นิ้วกลม : คานธี : อย่าแยกหยดน้ำจากมหาสมุทร

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

1 เมื่อคิดจะต่อสู้ สิ่งแรกที่เกิดขึ้นคือ “ฝ่ายตรงข้าม”

มิเช่นนั้นเราจะสู้กับใครเล่า เมื่อมี “พวกมัน” ก็จะนิยาม “พวกเรา” ได้ชัดขึ้น

ในยุคสมัยของคานธี ความรู้สึกแบ่งแยกเช่นนี้มีมากมายเต็มไปหมด ตั้งแต่พวกล่าอาณานิคมชาวอังกฤษกับชาวอินเดีย พวกวรรณะต่างๆ กับพวกจัณฑาล พวกฮินดูกับมุสลิม บ้านเมืองเต็มไปด้วยการแบ่งเขาแบ่งเรา เหลือบมองรอบตัวก็ต้องคอยตรวจสอบว่าคนที่เดินผ่านไปเป็นพวกไหนกันแน่

สภาพแวดล้อมเช่นนี้ย่อมสร้างความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน

ความหวาดระแวงนี้อาจนำไปสู่ความเกลียดชัง และกลายเป็นความรุนแรงในที่สุด

เพราะเมื่อแบ่งฝักแบ่งฝ่ายแล้ว เรายิ่งขีดเส้นแบ่งเหล่านั้นให้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

เรานิยามตัวเราจากความแตกต่างจาก “พวกมัน” มากขึ้นเรื่อยๆ

ยิ่งนับวันก็ยิ่งเห็นว่าอีกฝ่ายหนึ่งช่างต่างจากเราราวกับเป็นสิ่งมีชีวิตคนละประเภท สะสมเนิ่นนานก็ไม่ยากที่จะลงไม้ลงมือกระทำรุนแรงต่อกันโดยไม่รู้สึกผิดแต่อย่างใด

ทุกสังคมย่อมมีปัญหา

เมื่อมีปัญหาย่อมมีการต่อสู้เพื่อจัดการปัญหานั้น สิ่งที่พบเห็นบ่อยๆ คือการต่อสู้กับอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อเอาชนะ เพื่อฆ่าฟันอีกฝ่ายให้หมดไป หรืออย่างน้อยก็หมดอำนาจ ด้วยความเชื่อว่า แนวทางที่ดีกว่าของเราจะได้ถูกนำมาปฏิบัติจริงก็ต่อเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องมาขวางทางเกะกะ

mahatmagandhi4

ในภาวะของการต่อสู้ ผลลัพธ์ที่นักต่อสู้จินตนาการไว้มักจะเป็นชัยชนะของฝ่ายตัวเอง และการแพ้พ่ายของอีกฝ่ายหนึ่ง หากไม่จัดการให้หมดสิ้นไป ก็กดเอาไว้ไม่ให้มีอำนาจหืออือใดๆ

พวกเขามักเคลื่อนขบวนการต่อสู้กันด้วยการตั้งเป้าหมายไว้เช่นนั้น

สนามสู้รบทางการเมืองหรือประเด็นทางสังคมจึงไม่ต่างจากสนามรบในสงครามจริง

แม้เป็นการต่อสู้กันด้วยแนวความคิด แต่พอดำเนินการไปด้วยโลกทัศน์แบบสงครามที่ต้องการฆ่าฟันคู่ต่อสู้ กลยุทธ์ทุกอย่าง รวมถึงอารมณ์ความรู้สึก จึงดำเนินไปอย่างดุเดือดเลือดร้อน

ยิ่งเนิ่นนาน สิ่งที่สู้รบด้วยก็เริ่มแปรเปลี่ยนจากแนวความคิดที่แตกต่างกลายมามุ่งเป้าที่บุคคล สู่ความเกลียดชังส่วนตัว

สิ่งที่เกิดขึ้นคือยิ่งต่อสู้ ต่างฝ่ายก็ยิ่งห่างไกลจากกันมากขึ้นเรื่อยๆ คุยกันได้น้อยลงเรื่อยๆ และอยากให้อีกฝ่ายหนึ่งล้มหายตายจากไปเสียจากโลกใบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

จนกระทั่งทางออกสุดท้ายนั้นตีบตันเหลือเพียงแค่ “ถ้ามีกู ต้องไม่มีมึง”

