กรองกระแส / 2 ขั้ว ทางการเมือง รัฐประหาร กับ การเลือกตั้ง อนาคตประเทศไทย

กรองกระแส

 

2 ขั้ว ทางการเมือง

รัฐประหาร กับ การเลือกตั้ง

อนาคตประเทศไทย

 

ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 และก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ดำเนินไปอย่างหลายหลากมากกลุ่ม แต่พลันที่มีการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในเดือนมกราคม กระทั่งนำไปสู่การรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 ความขัดแย้งก็มีความคมชัด

นั่นก็คือ เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มที่กุมอำนาจนำจากรัฐประหารกับกลุ่มที่รวมศูนย์ผ่านพรรคไทยรักไทย

รัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ก็เพื่อบดขยี้พรรคไทยรักไทย

เห็นได้จากการทำให้พรรคไทยรักไทยแตกออกเป็นพรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคมัชฌิมาธิปไตย เพื่อดำเนินการตามแผนบันได 4 ขั้นของ คมช.ที่จะเอาชนะในทางการเมืองหลังประสบผลสำเร็จในทางการทหารโดยกระบวนการรัฐประหาร

แต่แล้วพรรคพลังประชาชนอันเป็นความต่อเนื่องจากพรรคไทยรักไทยก็กำชัยจากการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2550 และแม้จะมีความพยายามบ่อนทำลายพรรคพลังประชาชนกระทั่งถูกยุบเช่นเดียวกับพรรคไทยรักไทย และรวมถึงการปราบปรามในเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 แต่แล้วในการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยอันต่อเนื่องจากพรรคพลังประชาชนก็ได้ชัยชนะอีก

จึงจำเป็นต้องปลุกระดม “มวลมหาประชาชน” เพื่อสร้างสถานการณ์กระทั่งนำไปสู่รัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557

 

กันยายน 2549

พฤษภาคม 2557

 

มีความต่อเนื่องระหว่างรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 กับรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อย่างแน่นอน แม้ตอนแรกจะใช้พลังพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขณะที่ตอนหลังใช้พลัง กปปส. ผ่าน “มวลมหาประชาชน”

แต่เป้าหมายในการโค่นล้ม ทำลายยังเป็นพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย

จากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 มายังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ก่อให้เกิดการประจันหน้ากันระหว่าง 2 กลุ่มใหญ่ในทางการเมือง

1 กลุ่มที่กุมอำนาจนำ และ 1 กลุ่มที่ต่อต้านอำนาจนำ

สถานการณ์ทางการเมืองจากก่อนเดือนกันยายน 2549 กระทั่งมาถึงภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จึงแยกจำแนกประชาชนออกเป็น 2 พวก 2 ฝ่ายที่มีความเห็นขัดแย้งและแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

1 เป็นฝ่ายที่เห็นด้วยกับกลุ่มกุมอำนาจนำจากรัฐประหาร และ 1 เป็นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มอำนาจนำจากรัฐประหาร

การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จึงเป็นการต่อสู้ระหว่าง 2 กลุ่มนี้

เป็นการต่อสู้เพื่อนำเสนอนโยบาย แนวทางในการพัฒนาประเทศเพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ว่าจะตัดสินใจเลือกฝ่ายใด

 

24 กุมภาพันธ์ 2562

ตัดสินอนาคตประเทศ

 

ไม่ว่าก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 การรวมขั้ว แยกขั้วทางการเมืองดำเนินไปอย่างคึกคัก

เหมือนกับ 2 กลุ่ม 2 ขั้วทางการเมืองผลัดเปลี่ยนกันครองอำนาจ

หากมองผ่านรัฐบาลพรรคไทยรักไทย หากมองผ่านรัฐบาลพรรคพลังประชาชน หากมองผ่านรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ หากมองผ่านรัฐบาลพรรคเพื่อไทย หากมองผ่านรัฐบาลผ่านพรรค คสช. ก็จะมองเห็นว่า การร่วมขั้ว การแยกขั้วเกิดขึ้นตลอดเวลา

แม้จะมีความพยายามเสนอขั้วที่ 3 ขึ้นมา แต่หากตรวจสอบอย่างเข้มงวดก็จะเห็นว่า ภายในขั้วที่ 3 นั้นล้วนเคยร่วมอยู่กับขั้วที่ 1 และบางส่วนก็เคยร่วมกับขั้วที่ 2

ในที่สุดแล้วความเอนเอียงของขั้วที่ 3 ก็หนีไม่พ้นขั้วที่ 2 และขั้วที่ 1

การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แม้จะมีพรรคการเมืองเสนอตัวมากกว่า 10 พรรค แต่ในที่สุดแล้วก็จะเหลือเพียง 2 ขั้วเท่านั้น

1 ขั้วที่จะไปร่วมกับ คสช. และ 1 ขั้วที่จะไม่เข้าร่วมกับ คสช.

การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จึงเป็นสงครามแย่งชิง “ประชาชน” อันมากด้วยความร้อนแรง แหลมคม และจะมีส่วนอย่างสำคัญในการกำหนดอนาคตประเทศ

นั่นก็คือ จะให้ คสช.สืบทอดอำนาจ หรือจะไม่ให้ คสช.ได้สืบทอดอำนาจ

 

กระบวนการ สลายขั้ว

กระบวนการ เลือกตั้ง

 

แม้จะมีความพยายามตกแต่งและนำเสนอนโยบายออกมาวิลิศมาหราเพียงใด แต่ในที่สุดแล้วก็จะนำไปสู่บทสรุปอันเป็นปัจจัยบังคับในทางการเมือง

นั่นก็คือ จะเลือกแนวทางใดมาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา

นั่นก็คือ แนวทางรัฐประหาร แนวทางอย่างที่ คสช.ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างอย่างเด่นชัดจากเดือนพฤษภาคม 2557 มายังเดือนกุมภาพันธ์ 2561

นั่นก็คือ แนวทางตรงกันข้าม ที่อย่างน้อยก็ยึดโยงอำนาจอยู่กับการตัดสินใจเลือกของประชาชน มิใช่ด้วยกระบวนการรัฐประหารอย่างที่เห็นกันอยู่

   2 แนวทางนี้คือเครื่องมือในการกำหนดอนาคตของประเทศ