วิกฤติศตวรรษที่ 21 : การเดินเกมรุก! สู่สงครามค่านิยมของรัสเซียสะเทือนโลกตะวันตก

วิกฤติประชาธิปไตย (33)

สงครามค่านิยม-วัฒนธรรมรัสเซีย-ตะวันตก

สงครามค่านิยม-อุดมการณ์-วัฒนธรรม เป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของการสงครามทั่วไป

แม้ว่าค่านิยม-อุดมการณ์จะเป็นเรื่องของ “อำนาจอ่อน” แต่ก็มีพลังในการกัดกร่อนอำนาจแห่งชาติอย่างสูง

ในสงครามเย็นระหว่างสหรัฐกับสหภาพโซเวียต ที่สหภาพโซเวียตเป็นฝ่ายพ่ายแพ้นี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากความอ่อนแอทางด้านศีลธรรม ขวัญ กำลังใจและความมุ่งมั่นภายในพรรคคอมมิวนิสต์ จนต้องล่มสลายลงแม้จะมีกำลังทางทหารแข็งแกร่ง

เมื่อเกิดรัสเซียใหม่ ก็ต้องสร้างเครื่องมือทางค่านิยม-วัฒนธรรมรัสเซียอย่างเร่งด่วนขึ้นซึ่งไม่ใช่งานง่าย

แต่รัสเซียสมัยปูตินก็ได้ลงแรงอย่างเต็มที่ และพยายามพลิกสถานการณ์กลับเป็นการรุกทางค่านิยม-วัฒนธรรมต่อฝ่ายตะวันตกซึ่งทำได้จากเงื่อนไขบางประการ

ข้อแรก ได้แก่ ความแข็งแกร่งของสังคมรัสเซียแสดงออกที่สามารถตีโต้การรุกรานของกองทัพใหญ่ของเยอรมนีได้ในสงครามโลกครั้งที่สอง และการที่ฝ่าฟันเอาตัวรอดจากภาวะล่มสลายได้

ข้อต่อมา เกิดจากความเสื่อมถอยทางค่านิยม-วัฒนธรรมตะวันตกเอง ทั้งในหมู่ประชาชนของตนเองและในการชักนำประชาชนประเทศต่างๆ

สงครามทางค่านิยม-วัฒนธรรมของรัสเซียต่อตะวันตกนี้ กระทำเป็นหลายชั้นตามความสำคัญและความเป็นไปได้

ชั้นแรก ที่เป็นพื้นฐานได้กระทำต่อประชาชนรัสเซียที่อยู่ในรัสเซีย เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพ ความรัก ความภูมิใจในชาติ ไม่เห็นว่าค่านิยม-วัฒนธรรมตะวันตกอยู่เหนือกว่า

ชั้นที่สอง ได้แก่ ชาวรัสเซียที่อยู่ในต่างแดน ได้แก่ ที่อยู่ในประเทศที่เคยร่วมสหภาพโซเวียต ที่อยู่ในประเทศยุโรปตะวันออก ไปจนถึงที่อยู่ในประเทศตะวันตก

ชั้นที่สาม ได้แก่ ประชาชนที่อยู่ในประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ต้องการเป็นตัวของตัวเองออกจากอิทธิพลทางความคิดค่านิยมตะวันตก

และ ชั้นท้ายสุด ได้แก่ ประชาชนในประเทศตะวันตกเอง ซึ่งในชั้นท้ายนี้ได้ก่อความขัดแย้งเป็นข่าวใหญ่ว่า รัสเซียเข้าไปชักใย ประชามติชาวสหรัฐและประเทศตะวันตกอื่นเพื่อให้เกิดผลการเลือกตั้งตามที่ต้องการ

การกล่าวหาเช่นนี้สะท้อนว่า สงครามค่านิยม-วัฒนธรรมของรัสเซียได้ผลจนเป็นที่หวั่นวิตกของตะวันตก

การผงาดของค่านิยม-วัฒนธรรมตะวันตก

ที่ตะวันตกผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจโลก เป็นตัวแบบทางค่านิยม-วัฒนธรรมให้ประเทศอื่นยึดถือปฏิบัติตาม สร้างกระแสการทำให้เป็นแบบตะวันตกหรือให้ทันสมัยขึ้นได้ ก็มาจากการเคลื่อนไหวปฏิวัติที่เกี่ยวเนื่องกัน 3 ประการ ได้แก่