 

2 คานธีมองว่า รากฐานอย่างหนึ่งของความรุนแรงคืออารยธรรมของโลกสมัยใหม่ จากการผลิตที่ล้นเกิน นำไปสู่การบริโภคที่เกินจำเป็น สร้างความรู้สึกโลภ อยากได้อยากมี

และคุณค่าจากการได้ครอบครองสิ่งของต่างๆ ทำให้ผู้คนในโลกยุคใหม่มีความต้องการไม่รู้จบ ต้องแย่งชิงทรัพยากรซึ่งกันและกัน ขาดซึ่งความเมตตา เสียสละ และจิตใจที่คิดถึงผู้อื่น จึงไม่แปลกที่จะปะทะกัน และลงเอยด้วยความรุนแรง

ไม่ว่าจะเริ่มจากเหตุไปผล หรือผลไปเหตุ ล้วนให้ผลลัพธ์เหมือนกัน

แบบแรก เราอาจตระหนักถึงความจริงข้อนี้ รู้ตัวว่ากำลังมีความต้องการเกินจำเป็นเกิดขึ้นในจิตใจ ใช้ชีวิตในแบบที่ไม่บำรุงบำเรอกิเลสของตนเองมากนัก

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราย่อมไม่มีจิตใจที่จ้องจะหาแต่ประโยชน์เข้าตัว เราย่อมพร้อมที่จะเสียสละเพื่อเพื่อนร่วมสังคม คนที่ด้อยโอกาสกว่า และมีเมตตาต่อผู้คนที่แตกต่าง

ขณะที่แบบที่สอง เราอาจตั้งต้นด้วยจิตใจที่มุ่งมั่นว่า ไม่ว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้น ฉันจะไม่ใช้วิธีการรุนแรงต่อผู้ที่ฉันจะ “สร้างบทสนทนา” ด้วย

การตั้งมั่นว่าจะไม่มีพฤติกรรมรุนแรงย่อมก่อให้เกิดการระงับจิตใจ ตรวจสอบตนเองเมื่อเกิดความคิดรุนแรงขึ้นมา นำไปสู่การควบคุมตนเองได้

และการควบคุมตนเองได้เช่นนี้ก็จะนำไปสู่การควบคุมในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น การบำรุงบำเรอตัวเองที่ไม่จำเป็น

สำหรับคานธีแล้ว การแก้ปัญหาใดๆ ต้องเริ่มต้นที่ข้างในจิตใจของตนเองก่อน การต่อสู้ทางการเมืองต้องวางอยู่บนพื้นฐานที่ชัดเจนว่าจะนำไปสู่อะไร สังคมแบบใด โดยมีเงื่อนไขว่าจะปฏิเสธสิ่งใด ซึ่งเป้าหมายและกระบวนการต้องสอดประสานกัน มิใช่ใช้ความรุนแรงเพื่อสังคมที่สงบสุข มิใช่จัดการกับศาสนาอื่นเพื่อบูชาศาสนาของตน

ทั้งหมดนี้เริ่มที่การตั้งเป้าหมายในใจของแต่ละคน

คานธีเองไม่คิดว่าตนเองกำลังจะเอาชนะ “บุคคล” ที่กำลังสู้ด้วย แต่เขาต้องการเอาชนะ “ความชั่วร้าย” หรือ “ความอยุติธรรม” หรือ “ความเท็จ” ในตัวบุคคลนั้นต่างหาก

ผลลัพธ์ที่คาดหวังจึงมิใช่ความพ่ายแพ้พังภินท์ของคนคนนั้น หากคือการเปลี่ยนบางสิ่งในตัวคนคนนั้นไปสู่ด้านที่ดีงามยิ่งขึ้น

gandhi04

เช่นนี้แล้ว คานธีจึงมิได้มองว่าคนที่เขากำลังต่อสู้ด้วยนั้นเป็น “ศัตรู” หรือ “พวกมัน”

เขามิได้แบ่งแยกและขีดเส้นความแตกต่าง หากพยายามโอบรับและหลอมรวมทุกคนเข้าเป็น “พวกเรา” ด้วยความเชื่อว่า สังคมหนึ่งย่อมเต็มไปด้วยผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย แต่ทุกคนสามารถปรับเปลี่ยนและทำความเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่งหากได้สนทนากันอย่างสร้างสรรค์

