ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์ /BOHEMIAN RHAPSODY

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

BOHEMIAN RHAPSODY

‘คารวะศิลปิน’

 

กำกับการแสดง Bryan Singer

นำแสดง Rami Malek Lucy Boynton Gwilym Lee Ben Hardy Tom Hollander Aiden Gillen

Mike Myers

 

ปรากฏการณ์ทางดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ.1985 (พ.ศ.2528) ในคอนเสิร์ตการกุศลที่หาเงินไปช่วยคนทุกข์ยากอดอยากในแอฟริกาได้ถึง 127 ล้านเหรียญสหรัฐ

คอนเสิร์ตครั้งนี้เกิดจากดำริและความเหนื่อยยากของบ๊อบ เกลดอฟ ซึ่งได้พบเห็นความอดอยากยากแค้นในแอฟริกาด้วยตาตนเอง จนไม่อยากเบือนหน้าไปทางอื่นและทำเป็นไม่เห็นความทุกข์ยากของเพื่อนร่วมโลก

เขาจึงจัดการระดมทุนในตอนแรกด้วยการออกอัลบั้มที่ชื่อว่า “Do They Know It’s Chrismas?” และตามต่อมาด้วยโครงการที่มีเครือข่ายเชื่อมต่อไปทั่วโลกด้วยคอนเสิร์ตที่ชื่อว่า Live Aid

ไลฟ์เอดเป็นคอนเสิร์ตที่เกิดขึ้นบนเวทีสองแห่งพร้อมๆ กัน คือสนามกีฬาเวมบลีย์ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ และสนามกีฬาจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ในฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยถ่ายทอดดาวเทียมสดไปทั่วโลกสำหรับผู้ชมพันล้านคนใน 110 ประเทศ ขณะที่มีผู้ชมแน่นขนัดล้นหลามที่เวทีสดที่เวมบลีย์เจ็ดหมื่นคน และที่ฟีลาเดลเฟียหนึ่งแสนคน

ด้วยระยะเวลาจัดงานที่แสนสั้นเพียงไม่ถึงสามเดือน และด้วยเงื่อนไขว่าศิลปินนักร้องที่ปรากฏตัวจะไม่รับค่าตัว

งานคอนเสิร์ตครั้งนี้มีดารานักร้องชื่อดังมากมายทั้งในอังกฤษและสหรัฐมาร่วมงานโดยแสดงต่อเนื่องไปสิบหกชั่วโมงพร้อมกันในสองทวีป

โดยมีมกุฎราชกุมารอังกฤษ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และเจ้าหญิงไดอานา เสด็จเปิดงานเป็นทางการในลอนดอน

ศิลปินรับเชิญที่มาร่วมแสดงบนเวทีมีทั้งพอล แม็กคาร์ตนีย์ เอลตัน จอห์น มาดอนนา วงสติง มิก แจ๊กเกอร์ เดวิด โบวี่ ฟิล คอลลินส์ ดูรันดูรัน ควีน ยูทู เดอะบีชบอยส์ เดอะฮู ไบรอัน อาดัมส์ ทอม เพตตี้ นีล ยัง และอีริก แคล็ปตัน เป็นอาทิ

มีเรื่องราวเบื้องหลังของงานครั้งนี้ให้เล่าขานกันได้ไม่จบสิ้น ทั้งการปะทะและการสมัครสมาน ความล้มเหลวและความสำเร็จ

 

ร็อกคอนเสิร์ตการกุศลระดับนานาชาติครั้งนี้เป็นจุดยอดของเรื่องราวในหนังเรื่อง Bohemian Rhapsody โดยจำกัดขอบเขตอยู่ที่ “วงควีน” ซึ่งตอบรับเข้าร่วมแสดงในครั้งนี้เกือบจะเป็นรายท้ายๆ แค่เล่นโดยชนะใจคนดูอย่างยอดเยี่ยม และได้รับการโหวตให้เป็นช่วงการแสดงที่ดีที่สุดในงาน

