ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ l วิกฤตความชอบธรรม : ชนวนใหม่ความขัดแย้งประเทศ

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐประหารแล้วตั้งตัวเองเป็นนายกฯ ในปี 2557 โดยอ้างความชอบธรรมสองประการ

หนึ่งคือ ความชอบธรรมที่เกิดจากสถานการณ์การเมือง ซึ่งทุกคนถูกทำให้เชื่อว่ายุติด้วยกระบวนการปกติไม่ได้

สองคือ ความชอบธรรมตามประเพณีเมื่อราชกิจจานุเบกษาประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งคุณประยุทธ์ตามที่สภานิติบัญญัติเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรี

ตรงข้ามกับนายกรัฐมนตรีในอดีตของไทยซึ่งมีอำนาจเพราะมีความชอบธรรมที่เกิดจากการครอบครองคุณสมบัติบางอย่างในตัวเอง พล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจเพราะยึดอำนาจ จากนั้นก็เอาตัวเองไปเกาะกับแหล่งที่มาของความชอบธรรมที่อยู่นอกตัวเองตลอดเวลา

คุณประยุทธ์ไม่ได้เป็นนายกฯ เพราะประชาชนเห็นอะไรบางอย่างในตัวคุณประยุทธ์จนอยากให้คุณประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี

คุณประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ เพราะมีเหตุจากปัจจัยภายนอกสนับสนุน

และเหตุปัจจัยนั้นทำให้คุณประยุทธ์อ้างหรือเอาไปปิดปากคนอื่นได้ว่าต้องสยบยอมให้คุณประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี

แม้อดีตนายกฯ อย่างคุณทักษิณ ชินวัตร, คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, คุณชวน หลีกภัย และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จะมาจากพรรคการเมืองที่ต่างกัน แต่ทั้งสี่ได้เป็นนายกฯ เพราะครอบครองคุณสมบัติสองข้อซึ่งใครก็แย่งไม่ได้

ข้อแรกคือ ทุกคนเป็นผู้นำพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้ง

และข้อสองคือ ทุกพรรคการเมืองแข่งขันในการเลือกตั้งอย่างเสมอภาคเพื่อให้ประชาชนลงมติว่าอยากได้ใครเป็นรัฐบาล

เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรีทั้งสี่มีต้นธารในการเข้าสู่อำนาจอย่างชอบธรรม สถานภาพทางอำนาจจึงวางอยู่บนความยอมรับจนกว่าจะเกิดสถานการณ์ใหม่ๆ ที่ทำให้ความชอบธรรมทั้งสองข้อเสื่อมความหมายไปในที่สุด

ตัวอย่างเช่น การขายหุ้นโดยไม่เสียภาษี, การผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม, การให้เอกสารสิทธิ์ในเขตป่าแก่พวกเดียวกัน หรือการใช้นโยบายค่าเงินบาทลอยตัว

ในแง่นี้ ความชอบธรรมทางการเมืองเป็นเรื่องลื่นไหล เคลื่อนตัวไปได้เรื่อยๆ

และต่อให้สาเหตุที่ทำให้ผู้นำบางคนมีความชอบธรรมจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย

สถานการณ์การเมืองแบบใหม่ๆ ก็อาจทำให้ความชอบธรรมที่เคยมีนั้นอ่อนแอจนจรรโลงอำนาจของผู้มีอำนาจไม่ได้อีกต่อไป

สำหรับผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง การตระหนักว่าสังคมได้เกิดความรู้สึกนึกคิดที่ทำให้ความชอบธรรมเสื่อมราคาคือหัวใจของกำหนดจังหวะก้าวทางการเมืองที่สำคัญที่สุด

เพราะนั่นหมายถึงการตัดสินใจยุบสภาในเวลาที่ไม่ช้าเกินไปจนสังคมรับไม่ได้

และในขณะเดียวกันก็ไม่เร็วเกินไปจนเข้าข่ายทรยศอาณัติที่ได้รับมอบหมายจากประชาชนผู้ลงคะแนน

ในกรณีของนายกฯ จากการเลือกตั้งที่ประเมินอารมณ์นี้ไม่ได้ ความยอมรับทางการเมืองก็จะถดถอยจนการเมืองเกิดวิกฤต จากนั้นคือความเสี่ยงที่จะเกิดการเผชิญหน้า, การต่อต้าน และการขับไล่ ต่อให้ฐานของความชอบธรรมทางอำนาจจะไม่เปลี่ยนแปลงไป และผู้มีอำนาจไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมายเลยก็ตาม

การผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์กระทำไปโดยขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ทั้งหมด แต่เมื่อสังคมรู้สึกว่าการนิรโทษกรรมแบบนี้มากเกินไป ความยอมรับทางการเมืองก็เสื่อมสลาย

และในที่สุดก็สูญเสียความชอบธรรมจากสถานการณ์การเมืองแบบใหม่ๆ ทั้งที่ความเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งยังเหมือนเดิมทุกประการ