การมองเช่นนี้ ทำให้เห็นความเหมือนในตัวฝ่ายตรงข้ามมากกว่าความต่าง คือเห็นความเป็นคนที่มีอยู่เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องจำกัด กดขี่ ปิดปาก หรือเอาชนะ “พวกชั่ว” สิ่งที่ต้องเอาชนะคือ “ความชั่ว” ต่างหาก เมื่อเอาชนะได้แล้ว เราก็เป็นพวกเดียวกัน

ในแง่นี้ สำหรับการเอาชนะด้านใน ทั้งสองฝ่ายล้วนกำลังต่อสู้กับ “ความชั่ว” ในใจของตนเองเพื่อขัดเกลาตนจนพบคำตอบที่ดีงามต่อตัวเอง ซึ่งเป็นคำตอบเดียวกันสำหรับสังคม

นั่นคือบุคคลที่รักความเป็นธรรม ไม่อวดโอ่วางท่าว่ามีอำนาจบาตรใหญ่ ไม่ดูถูกคนที่แตกต่าง คิดถึงผู้อื่น ห่วงใยคนที่ด้อยกว่า ช่วยกันสร้างสรรค์พัฒนาส่วนรวม ช่วยกันสร้างสังคมที่สงบสุข บุคคลเช่นนี้ย่อมสร้างสังคมแบบเดียวกันนั้นขึ้นมา

คานธีเห็นว่า พลเมืองทุกคนมีส่วนรับผิดชอบลักษณะนิสัยทางศีลธรรมของรัฐ เพราะรัฐที่ชั่วร้ายเกิดจากการยอมรับของพลเมือง

กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเป็นการหยามความเคารพตนเอง ผู้ปกครองเป็นส่วนขยายของสิ่งที่เราเป็น หากเราปฏิรูปตนเอง ผู้นำก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย

 

3 การจะได้มาซึ่งสังคมที่เป็นธรรม ประกอบด้วยการต่อสู้สามแนวทาง คือ ไม่ให้ความร่วมมือกับความอยุติธรรม อารยะขัดขืน (ยอมรับผลที่จะตามมา) และแผนงานที่สร้างสรรค์ ส่วนที่คานธีเน้นย้ำคือ การไม่ให้ความร่วมมือนั้นต้องไม่อิงเจตนาร้ายหรือความเกลียดชัง หรือสร้างความทุกข์ทรมานให้กับอีกฝ่ายหนึ่

คานธีเน้นการปฏิวัติแห่งคุณค่า แทนที่จะเน้นคุณค่าแห่งการปฏิวัติเพียงอย่างเดียว

แนวความคิด “สวราช” จึงเน้นที่การควบคุมตนเองและปกครองตนเองซึ่งจะนำไปสู่วุฒิภาวะของบุคคลและของชุมชนไปพร้อมกัน

เพราะทุกครั้งที่ใครคนใดคนหนึ่งเคลื่อนไหวทางการเมือง เขามิได้เป็นเพียงตัวละครทางการเมืองเท่านั้น

แต่เขายังเป็นตัวละครทางศีลธรรมอีกด้วย

ซึ่งมีผลต่อความคิดและจิตใจของผู้คนรอบตัว

การเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยคำนึงถึงศีลธรรมย่อมค่อยๆ เปลี่ยนความคิดของผู้คนทั้งฝ่ายเดียวกันและอีกฝ่ายไปในตัว แทนที่จะคิดถึงแต่กลยุทธ์ในการเอาชนะคะคาน

คานธีจึงเปิดกว้างต่อความเป็นอื่นและเสียงที่ไม่เห็นด้วยทุกรูปแบบ แม้มุ่งมั่นหยัดยืนในคุณค่าแบบอินเดีย แต่ก็พร้อมที่จะสนับสนุนคุณค่าของตะวันตกบางประการ แม้เป็นชาวฮินดูผู้เคร่งครัด แต่ก็พยายามต่อสู้ให้ยกเลิกสถานะของจัณฑาล ทั้งยังศึกษาและเปิดรับแนวคิดของทุกศาสนา เพราะขันติธรรม

สำหรับคานธีหมายถึงการตระหนักถึงผู้อื่น ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง พยายามเข้าใจและเรียนรู้จากผู้อื่น ดังที่คานธีกล่าวว่า