(1) การปฏิวัติวิทยาศาสตร์และการปฏิวัติอุตสาหกรรม (เริ่มต้นกลางศตวรรษที่ 15 และ 18 ตามลำดับ) ที่เปิดทางให้แก่ระบบทุนนิยมเสรีสามารถแผ่ไปทั่วโลกอย่างไม่มีพลังใดต้านทานได้ การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ก่อให้เกิดการเข้าใจโลกธรรมชาติแบบใหม่จากการสังเกต การทดลองและการตั้งทฤษฎี ไม่ต้องอิงการอธิบายจากคัมภีร์ทางศาสนา สามารถสร้างทฤษฎีหรือ “กฎธรรมชาติ” ขึ้นในหลากหลายสาขาวิชา

ส่วนการปฏิวัติอุตสาหกรรมก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการผลิตและการทหารการสงคราม 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่

ก) การสร้างอุตสาหกรรมโรงงาน

ข) การแปรการเกษตรเป็นแบบอุตสาหกรรม ใช้เครื่องจักรกล ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง เป็นต้น

ค) การสร้างอุตสาหกรรมการทหาร ตะวันตกได้อาศัยสินค้าอุตสาหกรรมและเรือปืน กดประเทศต่างๆ ให้ยอมจำนน และเมื่อสินค้าอุตสาหกรรมกดไม่ลงก็ใช้เรือปืน เช่น กรณีสงครามฝิ่น (1840) ที่อังกฤษกระทำต่อจีน

ความได้เปรียบทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และการทหารของตะวันตกดังกล่าว ดำรงอยู่จนถึงปัจจุบันแต่ด้วยช่องว่างที่ลดลง

(2) การปฏิวัติทางการเมือง ที่โดดเด่นได้แก่ การปฏิวัติอเมริกาและการปฏิวัติฝรั่งเศส (ทั้งคู่เกิดในครึ่งหลังศตวรรษที่ 18) สร้างระบบรัฐที่เอื้อต่อบรรดานายทุนผู้ประกอบการในเมือง สร้างรัฐบาลตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง มีพรรคการเมือง แบ่งอำนาจอธิปไตยไม่ให้รวมศูนย์อยู่ในสถาบันกษัตริย์แบบสมัยฟิวดัล

และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การสร้าง “การปกครองของกฎหมาย” หรือ “หลักนิติธรรม” ซึ่งตะวันตกใช้เป็นอาวุธสำคัญทางการเมืองในการรักษา การครองความเป็นใหญ่ของตนไว้ ว่าเป็นค่านิยมที่ตะวันตกจะไม่ยอมทอดทิ้งไป

ทั้งนี้ ตะวันตกเองก็ไม่ได้ปฏิบัติตามค่านิยมดังกล่าวเข้มงวดอะไร กระทั่งทำตรงข้าม

เช่น อังกฤษสมัยเป็นเจ้าอาณานิคมได้ออกกฎหมายไม่เป็นธรรมต่อประเทศอาณานิคมเนืองๆ ได้แก่ กฎหมายชา จนเกิดกรณีการเลี้ยงน้ำชาที่ บอสตัน (ค.ศ.1776) และการเก็บภาษีเกลือที่อินเดีย จนคานธีต้องนำ “การเดินขบวนเกลือ” หรือ “สัตยาเคราะห์เกลือ” (1930)

หรือในสหรัฐระยะหลังเองมีนักวิชาการได้วิเคราะห์บรรดากฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา พบว่า จำนวนมากเอื้อประโยชน์ต่อบรรดาเศรษฐี ไม่ใช่สาธารณชน

(3) การปฏิวัติทางสังคม-วัฒนธรรม มีประเด็นที่ควรกล่าวถึง ได้แก่

ก) การปฏิรูปศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ แยกตัวจากนิกายคาทอลิก (เริ่มช่วงต้นศตวรรษที่ 16) มีนักสังคมวิทยาบางคนชี้ว่าจริยธรรมของโปรเตสแตนต์เกื้อหนุนต่อการทำงานในทางโลก การเป็นผู้ประกอบการสร้างวิสาหกิจของตน เข้าร่วมทางการค้าและการสะสมทุน

กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ จริยธรรมการทำงานในนิกายโปรเตสแตนต์ เป็นพลังขับเคลื่อนให้ระบบทุนนิยมสมัยใหม่ได้เติบใหญ่ขึ้น

ประเทศที่ต้องการความทันสมัยจำต้องปฏิรูปศาสนาความเชื่อของตนให้ทันสมัย หรือไม่ก็รับเอาศาสนาคริสต์จากตะวันตกมา ในปัจจุบันผู้นับถือศาสนาคริสต์มีมากที่สุดกว่าศาสนาอื่น ประมาณว่าร้อยละ 33 ของผู้นับถือทั้งหมด อิสลามมาเป็นที่สอง ร้อยละ 24

ข) เสรีภาพ เสรีชน ระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล แรงงานเสรี เสรีภาพของทุนและเจ้าหนี้ ลัทธิปัจเจกชน เป็นกลุ่มค่านิยมที่ตะวันตกยกย่องและเผยแพร่ไปทั่วโลก ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีตามการขยายตัวของระบบทุน

แต่ในความมีเสรีและลัทธิปัจเจกชนนั้นมีรายละเอียดที่ขัดแย้งกันในตัว

เช่น “เสรีชน” ที่ตั้งอยู่บนฐานของระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ด้านหนึ่งเป็นแรงงานเสรี สามารถเป็นลูกจ้างคนงานแก่ใครก็ได้ ไม่ต้องถูกสักข้อมือสังกัด มูลนายคนใดคนหนึ่ง หรือเป็นทาสติดที่ดิน

อีกด้านหนึ่งคือ เสรีภาพของทุนและเจ้าหนี้ ที่สามารถจะลงทุนหากำไรหรือปล่อยกู้เรียกดอกเบี้ยอย่างเสรี ไม่ถูกริบทรัพย์ไปง่ายๆ เหมือนสมัยฟิวดัล เกิดเป็นความขัดแย้งใหญ่ระหว่างแรงงานเสรีกับทุนเสรี เมื่อทุนสามารถรวมศูนย์และกระจุกตัวใหญ่ขึ้นทุกทีอย่างในปัจจุบัน ความขัดแย้งก็ยิ่งรุนแรงขึ้น

ส่วนกลุ่มค่านิยมลัทธิปัจเจกชนหรือลัทธิเสรีที่ปฏิเสธการครอบงำจากครอบครัวและชุมชนสังคม เป็นต้น เมื่อปฏิบัตินานเข้า ก็เหมือนเป็นการตัดรากตนเองกลายเป็นคนรากลอย เป็นเสรีชนที่เหงาโดดเดี่ยวซึมเศร้าทำร้ายตนเอง

มีงานศึกษาชิ้นหนึ่งในปี 2018 พบว่า ชาวอเมริกันเกือบครึ่งหนึ่งรู้สึกเหงาโดดเดี่ยว ยิ่งถ้าเป็นรุ่นหนุ่มสาวก็เกือบทั้งหมด

ค) หน้าต่างทางโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับทุกคนที่ขยันและฉลาด ก็สามารถดีกว่าคนรุ่นก่อนได้ เป็นค่านิยมที่สร้างความหวังและการมองโลกด้านดี ซึ่งดูดีไม่เป็นพิษเป็นภัย

ทุกวันนี้ก็ยังโฆษณาว่าต้องมีความหวังและมองโลกในแง่ดี

แต่การปฏิบัติเช่นนั้นนานเข้าก็เกิดอันตรายได้ง่าย นั่นคือ เกิดความประมาทร้ายแรง มีความเห็นผิดไปว่าความเจริญเติบโตนั้นมีได้อย่างไม่จำกัด แต่ความจริงความเจริญเติบโตภายใต้อารยธรรมอุตสาหกรรมนั้นมีความจำกัดในตัวหลายประการ

