วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /คืนสู่เพศฆราวาส

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์      

คืนสู่เพศฆราวาส

 

เดือนกรกฎาคม 2520 นับจากเดือนพฤศจิกายน 2519 ได้ 7 เดือนเศษที่ผมเข้าไปพำนักใต้ร่มกาสาวพัสตร์ เป็นเพศบรรพชิต อาศัยผ้าเหลือง ออกบิณฑบาตอาหารด้วยลำแข็งจากชาวบ้านพุทธศาสนิกชน มีโอกาสบำเพ็ญเพียรสมาธิด้วยธรรมะพระพุทธองค์

ถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2520 เมื่อบอกกล่าวกับแม่วันลาสิกขาก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ตั้งใจว่า หากแม่เอ่ยปากขอให้อยู่ในพรรษา อาจต้องตัดสินใจใหม่ แต่เมื่อแม่ไม่ได้เอ่ยปาก จึงแจ้งกับหลวงน้าถึงกำหนดวันลาสิกขา พร้อมไปกราบลาท่านเจ้าอาวาส

เช้ามืดวันนั้น นิมนต์หลวงน้าและพระที่เคารพนับถือทั้งก่อนบวชและระหว่างบวชมาเป็นผู้ทำพิธีรับการลาสิกขาเพื่อเป็นมงคลของชีวิตจากนี้

พิธีลาสิกขาไม่มีมากมาย เมื่อกราบคณะสงฆ์แล้วเอ่ยคำลาสิกขาภาษาบาลีว่า – สิกขังปัจจักมิ คิหิ มัง ธาเรถะ – (หมายความว่า “ข้าพเจ้าขอลาสิกขา ขอท่านทั้งหลายจงจำว่าข้าพเจ้าเป็นคฤหัสถ์ ณ บัดนี้”)

จากนั้น หลวงน้าจับผ้าสังฆาฏิดึงออกจากบ่า เป็นอันว่า “ข้าพเจ้าไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์เป็นภิกษุต่อไปได้” กราบพระสงฆ์ทั้งหลายเสร็จ ออกมาเปลื้องผ้ากาสาวพัสตร์ ผลัดเปลี่ยนผ้าขาวม้าที่เตรียมมา ให้หลวงน้ารดอาบน้ำมนต์ ผลัดเสื้อกางเกงชุดขาว แล้วกลับเข้าไปรับศีลห้า รับพร ถวายจตุปัจจัย

เป็นอันว่ากลับคืนมาสู่สภาพเดิมก่อนบวช ณ นาทีนั้น

 

วันที่บวช ตั้งใจไว้จะหยุดสูบบุหรี่ระหว่างบวช รับประทานอาหารกลางวันกับเพื่อนเสร็จ จุดบุหรี่มวนสุดท้ายสูบได้ครึ่งมวน ทันทีที่แม่จรดกรรไกรขลิบผม ก็โยนบุหรี่ที่เหลือลงท่อ

หลังจากลาสิกขาเรียบร้อย ถวายภัตตาหารเช้าภิกษุที่เคยร่วมฉัน แล้วตัวเองรับประทานอาหารหลังพระฉันเสร็จ เดินออกจากวัด พร้อมบาตร ส่วนสังฆาฏิที่คิดว่าจะนำกลับมาด้วย พระรูปหนึ่งขอไว้จึงถวาย

หาซื้อบุหรี่ที่ร้านหน้าวัด จุดสูบมวนแรกทันที ก่อนเรียกรถแท็กซี่กลับบ้านเสียด้วยซ้ำ สูบบุหรี่ในรถแท็กซี่จนหมดมวน รู้สึกแปลกเหมือนกันหลังจากหยุดสูบไป 7 เดือน

คือเหตุผลหนึ่งที่อ้างเมื่อต่อมาคิดหยุดสูบบุหรี่ ว่าเคยหยุดสูบได้ถึง 7 เดือน ทำไมจะหยุดสูบอีกไม่ได้

สิ่งแรกที่กลับถึงบ้าน นำบาตรขึ้นไปวางบนหน้าที่พระ แม่นั่งรออยู่ก่อนแล้ว ก้มลงนั่งราบกับพื้นแล้วกราบเท้าแม่ แม่ลูบหัวโล้นเกรียนรับขวัญที่กลับมาเป็นลูกแม่อีกครั้งหนึ่ง

วันแรกนั้น หลังเที่ยง แต่งตัวออกจากบ้านทั้งที่เพิ่งโกนผมเสร็จเมื่อสองสามวันก่อนซึ่งเป็นวันโกน เรียกแท็กซี่ตรงไปแพร่งสรรพศาสตร์รายงานตัวกับเพื่อนขอเข้าทำงานตั้งแต่วันนั้น

 

โรงพิมพ์พิฆเณศกลับมาคึกคักหลายเดือนแล้ว มีงานทั้งพิมพ์หนังสือเล่ม และหนังสือพิมพ์ที่ชาวคณะ (รวม) ประชาชาติไม่ได้ไปทำงานที่อื่น ได้รับการเรียกตัวกลับมาช่วยทำหนังสือพิมพ์ที่พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร กับขรรค์ชัย บุนปาน คิดขึ้นมา ได้หัวหนังสือพิมพ์รายวันชื่อ “เข็มทิศ” แสงไทย เค้าภูไทย บรรณาธิการข่าวกีฬา เป็นเจ้าของ จดหัวไว้กับเจ้าหน้าที่กองการหนังสือพิมพ์ ตำรวจสันติบาลก่อนหน้านี้