“โบฮีเมียน แรปโซดี” เป็นหนี่งในเพลงที่ประสบความสำเร็จที่สุดของวงควีน ผู้แต่งเพลงเป็นนักร้องนำ ซึ่งเป็นหน้าตาของวงควีนมาตลอด คือ เฟร็ดดี เมอร์คิวรี

อาจเรียกได้ว่าหนังเรื่องนี้เป็นชีวประวัติ (bio-pic) ของเฟร็ดดี เมอร์คิวรี ซึ่งนอกจากสร้างเสียงเพลงให้แก่วงการร็อกแบบที่โลกจะไม่วันลืมแล้ว ยังเป็นคนดังคนแรกๆ ที่สร้างความตระหนกตกใจและตื่นตัวไปทั่วโลกเมื่อเขาเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ในช่วงทศวรรษ 1990

หนังไม่ได้ตั้งใจจะเล่าเรื่องราวของวงควีนทั้งวง ซึ่งมีไบรอัน เมย์ และโรเจอร์ เทย์เลอร์ เป็นกลไกสำคัญมาตั้งแต่ต้น…

แต่ต้องขอบอกหน่อยเถอะว่าทรงผมหยิกฟูอันเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของไบรอัน เมย์ ยังคงเก็บรักษาไว้อย่างดีเยี่ยมในหนังเรื่องนี้

ที่ต้องปรบมือให้ดังๆ คือ เรมี มาเลก ซึ่งเพิ่งมีบทบาทน่าประทับใจไปในหนัง Papillon เวอร์ชั่นใหม่เมื่อเร็วๆ นี้ และมารับบทเป็นเฟร็ดดี เมอร์คิวรี ได้อย่างดีเยี่ยม

 

เฟร็ดดีเกิดบนเกาะแซนซิบาร์ ประเทศแทนซาเนีย และอพยพมาอยู่อังกฤษพร้อมครอบครัวตั้งแต่วัยเด็ก เขามีเชื้อสายของแขกปาร์ซี ที่นับถือศาสนาโซโรแอสเตอร์ ซึ่งเป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดศาสนาหนึ่งที่ยังคงมีศาสนิกชนสืบทอดมาจนในปัจจุบัน

หลายคนอาจเรียกว่านี่คือลัทธิบูชาไฟ เนื่องจากความเชื่อที่ว่าไฟและน้ำถือเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งในโลก แต่ความเชื่อที่สำคัญซึ่งสรุปไว้ในหนังโดยผ่านทางตัวละครผู้พ่อของเฟร็ดดี ซึ่งสอนลูกๆ อยู่ตลอดเวลาคือ “คิดดี พูดดี ทำดี”

เฟร็ดดีมีพรสวรรค์ทางดนตรีแบบที่ไม่ได้รับการส่งเสริมจากครอบครัว เขาเป็นเด็กหนุ่มผิวคล้ำที่ทำงานขนกระเป๋าที่สนามบินที่ลอนดอน และโดนเรียกอย่างดูแคลนว่า “ปากี” มาตลอด เขาต้องตอบกลับว่าเขาไม่ใช่แขกปากีสถานซะหน่อย

ยามว่าง เฟร็ดดีหลบไปฟังเพลงจากวงโนเนม ซึ่งเรียกตัวเองว่า “สไมล์” และได้โอกาสครั้งสำคัญจากการที่นักร้องนำของวงทิ้งวงไปดื้อๆ เขาขอเข้าร่วมวงโดยโชว์พลังเสียงอันเหลือเชื่อให้ฟัง และได้รับคำตอบกลับมาว่าเสียงก็ดีอยู่หรอก แต่ฟันเหยินของเขานี่สิที่คนดูจะมองข้ามไปได้ยังไง

เฟร็ดดีตอบว่าเพราะฟันเหยินนี่แหละทำให้เขามีโพรงอากาศอยู่ในปากมากพอจนเปล่งเสียงทรงพลังได้

ปมด้อยกลับกลายเป็นปมเด่น เพียงแค่จากการปรับเปลี่ยนมุมมอง และหนังแสดงให้เห็นว่าเฟร็ดดียังคงรักษาเอกลักษณ์ฟันเหยินของเขาไว้โดยตลอด แม้ในยามที่เขาร่ำรวยมหาศาล มีเงินมีทองจะจัดฟันให้เข้าที่เข้าทาง เพื่อปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของตนได้ เขาก็ไม่ยอมทำ

