รายงานพิเศษ / เคาต์ดาวน์ คสช. ‘บิ๊กตู่’ แปลงร่างคัมแบ๊ก จับอาการ ‘บิ๊กป้อม’ เกมจับขั้ว จับตากองทัพออกอาวุธ กับ ‘สัญญาณ’ ที่รอ

รายงานพิเศษ

เคาต์ดาวน์ คสช.

‘บิ๊กตู่’ แปลงร่างคัมแบ๊ก

จับอาการ ‘บิ๊กป้อม’ เกมจับขั้ว

จับตากองทัพออกอาวุธ

กับ ‘สัญญาณ’ ที่รอ

 

หลังการปลดล็อก หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศวันเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 หลังมีการหารือของแม่น้ำ 5 สาย กับ 74 พรรคการเมือง

ดูเสมือนว่า ประเทศไทยเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งแล้ว ไม่ว่าจะมีการเผื่อใจไว้สำหรับ “อุบัติเหตุ” ที่อาจเกิดขึ้นแบบไม่คาดฝัน

หรือเกิดปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ที่อาจทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปบ้างก็ตาม แต่ประเทศไทยหนีการเลือกตั้งไปไม่พ้น ไม่ว่าเร็วหรือช้า

นับจากนี้ ทุกสายตาจับจ้องไปที่บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่ต้องเปิดตัวประกาศรับเป็นนายกรัฐมนตรีในลิสต์ของพรรคพลังประชารัฐ ที่จะต้องมีการเปิดเผยในช่วง 14-18 มกราคม 2562

ด้วยเพราะ พล.อ.ประยุทธ์เลยขั้นตอนการตัดสินใจว่าจะเล่นการเมืองหรือไม่ ไปแล้ว

เพราะเขาน่าจะตกลงปลงใจไปแล้ว ตั้งแต่ส่งสัญญาณและผองเพื่อนเตรียมทหาร 12 และเครือข่าย ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐนั่นแล้ว

อีกทั้งหลังจากที่แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ประกาศจะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ของพรรค และอาจเสนอแค่คนเดียวแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ก็รับไมตรี ด้วยการระบุว่า ถ้าผมจะเข้าสู่การเมือง ผมก็ต้องมองพรรคนี้ไม่ใช่หรือ

แม้ว่า ในยามนี้จะมีกระแสข่าวสะพัดว่า แม้พรรคพลังประชารัฐจะแสดงความแน่วแน่ ด้วยการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เพียงคนเดียว

แต่ก็มีการสะกิดให้มีตัวเลือกครบทั้ง 3 คือ ทั้งนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค และชื่อของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่เชื่อกันว่าอยู่เบื้องหลังการช่วยก่อตั้งพรรค รวมอยู่ด้วย

หากว่าเกิด “อุบัติเหตุ” ใดทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นมา ก็จะได้มีนายกฯ สำรอง

ด้วยเพราะในเวลานี้มี “สัญญาณ” หลายอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์เองก็ยังไม่มั่นใจนัก

แม้หลายอย่างจะดูดีและราบรื่น แต่ก็ไม่มีใครหยั่งรู้อนาคต ด้วยเพราะเวลานี้สถานการณ์ทางการเมืองไม่ได้มีแค่นักการเมืองเอง หรือทหาร หรือ คสช.เท่านั้น

ไม่ว่าใครจะวางแผน หรือมีเกมอะไร แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้ประกาศทั้งกับสื่อและในที่ประชุมแม่น้ำ 5 สายแล้วว่า จะมีเลือกตั้งก่อนพระราชพิธีสำคัญ

พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายทำบ้านเมืองให้สงบ เพื่อเตรียมการสำหรับพิธีสำคัญนี้

แม้จะมีกลุ่มมวลชนของบางฝ่ายจะออกมาเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ยึดตามที่ได้เคยประกาศไว้เมื่อปีที่แล้วว่า จะมีพระราชพิธีสำคัญก่อนเลือกตั้งก็ตาม