ด้วยแนวความคิดที่ว่า เมื่อรัฐบาลไม่ให้ออกหนังสือพิมพ์รายงานข่าวการเมือง กลับมาออกหนังสือรายสัปดาห์หรือรายสามวัน นำเสนอข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และจากต่างประเทศก็ได้

ก่อนหน้านั้น หนังสือพิมพ์รายวันนำเสนอข่าวเศรษฐกิจน้อยมาก โดยเฉพะข่าวภาคเอกชนของไทย มีแต่หนังสือพิมพ์ “ข่าวพาณิชย์” ของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งส่วนใหญ่เสนอข่าวเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นหลัก

ทั้งที่ข่าวเศรษฐกิจภาคเอกชนมีจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าข่าวการเงิน การธนาคาร ยังมีสมาคมเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ธุรกิจอีกหลายสมาคม กิจการพาณิชย์ของไทยมีสินค้าหลายประเภท ทั้งข้าว อ้อย น้ำตาล

การนำเสนอข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ เป็นหนังสือพิมพ์ที่ควรจะจำหน่ายให้กับนักธุรกิจเป็นหลัก เพื่อให้แตกต่างจากหนังสือพิมพ์รายวัน จึงใช้กระดาษพิมพ์ขาวที่เรียกว่า “กระดาษปอนด์” เป็นแผ่น ด้วยเครื่องพิมพ์ที่เรียกว่า “แท่นลม” หรือเครื่องลม ก่อนเป็นระบบออฟเซ็ตที่ใช้แผ่นเพลตไม่นาน

เครื่องพิมพ์ที่โรงพิมพ์พิฆเณศ เป็นเครื่องลมทันสมัย ชนิดป้อนแผ่นสองเครื่อง เมื่อนำมาพิมพ์ด้วยกระดาษปอนด์ป้อนแผ่นจึงไม่ยากกับช่างพิมพ์ฝีมือดีที่เคยพิมพ์งานกระดาษอาร์ตมาก่อน

หนังสือพิมพ์เข็มทิศเริ่มออกเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2520 เป็นฉบับแรก มีหัวหน้าข่าวสองสามคน อาทิ รัฐกร อัศดรธีรยุทธ ไพสันต์ พรหมน้อย สมหมาย ปาริจฉัตต์ และผู้สื่อข่าวจาก (รวม) ประชาชาติอีกบางคน ออกจำหน่ายเป็นรายสามวัน ระดมทั้งข่าวและการพิมพ์แทบว่าทั้งวันทั้งคืน

นับเป็นหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจธุรกิจฉบับแรกจัดพิมพ์ในรูปแบบหนังสือพิมพ์รายวัน นำเสนอข่าวการสัมภาษณ์นายธนาคาร นายกสมาคม รัฐมนตรีทางเศรษฐกิจ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นต้น

 

ขณะนั้น เพื่อนที่เคยทำงานด้วนกันบางคนมาชวนให้ลาสิกขาออกไปช่วยกันทำงาน แต่เป็นเพราะเพิ่งบวชเพียงสองเดือน จึงยังรีรอ ไม่ตกปากรับคำ

แม้ขณะเดียวกัน ผู้ใหญ่ที่เป็นนักข่าวตลอดกาลยังเคยชักชวนให้ออกไปทำงานหนังสือพิมพ์รายวันด้วยกัน ตอนนั้นยังไม่ตัดสินใจ แม้วันหนึ่ง เพื่อนที่เป็นคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเขียนถึงว่า ผมร้อนผ้าเหลืองจะสึกออกไปทำหนังสือพิมพ์เสียแล้ว

กิจการหนังสือพิมพ์เข็มทิศเป็นที่ยอมรับของบรรดานักธุรกิจ ทั้งภาคเอกชน ทั้งนักวิชาการด้านเศรษฐกิจ ขรรค์ชัย บุนปาน เป็นฝ่ายหาทุน และผู้จัดการ พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร เป็นฝ่ายบรรณาธิการ

นอกจากข่าวเศรษฐกิจธุรกิจเป็นตัวนำ ซึ่งมาจากการสัมภาษณ์นายธนาคารที่เมื่อก่อนไม่ค่อยให้สัมภาษณ์ หรือหยิบจากข่าวในหนังสือของสมาคมเรื่องผลการประชุม หรือผลการเดินทางไปเจรจาธุรกิจเรื่องการค้ากับต่างประเทศ ยังมีข่าวการเมือง ทั้งจากรัฐบาล จากต่างประเทศ คอลัมน์จากนักวิชาการ และคอลัมน์หยิกแกมหยอกรัฐบาล ที่พงษ์ศักดิ์เป็นตัวนำ ชื่อคอลัมน์ “หนุนยันตลอดกาล” ใช้นามปากกา “นายหนุนยัน” เป็นนามปากกากลาง เขียนหยิกแกมหยอกรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีนำเสนอความคิดนโยบายอะไรออกมาเป็นเห็นดีเห็นงามไปหมด

ระหว่างนั้น ขรรค์ชัยที่ไม่เคยหยุดการหารายได้มาใช้จ่ายให้กับคนทำงาน มีความคิดออกหนังสือรายอื่น เช่น หนังสือเล่มจากเพื่อนนักข่าวนักเขียน ในรูปรวมเรื่องสั้น ทั้งคิดออกหนังสือรายเดือนด้วยวัสดุอุปกรณ์และคนที่มีอยู่เท่าที่เป็นไปได้

เพื่อหวังว่าวันหนึ่งจะกลับมาออกหนังสือพิมพ์รายวันการเมืองอีกครั้งหนึ่ง