นงนุช สิงหเดชะ : สถานการณ์ ‘อัสดง’ อย่างไว ของ ปธน.หนุ่มแห่งฝรั่งเศส

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

สถานการณ์ ‘อัสดง’ อย่างไว

ของ ปธน.หนุ่มแห่งฝรั่งเศส

 

เอ็มมานูเอล มาครง ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ถือเป็นหนึ่งในข่าวที่สร้างความฮือฮาระดับโลกค่อนข้างมากในเวลานั้น

เพราะกลายเป็นผู้นำฝรั่งเศสอายุน้อยที่สุดวัย 39 ปี และยังมาพร้อมกับความแปลกอีกอย่างเมื่อภรรยาอายุมากกว่าเขา 25 ปี

มีหลายปัจจัยที่ทำให้มาครงชนะ เช่น การเป็นเสรีนิยมสายกลางไม่สุดโต่ง ซึ่งถือเป็นตัวเลือกดีที่สุดในห้วงที่ฝรั่งเศสและยุโรปเดินมาถึงทางแยกเพราะกระแสชาตินิยม และประชานิยมมาแรง อันมีการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาที่โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง และกรณีที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปเป็นแรงกระตุ้น

นอกจากนี้ มาครงยังสร้างความหวังให้ผู้มีสิทธิออกเสียงส่วนใหญ่ที่เป็นคนระดับล่าง ด้วยการแสดงออกว่าแม้เขาจะเคยเป็นเด็กในสายของอดีตประธานาธิบดีฟรองซัวส์ โอลลองด์ แต่ก็พยายามแยกออกมาจากกลุ่มชนชั้นนำและทำตัวเป็นหัวขบวนของชาวรากหญ้า

จึงถูกมองว่าเป็นคนหนุ่มที่มีพลังในการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับประชาชน

 

แต่ทว่าผ่านไปเพียง 3 เดือน มาครงก็มีข่าวอื้อฉาวในประเด็นเดียวกับที่เคยมีส่วนทำให้อดีตประธานาธิบดีโอลลองด์แพ้เลือกตั้ง

นั่นคือ ความฟุ่มเฟือยในการใช้เงินภาษีของประชาชน

เขาถูกวิจารณ์ว่าแค่ 3 เดือนหลังรับตำแหน่ง ใช้งบประมาณแต่งหน้าไป 26,000 ยูโร หรือราว 1 ล้านกว่าบาท ถือว่าสูงเกินไป

ประเด็นนี้ถือว่าไม่แพ้กรณีของโอลลองด์ ประธานาธิบดีคนก่อนหน้าที่ทำให้คนฝรั่งเศสโกรธจัดจากการใช้เงินมากถึงเดือนละ 9,895 ยูโร หรือประมาณ 3.6 แสนบาท จ้างช่างทำผม

เท่านั้นยังไม่พอ มีการแฉอีกว่าช่างทำผมผู้นี้ ได้รับค่าที่พักและสวัสดิการสำหรับครอบครัวอีกด้วย

กระทั่งทำให้มีผู้ล้อเลียนว่า ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งหน้าขอเสนอให้คนหัวล้านลงเลือกตั้งเพื่อประหยัดเงินของประชาชน

แต่ดูเหมือนคนฝรั่งเศสจะหนีเสือปะจระเข้ เพราะมาเจอกับค่าแต่งหน้าแพงลิ่วของประธานาธิบดีหนุ่มหล่ออย่างมาครง

จนทำให้เกิดการตัดต่อภาพล้อเลียน ด้วยการนำใบหน้าสวมหน้ากากทองคำของฟาโรห์ตุตันคามุนแห่งอียิปต์ มาเทียบกับใบหน้าของมาครง

เพื่อสื่อว่าสิ่งที่อยู่บนหน้าของมาครงนั้นแพงมากไม่ต่างจาก “เมกอัพทองคำ”

ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสออกมาชี้แจงว่า ค่าแต่งหน้าของมาครงไม่ได้แพงไปกว่าโอลลองด์หรือนิโกลาส์ ซาร์โกซี (อดีตผู้นำฝรั่งเศสจอมฟุ่มเฟือยอีกคน) ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ประชาชนพอใจ

เพราะคนหนุ่มที่เสนอหนทางใหม่ๆ แก่ประเทศ ไม่ควรทำผิดซ้ำรอยอดีตผู้นำคนอื่นๆ

นอกจากค่าแต่งหน้าแพงระดับ “เมกอัพทองคำ” แล้ว ยังมีประเด็นซื้อจานชามหรูหรา คิดเป็นเงินไทยราว 1.8 ล้านบาท ซึ่งมีภรรยาของมาครงเป็นคนเลือก

ตามมาด้วยการถูกนินทาว่าถลุงงบ 3.8 แสนบาทสร้างสระว่ายน้ำส่วนตัวในบ้านพักประจำตำแหน่ง

 

ข่าวฉาวหลายอย่างประกอบเข้ากับนโยบายหลายเรื่อง เช่น การตัดสวัสดิการประชาชนหลายด้าน อีกทั้งต้องการให้ฝรั่งเศสมีบทบาทหลักในการสร้างความแข็งแกร่งแก่สหภาพยุโรป (อียู) เป็นหลัก

ทำให้กลุ่มชาตินิยมไม่พอใจและเรียกร้องให้เห็นแก่ชาติเป็นอันดับแรกมากกว่าอียู

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้มาครงตกเป็นเป้าโจมตีอย่างหนักคือกรณีหัวหน้าทีมอารักขาความปลอดภัยของมาครง ทำร้ายผู้ประท้วงในวันแรงงานที่ผ่านมา และมาครงตอบสนองเรื่องนี้ช้ามาก แม้ว่าภายหลังจะยอมไล่บอดี้การ์ดผู้นี้ออกก็ตาม