“รัฐบาลไม่ได้เป็นคนกำหนด แต่พระองค์จะโปรดเกล้าฯ ลงมา” พล.อ.ประยุทธ์แจง

ดังนั้น หากฝ่ายใดที่เตรียมเกมการเมือง หรือการสร้างสถานการณ์หลังการเลือกตั้งไว้ เพื่อหวังผลอะไรบางอย่าง ก็อาจไม่เป็นไปตามแผน

ยกเว้นการใช้แผนซ้อนแผน เกมซ้อนเกม ที่ในเวลานี้ก็ปรากฏให้เห็นสัญญาณบางอย่างอยู่

เหล่านี้ ประกอบกับวันเวลาที่เดินมาถึงวันนี้ วันปลดล็อก วันปล่อยให้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้ ก็คงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ที่เป็นหัวหน้า คสช.มากว่า 4 ปีครึ่ง คงใจหายไม่น้อย

เพราะแม้จะวางแผนทุกอย่างมาอย่างดี เพื่อป้องกันการเสียของแล้วก็ตาม แต่ พล.อ.ประยุทธ์ย่อมรู้ดีว่า เรื่องเกินคาด หรืออยู่เหนือการควบคุม เกิดขึ้นได้เสมอ

 

ไม่ใช่แค่ พล.อ.ประยุทธ์ แต่รวมทั้งคีย์แมน คสช. อย่างพี่ใหญ่ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม และบิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พี่รองสายบูรพาพยัคฆ์ และทหารเสือราชินี ก็เข้าสู่ภวังค์ของการลุ้นระทึกไม่น้อย

ทั้งการใจหายที่ คสช.จะต้องค่อยๆ คลายและคืนอำนาจ ด้วยการจัดเลือกตั้ง และจะนำไปสู่วันที่รัฐบาล คสช. สิ้นสลายลงเมื่อมีรัฐบาลใหม่

แม้จะมั่นใจว่า ยังไง พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้คัมแบ๊กกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ด้วยกลไกที่วางแผนรองรับเอาไว้หมดก็ตาม แต่อาการไม่มั่นใจและประหวั่นใจย่อมมี

แม้ว่ากระแสพรรคพลังประชารัฐจะมาแรง แถมการที่ ครม.อนุมัติโครงการต่างๆ ให้ประชาชน ทั้งบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เงินช่วยเหลือต่างๆ และการแก้ปัญหาหนี้นอกระบอบ จนเอาโฉนดที่ดิน ทรัพย์สินมาคืนให้ชาวบ้านได้มากมาย ที่ดูเหมือนโดนใจประชาชน แต่ก็ไม่อาจรับประกันได้ว่า ประชาชนจะเลือกพรรคพลังประชารัฐที่หนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ

แม้ในแง่ของการจับขั้ว เตรียมจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง จะไม่ได้ทำให้วิตกกังวลใดๆ มากนัก เพราะด้วยกระแสบิ๊กตู่ และความนิยมของประชาชนยังอยู่ในเกณฑ์ดีก็ตาม

แต่ปัญหาคือ ไม่อาจคาดเดาได้ว่า ประชาชนจะเลือกตั้งออกมาแบบไหน

ยิ่งเมื่อ กกต.คาดการณ์ว่า คืนวันเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ปีหน้า จะรู้ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ และรู้ว่าใครจะเป็นนายกฯ ก็ตาม แต่ก็ต้องดูคะแนนเสียงก่อน

แม้ในระยะนี้ ท่าทีของ พล.อ.ประวิตรที่มีต่อพรรคการเมืองต่างๆ จะถูกจับตามอง หลังประกาศว่า “มีไมตรีกับทุกพรรค” โดยเฉพาะกับพรรคประชาธิปัตย์ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ที่ พล.อ.ประวิตรจะแสดงอาการ “แคร์” มากขึ้น

เวลาพูดถึงนายอภิสิทธิ์ ก็จะเรียกว่า “ท่าน” บ้าง หรือ “นายกฯ อภิสิทธิ์” บ้าง จากที่เคยเรียกแต่ชื่อ เพราะมีเรื่องคาใจกันมา

แถมทั้งเปิดช่องพร้อมที่จะพูดคุยกับนายอภิสิทธิ์ หากจำเป็น หรือหากนายอภิสิทธิ์อยากที่จะคุย

รวมทั้งการตอกย้ำว่า รู้จักสนิทสนมกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะตนเองเคยร่วมรัฐบาลมา 3 ปี

