ต่างประเทศอินโดจีน : ละคอนโขน

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ขึ้นทะเบียน “ละคอนโขนวัดสวายเด็ท” ของกัมพูชาเป็น “มรดกโลกเชิงวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเร่งด่วน” เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ความเป็นมาและการอยู่รอดของวัฒนธรรมนี้น่าสนใจทีเดียว

“ละคอนโขน” นั้น คนกัมพูชาเรียกว่า “Lkhon Khol” ส่วนวัดสวายเด็ทคือวัดสวาย อันเด็ท วัดริมฝั่งด้านตะวันออกของแม่น้ำโขง ตั้งอยู่ห่างจากกรุงพนมเปญมาทางตะวันออกราวๆ 15 กิโลเมตร

วัดสวาย อันเด็ท เป็นวัดของชุมชน กลมกลืนอยู่กับชุมชนใกล้วัด ซึ่งประกอบด้วย 2 หมู่บ้าน หนึ่งคือ ท่าสกอร์ อีกหนึ่งคือ เพียมเอก อยู่ในเขตอำเภอลเวียเอม ของจังหวัดกันดาล

“ละคอนโขน” เป็นการแสดงของชุมชน โดยคนในชุมชนและเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี เพื่อความรุ่งเรือง น้ำท่าบริบูรณ์ นาข้าวอุดม สามารถเก็บเกี่ยวได้เป็นมรรคเป็นผล เรียกได้ว่าเป็นวิถีหนึ่งซึ่งแยกออกจากชุมชนไม่ได้

“ละคอนโขน” เป็นการบันเทิงอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่เพื่อการบันเทิงเพียงอย่างเดียว มีการเสริมความเป็นพิธีกรรมเข้าไปด้วยอย่างชัดเจน ที่สำคัญก็คือ ชุมชนวัดสวาย อันเด็ท จัดการแสดงเพียงปีละครั้ง จำเพาะไว้หลังวันขึ้นปีใหม่เขมร คือในช่วงเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น

ในยุคดั้งเดิม ชุมชนวัดสวาย อันเด็ท จัดการแสดงกันครั้งหนึ่งต่อเนื่องกันถึง 7 วัน หลังผ่านกาลเวลามานาน พบเจอความยุ่งยากลำบากมากมาย ปัจจุบันจำนวนวันแสดงลดลงเหลือแค่ 3 วันเท่านั้น

ทำไมชุมชนวัดสวาย อันเด็ท ถึงได้มีวิถีและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เช่นนี้ได้?

 

สัน พัลลา กับ ชฮาย ดาวิน นักวิชาการของกระทรวงวิจิตรศิลป์และวัฒนธรรมกัมพูชา บอกเล่าเอาไว้ในไอซีเอช คูเรียร์ เล่มที่ 29 ไว้ว่า นักวิชาการเชื่อว่าละคอนโขนนั้นมีจุดเริ่มมาจาก “ละคอนภาณี” (bhani theater)

“ละคอนภาณี” เป็นการละเล่นเพื่อความบันเทิงเก่าแก่ ว่ากันว่ามีอยู่ในกัมพูชาตั้งแต่ยุคอังกอร์ คือราวคริสต์ศตวรรษที่ 9-14 ลักษณะเป็นการแสดงของผู้แสดงประกอบการ “ขับ” เพื่อ “เล่าเรื่อง” ซึ่งเข้าใจกันว่าแพร่หลายออกไปทั่วประเทศ

แต่ที่ชุมชนวัดสวาย อันเด็ท การละเล่นนี้ไม่เพียงตกทอดต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้เท่านั้น ยังเป็นการตกทอดมาในรูปแบบของการประยุกต์ใช้ นำมาผสมผสานเข้ากับขนบประเพณีท้องถิ่นจนมีเอกลักษณ์ของตนเองชัดเจน

ในคำอธิบายประกอบการขึ้นทะเบียนของยูเนสโก ระบุเอาไว้ดังนี้

“ละคอนโขน เป็นการแสดงโดยผู้แสดงชายล้วน สวมหน้ากาก (หัวโขน) มีวงดนตรีดั้งเดิมบรรเลงประกอบ พร้อมขับคำร้องคลอตามทำนอง เป้าหมายเฉพาะของการแสดงนี้ เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับ “เนียกทา” ซึ่งถือเป็นเทพอารักษ์ประจำพื้นที่และชุมชน เพื่อให้ปกป้องคุ้มครองและนำพาความรุ่งเรืองมาสู่ชุมชน ผืนแผ่นดินและการเก็บเกี่ยว”

การแสดงละคอนโขนนั้น จะมีคนทรงร่วมอยู่ด้วย ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่าง เนียกทา, ผู้แสดง และคนในชุมชน

หากเทพอารักษ์พึงพอใจกับการแสดงชาวบ้านในชุมชนจะได้รับพร ไม่เช่นนั้นแล้วผู้แสดงจะหยุดการแสดง ดนตรีบรรเลงต่อไป และผู้ชมจะนิ่งเงียบเพื่อรับฟังสิ่งที่เทพอารักษ์สื่อออกมา

 

เนื้อหาการแสดงคือเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งคนกัมพูชาเรียกว่า “เรียมเกอร์”

ทำไมต้องเป็นรามเกียรติ์? คำตอบก็คือ เพราะเทพอารักษ์ที่อำนวยฝนฟ้าอากาศของชุมชนชาวสวาย อันเด็ท คือ “เนียกทา” นั้น เรียกกันอีกชื่อว่า “โลก ทา กำแหง”

คนไทยก็รู้จักกันดี แต่ในอีกชื่อหนึ่งนั่นคือ “กำแหงหนุมาน” นั่นเอง

ก่อนหน้านี้ไม่นาน “ละคอนโขน” เริ่มตกต่ำ ผู้แสดงเริ่มลดน้อยลง โรงละคอนโขนของชุมชนทรุดโทรม ในที่สุดก็ถล่มลงน้ำโขงทั้งหลัง เช่นเดียวกับเครื่องทรงและหน้ากากที่ยูเนสโกเคยออกสตางค์ให้จัดทำใหม่ก็เก่าคร่ำคร่า ขาดวิ่น ความสนใจของคนรุ่นใหม่ก็ลดน้อยถอยลง

ดีที่เจ้าอาวาสกับหัวหน้าชุมชนพยายามรักษาเอาไว้ วัดเอื้อเฟื้อเนื้อที่ให้จัดแสดง หัวหน้าชุมชนร่วมกับครูละคอนโขนก็พยายามบันทึกบทร้อง และจัดชั้นเรียนฝึกผู้แสดงใหม่ๆ ขึ้นทุกสัปดาห์

ต่อด้วยการขึ้นทะเบียนของยูเนสโกครั้งนี้ โดยหวังว่าจะไม่สายจนเกินไปนัก