แมลงวันในไร่ส้ม/ ทุกพรรคจับมือ-ฮือจวก ‘บัตรเลือกตั้ง’ พิลึก ไร้ทั้งชื่อ-โลโก้พรรค

แมลงวันในไร่ส้ม

ทุกพรรคจับมือ-ฮือจวก

‘บัตรเลือกตั้ง’ พิลึก

ไร้ทั้งชื่อ-โลโก้พรรค

 

ข่าวสำคัญในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือผลการหารือที่สโมสร ทบ. ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และตัวแทนพรรคการเมือง 75 พรรค อันเป็นการหารือตามคำสั่งหัวหน้า คสช. 53/2560 ที่ให้ คสช.ต้องหารือผู้ที่เกี่ยวข้องถึงความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งที่แน่ชัด

ก่อนเริ่มหารือ นายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ เรียกร้องให้ยกเลิกผู้แทนพรรคประจำจังหวัด เนื่องจากไม่ต้องมีไพรมารีโหวตแล้ว พร้อมกับขอให้ออกคำสั่งให้ กกต.จัดพิมพ์โลโก้พรรคการเมืองในบัตรเลือกตั้งให้ชัดเจน

ต่อมานายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เผยปฏิทินเลือกตั้งว่า ก่อนประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) การเลือกตั้งจะปลดล็อกการทำกิจกรรมทางการเมือง โดยยกเลิกคำสั่งและประกาศ คสช. 9 ฉบับ ยกเว้นข้อที่ไม่เกี่ยวกับการทำกิจกรรม

วันที่ 20 ธันวาคม กกต.จะประกาศใช้ระเบียบการเลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 28 ธันวาคม รัฐบาลจะหยุดเสนอร่าง พ.ร.บ.ให้กับ สนช.

วันที่ 2 มกราคม 2562 ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ให้หาเสียงได้ วันที่ 14-18 มกราคม 2562 เปิดรับสมัคร ส.ส. แจ้งชื่อผู้ที่พรรคจะเสนอเป็นนายกฯ

วันที่ 25 มกราคม 2562 ประกาศรายชื่อผู้สมัครแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อของทุกพรรค

วันที่ 4-16 กุมภาพันธ์ เป็นวันเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร วันที่ 15 กุมภาพันธ์ หยุดการพิจารณากฎหมาย วันที่ 17 กุมภาพันธ์ เป็นวันเลือกตั้งล่วงหน้า และวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป

วันที่ 25 เมษายน วันสุดท้ายของการประกาศผลการเลือกตั้ง และในวันที่ 28 เมษายน เป็นวันสุดท้ายที่ คสช.จะคัดเลือก ส.ว. 250 คน นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายและประกาศแต่งตั้งต่อไป

วันที่ 9 พฤษภาคม จะเป็นวันสุดท้ายของการประชุมรัฐสภาครั้งแรก และจากนั้นจะเป็นช่วงเวลาที่รัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรี ตั้ง ครม. และ ครม.ถวายสัตย์ฯ ซึ่ง ครม.และ คสช. จะพ้นจากตำแหน่ง และ ครม.ใหม่แถลงนโยบาย ภายในเวลา 15 วัน นับแต่วันถวายสัตย์ฯ

ประเด็นหนึ่งจากวันประชุมดังกล่าวคือ ข่าวที่ว่าบัตรเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งจะไม่ระบุชื่อพรรคและโลโก้พรรค

นพดล ปัทมะ

 

ข่าวดังกล่าวกลายเป็นประเด็นฮอตต่อมา เนื่องจากพรรคการเมืองต่างๆ ไม่เห็นด้วย และระบุว่าเป็นการจงใจให้เกิดประโยชน์กับพรรคบางพรรค และมีกระแสข่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์อาจจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญหรือไม่ และอาจกระทบทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่

นายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทยให้สัมภาษณ์ โดยระบุถึงความไม่เหมาะสมว่า

  1. การเลือกตั้งในอดีต บัตรเลือกตั้งมีโลโก้และชื่อพรรค ประชาชนได้ดูข้อมูลผู้สมัครและพรรคก่อนกาบัตร
  2. ในอดีต ผู้สมัครพรรคเดียวกันจะได้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศ และในบัตรมีทั้งชื่อและโลโก้พรรค ผู้ใช้สิทธิ์จึงจำเบอร์พรรคได้สะดวก แต่การเลือกตั้งครั้งหน้านี้ ผู้สมัครจากพรรคเดียวกันในแต่ละเขตจะได้เบอร์แตกต่างกันไป จึงอาจมีความสับสน ถ้าไปตัดโลโก้และชื่อพรรค
  3. การเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนกาบัตรใบเดียว ทุกคะแนนนำมาคิดเพื่อเลือกทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จึงต้องมีชื่อพรรคและโลโก้พรรคด้วยเพื่อให้ประชาชนเลือกพรรค
  4. บัตรเลือกตั้งที่ดี ต้องทำให้ประชาชนมีความสะดวก และเลือกคนหรือพรรคตรงกับใจตนเอง การตัดชื่อพรรคและโลโก้จะทำให้เกิดความยุ่งยากสับสนโดยไม่จำเป็น และจะทำให้เกิดบัตรเสียจำนวนมาก
  5. การมีชื่อและโลโก้ของพรรค จะทำให้ทุกพรรคมีความเท่าเทียม ไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกัน ทุกฝ่ายได้ประโยชน์
  6. เหตุผลที่ว่า ที่ต้องตัดโลโก้ออกเนื่องจากมีปัญหาในการขนส่งบัตรนั้น ขาดน้ำหนัก

