วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์/เจอร์รี่แมนเดอร์ : แบ่งเขตเชิงเปรียบเปรย

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

เจอร์รี่แมนเดอร์ : แบ่งเขตเชิงเปรียบเปรย

 

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนปีนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพิ่งประกาศการแบ่งเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งรัฐบาล คสช.บอกไว้ว่า จะมีในปีหน้า

การแบ่งเขตและระบบบัญชีรายชื่อแบบใหม่ถูกวิจารณ์ว่าทำขึ้นตามที่ใครบางคนต้องการเพื่อคุมความได้เปรียบทางการเมือง อันได้แก่ ลดจำนวน ส.ส.บางจังหวัดลง และให้ประโยชน์แก่นักการเมืองบางคนที่อยู่ฝ่ายรัฐบาล ฯลฯ

ตัวอย่างเด่นคือ เช่น จังหวัดสุโขทัย โดยเฉพาะเขตที่ 2 มีการเชื่อมอำเภอทุ่งเสลี่ยมเพิ่มเข้ามาทั้งที่มีรอยต่อยาวเพียงไม่กี่ร้อยเมตร ซึ่งยากต่อประชาชนและเจ้าหน้าที่ซึ่งเดินทางไปยังเขตเลือกตั้ง

ส่งผลให้มีการวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งจากนักการเมือง สื่อสังคม และสื่อมวลชน การ์ตูนออนไลน์ เช่น “มานีมีแชร์” เสนอเขตเลือกตั้งใหม่ในรูปแผนผัง โดยชี้ชัดว่านายกรัฐมนตรีเป็นผู้ได้ผลประโยชน์จากการแบ่งแบบนี้

 

ในสหรัฐอเมริกามีปัญหาคล้ายกัน คือ มีการโกงเลือกตั้ง หรือเจอร์รี่แมนเดอร์ (Gerrymander) ซึ่งหมายถึงการแบ่งเขตเลือกตั้ง เพื่อทำให้พรรคของตัวเองได้คะแนนเสียงมากกว่าปกติ นี่เป็นวิธีที่ทำกันมานาน และผู้ที่ทำคือพรรคการเมืองผู้ครองตำแหน่งอยู่แล้ว

ยกตัวอย่างเช่น ในเขตเลือกตั้งที่มีประชากร 500 คนและมี ส.ส.ได้ 5 คน และมี 300 คนเลือกพรรคสีแดง และอีก 200 คนที่เหลือเลือกพรรคสีน้ำเงิน แต่เจอร์รี่แมนเดอร์ริ่สามารถทำให้พรรคสีแดงชนะรวด 5 ที่นั่ง หรือพรรคสีน้ำเงินชนะพรรคสีแดงก็ได้

คำนี้ใช้กันอย่างกว้างขวางจนกลายเป็นศัพท์ทั่วไปในทางการเมือง เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2354 เมื่อเอลบริดจ์ เจอรี่ ผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์ จัดการกำหนดเขตเลือกตั้งของเอสเสกซ์เคาน์ตี้เสียใหม่ เพื่อรวมเอาเขตที่ตนเองมีฐานเสียงมากเข้าด้วยกัน

ในช่วงนั้น การแบ่งเขตเลือกตั้งของเขาถูกวิจารณ์ทั้งจากนักการเมืองอีกฝ่ายและสื่อมวลชน กิลเบิร์ต สจ๊วต นักเขียนการ์ตูนคนหนึ่งได้วาดแผนที่นั้นเสียใหม่ให้คล้ายซาลาแมนเดอร์ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำชนิดหนึ่งซึ่งคล้ายมังกรที่มีปีก

นอกจากจะโดดเด่นในเชิงดีไซน์แล้ว สจ๊วตยังเอาชื่อของผู้ว่าฯ คนนั้นมาบวกกันจนกลายเป็นเจอร์รี่แมนเดอร์ อันเป็นคำด่าที่มีความหมายว่า ทำเพื่อตนเองอย่างหน้าด้านๆ ชื่อนี้ติดหูติดปากคนนับแต่นั้นมา

 

สําหรับกรณีสุโขทัย นอกจากจะเหมือนเจอร์รี่แมนเดอริ่งแล้ว ก่อนหน้านี้ยังมีแผนที่การแบ่งเขตที่ถูกเสนอเป็นทางเลือกให้ กกต. ถึงสามแบบ แต่ผลก็คือ ไม่ใช้สักแบบ คณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอแบบที่สี่ ซึ่งทำให้แต่ละเขตมีรูปร่างแปลกๆ และทำให้เกิดข้อครหาว่ามีใครสั่งมา? หรือแบ่งตามที่บางคนต้องการ

