บทวิเคราะห์ : เศรษฐกิจอาเซียน แนวโน้มในปี “หมูป่า”

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงอาเซียนออกมา 2 ชิ้น

ชิ้นแรก เป็นของหน่วยงานของยูเอ็น อย่าง “คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก” หรือเอสแคป ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม

ต่อมาปลายสัปดาห์เดียวกัน แบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ (บีโอเอเอ็มแอล) วาณิชธนกิจชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ก็เผยแพร่รายงานเรื่องเดียวกันออกมาเมื่อ 7 ธันวาคม

ต้องบอกว่า โดยภาพรวมแล้วแนวโน้มเศรษฐกิจในอาเซียนปีหน้าในทั้งสองรายงาน ไม่ค่อยสดใสกาววาวนักพอๆ กัน

 

รายงานของเอสแคปจัดทำโดยแผนกการค้า, การลงทุนและนวัตกรรม ที่มี มีอา มีคิช เป็นผู้อำนวยการ เรียกกันว่ารายงานการค้าและการลงทุนแห่งเอเชียแปซิฟิก (เอพีทีไออาร์) เน้นให้ความสำคัญไปที่ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ซึ่งรายงานชิ้นนี้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เริ่มสร้างความปั่นป่วนให้กับห่วงโซ่ซัพพลาย และความเชื่อมั่นของนักลงทุนมาตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2018 นี้แล้ว

“ถ้าความตึงเครียดยังคงอยู่ต่อเนื่อง อัตราการขยายตัวของการส่งออกอาจชะลอลงมาอยู่ที่ 2.3 เปอร์เซ็นต์ในปี 2019 จากการขยายตัวในเชิงปริมาณสูงเกือบ 4 เปอร์เซ็นต์ในปี 2018 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ในภูมิภาคอาเซียน คาดว่าจะยังคงแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในปีหน้า หลังจากลดลงไป 4 เปอร์เซ็นต์ในปี 2018”

การตั้งกำแพงภาษีตอบโต้กันของสหรัฐกับจีน ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของทั้งโลก หายไป 150,000 ล้านแล้วในช่วงที่ผ่านมาตามการคำนวณของเอพีทีไออาร์ และทำให้จีดีพีของเอเชียแปซิฟิกหายไป 40,000 ล้านดอลลาร์เศษอีกด้วย

ปัญหาคือ ถ้าหากสงครามที่ว่านี้ยังคงอยู่ต่อเนื่องต่อไป ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทั้งภูมิภาคจะสูญเสียตำแหน่งงานไปอย่างน้อย 2.7 ล้านตำแหน่ง แรงงานไร้ฝีมือ โดยเฉพาะผู้หญิงจะได้รับผลกระทบสูงสุด

ถ้าในปี 2019 สงครามการค้ายิ่งทวีความเข้มข้นและเร่งเร็วยิ่งขึ้น จีดีพีของภูมิภาคนี้จะหายไปมากถึง 117,000 ล้านดอลลาร์ คนงานจะตกงานมากถึงเกือบ 9 ล้านคน

 

บีโอเอเอ็มแอล ซึ่งมุ่งเน้นมาเฉพาะประเทศในอาเซียนโดยตรง เรียกปี 2019 ที่จะมาถึงในอีกไม่ช้าไม่นานนี้ว่าเป็น “ปีแห่งการท้าทาย” ของอาเซียนในหลายๆ ด้านเลยทีเดียว

เริ่มตั้งแต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน ได้รับการคาดหมายว่าจีดีพีรวมจะเหลือเพียงปานกลางแค่ 4.8 เปอร์เซ็นต์ในปี 2019 หลังจากขยายตัว 5 เปอร์เซ็นต์มาต่อเนื่อง 2 ปีติด ดังนั้น ความกังวลของปี 2019 จึงเป็นเรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจ เรื่องอัตราเงินเฟ้อจะกลายเป็นเรื่องรองไป

ความต้องการภายใน ได้รับการคาดหมายว่าจะบรรเทาเบาบางลงตามวัฏจักรการลงทุนปกติทั่วไปประการหนึ่ง และจากการที่รัฐบาลใช้จ่ายงบประมาณลดลงอีกอย่างหนึ่ง ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนจะยังคงทรงตัว การส่งออกจะชะลอลงเพราะความต้องการในต่างประเทศอ่อนตัวลงพร้อมๆ กับความเสี่ยงทางด้านการค้าเพิ่มสูงขึ้น “แต่ไม่ถึงกับพังพาบ” ในปีหน้านี้

บีโอเอเอ็มแอลคาดว่านโยบายการเงินของชาติอาเซียนจะเข้มงวดมากขึ้นในปีหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ซึ่งวิตกกับอัตราแลกเปลี่ยนและการไหลออกของเงินทุนมากเป็นพิเศษ ในขณะที่ไทยและสิงคโปร์พยายามจะปรับนโยบายการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติในปีหน้านี้

 

โมฮัมเหม็ด ฟาอิซ นากูธา นักเศรษฐศาสตร์ของบีโอเอเอ็มแอลเตือนว่า ในกรณีที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดหมายไว้ รัฐบาลของชาติอาเซียนก็จำเป็นต้องงัดเอานโยบายการคลังมาใช้เป็นหลักในการรักษาดีมานด์ของผู้บริโภคภายในประเทศเอาไว้ หรือกระตุ้นให้สูงขึ้น

สิงคโปร์ อินโดนีเซียและไทย งบประมาณขาดดุลไม่มากมายนัก ทำให้ยังคงมีช่องว่างให้ปรับใช้นโยบายการคลังได้ไม่ยากเย็นนัก ตรงกันข้ามกับมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ที่อาจมีปัญหาในการเพิ่มมาตรการกระตุ้นใดๆ

ที่น่าสนใจก็คือ บีโอเอเอ็มแอลก็ยืนยันเช่นเดียวกันว่า สงครามการค้าคือ “ความเสี่ยงสำคัญที่สุด” ของอาเซียนในปีหน้า

แต่ถึงจะมีการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนลงได้ ซึ่งอาจช่วยชะลอการชะลอตัวทางเศรษฐกิจลงได้ แต่ก็ไม่น่าพลิกแนวโน้มเศรษฐกิจของอาเซียนให้กลับคืนสู่เส้นทางโตรวดเร็วได้

เพราะวัฏจักรเศรษฐกิจวนมาบรรจบผ่านเลยจุดสูงสุดมาแล้ว ปีหน้าจะเป็นเศรษฐกิจขาลงเต็มตัวครับ