เช่น ความจำกัดทางระบบนิเวศ เมื่อเกิดมลพิษและใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป

และความจำกัดในการก่อหนี้เพื่อสร้างความเติบโต หนี้ที่มากเกินไปย่อมชะลอการเติบโตในที่สุด และก่อภาวะเงินเฟ้อเงินรุนแรง เมื่อการเติบโตชะลอตัวประกอบกับความร่ำรวยกระจุกตัว หน้าต่างแห่งโอกาสก็ปิดลงในประเทศสหรัฐ เป็นต้น

คนรุ่นหนุ่มสาวได้รู้สึกกันว่า พวกเขาคงไม่สามารถทำได้ดีกว่ารุ่นพ่อแม่

สิ่งนี้กำลังลามไปทั่วโลก

นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธาธิบดีรัสเซีย กัย นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ความเสื่อมถอยของค่านิยมตะวันตกจากรัฐบาลโลกสู่การเมืองอัตลักษณ์

ความเสื่อมถอยของค่านิยมตะวันตกเกิดจากหลายเหตุปัจจัยและในหลายรูปแบบ ที่กล่าวแล้วก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่จะกล่าวต่อไปเป็นปรากฏการณ์ความเสื่อมถอยของประชาธิปไตยตะวันตก ซึ่งอาจสรุปได้ว่าเสื่อมจากการเคลื่อนไหว จัดตั้งรัฐบาลโลกและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สู่การเมืองเชิงอัตลักษณ์ (Identity Politics)

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐและพันธมิตรตะวันตกผู้ชนะสงคราม วาดหวังว่าโลกจากนี้จะสงบสันติ ภายใต้ระบอบเสรีประชาธิปไตยหรือระบบทุนนิยมเสรี ได้จัดตั้งสถาบันระหว่างประเทศขึ้นมาชุดหนึ่งดูแลทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม มีค่านิยมตามประกาศในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เป็นต้น เป็นพื้นฐานเพื่อการก่อตั้งรัฐบาลโลกขึ้น

แต่โลกก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่วาดหวัง ประเทศกำลังพัฒนาที่หลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคม พากันเดินไปคนละทางสองทาง ตามความเป็นมาทางประวัติศาสตร์และสถาการณ์แวดล้อม ซ้ำยังมีลัทธิสังคมนิยมที่นำโดยสหภาพโซเวียตเป็นคู่แข่งใหญ่

สหรัฐ-ตะวันตกต้องทำศึกมีปฏิบัติการลับในที่ต่างๆ เพื่อจัดระเบียบโลกและทำลายระเบียบที่ตนสร้างขึ้นเองพร้อมไปด้วย จนกระทั่งอ่อนกำลังลงทุกด้าน เกิดความแตกแยกภายในชาติ การปฏิบัติการข่าวสารกันเอง สร้างข่าวปลอมไปจนถึงการสร้างการเมืองเชิงอัตลักษณ์ขึ้นซึ่งบางคนเรียกว่าเป็นการเมืองหลังความจริง

แนวคิดเรื่องการเมืองเชิงอัตลักษณ์นี้ทำให้แพร่หลายโดยฟรานซิส ฟูกูโอกะ นักทฤษฎีการเมืองที่มีชื่อเสียงของสหรัฐ ผู้เขียนหนังสือ “ที่สุด แห่งประวัติศาสตร์” มนุษย์ก้าวสู่จุดสูงสุดในสมัยประชาธิปไตยหรือทุนนิยมเสรี (1992)

มาถึงปี 2018 เขาเห็นว่า เสรีประชาธิปไตยเผชิญวิกฤติ เนื่องจากการเกิดขึ้นมาของการเมืองเชิงอัตลักษณ์

ฟูกูโอกะบรรยายว่า นับแต่ต้นทศวรรษ 1970 จนถึงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งได้เบ่งบาน จำนวนประเทศที่ใช้ระบอบปกครองแบบนี้เพิ่มจากราว 35 ประเทศเป็นกว่า 110 ประเทศ

ซึ่งในช่วงเวลานั้นเศรษฐกิจโลกเฟื่องฟู คนจำนวนมากโดยเฉพาะในประเทศตลาดเกิดใหม่พ้นจากความยากจน

