กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร : “วัดมงคล อยู่ที่ไหน ใครรู้บ้าง”

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ท่านเคยเล่าว่า

ในหลวงท่านทรงเคยเล่านวนิยายเรื่องหนึ่งให้ฟัง

เรื่องมีอยู่ว่า นานมาแล้ว

มีชายผู้หนึ่ง สืบเชื้อสายมาจากอินเดีย

เขาพาคุณปู่ของเขามากราบพระที่วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

ระหว่างทางกลับนั้น ก่อนจะถึงตัวเมืองสระบุรี

ได้ผ่านวัดวัดหนึ่ง มี “โบสถ์” ที่ยังสร้างไม่เสร็จ

ชายผู้นั้นและคุณปู่ของเขา จึงแวะเข้าไปในวัดแห่งนั้น

ถวายเงินให้ “70 ชั่ง” เพื่อสร้างโบสถ์…

ทรงเล่าให้ฟังเพียงเท่านี้

แล้วรับสั่งกับ ดร.สุเมธ ว่า

“ช่วยไปตามหาวัดแห่งนี้ให้ฉันหน่อยได้มั้ย”

 

หลายท่านคงเคยได้ยินคำพูดของไอน์สไตน์ ที่ว่า

“จินตนาการสำคัญกว่าความรู้”

“จินตนาการ” พาเราไปในที่ที่ยังไม่เคยมีใครรู้จัก

ยังไม่เคยมีใครเหยียบย่างเข้าไปถึง

ที่แห่งนั้น สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นแล้ว ราวกับเป็นของจริง เป็นสิ่งใหม่ ที่ใครๆ อาจจะมองไม่เห็นเหมือนเรา

“ความรู้” นั้น โดยส่วนมาก เป็นสิ่งที่ “ผู้อื่น” คิดค้นขึ้นมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เหล่านักเรียนก็ศึกษาสิ่งเหล่านั้นให้ถ่องแท้ เพื่อนำไปประกอบกิจการสร้างประโยชน์กัน

หากเราต้องการให้โลกใบนี้ ไม่หยุด “หมุน” ด้วยความคิดใหม่ๆ

จินตนาการ จึงสำคัญกว่า ความรู้

เมื่อสมัยที่ผมศึกษาทางด้านการสร้าง “นวัตกรรม” ที่ประเทศอเมริกา

อาจารย์ท่านหนึ่ง เคยให้ข้อสังเกตไว้ว่า

คนที่เป็นนักประดิษฐ์ นักสร้างอะไรใหม่ๆ นั้น

มักจะมีคำถามหนึ่งติดปากเสมอ

คำถามนั้น คือ “What if…”

แปลเป็นไทยก็คงจะประมาณว่า “จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหาก…”

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหากผู้คนสามารถคุยกันได้ โดยไม่ต้องพบกัน

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหากคนเราบินได้

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหากโลกนี้ไม่มีแรงโน้มถ่วง

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหากหุ่นยนต์ทำงานแทนมนุษย์

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหาก…

คำพูดติดปากของคนช่าง “จินตนาการ”

ที่หลายครั้ง ก็กลายมาเป็น “นวัตกร” ในที่สุด

 

หลายๆ ท่านอาจจะยังไม่เคยได้ยินชื่อ “วัดมงคล”

ในหลวงท่านทรงรับสั่งให้ ดร.สุเมธ ไปซื้อที่ในแถบนั้น เป็นจำนวน 15 ไร่

แล้วพระราชทานชื่อใหม่ว่า “วัดมงคลชัยพัฒนา”

ทรงเห็นว่า การมาวัดของชาวบ้านในแต่ละครั้ง

มีแค่การถวายเพล ใส่บาตร ถวายสังฆทาน หรือร่วมงานในโอกาสสำคัญต่างๆ

ยังไม่ได้ “ประโยชน์” เท่าที่ควร

จึงรับสั่งให้ ดร.สุเมธ และทีมงาน ลองลงมือทำนาขึ้นมาสักแปลง

ปลูกผลหมากรากไม้นานาชนิด เช่น กล้วย มังคุด ฯลฯ

ขุดบ่อน้ำ เอาไว้เลี้ยงปลา และสร้างบ้านอาศัย

ทรงอยากให้ชาวบ้านได้มาศึกษาวิธีการทำ “เกษตร” ได้ด้วยอีกทาง หากมีโอกาสมาที่วัด

หวังว่าชาวบ้านจะได้ความรู้ ได้ประโยชน์ เอาไปต่อยอดการทำเกษตรของตนเอง

ยิ่งกว่านั้น ยังสร้างหลักการที่เรียกว่า “บวร”