สําหรับผู้ที่ครอบครองอำนาจรัฐด้วยกระบอกปืน ความตระหนักว่าอำนาจรัฐต้องวางอยู่บนความยอมรับจากประชาชนเป็นเรื่องซึ่งเข้าใจได้ยาก และต่อให้เข้าใจก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีความสามารถสัมผัสความรู้สึกนี้ได้อยู่ดี

อำนาจรัฐที่มาจากกระบอกปืนคือการใช้กำลังบังคับให้คนอื่นสยบ ส่วนอำนาจรัฐจากความยอมรับคือการครอบครองความชอบธรรมจนผู้อื่นเห็นว่าคู่ควรอำนาจจริงๆ ผู้มีอำนาจด้วยกระบอกปืนจึงครอบครองอำนาจด้วยวิธีขืนใจผู้อื่น ความคาดหวังให้คนแบบนี้คิดได้จึงเพ้อเจ้อเหมือนคาดหวังให้นักข่มขืนเข้าใจเพศสัมพันธ์จากความพร้อมใจ

ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์รัฐประหารแล้วตั้งตัวเองเป็นนายกฯ จนปัจจุบัน ปัจจัยภายนอกที่ทำให้สังคมสยบยอมต่ออำนาจของคุณประยุทธ์ได้เสื่อมสลายไปแล้ว

ความรู้สึกว่าคุณประยุทธ์เป็นผู้นำเพื่อสร้างความสงบถูกแทนที่ด้วยความรู้สึกว่าคุณประยุทธ์กระหายอำนาจ ส่วนความชอบธรรมตามแบบแผนประเพณีก็เป็นเรื่องที่อาจเกิดแก่คนอื่นได้เหมือนกัน

คุณประยุทธ์ไม่ใช่สัญลักษณ์ของความสงบ, การนำประเทศสู่ประชาธิปไตย, การเปลี่ยนผ่าน, ความปรองดอง ฯลฯ อย่างที่คุณประยุทธ์เคยทำให้สังคมเชื่อ หรือบางคนแกล้งหลอกตัวเองว่าเชื่อ

แต่คุณประยุทธ์เป็นศูนย์กลางของความขัดแย้ง และการอยู่ในอำนาจของคุณประยุทธ์จะสร้างความขัดแย้งใหม่แทนความขัดแย้งเรื่องเหลือง-แดงแบบเดิมๆ

แม้การรัฐประหารโดยเครือข่ายนายพลที่ยึดกองทัพเกือบสิบปีทำให้คุณประยุทธ์มีฐานอำนาจที่แข็งแกร่ง

แต่การจรรโลงอำนาจท่ามกลางความชอบธรรมทางการเมืองที่เสื่อมสลายนั้นเสี่ยงที่จะทำให้กองทัพเผชิญหน้ากับประชาชน

และถึงจุดหนึ่งย่อมเกิดคำถามว่าทำไมทหารต้องเป็นเบี้ยล่างนายพลเกษียณอายุเหมือนกองทัพเป็นสมบัติประจำตระกูล?

ต่อให้เป็นทหารประจำการที่ไม่สนใจเรื่องประชาธิปไตยหรือความยอมรับจากประชาชนเลย การเอากองทัพเป็นฐานอำนาจคณะรัฐประหารก็ไม่ใช่พันธกิจที่ต้องเป็นไปตลอดแน่ๆ เพราะกองทัพไม่ใช่ของ พล.อ.ประยุทธ์ และในเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ได้อำนาจรัฐโดยกระบอกปืนได้ ผู้ครอบครองกระบอกปืนรายอื่นย่อมคิดว่าตัวเองทำแบบคุณประยุทธ์ได้เหมือนกัน

อันที่จริงคุณประยุทธ์พยายามสร้างความชอบธรรมทางการเมืองแบบใหม่ๆ ให้ตัวเองตลอดมา และพฤติการณ์ทางการเมืองของ คสช.ล้วนเป็นไปเพื่อเป้าหมายนี้อย่างถึงที่สุด

แต่สภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือความพยายามนี้ประสบความสำเร็จไม่มากนัก

หรืออย่างน้อยก็ไม่เท่ากับความล้มเหลวหรือคำวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้คุณประยุทธ์ไร้ความชอบธรรมทางการเมืองมากที่สุดคือที่มาซึ่งไม่ได้มาจากประชาชน

สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้พยายามทำมาตลอดจึงได้แก่การผลักดันนโยบายซึ่งสามารถอวดอ้างได้ว่าทำเพื่อคนส่วนใหญ่จนคนส่วนใหญ่ยอมรับ

หรือพูดง่ายๆ คือ การสร้างภาพว่าเป็นรัฐบาลเพื่อประชาชน ต่อให้จะไม่ได้มาจากประชาชน

อย่างไรก็ดี อำนาจที่รัฐบาลนี้ใช้มาตลอดห้าปีไม่ประสบความสำเร็จในการทำให้ใครรู้สึก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ของคนส่วนใหญ่