แต่ผลได้นี้เป็นไปอย่างไม่สม่ำเสมอ อุตสาหกรรมโรงงานได้ย้ายจากสหรัฐ และยุโรป ไปยังเอเชียตะวันออกและภูมิภาคอื่นที่ค่าแรงถูกกว่า

ความเจริญเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดการแปรโฉมไปทั่วโลก

แต่ในที่สุดความเติบโตและความเปลี่ยนแปลงนี้ก็ค่อยชะลอตัวลง โดยเฉพาะหลังวิกฤติการเงินสหรัฐปี 2008 และในยุโรปปี 2009

เนื่องจากสหรัฐ-ยุโรปที่เป็นแบบฉบับของเสรีประชาธิปไตยเสื่อมถอยลง ทำให้ชื่อเสียงของระบอบประชาธิปไตยมัวหมองไปด้วย ในช่วงสิบปีเศษมานี้จำนวนประเทศเสรีประชาธิปไตยลดลงในทุกภูมิภาคของโลก ความเสื่อมของเสรีประชาธิปไตยนิยมกล่าวกันว่าเกี่ยวเนื่องกับโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี

แต่ที่ควรกล่าวถึงคือ การรุ่งเรืองขึ้นของการเมืองเชิงอัตลักษณ์

การเมืองที่ผ่านมาเน้นในเรื่องเศรษฐกิจและอุดมการณ์ แต่การเมืองขณะนี้เน้นในเรื่องอัตลักษณ์มากกว่า ทั้งนี้เพราะว่ามนุษย์ไม่ได้ต้องการด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ต้องการด้านอัตลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชาติ ศาสนา ชนชาติ สถานะทางสังคม เพศภาวะ และอื่นๆ

ฟูกูโอกะเห็นว่า การเมืองเชิงอัตลักษณ์ในสหรัฐที่สำคัญเกิดขึ้นจากความไม่พอใจของการสูญเสียสถานะเดิม ความเหนือกว่าของตน ได้แก่ ชนชั้นกลางผิวขาว ที่รู้สึกว่าทั้งตนและชาติสูญเสียความยิ่งใหญ่ไป ต้องการให้สหรัฐและตนเองกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง และยังมีการเมืองเชิงอัตลักษณ์อีกด้านหนึ่ง ที่ไม่พอใจในสถานะเดิมที่ต่ำต้อยกว่ากลุ่มอื่น เช่น คนอเมริกันผิวดำที่รู้สึกว่าพวกตนถูกฆ่าแกงเหมือนผักปลาไร้ความหมาย คล้ายกับการสร้างลัทธิชนเผ่าที่ก่อความแตกแยกในสหรัฐอย่างใหญ่หลวง

ฟูกูโอกะมองโลกในแง่ดีว่า เสรีประชาธิปไตยจะชนะในที่สุด ตั้งความหวังว่า อัตลักษณ์สร้างความแตกแยกได้ แต่ก็ใช้เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพได้เช่นกัน (ดูความเรียงของ Francis Fukuyama ชื่อ Against Identity Politics- The New Tribalism and the Crisis of Democracy ใน foreignaffairs.com ฉบับเดือนกันยายน/ตุลาคม 2018)

มีบางด้านที่ควรเพิ่มเติมก็คือ การเมืองเชิงอัตลักษณ์ในสหรัฐ-ตะวันตกนั้น เป็นหนทางที่ชนชั้นนำหรืออย่างน้อยบางส่วนของชนชั้นนำในประเทศดังกล่าวเลือกเดินเอง เพราะมันเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะรักษาการครองความเป็นใหญ่ของตนไว้ได้นานที่สุด เช่น ดีกว่าให้ประชาชนหันไปนิยมแนวคิดสังคมนิยม เป็นต้น สำหรับสาธารณชน ในท่ามกลางความยากลำบากเป็นโกลาหลนี้มีทางเลือกเดินที่หลากหลาย

ฉบับต่อไปว่าด้วยพัฒนาการของอุดมการณ์รัสเซีย และการต่อสู้กับวัฒนธรรมตะวันตกในสมัยปูติน