ได้เวลา “ปฏิรูป” ลูกเสือไทย เร่งสางปัญหา “ทุจริต” รีบปรับหลักสูตรให้ตรงใจ “ผู้เรียน-ผู้สอน”

นับตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2454 ถือเป็นประเทศอันดับ 3 ของโลก ที่มีลูกเสือ กาลเวลาผ่านไป 105 ปี กิจการลูกเสือทั่วโลกเจริญก้าวหน้าไปมากมายทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ

สำหรับประเทศไทย ปริมาณลูกเสือเจริญก้าวหน้ากว่าชาติใดๆ เพราะตามหลักสูตรของการศึกษาไทยได้บังคับให้นักเรียนชายทุกคนต้องเป็นลูกเสือ

แตกต่างจากต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นระบบอาสาสมัคร ทำให้กระบวนการในไทยเริ่มถดถอยลง เพราะกิจกรรมเข้าไปไม่ถึงตัวเด็กอย่างแท้จริง แต่กลับไปถึงบุคลากรทางลูกเสือมากกว่า

โดยเฉพาะวิชาลูกเสือที่เป็นทักษะพิเศษที่น่าสนใจกลับไม่นำมาเปิดสอน เช่น วิชาช่วยเหลือคนตกน้ำ หรือการเดินทางไกลก็เริ่มลดเหลือน้อยลง

 

กระทั่ง ดร.จารึก อะยะวงศ์ ประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนวัดพุทธบูชา ผู้สนใจในกิจการลูกเสือไทยมาร่วม 40 ปี ได้เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์มติชนรายวันมาแล้วหลายฉบับ หนึ่งในนั้นคือฉบับวันที่ 31 สิงหาคม 2559 หลังการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

ซึ่ง ดร.จารึก ต้องการให้มีการปฏิรูปลูกเสืออย่างจริงจัง เพื่อให้การศึกษาไทยก้าวหน้าอย่างแท้จริง

ดร.จารึก เผยว่า ปัจจุบันคุณภาพของลูกเสือไทยเริ่มถดถอยลงไปกว่าที่ผ่านมา ทำให้ประชาชน รวมถึงผู้ที่อยู่ในวงการลูกเสือเริ่มพูดถึงกรณีนี้มากขึ้น

ปัญหามาจาก 3 ปัจจัย คือ 1.เป็นระบบราชการ 2.เป็นหลักสูตรบังคับให้ทุกคนต้องเป็นลูกเสือ และ 3.กระบวนการฝึกอบรมไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 มาตราที่ 4 ซึ่งระบุว่าให้เด็กและเยาวชน ทั้งชายและหญิงอาสาสมัครเข้ามาเป็นลูกเสือและเนตรนารี ไม่ใช่เป็นระบบหลักสูตร

อีกทั้งยังไม่ตรงกับหลักการของขบวนการลูกเสือสากลตามที่ “ลอร์ด เบเดน โพเอลล์” ผู้ให้กำเนิดกิจการลูกเสือชาวอังกฤษได้กล่าวไว้ว่า

“การลูกเสือมิใช่เรื่องวิชาการที่พึงศึกษาอย่างคร่ำเคร่ง อีกทั้งไม่ใช่การประมวลของลัทธิคำสั่งสอนและตำรับตำราทั้งหลาย หากแต่เป็นเกมการละเล่นสนุกสนานกลางแจ้ง เป็นสถานที่ที่ผู้ใหญ่กับเด็กสามารถออกไปผจญภัยร่วมกัน ดุจพี่น้องทั้งวัยสูงกว่าและอ่อนกว่า อันนำมาซึ่งสุขภาพอนามัยและความสุขสำราญ ความชำนาญด้วยฝีไม้ลายมือและการช่วยเหลือเอื้ออาทรต่อกัน นี่คืออุดมการณ์ลูกเสือที่เกิดขึ้นมา”

 

เมื่อผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สอบถามผู้เรียนหลายคน ส่วนใหญ่ต่างให้ความเห็นว่า “ลูกเสือ-เนตรนารี” เป็นวิชาที่ดี เพราะช่วยให้มีระเบียบวินัย และเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้เรื่องการช่วยเหลือผู้อื่น

แต่เรื่องของหลักสูตรและระบบการเรียนการสอน ยังไม่ถูกใจบรรดาลูกเสือ-เนตรนารีรุ่นเยาว์มากนัก จนทำให้พวกเขาและเธอรู้สึกไม่อยากเรียนวิชานี้

