ฉัตรสุมาลย์ : พระมหาเจดีย์ไม้เมืองอี้เซียะ

ไปเมืองจีนกันอีกแล้ว ทริปนี้ต่อเนื่องจากทริปปีก่อนที่เราไปชมถ้ำตุนฮวาง คราวก่อนเราใช้เวลาเดินทาง 12 วัน ไปจนเหนือสุดของจีน แต่ค่อนไปทางตะวันตก จุดหมายปลายทางคือถ้ำตุนฮวางที่เป็นแหล่งสะสมมรดกอันล้ำค่าของชาวพุทธ นอกเหนือจากพระพุทธรูปที่แกะสลักอย่างใหญ่โตและงดงามแล้ว ยังเป็นแหล่งที่เก็บคัมภีร์อีกด้วย

แต่ในสมัยที่เรียนหนังสือในช่วงปริญญาโทและเอกนั้น เราก็มีข้อมูลว่า ยังมีถ้ำหนุนกางและหลงเหมินอีกด้วย

เรียกว่าภารกิจยังไม่เสร็จสิ้น ลูกทัวร์ส่วนหนึ่งในคณะนั้น เรียกร้องว่าเราควรจะได้ชมถ้ำที่เหลือให้สมบูรณ์ เรียกว่ายังค้างใจไม่แล้วเสร็จ

เราวางแผนทริปนี้ตั้งแต่ต้นปี 2561 เลยค่ะ เรียกว่าไม่เห่อน้อย แต่เห่อเอามากๆ ลูกทัวร์มีทั้งทางเหนือ คือ เชียงใหม่ และภาคใต้ คือ สงขลา เป็นลูกทัวร์ที่เหนียวแน่น คำไหนคำนั้น ไม่มีการคืนคำ

เราล็อกวันที่ว่าจะเป็นช่วงพฤศจิกายน เพราะคบกับท่านธัมมนันทาที่เป็นภิกษุณี ท่านจะมีเข้าพรรษา ออกพรรษา และรับกฐิน ประมาณนั้น เลยมาลงตัวที่วันที่ 19-25 พฤศจิกายน 2561

เรามีไลน์กลุ่ม ติดต่อกันตลอด เตือนให้เตรียมเสื้อผ้ากันหนาวไป วันที่เราไปลงเครื่องก็เจออุณหภูมิติดลบเลย และต้องไม่ลืมกระติกน้ำร้อน เดินทางในประเทศจีนช่วงหน้าหนาวต้องมีกระติกน้ำร้อนกันทุกคน

คนที่ไปครั้งที่แล้ว แต่ไม่ได้ไปครั้งนี้ ก็มีการฝากซื้อของมาในไลน์นี้ด้วย

เงื่อนไขการเดินทาง เนื่องจากมีผู้สูงอายุ 5-6 ท่าน (70 ขึ้น) ขอไม่เดินทางตอนกลางคืน ที่จริงเราสามารถบินตรงจากกรุงเทพฯ เข้าไท่หยวนได้ แต่เครื่องออกตีสอง การเดินทางแบบนี้ลูกทัวร์จะโทรม และเริ่มเจ็บกันตั้งแต่วันแรกๆ เลย

 

ไท่หยวนเป็นเมืองอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน ดูในแผนที่จะค่อนไปทางขวามือ

เราออกจากกรุงเทพฯ ตอนเช้า บินเข้ากวางโจว พักที่นั่นสี่ชั่วโมง แล้วจึงต่อเครื่องกวางโจวเข้าไท่หยวน

โรงแรมสะดวกสบาย อาหารดี นั่งโต๊ะจีนก็จะมีอาหาร 10 จาน กินไปถึงจานที่ 8 ก็เปลี้ยแล้ว บรรยากาศเป็นเช่นนี้ตลอดการเดินทาง

คณะเราก็แยกเป็นสองโต๊ะ โต๊ะมังสวิรัติ กับโต๊ะธรรมดา

ได้ชิมผักสดๆ ของจีนเต็มที่ก็คราวนี้

ไท่หยวนเคยเป็นเมืองถ่านหิน ชาวเมืองมีฐานะดี กินใช้เต็มที่ แต่ต่อมารัฐบาลกลางวางนโยบายที่จะชะลอทรัพยากรธรรมชาติให้ใช้ไปได้นานหน่อย จึงชะลอการขุดถ่านหินของจีนเอง และไปรับซื้อถ่านหินจากประเทศอื่น โดยมีกลไกสนับสนุนนโยบายโดยเก็บภาษีถ่านหินในประเทศสูงกว่า หากเป็นถ่านหินนำเข้าก็จะผ่อนผันให้ถูกกว่า