ย่อมากจาก บ้าน วัด ราชการ

วัด อยู่ตรงกลางระหว่างบ้านและราชการ

อยากจะให้ทั้งสามส่วนได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

หลายครั้ง ชาวบ้านเข้าไปพูดคุยขอความช่วยเหลือกับทางราชการเอง

ก็อาจจะไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ราชการไม่สนใจ

การให้ “วัด” มาเป็นศูนย์กลาง เชื่อมบ้านและราชการ นั้นก็จะส่งผลดี

ชาวบ้านบอกหลวงพ่อว่ามีปัญหาอย่างนั้นอย่างนี้

หลวงพ่อก็โทรศัพท์ไปบอกนายอำเภอ ว่าให้เข้ามาช่วยดูแลหน่อย

นายอำเภอก็คงจะมีความเกรงใจหลวงพ่ออยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย

กลายเป็นการทำงานแบบ “สามเส้า”

ราชการทำงานได้ไวขึ้น ชาวบ้านก็ได้ประโยชน์มากขึ้น

ทำแบบนี้ไปสักพัก

วันหนึ่ง “ในหลวง” เสด็จเข้าไปดูงาน แล้วทรงประทับใจในพื้นที่

“เอ้อ ดีนะ ทำแบบนี้ มีทุกอย่างเลย มีข้าว มีปลา มีไก่ มีผลหมากรากไม้”

เกิดเป็น ทฤษฎีใหม่ เรียกว่า “เศรษฐกิจพอเพียง”

อย่างที่เราท่านรู้จักชื่อกันดีในทุกวันนี้

 

หลายครั้งหลายครา

“นวัตกรรม” ไม่ได้เกิดจากการนั่งประชุมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญ

แต่เกิดจาก “การทดลอง”

โดยมี “ความบังเอิญ” ซ่อนอยู่เสมอ

ในหลวงท่านทรงแสดงให้เห็นมาหลายครั้งหลายครา

การจะสร้างสิ่งใหม่ให้ “สำเร็จ” ลุล่วงนั้น

ต้องสามารถเข้าใจปัญหาได้อย่างถ่องแท้

และลงมือทดลองทำไปก่อน

ทำเล็กๆ เพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ อย่างรวดเร็ว

ไม่ต้องเสียเวลาถกเถียงกันอยู่ในห้องประชุม

“ทฤษฎีใหม่” ของในหลวง ที่หลายคนชื่นชมในพระปรีชา

ไม่ได้เกิดขึ้นจากการขบคิดในตำราที่มีกันอยู่ในท้องตลาด

แต่ใช้ “หยาดเหงื่อ” สร้างขึ้น โดยมี “ความรัก” นำ

และอุปนิสัยที่ชื่นชอบ “การทดลอง” เป็นหัวใจต่างหาก

นี่แหละ คุณสมบัติของ “นวัตกร”

ที่ “พ่อหลวง” ของพวกเรา ทรงแสดงให้เห็นมาตลอด

 

ดร.สุเมธ เล่าว่า โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หลายครั้ง ไม่ได้มาจากการถวายฎีกาของประชาชน

แต่เกิดจากการ “นิมิต” ของในหลวง

“วัด” ในนวนิยายที่ในหลวงทรงรับสั่งให้ ดร.สุเมธ ไปลองเสาะหา

ดร.สุเมธ รีบนั่งรถไปที่สระบุรี ก็ปรากฏว่า เจอ “วัด” ที่ว่าไว้

อย่างกับ “บทละคร” จริงๆ

วัดนั้น คือ “วัดมงคล” ที่เป็นจุดกำเนิดของ “ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง” นั่นเอง

จะทดลองได้ ต้องรู้ว่าจะทดลอง “อะไร”

หลายๆ ครั้ง ไม่มีใครมาบอก ไม่มี “ความรู้” เก่าให้ศึกษา

ต้องใช้ “จินตนาการ”

พ่อทำให้ดูแล้ว ลูกๆ จงเดินตาม