นายดวง บุญจันทร์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/3 จากโรงเรียนมักกะสันพิทยา ให้ความเห็นว่า รู้สึกเบื่อที่ต้องมาเรียนแบบซ้ำๆ เดิมๆ และต้องมานั่งฟังครูผู้สอนวิชาลูกเสือบ่น

“อยากให้ครูเขาชวนกันร้องเพลง เต้น เหมือนเวลาไปเข้าค่าย ทุกวันนี้การผูกเงื่อนที่ครูสอนก็จำไม่ได้แล้ว เพราะไม่ได้นำไปใช้เลย ได้ใช้เพียงแค่ระหว่างเข้าค่ายเท่านั้น” นายดวง กล่าว

นางสาวชลธิชา จิตรภักดี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/1 โรงเรียนมักกะสันพิทยา ให้ความเห็นคล้ายกับนายดวง โดยระบุว่า อยากให้เปลี่ยนหลักสูตรการสอนวิชาลูกเสือ เป็นการพาผู้เรียนออกไปเรียนรู้นอกสถานที่บ้าง

“เขาน่าจะเอาเวลาที่อบรม มาสอนให้เราสามารถมีวิธีการเรียนรู้ชีวิตประจำวันได้ดีกว่านี้อะค่ะ ก็อย่างเช่น ถ้าทุกอาทิตย์มันจะมี (วิชาลูกเสือ-เนตรนารี) อาทิตย์ละคาบ ก็อยากให้เปลี่ยนเป็น (เรียน) ทั้งวันเลย ออกไปข้างนอกบ้าง หรือว่าอยู่ในโรงเรียนก็ได้ แล้วก็เอาหลักสูตรที่สามารถนำไปใช้ได้จริงๆ มาสอนให้มากกว่านี้” นางสาวชลธิชา กล่าว

เช่นเดียวกับครูผู้สอน อย่าง นายสรากร บุญกิจเจริญ ครูสอนวิชาลูกเสือโรงเรียนมักกะสันพิทยา ซึ่งให้ความเห็นว่า ควรปรับเปลี่ยนหลักสูตรลูกเสือ เพราะคิดว่ายังมีเนื้อหาที่น่าสนใจอีกหลายวิชาแต่ไม่ได้นำมาสอน เนื่องจากต้องสอนตามหลักสูตร นอกจากนี้ ระบบบังคับเรียนยังสร้างปัญหาเรื่องจำนวนครูผู้สอนที่อาจมีไม่เพียงพออีกด้วย

“มันเป็นวิชาที่นักเรียนจะต้องเรียน แล้วบังคับที่จะต้องผ่าน ถ้าไม่ผ่านก็คือไม่จบ ตัวหลักสูตรอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนบ้าง เพื่อให้มันเหมาะกับสภาพปัจจุบัน ควรเสริมพวกวิชาพิเศษเกี่ยวกับทักษะชีวิตที่นักเรียนสามารถนำไปใช้ได้จริงๆ มากกว่านี้” ผู้สอนวิชาลูกเสือ กล่าว

 

เมื่อนำความเห็นจากของผู้เรียนวิชาลูกเสือ-เนตรนารี และอาจารย์ผู้สอน ไปนำเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ เผยว่า การนำวิชาลูกเสือบรรจุเข้าไปในหลักสูตรโรงเรียนนั้น เริ่มต้นเมื่อปี 2516 เพราะกระทรวงศึกษาธิการมองว่าเป็นวิชาที่มีประโยชน์ต่อเด็ก

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ยุคสมัยเปลี่ยน ก็ต้องยอมรับว่าหลักสูตรที่ใช้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับยุคสมัย เนื่องจากเป็นโครงสร้างเชิงอนุรักษนิยม ไม่สอดคล้องกับประชาคมลูกเสือ ทำให้ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ตามวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งลูกเสือเหมือนสมัยก่อน

“เด็กไม่ได้อยากเป็นลูกเสือเพราะเห็นภาพของการบำเพ็ญประโยชน์ เด็กเป็นลูกเสือเพราะโรงเรียนบอกให้ทำ บอกให้เรียน คนทั่วไปมองลูกเสือว่าเอ๊ะลูกเสือไปทำอะไรกัน ไปร้องรำทำเพลงกันหรือเปล่า คนไม่ได้เห็นลูกเสือทำเรื่องที่เป็นประโยชน์ นี่คือคำถามที่คนถามกับลูกเสือ” เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ กล่าว

