การเมืองเรื่องสนุก l มนัส สัตยารักษ์

คนในวัยชราปูนผมคงคุ้นเคยกันดีกับชื่อหนังสือ “การเมืองเรื่องสนุก” ของวิลาศ มณีวัต

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก หอบหิ้วติดตัวข้ามน้ำข้ามทะเลจนกลับมาซื้อบ้านอยู่ในกรุงเทพฯ จึงวางหนังสือเล่มนี้ลงที่มุมใดมุมหนึ่งของตู้หนังสืออันรกเรื้อสับสนและไม่เป็นระเบียบ

ความโกลาหลของพรรคการเมืองและนักการเมืองในห้วงเวลาที่กำลังจะก้าวไปสู่วาระของ “การเลือกตั้ง 2562” ทำให้ผมหวนนึกถึงชื่อหนังสือเล่มนี้ทันที

พร้อมกับมีอารมณ์ขันเกิดขึ้นแทนที่ความหงุดหงิดวุ่นวายในความเป็นไปของวงการเมือง

ผมทำตัวเหมือนโดรนที่ร่อนอยู่เบื้องบนแล้วมองลงมาเห็นความเป็นไปข้างล่างนั้น

ชัดบ้าง เบลอบ้าง เชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้าง

และที่เห็นชัดนั้นส่วนใหญ่ผมก็ยังไม่เชื่อ

เริ่มกันด้วย “โพล”

สมัยก่อนผลของโพลอาจจะพอเชื่อถือได้ เพราะดำเนินการมาด้วยหลักวิชาอย่างบริสุทธิ์ใจ

แต่ต่อมานักการเมืองพบว่าโพลเป็นเครื่องมือหรืออาวุธอย่างหนึ่งในการช่วงชิงชัยชนะ ดังนั้น สำนักโพลที่เห็นแก่ประโยชน์จึงมักจะ “ตั้งธง” ไว้ก่อน แล้วหาวิธีที่จะทำตัวเลขแสดงผลให้สอดคล้องไปกับธงที่ตั้งไว้ ตัดข้อมูลที่ไม่เอื้อประโยชน์ทิ้ง

ความบิดเบี้ยวนี้พิสูจนได้โดยผลจริงที่พลิกล็อก ยกตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม. ปี 2556 สำนักโพลเกือบทุกแห่งรวมทั้งเจ้าใหญ่อย่าง “ดุสิตโพล” และ “เอแบคโพล” ต่างเสนอผลไปในทิศทางเดียวกันว่า พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ มีคะแนนนิยมอันดับหนึ่ง ตามมาด้วย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร

แต่เมื่อถึงเวลาจริงผลการเลือกตั้งสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาก็เช่นกัน เกือบทุกโพลทำนายว่าฮิลลารี่ คลินตัน จะชนะโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ผลกลับพลิกล็อก แม้จะด้วยคะแนนหวุดหวิดจนเกือบจะเกิดการจลาจลก็ตาม แต่ในที่สุดทรัมป์ก็ได้เป็นประธานาธิบดีอย่างผิดคาดและเหลือเชื่อ

จึงมีบางประเทศห้ามใช้โพลในการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งในระยะเวลาหนึ่ง เพื่อปิดกั้นแรงจูงใจจากการอ้างวิชาการสำรวจความนิยม

นิด้าโพลสำรวจในหัวข้อ “อยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี” 5 ครั้ง

ครั้งสุดท้าย (ระหว่าง 20-22 พฤศจิกายน 2561) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากร้อยละ 13 ขึ้นมาเป็นร้อยละ 25 แซง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากร้อยละ 38 เศษ ตกลงมาที่ร้อยละ 24 ส่วนแคนดิเดตคนถัดไปคือนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีคะแนนนิยมเพียงร้อยละ 14-12 เศษๆ เท่านั้น

ด้าน ม.รังสิต ในโครงการสำรวจ “ความนิยมของนักการเมืองที่ประชาชนปรารถนาให้เป็นนายกรัฐมนตรี” ครั้งที่ 4 (ครั้งล่าสุด 24 พฤศจิกายน 2561) แยกเป็นรายภาคแล้วรวมผล ปรากฏว่า

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อันดับ 1 ร้อยละ 27 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อันดับ 2 ร้อยละ 18 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 15.5

ผอ.โครงการสำรวจฯ (รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์) ไม่ได้วิจารณ์ถึงตัวบุคคลและคะแนนที่ประชาชนให้ความนิยมแต่อย่างใด แต่ไปวิเคราะห์ถึงพรรคของนายทักษิณ ชินวัตร (พรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย) ถึงความตกต่ำและเสื่อมโทรมด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ แล้วอ้อมไป “เชียร์” พรรคพลังประชารัฐซึ่งประกาศจะสนับสนุนนายกฯ ตู่เป็นนายกฯ ต่ออีก 4 ปี