ทำให้นึกถึงกรณีที่คล้ายกันของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีกรณีเจอร์รี่แมนเดอริ่งเกิดขึ้นมากมาย ในบางรัฐ เช่น วิสคอนซินและฟลอริดา มีนักการเมืองฝ่ายที่พยายามทำให้เป็นของถูกกฎหมาย และถูกเรียกว่า Partisan Gerrymandering โดยดันคดีนี้เข้าไปถึงศาลสูงสุด

ปัญหาคือ ศาลสูงสุดอาจจะรู้ว่ามีการโกงเลือกตั้ง แต่ไม่มีมาตรวัดที่จะรักษาความยุติธรรมของการแบ่งแบบนี้ หรือพูดอีกอย่าง ศาลจับผิดไม่ได้เพราะไม่ยอมวางมาตรฐานเสียเอง

มีการศึกษาเรื่องนี้มากมาย บทความชื่อ Gerrymandering Is Illegal, But Only Mathemeticians Can Prove It ซึ่งลงในนิตยสาร Wired พูดถึงงานวิจัยหลายชิ้นและเวิร์กช็อปมากมาย เช่น เวิร์กช็อปชื่อ “Geometry of Redistricting” ที่มหาวิทยาลัยทัฟต์ ซึ่งมีนักศึกษาและอาจารย์ด้านคณิตศาสตร์เข้าร่วมนับพัน

ตัวอย่างของอาจารย์รุ่นใหม่ที่พยายามเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้คือ เวนดี้ แทม โช และหยาง หลิว อาจารย์มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ทำการวาดแผนที่ของรัฐเสียใหม่ด้วยซูเปอร์คอมพิวเตอร์

โชเริ่มจากคำถามที่ว่าในยุคของอัลกอริธึ่ม ทำไมไม่ใช้เดต้ามาช่วยแก้ปัญหา?

แผนที่เหล่านี้แสดงการแบ่งเขตด้วยวิธีต่างๆ อัลกอริธึ่มของเธอจะวาดแผนที่เขตต่างๆ โดยใช้เดต้าเกี่ยวกับ จำนวนประชากร, การกระจายตัวของประชากร, ชนกลุ่มน้อยต่างๆ, การแบ่งเขตการปกครองทั่วไป และวาระการเมืองต่างๆ สำหรับนอร์ทแคโรไลนารัฐเดียวมีจำนวนมากถึงสามร้อยล้านแบบ

นี่เป็นแผนที่แบบไม่เข้าข้างใคร หรือ nonpartisan maps และเป็น “ไม้บรรทัดวัดความเจอร์รี่แมนเดอร์” เธอบอกว่าศาลจะได้มีมาตรวัด เช่น ถ้าแผนที่ของรัฐบาลหรือนักการเมืองไม่ตรงกับที่วาดโดยคอมพิวเตอร์ ก็แสดงว่าการแบ่งเขตแบบนั้นมีเบื้องหลังบางอย่างแน่ๆ

โชเขียนบทความหลายชิ้น เช่น Toward a Talismanic Redistricting Tool : A Computational Method for Identifying Extreme Redistricting Plans รวมทั้งใช้ซิมูเลชั่นทำการทดลอง เพื่ออธิบายปัญหาและทางออกต่างๆ

ในขณะที่คลิปของ Vox ชื่อ The Algorithm that Could Help End Partisan Gerrymandering ให้ภาพข้อเสนอของเธออย่างชัดเจน (https://www.youtube.com/watch?time_continue=2&v=gRCZR_BbjTo)

 

แผนที่เจอร์รี่แมนเดอร์เป็นตัวจักรสำคัญที่ทำให้พรรคหนึ่งชนะและอีกพรรคหนึ่งแพ้ มันจึงมีมิติทางสังคม อย่างน้อยก็ชี้ว่าการวาดเส้นบนแผนที่อย่างไรนั้นย่อมให้ผลที่ต่างกัน เช่น ทำขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง เช่น สัมปทาน กรรมสิทธิ์ที่ดิน หรือผลเลือกตั้ง

ในสหรัฐมีการแสวงหาแผนที่แบ่งเขตที่เป็นธรรมกว่าเดิม รวมทั้งกระบวนการฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมืองและประชาชน แต่ขบวนการนี้ย่อมเกิดขึ้นในระบบที่ไม่ยอมตัดสินใครง่ายๆ ว่าทำเพื่อตนเองอย่างจงใจ หรือไม่สะท้อนความต้องการของผู้เลือก ถ้าไม่มีหลักฐานที่แน่นหนาพอ

แต่ในประเทศไทย เป็นที่ยอมรับกันว่า แผนที่แบบนี้เป็นเครื่องมือในการเอาชนะการเลือกตั้งที่ถูกสร้างขึ้นอย่างจงใจ ผู้ออกแบบ ซึ่งเอียงข้างรัฐบาลอยู่แล้ว มีผลประโยชน์ทางการเมือง

เพียงแต่ศาลจะถือเป็นคดีหรือไม่เท่านั้นเอง