech Kaczyński) เสนอให้ผมรับตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศสิงคโปร์เมื่อปี ค.ศ.2008 แต่เป็นที่น่าเสียใจยิ่งเมื่อสองปีต่อมา ประธานาธิบดีคัชชินสกี้ได้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางเครื่องบินใกล้สนามบิน Smolensk ในรัสเซียเมื่อวันที่ 10 เมษายน ค.ศ.2010 พร้อมกับผู้โดยสารและลูกเรือ 95 คน”

ท่านทูตดูบันยอฟสกี้มีประสบการณ์ในการทำงานที่น่าสนใจและค่อนข้างแตกต่างจากทูตานุทูตอื่นๆ ในกรุงเทพฯ หากย้อนไปเมื่อปี ค.ศ.2013 ก่อนที่จะมาประจำประเทศไทย

“ครั้งที่ผมได้รับการแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศสิงคโปร์นั้น นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทั้งยังได้รับเลือกให้เป็นคณบดีคณะทูต (dean of the diplomatic corps) ที่นั่นด้วย เมื่อหมดวาระกลับไปโปแลนด์ ผมได้ลาออกจากกระทรวงต่างประเทศเพราะไปรับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจของบริษัทข้ามชาติไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส หรือพีดับเบิลยูซี (PricewaterhouseCoopers : PwC) ในโปแลนด์ ได้อยู่ในแวดวงการเมือง การกีฬาโดยเป็นนักเทนนิส และยังมีหน้าที่ในคณะกรรมการโอลิมปิกของโปแลนด์ด้วย”

“ทำงานที่พีดับเบิลยูซี (PwC) เพียงไม่กี่ปี ประธานาธิบดีแห่งโปแลนด์ให้ผมไปประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะเอกอัครราชทูต เนื่องจากมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกิจการสาธารณะและงานด้านธุรกิจ คราวนี้ ที่ทำการหลักอยู่ในกรุงเทพฯ”

“ประสบการณ์ดังที่กล่าวมาแล้ว ผมคิดว่า เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและมีประโยชน์เป็นอย่างมากเมื่อได้เข้ามาทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย”

ท่านทูตมีความคุ้นเคยกับประเทศไทย เพราะครั้งหนึ่งเคยมาเยือนในฐานะนักศึกษามหาวิทยาลัย

“ผมชอบเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชอบผู้คน อากาศ และรูปแบบการดำเนินชีวิต ได้มาเยือนเมืองไทยครั้งแรกแบบแบ๊กแพ็กเกอร์ ปี ค.ศ.1990 โดยพักตาม hostel ในกรุงเทพฯ และภูเก็ต ผมชื่นชมวัฒนธรรมไทยและมีความสุขจริงๆ กับอาหารท้องถิ่น โดยเฉพาะอาหารริมทาง (Street Food) ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ยังชอบอยู่”

“ผมมีความรู้ความเข้าใจในความแตกต่างระหว่างไทยและสิงคโปร์สองประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน และคาดหวังเป็นอย่างมากว่า ในช่วงที่เข้ามารับตำแหน่งในประเทศไทย ผมจะทุ่มเทในการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิผลที่เท่าเทียมกัน หรือไม่น้อยไปกว่าเมื่อครั้งเป็นทูตที่สิงคโปร์”

“ก่อนหน้านี้ เคยคิดว่าสภาพอากาศในสิงคโปร์และประเทศไทยน่าจะคล้ายๆ กัน แต่กลายเป็นว่าผมประทับใจสภาพอากาศที่นี่ เพราะเย็นสบายกว่า และไม่ร้อนชื้นมาก นี่คือส่วนที่ดีแน่นอน”

