บทวิเคราะห์ : การจับกุมผู้บริหารหัวเว่ย คลื่นใต้น้ำสงครามการค้า

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ระหว่างที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ และสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีจีน เห็นชอบในการยุติสงครามการค้าเป็นการชั่วคราว ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา

เมิ่ง หวั่น โจว ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน (ซีเอฟโอ) และลูกสาวผู้ก่อตั้งบริษัทหัวเว่ย บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของจีน ก็ถูกทางการแคนาดาจับกุมตัวในวันเดียวกัน ตามคำขอของทางการสหรัฐอเมริกา ในข้อหาละเมิดมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าที่สหรัฐอเมริกามีต่ออิหร่าน ต้องเผชิญกับการส่งตัวไปยังสหรัฐอเมริกา และโทษจำคุกสูงสุดถึง 30 ปี

แม้ว่าการจับกุมตัวเมิ่งจะไม่ส่งผลให้การเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้านั้นถูกล้มเลิก

แต่ก็ดูจะส่งผลกระทบเป็นคลื่นใต้น้ำต่อความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองประเทศยักษ์ใหญ่ไม่น้อย

 

การจับกุมเมิ่งในครั้งนี้นับเป็นท่าทีอันแข็งกร้าวมากที่สุดของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อหัวเว่ย

หลังจากก่อนหน้านี้หน่วยงานข่าวกรองสหรัฐอเมริกามองว่าอุปกรณ์สื่อสารที่ผลิตโดยบริษัทจากประเทศจีนแห่งนี้เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ

และกดดันให้ผู้ให้บริการสื่อสารในสหรัฐ รวมไปถึงชาติพันธมิตรทั้งในยุโรป และเอเชียเลิกใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยในเครือข่ายของประเทศ

และยังกดดันให้จำกัดหัวเว่ยจากการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบ 5G ในอนาคตด้วย

ทั้งจีนและสหรัฐต่างแข่งขันและเกิดความขัดแย้งกันในเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีในยุคต่อไป ซึ่งรวมไปถึงระบบ 5G, ระบบรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ, ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ และอื่นๆ

ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเทคโนโลยีที่จะก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจและพัฒนาความมั่นคงของชาติในช่วง 10 ปีข้างหน้านี้

ภายใต้การแข่งขันดังกล่าวสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎควบคุมการส่งออกและการลงทุนที่ส่งผลให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาได้ยากขึ้น

และกำแพงดังกล่าวจะยังคงมีต่อไป ไม่ว่าผลลัพธ์การเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะเป็นอย่างไร

 

การพุ่งเป้าไปที่ธุรกิจเทคโนโลยีของจีนไม่ได้เกิดขึ้นกับหัวเว่ยเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ “แซดทีอี” บริษัทผู้ผลิตสมาร์ตโฟนและอุปกรณ์เครือข่ายอินเตอร์เน็ตเช่นเดียวกับหัวเว่ยเคยต้องขาดทุนถึงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากค่าปรับและมาตรการลงโทษจากการละเมิดข้อตกลงคว่ำบาตรอิหร่านและเกาหลีเหนือมาแล้วก่อนหน้านี้

การดำเนินการดังกล่าว แน่นอนว่าอาจส่งผลกระทบกับสินค้าสหรัฐอเมริกาเองด้วย โดยเฉพาะเมื่อชาวจีนส่วนใหญ่มองการจับกุมดังกล่าวว่าเป็นการเอาเปรียบทางการค้า

“การบีบคอหัวเว่ยของสหรัฐอเมริกาจะส่งผลร้ายกับสหรัฐเอง” หนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์ของจีนพาดหัวบทความสะท้อนความรู้สึกดังกล่าวของจีนได้เป็นอย่างดี

แดน เอียน นักวิเคราะห์จากบริษัทเพื่อการลงทุนเว็ดบุช ระบุว่าสิ่งสุดท้ายที่นักลงทุนต้องการเห็นก็คือ ข่าวเกี่ยวกับการจับตัวซีเอฟโอของหัวเว่ย เนื่องจากมันจะจุดชนวนให้เกิดการตอบโต้คืนมา และแบรนด์แรกที่จะได้รับผลกระทบก็คือ “แอปเปิ้ล”

กระแสความไม่เห็นด้วยเกิดขึ้นแล้ว จากกลุ่มคนที่ร่วมถือป้ายสนับสนุนนางเมิ่ง ที่หน้าอาคารศาล ในเมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ระหว่างการไต่สวนคำร้องขอประกันตัวนางเมิ่งในช่วงหลายวันที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้ มีรายงานว่า มีบริษัทจีนหลายบริษัทที่เริ่มสนับสนุนให้พนักงานใช้สินค้าหัวเว่ยแทนที่แอปเปิ้ลแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีกระแสในการตอบโต้กันและกันระหว่างสองฝ่ายก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์บางส่วนก็มองว่าผลร้ายจะเกิดขึ้นมากกว่าผลดี เนื่องจากการค้าการลงทุนระหว่างสหรัฐและจีนในเวลานี้ต่างได้ผลประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย สหรัฐเองต้องพึ่งห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ที่มีในประเทศจีน ขณะที่จีนเองก็ต้องพึ่งพิงสหรัฐจากการจ้างงานจำนวนมากถึง 4.8 ล้านตำแหน่งในจีน ดังนั้น การตอบโต้สหรัฐด้วยการสร้างความเสียหายกับแอปเปิ้ล ก็เหมือนกับการเผาบ้านตัวเองด้วยเช่นกัน

จากนี้คงต้องจับตาดูการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่ต่างมีข้อแม้ที่ดูแล้วยากที่จะหาจุดยืนร่วมกันได้

และการจับกุมเมิ่งนั้นก็ดูเหมือนว่าจะทำให้กระบวนการเจรจาที่ว่านั้นยากยิ่งขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว