สุจิตต์ วงษ์เทศ/ ‘อุ้มสม’ เสพสังวาส พิธีกรรมขอฝน ในวรรณกรรมโบราณ

หอนางอุสา โขดหินธรรมชาติที่ยกย่องเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผี สมัยก่อนรับศาสนาจากอินเดีย ต่อมาสมมุติเป็นสถานที่ตามนิทานท้องถิ่นเรื่องอุสาบารส บนภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

สุจิตต์ วงษ์เทศ

‘อุ้มสม’ เสพสังวาส

พิธีกรรมขอฝน

ในวรรณกรรมโบราณ

“อุ้มสม” เป็นที่เข้าใจทั่วไปในปัจจุบันว่าหมายถึงสมสู่เสพสังวาสกันโดยมีหรือไม่มีผู้จัดให้ก็ได้ ซึ่งกร่อนจาก “เทพอุ้มสม” หมายถึง เทวดาจัดแจงให้สมสู่กัน

เหล่านี้น่าจะมีต้นตอจาก “อนิรุทธ์สมอุษา” หมายถึง พระไทร (เทพารักษ์) อุ้มพระอนิรุทธ์ซึ่งหลับอยู่ใต้ต้นไทรนั้นไปสมสู่นางอุษา มีในหนังสือเรื่อง อนิรุทธ์คำฉันท์ วรรณกรรมสรรเสริญพระกฤษณะ สมัยต้นอยุธยา

อนิรุทธ์คำฉันท์ กับ อุณรุทคำกลอนบทละคร แต่งตามความเชื่อเพื่อพิธีกรรมขอฝน สืบเนื่องจากประเพณี “ปั้นเมฆ” สมัยดึกดำบรรพ์ เนื้อเรื่องหลักมุ่งสรรเสริญวีรกรรมของพระกฤษณะ แต่เล่นขอฝนเป็นละครเฉพาะตอนอุ้มสม มีฉากสมสู่สังวาส

นักปราชญ์ไทย เคยบอกว่าอุณรุทเล่นขอฝน แต่ไม่บอกว่าเล่นตอนไหน? ตอนสรรเสริญพระนารายณ์ หรือตอนอุ้มสม หรือเล่นหมดตั้งแต่ต้นจนจบ? จึงเดาว่าเล่นตอนอุ้มสม สอดคล้องสมัยหลังๆ เล่นเพลงโต้ตอบแก้กันด้วยถ้อยคำหยาบคายเชิงสังวาสถึงพริกถึงขิง

[ปั้นเมฆ เป็นการละเล่นสมสู่สังวาส สัญลักษณ์การทำให้เกิดน้ำเพื่อความอุดมสมบูรณ์]

อนิรุทธ์ โดยรูปศัพท์มีความหมายเกี่ยวข้องพระกฤษณะ และกิจกรรมบันเทิงเชิงสังวาส [อนิรุทธ์ มาจากภาษาสันสกฤต ว่า อนิรูทฺธ แปลว่า กาม, ผู้สามีนางอุษา, เชือกล่ามโค (จากหนังสือ สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน กระทรวงศึกษาธิการ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2511 หน้า 43)]

 

เทวดาบันเทิงเชิงสังวาส

 

พระกฤษณะ เป็นเทวดาหนักไปทางบันเทิงเชิงสังวาส ซึ่งแวดล้อมด้วยเหล่าดรุณีเลี้ยงโค แล้วมีกิจกรรมสมสู่เสพสังวาสบันดาลความจำเริญเติบโต ทำให้พืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์มั่งคั่งและมั่นคง

บ้านเมืองภาคพื้นสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์ สมัยแรกรับวัฒนธรรมอินเดีย ต่างยกย่องนับถือพระกฤษณะผู้เป็นเจ้ากรุงทวารวดี เพราะไม่เคร่งครัดและไม่เคร่งเครียด จึงมีพิธีกรรมสรรเสริญบูชาพระกฤษณะ แล้วต่างตั้ง “นคราธิษฐาน” ขอบ้านเมืองของตนมีนามตามเมืองพระกฤษณะว่า “ทวารวดี” ตั้งแต่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาถึงลุ่มน้ำโขง ชี มูล และโตนเลสาบ (กัมพูชา)