อย่าเอาเรื่องธุรการมาก่อนหลักการ

อนุทิน ชาญวีรกูล

 

พรรคการเมืองอื่นๆ ที่แสดงท่าทีไม่เห็นด้วย รวมถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ระบุว่าอาจจะทำให้เกิดความสับสนได้ ตนคิดว่าอะไรที่ปฏิบัติมาแล้วไม่เคยมีปัญหาก็น่าจะยึดถือไปตามนั้น การเปลี่ยนแปลงอะไรที่ผิดแผกไปจากสิ่งเดิมที่ไม่เคยสร้างปัญหาก็อาจจะถูกครหาว่าเป็นเรื่องของการเอารัดเอาเปรียบหรือเปล่า ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดี

เมื่อถามว่า มีพรรคการเมืองบางพรรคเสนอให้แก้มาตรา 48 เพื่อให้เขตเลือกตั้งทุกเขต พรรคแต่ละพรรคใช้เบอร์เดียวกันเพื่อเป็นการแก้ปัญหาเรื่องความสับสน

นายอนุทินกล่าวว่า จริงๆ แต่ละพรรคควรใช้เบอร์เดียวถูกแล้ว เพราะทั้งง่ายและประหยัดค่าใช้จ่าย และทำให้พี่น้องประชาชนที่มาออกเสียงเลือกตั้งเกิดความสะดวกด้วย ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำอย่างนี้มาตลอด

ส่วนกรณีที่มีการระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้เสนองดใส่ชื่อและโลโก้พรรคในบัตรเลือกตั้ง นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ยืนยันว่านายกฯ ไม่ได้เป็นผู้เสนอ แต่มีตัวแทนพรรคการเมืองสอบถาม กกต.ว่าควรมีชื่อและโลโก้พรรคในบัตรเลือกตั้งหรือไม่ ทางเลขาธิการ กกต.ได้ชี้แจงว่า

  1. กรณีเลือกตั้งล่วงหน้าในต่างประเทศ ซึ่งเบอร์ผู้สมัครในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่เหมือนกัน การจะมีทั้งชื่อและโลโก้พรรคจะเกิดความสับสน และต้องส่งบัตรเลือกตั้งทั้ง 350 แบบไปตามแต่ละประเทศ แต่หากใช้เบอร์อย่างเดียว ผู้ใช้สิทธิ์สามารถสอบถามมายังคนใกล้ชิดและคนในครอบครัวว่าผู้สมัครแต่ละคนใช้เบอร์อะไร

และ 2. เรื่องดังกล่าวยังเป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นของ กกต. ซึ่งเมื่อมีการสอบถามเรื่องนี้ในที่ประชุมวันที่ 7 ธันวาคม นายกฯ เพียงแต่ระบุว่า ถ้าจะเลือกใคร ทุกคนก็ต้องจำให้ได้ ยืนยันรัฐบาลและนายกฯ ไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายการทำงานของ กกต.

 

หลังจากโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กกต.เริ่มถอย โดยนายณัฎฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กล่าวเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ว่า กกต.ออกแบบไว้ 2 รูปแบบ

แบบแรก มีข้อมูลครบถ้วน ทั้งเบอร์ ชื่อ และโลโก้พรรคการเมือง ทาบทามบริษัทที่มีศักยภาพในการผลิต ยืนยันว่าสามารถพิมพ์บัตรรูปแบบดังกล่าวแยกเป็นรายเขตได้ครบทั้ง 350 เขต จัดส่งได้ทันตามกำหนดเวลา ซึ่งอยู่ระหว่างกำหนดทีโออาร์ก่อนประกวดราคา แต่ต้องรอการตัดสินใจของ กกต.ก่อน

แบบที่ 2 คือบัตรที่มีเพียงหมายเลขผู้สมัคร ซึ่งรูปแบบนี้เกิดจากประชุมกับหน่วยงานสนับสนุนระบุว่า การขนส่งบัตรไปยังผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ซึ่งจะต้องเป็นบัตรของเขตเลือกตั้งที่ผู้นั้นมีสิทธิ์อยู่ หากเกิดปัญหาบัตรพลัดหลงหรือส่งไม่ถึงมือ การจะส่งบัตรสำรอง ต้องส่งตรงเขต อาจมีปัญหา มีข้อเสนอว่าให้พิมพ์บัตรโหล เพราะถ้าเกิดปัญหา บัตรที่ส่งพลัดหลงก็สามารถนำบัตรจากที่อื่นทดแทนได้

นั่นคือบรรยากาศล่าสุด ที่บัตรเลือกตั้งกลายเป็นประเด็นถกเถียงว่าให้คุณให้โทษแก่พรรคไหน