ยังไม่นับเรื่องที่มาครง “ปากเปราะ” ด้วยการเรียกชาวฝรั่งเศสว่า “พวก Gauls (กอลส์) ที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง” ในคราวที่เขาไปกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมผู้นำธุรกิจในเดนมาร์กเมื่อเดือนสิงหาคมปีนี้

ซึ่งคำว่า Gauls นี้หมายถึงชาวยุโรปในยุคโบราณช่วงก่อนคริสตกาล

 

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้คะแนนนิยมของมาครงตกต่ำลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง อาทิ เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว หรือเพียง 3 เดือนหลังชนะเลือกตั้ง คะแนนลดฮวบจาก 62% เหลือ 40% พอเข้าต้นเดือนกันยายนปีนี้ลดไปอีกเหลือ 31% (ผลการสำรวจของไอฟ็อป) อันเนื่องมาจากฤทธิ์ปากของเขาที่เรียกชาวฝรั่งเศสว่า Gauls

ผลสำรวจเจาะรายละเอียดลงไปอีกว่า มาครงได้รับคะแนนนิยมต่ำที่สุดในหมู่คนหนุ่มสาวอายุ 18-24 ปี โดยกลุ่มนี้ 72% ไม่พอใจการทำงานของมาครง ซึ่งเท่ากับเป็นดัชนีชี้ว่ามีโอกาสน้อยมากที่มาครงจะได้รับเลือกกลับมาอีก

พอมากลางเดือนพฤศจิกายนปีนี้ คะแนนของผู้นำหนุ่มแห่งฝรั่งเศสเหลือเพียง 25% แย่กว่าฟรองซัวส์ โอลลองด์

เพราะถึงแม้โอลลองด์จะได้ชื่อว่าได้รับความนิยมน้อยที่สุด แต่คะแนนต่ำสุดก็ยังอยู่ที่ 32% ดีกว่ามาครงเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันขณะดำรงตำแหน่ง

 

ความตกต่ำขีดสุดของมาครง เกิดขึ้นหลังจากกลุ่ม “เสื้อกั๊กเหลือง” ก่อเหตุประท้วงการขึ้นภาษีน้ำมันดีเซลของรัฐบาลที่อ้างว่าเพื่อลดโลกร้อนและทำให้ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ปล่อยมลพิษต่ำ

การประท้วงวันแรกเมื่อ 17 พฤศจิกายน มีผู้เข้าร่วมมากถึง 3 แสนคน แต่รัฐบาลไม่ยอมอ่อนข้อ ทำให้การประท้วงยืดเยื้อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 การประท้วงเกิดขึ้นทั่วประเทศ แต่จุดที่เกิดความรุนแรงมากอยู่ใจกลางปารีส ผู้ประท้วงยึดเอาบริเวณสำคัญที่เป็นย่านช้อปปิ้งและท่องเที่ยวสำคัญ อย่างประตูชัย ถนนชองป์เอลิเซ่ บริเวณพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ เป็นสนามรบยืดเยื้อกับรัฐบาล

นับเป็นการประท้วงรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี สร้างความเสียหายอย่างมาก มีการเผารถยนต์หลายสิบคัน ทำลายร้านค้า ปล้นสะดม ฯลฯ

มีผู้เสียชีวิต 4 คน บาดเจ็บอีกหลายร้อย

ส่วนบริเวณนอกปารีสนั้น ผู้ประท้วงได้ปิดชายแดนฝรั่งเศส-อิตาลี ทำให้รถบรรทุกสินค้าผ่านไปมาไม่ได้

การขึ้นภาษีน้ำมันดีเซล สร้างความโกรธแค้นเพราะประชาชนเห็นว่าเป็นการเพิ่มภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน เป็นการกระทำที่มากเกินไปต่อคนส่วนใหญ่ที่ลำบากอยู่แล้ว

ผู้ประท้วงสะท้อนความอัดอั้นว่า “อำนาจซื้อของเราลดน้อยลงทุกวันอย่างมาก จนไม่พอกินอยู่แล้ว แต่นี่ยังจะมาเก็บภาษี ภาษีแล้วก็ภาษีอีก รัฐบาลขอให้พวกเรารัดเข็มขัด แต่พวกเขากลับทำตัวตรงข้าม ใช้ชีวิตอยู่เหนือระดับมาตรฐานด้วยเงินของพวกเรา”

 

เหตุการณ์นี้ทำให้มาครงเผชิญกับภาวะกลืนไม่เข้า คายไม่ออก เพราะผู้ประท้วงส่วนใหญ่ก็คือคนระดับรากหญ้าที่เขาเคยให้ความหวัง

แม้จะเกิดความรุนแรงและเสียหาย แต่ผลสำรวจกลับพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 2 ใน 3 เห็นด้วยกับผู้ประท้วง

นักสังเกตการณ์บางคนชี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าประชาชนเริ่มตระหนักว่าระหว่างความฝันกับความจริงนั้นแตกต่างกันอย่างมาก

หากจะให้ขยายความ ก็น่าจะหมายถึงว่าการเลือกคนหนุ่ม คนรุ่นใหม่อย่างมาครง ที่ประชาชนเชื่อว่าจะนำมาสู่ชีวิตที่ดีขึ้นนั้น ในโลกของความเป็นจริงอาจจะตรงข้ามกับความฝันความหวัง

จากกรณีนี้บางทีก็น่าจะสรุปได้ว่า “ความหนุ่ม-คนหนุ่ม” ไม่ช่วยอะไรในทางการเมือง และบางครั้งก็ไม่ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น