เลี่ยงไปเชียร์พรรคแทนที่จะเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ตรงๆ อย่างน้อยก็พอจะยกมาแก้ข้อครหาได้หากจับพลัดจับผลูได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ แม้สำนักโพลทั้งสองจะมีชื่อเสียงและเครดิตดี แต่ก็รวดเร็วเกินไปที่จะ “เชื่อ” ทั้งหมด เพราะเมื่อย้อนดูพฤติกรรมที่ผ่านมาจะเห็นว่าไม่เป็นกลางเท่าไรนัก

ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ของพรรคการเมืองและผู้นำพรรคยังสับสน การให้สัมภาษณ์หรือให้ข่าวของแต่ละคนยังเชื่อถือไม่ได้ การเมืองไทยเป็นที่ผลิตและรวมของคำว่าศรีธนญชัย ตระบัดสัตย์ สร้างภาพ เล่นละคร ข่าวลวง-ข่าวเต้า ซื้อตัว-ดูด เชียร์-เชลียร์ ใส่ร้าย สาดโคลน และ ฯลฯ อันเป็นลักษณะของสังคมน้ำเน่า เวียนว่ายอยู่ในวงจรอุบาทว์

ถ้อยคำดังกล่าวข้างต้นถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา ส่วนใหญ่จะไม่มีการฟ้องร้องเอาผิดกันทางกฎหมาย และถึงฟ้องร้อง ศาลก็อาจจะไม่พิพากษาลงโทษเพราะศาลเห็นเป็นเหตุปกติธรรมดาของสังคมการเมืองไทย

การที่การเมืองต้องอยู่ภายใต้กฎของ “ค่ายกล คสช.” ทำให้พรรคการเมืองและคนในพรรคหนีไม่พ้นพฤติกรรมของน้ำเน่าข้างต้น

จึงมีคำใหม่ๆ เกิดตามขึ้นมาอีกหลายคำ ไม่เพียงแต่คำว่าตัวดูด ซื้อตัว สลายขั้วพรรคทักษิณ ตกหล่มอำนาจ ประชานิยม-วิเศษนิยม

เช่น มีคำว่า พรรคสำรอง พรรคอะไหล่ พรรคเพื่อปาร์ตี้ลิสต์ รวมกันตายหมู่ หรือแยกกันเดินร่วมกันตี เป็นต้น

ร่วมชูมือกันเพียงวันเดียว วันรุ่งขึ้นแยกกันไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคอื่น ถัดมาอีกวันก็ด่าประณามกันด้วยถ้อยคำหยาบคายชนิดไม่เผาผี ถัดมาอีกวันแชร์ขอโทษที่กล่าวหาผิดคน

นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. ประณามคนที่ลาออกจากพรรคเพื่อไทย 40 คนว่า บางคนฉาวโฉ่ในเรื่องโกง ขอสาปแช่งให้สอบตก แต่ต่อมาอีกวันได้แชร์โพสต์ขอโทษ ที่ในรายชื่อ 40 คนนั้นมีความคลาดเคลื่อน มีชื่อคนที่ไม่ได้ลาออกรวมอยู่ด้วย

อีกมุมหนึ่ง นายวัฒนา เมืองสุข กล่าวหาพรรคที่แตกตัวไปจากเพื่อไทย โดยไปรวมไว้ในกลุ่มเดียวกับพรรคพลังประชารัฐซึ่งเชียร์เผด็จการทั้งๆ ที่ไม่เป็นความจริง นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธาน นปช. จึงเตือนนายวัฒนาว่า “อย่ารบกับหมู่มิตร”

ไม่เฉพาะพรรคเพื่อไทยเท่านั้นที่แตกตัวแล้วทะเลาะกันเอง แต่เป็นทุกพรรคที่ทะเลาะกับฟากตรงข้ามแล้วยังทะเลาะกันเองอีกด้วย คนที่เคยประณามการใช้เงินดูดนักการเมือง มาถึงวันนี้กลับเงียบสนิทแล้วแอบสั่งคนในทีมให้ดูดไม่เลือก

ข้อกล่าวหาว่าโกง ทรยศต่ออุดมการณ์ หักหลัง ไม่คำนึงถึงข้าวแดงแกงร้อน ฯลฯ เป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงมาก แต่ไม่มีการฟ้องร้องและนำเรื่องขึ้นสู่ศาล แล้วจะให้เชื่อได้อย่างไรว่าพฤติกรรมและผรุสวาทะเหล่านั้นไม่เป็นความจริงที่ไม่ใช่การแสดง?

ทางออกที่ดีของวันนี้ก็คือ ให้คิดเสียว่าการเมืองต้องไม่ใช่เรื่องเครียด การเมืองเป็นเรื่องสนุก