เศรษฐกิจ / เร่งเครื่อง ‘อีเพย์เมนต์-อีบิซิเนส’ เสริมทัพรายได้ก่อนเลือกตั้ง คลังพุ่งเป้ากระเป๋าตุงแสนล้าน

เศรษฐกิจ

เร่งเครื่อง ‘อีเพย์เมนต์-อีบิซิเนส’

เสริมทัพรายได้ก่อนเลือกตั้ง

คลังพุ่งเป้ากระเป๋าตุงแสนล้าน

 

ก่อนจะถึงวันเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ กระทรวงการคลังพยายามเร่งผลักดันกฎหมายภาษีสำคัญๆ เพื่อเสร็จให้ทันรัฐบาลชุดนี้

ที่โล่งใจไปเปราะหนึ่งหลังการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ผ่านกฎหมายภาษีอีเพย์เมนต์ หรือพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวสร้างความกังวลต่อวงการค้าออนไลน์ของไทยพอสมควร เพราะมีข้อกำหนดให้ธนาคารรายงานธุรกรรมทางการเงินมายังกรมสรรพากร เพื่อตรวจสอบภาษี

ยังเหลืออีก 1 ฉบับคือร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่กำหนดให้จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (อีบิซิเนส) ในต่างประเทศที่เข้าทำธุรกิจในไทย เช่น เฟซบุ๊ก กูเกิล ยูทูบ อาลีบาบา โดยขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของกฤษฎีกา ซึ่งต้องเร่งพิจารณาและเสนอไปยัง สนช.ให้เสร็จก่อนวันที่ 25 ธันวาคม เพื่อให้กฎหมายผ่านก่อนเลือกตั้ง

กฎหมายภาษีทั้ง 2 ฉบับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ และพยายามเร่งรัดให้ผ่าน สนช.จบก่อนเลือกตั้งให้ได้ เพื่อให้สอดรับกับการค้าออนไลน์เติบโตสูงมาก

แค่ยอดการส่งพัสดุ ผู้ส่งพัสดุเอกชนเพียงรายเดียว พบว่า ขยายตัวสูงกว่า 1 ล้านกล่องต่อวัน จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ 7-8 หมื่นกล่องต่อวัน

 

แม้ยอดค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น แต่จากข้อมูลของกระทรวงการคลังพบว่าการค้าออนไลน์ยังเข้าระบบภาษีน้อยมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากกฎหมายภาษีของกรมสรรพากรใช้มานานหลายสิบปี ทำให้การไล่เก็บภาษียังไม่เท่าทันการค้าออนไลน์ที่เปลี่ยนแปลงทุกวินาที

นายปิ่นสาย สุรัสวดี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า การเสียภาษีของผู้ค้าออนไลน์ เป็นหน้าที่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว

โดยหลังกฎหมายบังคับใช้หวังไว้ว่าผู้ค้าออนไลน์เคยเสียภาษีน้อยมากเพียง 20% จากที่ควรเสีย 100% จะมาเสียภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งกรมสรรพากรพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกและให้คำแนะนำเรื่องภาษีกับผู้ที่ต้องการเสียภาษีอย่างถูกต้องทุกราย

สาระสำคัญของกฎหมายกำหนดผู้เสียภาษีสามารถยื่นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้และแวต รวมถึงรายการหรือเอกสารเกี่ยวกับภาษีอากรผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และกำหนดให้สถาบันการเงินรายงานธุรกรรมการเงินของลูกค้าให้กรมสรรพากร หากไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับ 1 แสนบาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาท

ธุรกรรมการเงินเข้าข่ายต้องรายงานมี 2 กรณี คือ

  1. การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ต้องเข้าข่ายทั้ง 2 ข้อ เฉลี่ยแล้วต้องรับโอนครั้งละ 5,000 บาทจึงจะเข้าข่าย ถ้าทั้งปีรับโอนเงิน 10 ล้านบาท แต่จำนวนครั้งมีแค่ 117 ครั้งก็ไม่ต้องรายงาน
  2. การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งต่อปี ต้องรับโอนเงินวันละเกือบ 10 ครั้ง จึงเข้าข่ายต้องรายงาน

ทั้งนี้ เมื่อได้ข้อมูลทางการเงินมาแล้วกรมสรรพากรจะนำข้อมูลไปประมวลผลร่วมกันกับข้อมูลอื่นๆ ในคอมพิวเตอร์เพื่อจัดกลุ่มผู้เสียภาษี

ถ้าเป็นกลุ่มมีความเสี่ยงน้อย เช่น ไม่ยื่นภาษีจะแนะนำให้มายื่นแบบ

ถ้าเสี่ยงมากคงต้องออกหนังสือเชิญมาพบเพื่อพูดคุย เพราะเมื่อคอมพิวเตอร์พบเสี่ยงมาก แต่อาจไม่ได้มีเจตนาเลี่ยงภาษี ดังนั้น ถ้าได้พูดคุยจะทราบสาเหตุจะได้แนะนำให้ดำเนินการอย่างถูกต้อง

 

กฎหมายดังกล่าวจะเริ่มบังคับใช้ในปีภาษี 2563 คือวันที่ 1 มกราคม 2563 เนื่องจากต้องรอการเชื่อมระบบระหว่างกรมกับสถาบันการเงิน โดยมีผลต่อการยื่นภาษีในปี 2564 ถ้าเป็นบุคคลธรรมดายื่นแบบช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2564 ดังนั้น มีเวลาให้ผู้ค้าออนไลน์ที่ยังเสียภาษีไม่ถูกต้องปรับตัว