จึงไม่แปลกที่ พล.อ.ประวิตรจะไม่เชื่อว่านายอภิสิทธิ์จะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ

แม้เจ้าตัวจะปฏิเสธข่าวว่า ยังไม่เคยคุยกับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์คนใดเลยก็ตาม เรื่องการจัดตั้งรัฐบาล

แต่ท้ายที่สุด ท่าทีของ พล.อ.ประวิตรก็เชื่อว่า พรรคประชาธิปัตย์ก็พร้อมร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์

แม้สายสัมพันธ์ของ พล.อ.ประวิตร พล.อ.อนุพงษ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรค จะเข้มข้นกว่า และนายสุเทพไม่ได้อยู่พรรคประชาธิปัตย์แล้วก็ตาม

แต่สายสัมพันธ์ที่พี่น้อง 3 ป. มีกับนายอภิสิทธิ์ ก็ลึกซึ้งเมื่อครั้งที่กองทัพปกป้องดูแลรักษารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ จนถึงขั้นต้องปราบปรามคนเสื้อแดง เพราะมี พล.อ.ประวิตร พี่ใหญ่ร่วมรัฐบาล เป็น รมว.กลาโหมอยู่

ไม่แค่นั้น พล.อ.ประวิตรเองก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้จัดการรัฐบาล ที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล และนายอภิสิทธิ์ได้เป็นนายกฯ จนประวัติศาสตร์ที่ว่า จัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ในบ้านมูลนิธิป่ารอยต่อฯ ใน ร.1 รอ. ของ พล.อ.ประวิตรมาแล้ว

ที่สำคัญกว่านั้นคือ เมื่อครั้งที่ถูกม็อบเสื้อแดงล้อมกระทรวงมหาดไทยไว้นั้น พล.อ.ประวิตรที่ออกไปได้แล้ว ยังได้กลับมาช่วยทั้งนายสุเทพและนายอภิสิทธิ์ให้ออกไปได้อย่างปลอดภัยมาแล้วด้วย

ว่ากันว่า น้ำใจของ พล.อ.ประวิตร และบุญคุณนี้จะไม่มีวันลืม

 

แม้ว่า ก่อนการเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์จะต้องพูดหรือแสดงจุดยืนสวนทางของ คสช. และพรรคพลังประชารัฐ และทำตัวประหนึ่งศัตรูคู่แข่งทางการเมือง

แต่เชื่อกันว่า หลังเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ก็พร้อมที่จะร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ มากกว่าที่จะเป็นฝ่ายค้านร่วมกับพรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ และพรรคเครือข่าย

เหล่านี้จึงทำให้ พล.อ.ประวิตรแสดงทีท่าอ่อนโยน พูดถึงพรรคประชาธิปัตย์อย่างให้เกียรติว่า เป็นพรรคใหญ่ พรรคที่ประชาชนให้การสนับสนุน

จนทำให้เกิดกระแสข่าวสะพัดว่า มีการพูดคุยกันแล้ว แม้ว่าทั้งนายอภิสิทธิ์และ พล.อ.ประวิตรจะปฏิเสธก็ตาม

แต่ พล.อ.ประวิตรก็ไม่ปิดประตูการพูดคุยหลังการเลือกตั้ง เพียงแต่เปรยถามว่า “เขาพร้อมจะคุยกับผมหรือเปล่าล่ะ”

จึงไม่แปลกที่ใครๆ ก็จะตั้งฉายาให้ พล.อ.ประวิตร พี่ใหญ่ผู้มากบารมีว่า ผู้จัดการรัฐบาล ไปล่วงหน้าแล้ว

โดยเฉพาะในคืนวันเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ปีหน้า ที่คาดกันว่า จะเป็นคืนแห่งการจัดตั้งรัฐบาล ก็คาดว่า บ้าน ร.1 รอ. ของ พล.อ.ประวิตร จะเป็นที่นัดหมายสำคัญ แถมทั้งมีทั้งบ้าน พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ อยู่ใกล้ๆ กันด้วย