ดร.ชัยยศ เผยต่อว่า ที่ผ่านมาไม่มีคนเข้าไปดูแลประเด็นนี้อย่างจริงจัง จึงทำให้เกิดด้านมืดภายในวงการลูกเสือขึ้นมา โดยมีบางคนแสวงหาประโยชน์จากลูกเสืออย่างที่ไม่ควรจะทำ

จากการตรวจสอบพบว่ามีการทุจริตในการจัดอบรมครูผู้สอนวิชาลูกเสือ (เพื่อให้เพียงพอต่อการสอนวิชาบังคับตามหลักสูตร) จริง เพราะไม่ได้รับการอนุมัติ และไม่มีการแต่งตั้งผู้ตรวจการประเมิน

เนื่องจากการจัดการฝึกอบรมลูกเสือต้องได้รับการอนุมัติและมีการแต่งตั้งผู้ตรวจการประเมินจากเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติก่อน อีกทั้งยังตรวจพบว่ามีการจัดเก็บค่าฝึกอบรมลูกเสือเกินความจำเป็น

“คือแรกๆ อาจจะไม่ตั้งใจ แต่เอ๊ะพอทำได้ก็ไม่มีใครว่า ไม่มีใครจับได้ ค่อนข้างจะเกรงใจกัน ก็เลยทำเสียจนเป็นเรื่องปกติ เขาก็อ้างว่าเป็นค่าอาหาร ก็โอเคไม่ว่าอะไร แต่ว่ามันไม่ควรจะมาก บางรายเล่าให้ฟังว่าเสียไปเป็นคนละหมื่น หมื่นกว่า ครูจะเอาเงินจากไหน ก็ต้องกู้หนี้ยืมสินมา ทั้งๆ ที่เรื่องของลูกเสือเป็นการเสียสละ การดูแลซึ่งกันและกัน” เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ กล่าว

สำหรับการตรวจพบการทุจริตในวงการลูกเสือครั้งนี้ ดร.ชัยยศ เผยว่า กำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้งหนึ่ง หากพบว่ามีความผิดจริง ผู้ทำผิดจะต้องรับโทษตามกฎหมาย

 

ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการเริ่มดำเนินการปฏิรูปงานลูกเสือแล้ว โดยจะปรับโครงสร้างสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ รื้อหลักสูตรอบรมลูกเสือทุกรุ่นที่ใช้มานานกว่า 20 ปีเสียใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

โดย พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เพิ่งเซ็นคำสั่งแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ จำนวน 15 คน หลังจากกรรมการชุดเดิมหมดวาระลงเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

การแต่งตั้งครั้งนี้ก็เพื่อให้คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติสามารถดำเนินการขับเคลื่อนงานลูกเสือ ตามนโยบายของ พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้

สำหรับหลักสูตรลูกเสือใหม่ที่ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ปรับปรุงนั้นใช้ชื่อว่า “หลักสูตรทักษะชีวิต” โดยได้รับความร่วมมือจาก สสส. และสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ ในการจัดทำ เพื่อพัฒนาให้วงการลูกเสือไทยก้าวหน้ายิ่งขึ้น

หลักสูตรใหม่จะเน้นการพัฒนาทักษะชีวิตครบถ้วนตามหลักสูตร พ.ศ.2510 คือ 1.การดูแลตัวเอง 2.การดูแลสุขภาพอนามัย 3.เสริมทักษะพิเศษ และ 4.การช่วยเหลือผู้อื่น

ขณะนี้ ทางกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ส่งมอบหลักสูตรลูกเสือใหม่ไปยังทุกโรงเรียนในสังกัดแล้ว โดยสามารถดาวน์โหลดหลักสูตรจากเว็บไซต์หน่วยงานการศึกษาของรัฐบาล คาดว่าจะปรับใช้ทั่วประเทศภายในปี 2560

ท้ายสุด ดร.ชัยยศ ยังเผยด้วยว่า ในปี 2560 จะเตรียมทำประชาพิจารณ์เปลี่ยนชุดลูกเสือที่ใช้มานานถึง 105 ปี เพื่อให้ผู้เรียนเลือกสิ่งที่ตัวเองชอบที่สุด

เนื่องจากชุดลูกเสือมีหลากหลายรูปแบบ หากนำมาปรับใช้จะช่วยให้ผู้เรียนรู้สึกสนุกสนานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าผลของการประชาพิจารณ์จะออกมาในรูปแบบใด? เพราะต้องสำรวจความเห็นของเด็กนักเรียนอีกครั้งหนึ่ง