เศรษฐกิจโดยภาพรวมของไท่หยวนเลยซบเซาลงไปบ้าง

ในการเดินทางของเรา คุณมนัส บริษัททัวร์ที่เราใช้บริการ และไกด์ชาวจีนคือสุลิน เจ้าเก่า จะดูแลเราอย่างดี ทุกคืน จะนัดกันเป็นสูตรว่า 6 7 8 คือ โทร.ปลุก 6 โมง อาหารเช้า 7 โมง และออกเดินทาง 8 โมง คณะของเราน่าประทับใจมากเลย ตรงเวลาตามนี้ทุกวัน ตลอดการเดินทางยกกระเป๋าเอง ลากกระเป๋าเองทุกคน ดูแลกันเองดีมาก

คุณสุลินออกปากชมว่าทัวร์คณะนี้ไม่มีเรื่องเสียเวลา

 

เช้านั้นเราออกจากเมืองไท่หยวนโดยรถบัสอย่างดี ไปเมืองอิ้งเสี้ยน ระยะทาง 229 ก.ม. ใช้เวลาเดินทาง 2.45 ช.ม. เราแวะกลางทางเพื่อเติมน้ำมันให้รถ แต่ที่สำคัญกว่านั้น ลูกทัวร์เข้าห้องน้ำ และเติมน้ำร้อนในกระติก สำหรับกลับมาชงกาแฟที่คุณมนัสให้บริการบนรถได้ ทุกคนรู้หน้าที่ไม่ยืดเยื้อ แต่ก็ได้ยืดเส้นยืดสาย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน

เช้านั้นเราจะไปชมเจดีย์ไม้ที่สูงที่สุดในโลก ที่เราจะไปชมนี้มีความสูงถึง 67 เมตร สามารถมองเห็นได้แต่ไกล ช่วงที่เราเดินทางนี้ หมดฤดูใบไม้ร่วงแต่ยังไม่เข้าหน้าหนาวจริงๆ คนเดินทางน้อย กลายเป็นความสะดวกสำหรับคณะของเราอย่างยิ่ง

เมื่อไปยืนอยู่หน้าเจดีย์ จึงเห็นความอลังการและความมหัศจรรย์ของสิ่งก่อสร้างที่อยู่เบื้องหน้า

เจดีย์ไม้ยิ่งเซียะ อยู่ในวัดฟอกง มีอายุ 900 กว่าปี ก่อสร้างโดยไม่ใช้ตะปูเลยสักตัวเดียว งานการเข้าเครื่องไม้ที่นี่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกไปแล้ว

และที่น่าอัศจรรย์ยิ่งไปกว่านั้นคือ ผ่านแผ่นดินไหวมาสองครั้ง ครั้งแรกสมัยราชวงศ์หยวน (ค.ศ.1333-1366) และอีกครั้งหนึ่งในสมัยราชวงศ์หมิง วันที่ 26 มกราคม ค.ศ.1626 ครั้งหลังนี้รุนแรงมาก บ้านเรือนโดยรอบเสียหายมาก

แต่ปรากฏว่าสถาปัตยกรรมการเข้าเครื่องไม้ของพระมหาเจดีย์แห่งนี้รับมือกับแผ่นดินไหวได้ โดยไม่มีความเสียหาย ทั้งๆ ที่มีความสูงมากกว่าบ้านเรือนโดยรอบหลายเท่า

 

ศิลปะการสร้างพระเจดีย์ไม้โดยใช้ศิลปะการเข้าเครื่องไม้นี้ เป็นศิลปะของจีนที่สืบมากว่า 2,000 ปี

พระมหาเจดีย์แห่งนี้จึงยืนตระหง่านเพื่อพิสูจน์ศีกดิ์ศรีของความยิ่งใหญ่ในวัฒนธรรมจีนเป็นอย่างยิ่ง

เจดีย์นี้มองจากข้างนอกมี 5 ชั้น แต่ภายในต้องขึ้นไป 9 ชั้น ทรง 8 เหลี่ยม สร้างในราชวงศ์หยวน และต่อเนื่องกับเหลียว