เพราะนอกจากการแก้ปัญหาปลายเหตุประเภทหนี้นอกระบบหรือที่ทำกิน ชีวิตของคนทั่วไปไม่ได้มีอะไรดีขึ้นจากการบริหารประเทศของรัฐบาลนี้มากนัก และกระทั่งเรื่องหนี้หรือที่ทำกินก็บรรลุผลต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้โดยสิ้นเชิง

เท่าที่รองโฆษกรัฐบาลระบุ รัฐบาลแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้เพียง 5 หมื่นราย จากจำนวนลูกหนี้ซึ่งยอมเปิดเผยทั้งสิ้น 3.5 แสนราย

ส่วนการจัดสรรที่ทำกินให้คนจนเมื่อถึงสิ้นปี 2560 ก็ทำได้แค่ 708,000 ไร่ ซึ่งต่ำกว่าหลายเท่าตัวจากเป้าหมาย 5.6 ล้านไร่ ซึ่งรัฐบาลเคยประกาศว่าจะทำให้คนจนมีที่ทำกิน แม้ไม่มีเอกสารสิทธิ์ก็ตาม

ล่าสุด การแถลงตัวเลข “ความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง” โดยสถาบันการเงินระหว่างประเทศอย่าง Credit Suisse ก็ทำให้สังคมเห็นประเด็นการสะสมทุนของอภิมหาเศรษฐีที่ขยายตัวอย่างสุดขั้วยิ่งขึ้นไปอีก

เช่นเดียวกับจุดประกายให้คนคิดถึง “ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้” ที่รุนแรงในรอบสี่ห้าปีที่ผ่านมา

มาตรการแจกเงินคนจนที่สื่อถ่ายทอดภาพคนเข้าแถวหรือวิวาทเพื่อกดเงิน 500 บาท ยิ่งตอกย้ำว่ารัฐล้มเหลวเรื่องทำให้คนส่วนใหญ่ไม่จน เพราะคนที่ได้เงินคือผู้ไร้งานหรือมีงานที่ค่าตอบแทนน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ จำนวนประชากรกลุ่มนี้ที่มีถึง 11.4 ล้านคนจึงเป็นใบเสร็จของความเหลื่อมล้ำอย่างแน่นอน

ด้วยความเป็นจริงที่นโยบายและมาตรการเพื่อคนส่วนใหญ่แทบไม่ได้ผล พล.อ.ประยุทธ์ย่อมไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างความชอบธรรมใหม่ๆ เพื่อชดเชยที่มาที่ไม่ชอบธรรม หรือทดแทนความชอบธรรมจากความจำเป็นและความชอบธรรมตามประเพณีที่ถดถอยลง

การตั้งพรรคพลังประชารัฐ เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการสร้างความชอบธรรมแบบใหม่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ด้วยพฤติกรรมที่หัวหน้า คสช.ยุ่งเรื่องแบ่งเขตเลือกตั้งและบัตรเลือกตั้ง, สี่รัฐมนตรีไล่ดูดผู้มีอิทธิพล และภาพลักษณ์ที่เต็มไปด้วยการเอาเปรียบพรรคอื่นๆ คะแนนเสียงของพรรคจะเป็นใบเสร็จของความไม่โปร่งใสมากกว่าความยอมรับของประชาชน

ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะประสบผลสำเร็จในการผลักดันให้ตัวเองได้เป็นนายกฯ หลังปี 2562 หรือไม่ และไม่ว่าพรรคที่ลูกน้อง พล.อ.ประยุทธ์ตั้งขึ้นจะได้จำนวน ส.ส.อย่างไร การเลือกตั้งรอบนี้เสื่อมโอกาสจะเป็นแหล่งที่มาของความชอบธรรมใหม่ให้คุณประยุทธ์ไปแล้วอย่างแน่นอน

ความชอบธรรมเก่าที่ผลักดันให้หัวหน้าคณะรัฐประหารยึดอำนาจแล้วตั้งตัวเองเป็นนายกฯ สำเร็จในปี 2557 เสื่อมสลายไปเกือบหมดแล้ว และความชอบธรรมใหม่ที่จะทำให้หัวหน้าคณะรัฐประหารได้เป็นนายกฯ ต่อหลังปี 2562 แทบไม่ปรากฏ การสืบทอดอำนาจจึงเป็นประตูสู่วิกฤตการเมืองที่จะสร้างวิกฤตของประเทศกว่าที่ผ่านมา

ต่อให้การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์โดยไม่ถูกเบี้ยวอีกอย่างที่เป็นข่าว โอกาสที่ผลเลือกตั้งจะเป็นจุดรีสตาร์ตประเทศเหมือนที่เคยเกิดในการเลือกตั้งปี 2550 และ 2557 ก็มีน้อยมาก ตราบใดที่ผู้มีอำนาจไม่เข้าใจว่าความชอบธรรมทางการเมืองคือความยอมรับจากประชาชน

ไม่ใช่การจัดฉากเพื่ออ้างว่าประชาชนยอมรับอย่างที่ทำกัน