โดยเฉพาะข่าวที่สะพัดในหมู่นักการเมือง ที่อ้างว่า ตนเองได้เคยมาพบปะพูดคุยกับ พล.อ.ประวิตร ที่บ้าน ร.1 รอ. มาแล้ว บางคนก็อ้างถึงขั้นว่า มีนัดแนะเข้ามาพบ พล.อ.ประวิตรทุกสัปดาห์ เพื่อวางแผนการสู้ศึกเลือกตั้ง และเตรียมจัดตั้งรัฐบาล

แม้ว่า พล.อ.ประวิตรจะปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาก็ตาม

“ไม่จริงอ่ะ ใครมาอ้างชื่อฉัน บอกมาสิ ไม่เคยคุยกับใครเลยนักการเมือง” พล.อ.ประวิตรกล่าว

 

ขณะที่ฝ่ายมือไม้ เขี้ยวเล็บของ คสช.อย่างกองทัพ ที่มี ผบ.เหล่าทัพเป็นสมาชิก คสช. ก็ถูกจับตามองว่า จะเป็นกลไกที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์และ คสช. มีชัยชนะในการเลือกตั้งได้หรือไม่

โดยเฉพาะบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.และเลขาธิการ คสช. ที่มีบทบาทสำคัญ และคุมกำลังของ คสช. ในนาม ผบ.กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) อีกด้วย

รวมทั้งยังมีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่มีกำลังกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็น ผอ.รมน. และ พล.อ.อภิรัชต์ เป็นรอง ผอ.รมน.

ในทางการเมืองแล้ว เชื่อกันว่า กอ.รมน.จะเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการสู้ศึกเลือกตั้ง

รวมทั้งกองทัพ โดยเฉพาะ ทบ. เหล่าทัพที่ใหญ่ที่สุด และก็มีตำแหน่งในระดับหัว คุม กอ.รมน. เป็นส่วนใหญ่ ก็จะเป็นเขี้ยวเล็บของ คสช.

ที่ถูกจับตามองว่า กองทัพจะปฏิบัติการจิตวิทยาอย่างไร ที่จะทำให้พี่น้องประชาชนหันมาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ โดยที่ไม่อาจพูดหรือสั่งได้ตรงๆ

เช่นเดียวกับที่พลทหาร หรือทหารเกณฑ์ในยุค 4.0 เช่นนี้ ก็ไม่อาจสั่งให้เลือกเบอร์ไหน พรรคใดได้ เช่นเดียวกับครอบครัว ลูกเมียทหาร

แม้ว่าทหารทั่วประเทศจะลงพื้นที่พบปะชาวบ้าน ทำโครงการต่างๆ หรือติดตามความคืบหน้า ทุกวี่วัน เสมือนเป็นมดงาน ที่ช่วยสร้างความเข้าใจให้รัฐบาล คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ถูกมองว่า เป็นทีมหาเสียงให้ พล.อ.ประยุทธ์ไปแล้ว

ดังนั้น แม้ผู้นำกองทัพจะประกาศให้ทหารวางตัวเป็นกลางทางการเมือง จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิบัติได้ ในเมื่อหน้าที่ของทหาร ทั้งในนามเหล่าทัพ ในนาม กกล.รส. และ กอ.รมน. เองด้วยซ้ำ ก็ล้วนยังต้องทำงานให้รัฐบาล คสช.

แต่ในเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช. ไม่ได้เป็นกรรมการห้ามมวยอีกต่อไปแล้ว แต่จะเป็นนักมวยขึ้นเวทีชกเอง กองทัพก็ยากที่จะวางตนให้เป็นกลางได้

อีกทั้งปลัดกลาโหม ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.เหล่าทัพ ก็ล้วนเป็นสมาชิก คสช. ด้วย แถมมี พล.อ.ประวิตร เป็น รมว.กลาโหม คุมกองทัพอยู่อีก

จึงทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ คสช.กระโดดลงสู่สนามการเมืองแบบเต็มๆ และทำให้กองทัพก็ถูกมองว่าเป็นผู้เล่นไปด้วยเช่นกัน

    แต่อีกไม่นานก็จะรู้ผลว่า สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์และ คสช.พยายามมาตลอดหลายปีนั้น ได้ผลหรือไม่ ผลการเลือกตั้งจะเป็นคำตอบ