ในขณะที่พระมหาเจดีย์เป็นเครื่องพิสูจน์ความสามารถของช่างชาวจีน ขณะเดียวกันเราก็เห็นถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนาในประเทศจีนในสมัยราชวงศ์หยวนและราชวงศ์เหลียวด้วย

 

เมื่อเข้าไปภายใน ชั้นแรก มีพระพุทธรูปของพระศากยมุนี ขนาดใหญ่ สูง 11 เมตร ชั้นสอง มีพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งสี่ทิศ ชั้นสาม เป็นพระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์

ชั้นที่สี่ มีพระพุทธเจ้าอยู่ตรงกลาง มีพระอานนท์และพระมหากัสสปะ ถัดมาเป็นพระโพธิสัตว์ ข้างละสององค์ พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ และพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ทรงช้างและราชสีห์

ชั้นที่ห้า เป็นพระพุทธเจ้ากับพระโพธิสัตว์ อีก 8 พระองค์

พื้นที่ที่เป็นภาพจิตรกรรมนับได้ 286 ตารางเมตร

มีแผ่นไม้แกะสัก 52 แผ่น

ชั้นล่างและชั้นใต้ดิน มีจารึกบนแผ่นหิน 11 ชิ้น

นับว่าเป็นมรดกล้ำค่าของชาวพุทธ

 

สิ่งที่น่าสนใจในวัฒนธรรมจีนคือการบันทึก

เราจะจำได้ว่า เรื่องราวของสถานที่ที่เป็นสถานที่สำคัญของชาวพุทธในประเทศอินเดียนั้น เราเป็นหนี้บุญคุณหลวงจีนสองท่านคือ พระสมณะฟาเหียน และพระถังซำจั๋งที่เดินทางไปสำรวจประเทศอินเดียในสมัยโบราณในศตวรรษที่ 4 และที่ 6 ท่านบันทึกการเดินทางของ่านโดยละเอียด ช่วยให้นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษสามารถระบุเมืองต่างๆ ได้ ดังที่เราได้มีโอกาสไปจาริกแสวงบุญที่ประเทศอินเดียในปัจจุบัน

การที่เราไปชมพระมหาเจดีย์แห่งนี้ก็เช่นกัน เราทราบประวัติความเป็นมาจากการบันทึก เมื่อพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งเสด็จผ่านมา ได้ชมพระมหาสถูป พระดำรัสของท่านก็จะมีการจารึกไว้ จารึกบนหินค่ะ จึงมาถึงเราในสมัยปัจจุบันได้

จักรพรรดิจูตี้ ในราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1406) รับสั่งว่า “ประทับใจในงานฝีมือ”

ในสมัย ค.ศ.1508 จักรพรรดิชู ฮูเชาแห่งราชวงศ์หมิงเช่นกัน รับสั่งว่า “เป็นอัศจรรย์ในโลก”

ทีนี้เวลาซ่อมแซมแต่ละครั้งก็จะมีการบันทึกว่า ในปีนั้นๆ พบอะไรเสียหาย บกพร่อง และในการซ่อมแซมนั้น ทำอย่างไร แก้ไขอะไรไปบ้าง ข้อมูลที่จะขาดไม่ได้คือ ใครเป็นผู้สนับสนุนโครงการ

ประเพณีเช่นนี้สมควรที่จะได้รับการชื่นชมยกย่องและเอาแบบอย่าง

ขอคารวะฝีมือช่างชาวจีน และขอโมทนากับชาวพุทธที่สนับสนุนงานช่างที่มีฝีมือทรงพลัง และได้ทิ้งงานให้ปรากฏเป็นอัศจรรย์แก่คนรุ่นใหม่ แม้เวลาจะผ่านไปแล้วกว่า 900 ปี

บริเวณด้านหน้าวัด มีชาวบ้านถีบรถสามล้อเอาของมาขาย มีตั้งแต่วอลนัต ส้ม ที่เราก็ช่วยอุดหนุนตามระเบียบ มีที่เอาของใช้เก่าๆ มาขายก็น่าสนใจ ตั้งแต่ลูกคิดของเก่า ตะเกียงเติมน้ำมันแบบโบราณ และแม้กระทั่งครกหินเป็นรูป 4 เหลี่ยม

ไม่เกรงใจว่าจะต้องแบกมาอีกหลายวันก็อยากจะหอบกลับมาเหมือนกัน