เพราะนี่คือจุดเด่นของเขา ไม่ว่าใครจะค่อนขอดยังไง

 

เฟร็ดดีพบ “รักแท้ในชีวิต” ของเขาในตัวผู้หญิงที่เขาจะแต่งงานด้วย ซึ่งแม้จะเกิดความเปลี่ยนแปลงสำคัญในชีวิตคนทั้งสอง ทั้งคู่จะคงความเป็นเพื่อนที่ดีอยู่ชั่วชีวิต แมรี่ ออสติน (ลูซี่ บอยน์ตัน) จะเป็นผู้รับมรดกของเฟร็ดดีต่อมา

แต่เขาก็ได้พบตัวตนที่แท้จริงของตัวเองท่ามกลางชื่อเสียงและความสำเร็จในวงการดนตรีร็อก ร่วมกับวงควีนที่มอบเสียงเพลงอันเป็นสัญลักษณ์ไม่รู้ลืมสำหรับวงการร็อก

เสียงเพลง We Will Rock You จากวงควีนได้รับยกย่องกันว่าเป็น “เพลงชาติของชาวร็อก” และการดึงคนดูเข้ามาเป็นส่วนของการแสดงด้วยการกระทืบเท้ากับตบมือเป็นจังหวะก็กลายเป็นความคลั่งไคล้ด้วยการสมานสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวในงานคอนเสิร์ตของชาวร็อก

รวมทั้งการเปล่งเสียง “เอ๊โอ!” นำให้แฟนเพลงเปล่งเสียงตาม ก็กลายเป็นสัญลักษณ์ที่แฟนๆ ชื่นชอบ

 

ผู้เขียนชอบส่วนที่หนังแสดงให้เห็นเบื้องหลังการผลิตงานเพลงชิ้นสำคัญของวงควีน ซึ่งเฟร็ดดีเกิดความคิดพิสดารที่จะนำโอเปราเข้ามาสู่วงการร็อก

การมิกซ์เสียงด้วยวิธีการแปลกๆ ซึ่งกลายเป็นเสียงที่กลมกลืนอยู่ในเพลงที่เราคุ้นหู การร้องรับแบบลูกคู่ด้วยคำหรือข้อความที่แปลกแปร่งไปจากเนื้อเพลง ที่ทำให้คนฟังต้องถามว่าคำนั้นมาเกี่ยวอะไรด้วย

เช่น “กาลิเลโอ” และการต่อสู้เพื่อบุกเบิกความแปลกใหม่ให้แก่วงการเพลง อย่างเช่น การที่สถานีวิทยุจะไม่ยอมเปิดเพลงที่มีความยาวมากกว่าความยาวปกติสามนาที เป็นต้น

เนื่องจากครอบครัวของเฟร็ดดี ซึ่งเกิดมาในชื่อภาษาปาร์ซีว่า ฟารุก นับถือศาสนาโซโรแอสเตอร์ และหนังบอกว่าพีธีศพของเขาทำตามพิธีกรรมของศาสนานี้

ตั้งแต่สมัยเรียนประวัติศาสตร์อารยธรรมโลก ผู้เขียนนึกว่าพิธีศพแบบโซโรแอสเตอร์นั้นน่าจะเป็นเรื่องชวนสังเวชที่สุดแก่ผู้พบเห็น

นั่นคือ หลังจากประกอบพิธีบูชาไฟแล้ว ศพจะถูกนำไปทิ้งให้แร้งกามาจิกกินจนไม่เหลือซาก…

เฟร็ดดี เมอร์คิวรี นักร้องผู้สะกดคนดูนับหมื่นนับแสนไว้ภายใต้มนตร์ของเสียงเพลงคนนี้ น่าจะเป็นรูปธรรมครั้งแรกสำหรับพิธีกรรมที่เคยนึกว่ามีอยู่แต่ในตำนานที่เล่าขานกัน