ประเพณีพิธีกรรมอย่างนี้ตกค้างถึงเรือน พ.ศ.1800 พบทับหลังปูนปั้นเล่าเรื่องพระกฤษณะ ที่พระปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองละโว้ จ.ลพบุรี จึงมีวรรณกรรมคำฉันท์เรื่องอนิรุทธ์ สมัยต้นอยุธยา แล้วสืบเนื่องเป็นบทละครเรื่องอุณรุท สมัย ร.1 กรุงรัตนโกสินทร์

 

อนิรุทธ์ ไม่ศรีปราชญ์

 

อนิรุทธ์คำฉันท์ ไม่แต่งโดยศรีปราชญ์ (ตามที่มีบอกในตำราเก่าเรื่องประวัติวรรณคดี) เพราะศรีปราชญ์ไม่มีตัวตนจริง แต่เป็นชื่อตัวเอกในนิทานวีรบุรุษ มีข้อมูลจะคัดมาดังนี้

“อนิรุทธ์คำฉันท์เป็นวรรณคดีสมัยอยุธยา แต่งด้วยคำประพันธ์ฉันท์ กาพย์ฉบัง และกาพย์สุรางคนางค์ ไม่ทราบแน่ว่าใครเป็นผู้แต่ง เดิมเชื่อกันว่าศรีปราชญ์เป็นผู้แต่ง เพราะมีผู้เขียนโดยเติมไว้ข้างท้ายว่า ‘ศรีปราชญ์ ปัญญายง แต่งไว้’ แต่จากการศึกษาของนักวรรณคดีเชื่อกันว่าศรีปราชญ์ไม่มีตัวตน อาจเป็นได้ที่อนิรุทธ์คำฉันท์จะแต่งในสมัยเดียวกับสมุทรโฆษคำฉันท์ และผู้แต่งอาจเป็นคนกลุ่มเดียวกัน เพราะสำนวนโวหารใกล้เคียงกันทั้งแนวนิยมด้านวรรณศิลป์และความเก่าใหม่ของภาษา—-”

จากหนังสือ นามานุกรมวรรณคดีไทย ชุดที่ 1 ชื่อวรรณคดี [จัดทำโดยมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2550 หน้า 657-658] แล้วบอกอีกว่า

เนื้อเรื่องของอนิรุทธ์คำฉันท์ ดำเนินความตั้งแต่พระอนิรุทธ์ทูลลาพระกฤษณะผู้เป็นอัยกา และลาสาวสนม ก่อนออกจากเมืองทวารพดีไปล่าสัตว์ในป่า อาทิ เสือ ควายป่า แรด ช้าง ฯลฯ ด้วยความเก่งกาจ

ครั้นค่ำลงก็ประทับพักใต้ร่มไทร พระไทรมีความเอ็นดูจึงอุ้มไปสมนางอุษาธิดาเจ้ากรุงพาณที่โสณินคร แล้วพากลับก่อนรุ่งสาง

นางอุษาตื่นบรรทมมีความโศกเศร้า จึงสั่งนางพอจิตรเลขาพี่เลี้ยงให้วาดรูปหาตัวผู้มาสมนาง ครั้นพบว่าเป็นพระอนิรุทธ์ ก็ให้นางพี่เลี้ยงเหาะไปลอบรับมาหาอยู่ร่วมกันในตำหนัก ต่อมามีผู้รู้และเกิดข่าวลือออกไป