กฎหมายอีเพย์เมนต์น่าจะสร้างผลกระทบต่อค้าออนไลน์รายย่อยหลายแสนรายที่ยังไม่เสียภาษีหรือเสียไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) และภาษีเงินได้

ร้านค้าออนไลน์ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของบุคคลธรรมดาไปเปิดเพจในเฟซบุ๊ก ไอจี หรือเข้าไปขายสินค้าในช้อปปิ้งออนไลน์ยักษ์ใหญ่ บางรายที่กรมสรรพากรตามมาเสียภาษีถึงกับปิดกิจการ เพราะนอกจากภาษีแล้ว ยังต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 2 เท่า ส่วนใหญ่ถูกกรมเรียกมาต้องเสียภาษีค่าปรับเป็นเงินรวมกันหลายแสนบาท

ทั้งนี้ มีความคาดหวังว่ากฎหมายอีเพย์เมนต์ทำให้ฐานภาษีของกรมสรรพากรเพิ่มขึ้น จากขณะนี้การเสียภาษีของบุคคลธรรมดา มีมายื่นแบบแสดงรายการภาษีกว่า 10 ล้านคน แต่เสียภาษีเพียง 4 ล้านคน คิดเป็นมูลค่ารวม 3-4 แสนล้านบาทเท่านั้น ส่วนนิติบุคคลอยู่ในฐานภาษี 4 แสนราย น้อยกว่าตัวเลขนิติบุคคลของกระทรวงพาณิชย์มีอยู่ถึง 6 แสนราย โดยนิติบุคคลเสียภาษีปีละกว่า 6 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีความคาดหวังว่าจะช่วยเพิ่มแวตมากขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องปรับเพิ่มอัตราจัดเก็บ 7% โดยแวตถือเป็นภาษีเก็บได้เป็นอันดับ 1 มีมูลค่าปีละกว่า 7 แสนล้านบาท แต่การค้าออนไลน์ส่งผลให้การจัดเก็บแวตลดลง เนื่องจากผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าจากออนไลน์แทนในห้าง เพราะถูกกว่า ทั้งนี้สินค้าออนไลน์ขายถูกส่วนหนึ่งเกิดจากไม่มีภาระภาษี

คาดว่าเมื่อกฎหมายอีเพย์เมนต์มีผลบังคับใช้ทำให้รายได้รัฐเพิ่มขึ้นหลายหมื่นล้านบาทจนอาจแตะระดับแสนล้านบาท

 

ขณะที่แวดวงค้าออนไลน์ สะท้อนความกังวลต่อกฎหมายอีเพย์เมนต์…

นายณัฐวิทย์ ผลวัฒนสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอลเอ็นดับเบิ้ลยูช็อป จำกัด หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ฟรีในชื่อ LnwShop (แอลเอ็นดับเบิลยูช็อป หรือเทพช็อป) กล่าวว่า ร้านค้าออนไลน์สอบถามถึงกฎหมายอีเพย์เมนต์กันมาก เพราะกลัวว่าจะถูกเก็บภาษี เนื่องจากที่ผ่านมาเคยชินไม่ต้องเสียภาษี

โดยมีความเป็นห่วงว่ากฎหมายไม่ได้มาพร้อมกับความรู้ว่าจะเข้าระบบอย่างไร เพราะคนขายของออนไลน์ส่วนใหญ่จะคิดแค่ว่าทำอย่างไรให้ของขายได้ ไม่ค่อยมีใครมาคิดว่าจะต้องเก็บเอกสาร ทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อไว้เสียภาษี

ดังนั้น เป็นหน้าที่ของภาครัฐให้ความรู้กับผู้ค้าออนไลน์ ก่อนกฎหมายจะมีผลในปี 2563

อีกคน นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ ตลาดดอทคอม Tarad.com กล่าวว่า กฎหมายอีเพย์เมนต์กำหนดให้ธนาคารรายงานความเคลื่อนไหวทางบัญชีถือว่าขัดนโยบายดิจิตอล ไทยแลนด์ 4.0 รัฐบาลต้องการส่งเสริมการค้าออนไลน์ ผลักดันให้ประเทศเข้าสู่สังคมไร้เงินสด แต่กฎหมายอีเพย์เมนต์ทำให้คนลังเลว่าจะเข้าสู่ระบบสังคมไร้เงินสดหรือไม่ เพราะกลัวการตรวจสอบ โดยมีความเห็นว่าควรชะลอการบังคับใช้กฎหมายออกไป 2 ปี เพื่อให้ระบบการชำระเงินออนไลน์เติบโตเต็มที่ก่อน

กฎหมายอีเพย์เมนต์ผ่านการพิจารณาจาก สนช.ไปแล้วหลังจากใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี ขณะนี้เหลือเวลาประมาณ 2 เดือน ก่อนเลือกตั้ง คงต้องมาลุ้นกันว่ากฎหมายอีบิซิเนสจะจบผ่านในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่

ถ้าไม่จบต้องเสนอรัฐบาลหน้า ต้องเริ่มนับ 1 ใหม่อีกรอบ

ยิ่งช้า ยิ่งกระทบรายได้รัฐ