“ข้าพเจ้าไม่ต้องการให้บ้านล้อมกำแพงทุกด้านและหน้าต่างปิดสนิท ข้าพเจ้าต้องการให้วัฒนธรรมของทุกผืนดินพัดมาที่บ้านข้าพเจ้าอย่างเสรีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ข้าพเจ้าจะไม่ยอมถูกวัฒนธรรมใดๆ พัดให้ซวนเซออกจากจุดที่ยืน”

คานธีเชื่อว่าอำนาจนั้นต้องมาพร้อมความรัก เพราะอำนาจทางกายภาพเป็นอำนาจที่ครอบงำและกีดกันออกไป ต่างจากอำนาจทางจิตวิญญาณซึ่งเป็นอำนาจที่เคารพและรวมเข้าไว้

การเป็นผู้นำจึงมิใช่การครอบครองสมบัติหรืออำนาจ หากแต่เป็นไปเพื่อการดำรงชีพที่มีจริยธรรมและรับผิดชอบต่อคนในชุมชน ด้วยความรักและความเข้าใจที่มีต่อทุกคนเท่าเทียมกัน ด้วยความมุ่งมั่นในการแสวงหาความจริง ซึ่งผู้ที่เชื่อในการแสวงหาความจริงย่อมต้องเชื่อในพลังแห่งการอภิปรายและสนทนา มิได้คิดว่าตนเท่านั้นที่ถูกต้อง

1-25

4 แนวทางของคานธีจึงเริ่มจากการปกครองตนเองทั้งในแง่ของความเป็นอยู่ ดังที่ให้ชาวบ้านทอผ้าเอง และปกครองจิตใจตนเองให้เป็นไปในแนวทางที่มุ่งดีต่อผู้อื่น เมื่อทำได้เช่นนี้ก็จะเป็น “พลเมืองทางจริยธรรม” ซึ่งจะไม่ใช้ความรุนแรงกับผู้ที่ต่างไปจากตน มีขันติธรรม รับฟังและเรียนรู้ หากพบเจอความชั่วร้ายก็จัดการกับ “ความชั่ว” นั้น มิใช่ “คนชั่ว” พลเมืองเช่นนี้จะค่อยๆ เปลี่ยนเพื่อนร่วมสังคมให้เป็น “พลเมืองทางจริยธรรม” มิใช่เพียงแค่สัตว์การเมือง

ปัจเจกบุคคลจึงมีความจำเป็นต่อการสร้างสังคมที่ดี การเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกจากจะพุ่งเป้าไปที่ความเปลี่ยนแปลงของ “ระบบ” ยังต้องพุ่งเป้าไปที่การเปลี่ยนแปลงภายในของ “คน” ด้วย ทั้งฝ่ายเราและฝ่ายที่ยังไม่ใช่เรา เพราะถึงที่สุดปัจเจกนั้นก็รวมกันเป็นสังคมที่พวกเราใช้ชีวิตร่วมกัน ต่อให้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบที่เป็นปัญหาได้ด้วยวิธีรุนแรงก็ไม่สามารถแก้ปัญหาในระยะยาวได้จริง ตราบที่จิตใจของผู้คนในสังคมยังคุกรุ่นไปด้วยความรุนแรง

การเอาชนะด้วยความรุนแรงเป็นเพียงการกดความรุนแรงอีกด้านหนึ่งไว้

คานธีกล่าวว่า “ปัจเจกภาพทั้งมีอยู่และไม่มีอยู่ แม้แต่น้ำทุกหยดในมหาสมุทรก็ทั้งเป็นและไม่เป็นปัจเจก นั่นมิใช่เพราะว่านอกเหนือจากมหาสมุทรไม่มีอะไรคงอยู่ แต่เป็นเพราะว่ามหาสมุทรจะคงอยู่ไม่ได้หากไม่มีหยดน้ำ กล่าวคือ ไม่มีปัจเจกภาพ ทั้งสองสิ่งขึ้นอยู่กับกันและกันอย่างงดงาม”

มหาสมุทรที่เต็มไปด้วยหยดน้ำที่เป็นพิษย่อมเต็มไปด้วยอันตราย

แม้ผิวน้ำด้านบนจะดูสงบนิ่งก็ตาม