“ส่วนข้อเสียจะเป็นในด้านการจราจรซึ่งไม่อาจเกิดขึ้นในสิงคโปร์เพราะจำนวนประชากรน้อยกว่า มาอยู่ได้เพียง 3-4 เดือนก็พบว่ามีอะไรบางอย่างที่เป็นประโยชน์ในยามที่ต้องเผชิญกับการจราจรอันติดขัด นั่นคือช่วยทำให้ผมได้ฝึกความอดทนและเตรียมการล่วงหน้า ทำให้มีเวลาอ่านในรถมากขึ้นระหว่างการเดินทาง แม้ว่าการจราจรจะเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่าย หากเราคิดในเชิงบวก ก็จะสามารถค้นหาคำตอบด้านบวกในความน่าเบื่อหน่ายนี้ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีความหลากหลาย และมีสีสันมาก”

ท่านทูตให้ความเห็น

“สิงคโปร์เป็นสถานที่ที่น่าสนใจมาก เราได้ทำในเรื่องใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านเศรษฐกิจหรือวัฒนธรรม และผมต้องการทำให้ดีเช่นกันในประเทศไทย”

“หนึ่งในกองทุนรวมที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดในสิงคโปร์ได้ตัดสินใจที่จะลงทุนในโปแลนด์อันเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการทำงานอย่างหนักของเรา ผมทราบดีว่า เป็นการพูดแบบที่ไม่ค่อยถ่อมตัวนัก แต่เราก็ได้ร่วมกันทำจนประสบความสำเร็จในสิงคโปร์ อันนำไปสู่โอกาสในการลงทุนและเป็นการเปิดตลาดสิงคโปร์ให้กับสินค้าโปแลนด์ เช่น เนื้อสัตว์ และแอปเปิล และทั้งสองฝ่ายต่างก็ได้รับผลประโยชน์”

ท่านทูตดูบันยอฟสกี้ยิ้มแย้มแจ่มใส ร่าเริง มีพลัง ดูมีความสุขตลอดช่วงเวลาแห่งการสนทนายามบ่าย ณ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโปแลนด์ ซึ่งออกแบบตกแต่งโดยสถาปนิกชาวโปแลนด์ แนวเรียบหรู โทนขาวครีม ทันสมัยด้วยเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้นจากไม้ธรรมชาติ และประดับห้องกลางด้วยรูปปั้นของเฟรเดริก โชแปง (Fr?d?ric Chopin) นักแต่งเพลงและนักเปียโนชาวโปแลนด์ซึ่งมีฉายาว่า กวีแห่งเปียโน (Piano Poet) ผู้มีชื่อเสียงก้องโลก

ด้านหลังโต๊ะทำงานของท่านทูตคือ ตราแผ่นดินของประเทศโปแลนด์ เป็นรูปเหยี่ยวสวมมงกุฎ กางปีก ซึ่งทำด้วยหลอดไฟนีออนสีขาวงดงามเป็นประกายดูมีชีวิตชีวามาก ส่วนบานประตูมีโครงร่างของใบไม้ทำจากไม้ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างสวยงาม ให้บรรยากาศที่แตกต่างออกไป

“ความประทับใจครั้งแรกของผมคือ คนไทยค่อนข้างมีระเบียบแบบแผนและมีประเพณีในการปฏิบัติอย่างเป็นทางการ อันเป็นวิธีการจัดระเบียบของหน่วยงานราชการไทย หากเราได้ทำความเข้าใจ จะทำให้มีการเตรียมตัวที่ดีและมีความพร้อมในการติดต่อสัมพันธ์กับหน่วยงานต่างๆ ได้ง่ายขึ้น อันต่างจากสิงคโปร์ซึ่งมีระเบียบปฏิบัติน้อยกว่า”

“เนื่องจากผมเคยไปประจำสิงคโปร์เกือบ 5 ปี จึงอยากกลับมาอยู่ ณ ภูมิภาคนี้ และเมื่อได้กลับมาอีกครั้งในฐานะเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโปแลนด์ประจำประเทศไทย จึงนับว่าเป็นเกียรติอย่างสูงยิ่งสำหรับผม เพราะประเทศไทยมีขนาดใหญ่กว่าและมีความหลากหลายมาก ผมมีความสุขเพราะโอกาสในความร่วมมือด้านต่างๆ มีมากมายเช่นกัน”