กรุงพาณหรือพาณาสูรราชบิดาทราบเรื่องจากนางกำนัลก็กริ้ว จึงจัดขบวนทัพมาล้อมรบกับพระอนิรุทธ์ แผลงศรนาคได้ชัยชนะจับพระอนิรุทธ์มัดประจานไว้หน้าพระลาน พอดีพระนารทฤๅษีดีดพิณพลางเหาะผ่านมาเห็นเข้า ก็รีบไปบอกแก่พระกฤษณะ

พระกฤษณะจึงมีโองการประชุมพล หาพระปรัทยุมน์และพลเทพมาพร้อม เสด็จด้วยพาหนะครุฑไปยังโสณินคร นาคที่รัดพระอนิรุทธ์ทนฤทธิ์ครุฑไม่ได้จึงคลายขนดหนีไป

ฝ่ายกรุงพาณมีพระเพลิงและอังคีรสเป็นกองหน้า ออกสู้รบก็พ่ายแพ้ พาณาสูรจึงรีบไปฟ้องพระอิศวรให้เสด็จมาช่วยพร้อมทั้งขันทกุมารและพระวิฆเนศวร์ สองฝ่ายต่อสู้กันก้ำกึ่ง ไม่แพ้ชนะแก่กัน พระอิศวรคิดจะลืมพระเนตรที่สาม แต่เทวดาและฤๅษีพากันขอร้องให้ทรงยับยั้ง เพราะเกรงโลกทั้งสามจะพินาศ

พาณาสูรจึงเข้าสู้รบด้วยตนเอง ถูกพระกฤษณะจับได้แล้วตัดกรทั้งพันให้เหลือเพียงสอง พระอิศวรทรงขอชีวิตไว้ให้เป็นทวารบาล พระกฤษณะจึงอนุโลมตาม แล้วพระอนิรุทธ์ นางอุษา ขึ้นทรงครุฑร่วมกับพระองค์และพระปรัทยุมน์ กลับสู่เมืองไลยบุรี (น่าจะเป็นเมืองทวารพดีของพระกฤษณะนั้นเอง)

 

อุสาบารส

 

อุสาบารส เป็นวรรณกรรมคำบอกเล่าของกลุ่มคนลุ่มน้ำโขง บริเวณเวียงจัน และพบตกค้างอยู่ในอีสานเหนือย่านหนองคาย, อุดรธานี เพื่ออธิบายภูมิประเทศที่ดัดแปลงธรรมชาติเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผีและศาสนาพุทธปะปนกันบนภูเขาเตี้ยๆ เรียก ภูพระบาทใหญ่ และภูพระบาทน้อย (ในทิวเขาภูพาน) อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

โครงเรื่องอย่างเดียวกับอนิรุทธ์ ซึ่งมีตัวละครเอกคือพระอนิรุทธ์กับนางอุษา แต่ถูกดัดแปลงเป็นท้องถิ่นว่าอุสาบารส หมายถึง อุสา คือ นางอุษา ส่วนบารส คือคำกลายจากชื่อพระอนิรุทธ์

นักวิชาการวรรณกรรมลุ่มน้ำโขงบางท่านเชื่อว่าอุสาบารส เป็นนิทานท้องถิ่นลุ่มน้ำโขง ถ่ายโอนจากเรื่องพระกึดพระพาน (โครงเรื่องคล้ายอุณรุทและรามเกียรติ์)

 

อุณรุท

 

อุณรุท กลายคำจากอนิรุทธ์ และมีโครงเรื่องดัดแปลงจากอนิรุทธ์ (บทละคร) สมัยอยุธยา ใช้เล่นทั่วไปทั้งละครราชสำนักและละครชาวบ้าน เล่นงานวัดก็ได้ (เช่น พบในบุณโณวาทคำฉันท์) ต่อมาเพิ่งมีข้ออ้างในบางกลุ่มสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ว่า อุณรุทไม่เล่นละครนอก

บทละครอุณรุท พระราชนิพนธ์ ร.1 แต่งตามขนบสรรเสริญพระนารายณ์อวตารเป็นพระกฤษณะ