โลกหมุนเร็ว / เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง /ความอุดมสมบูรณ์ ความเกียจคร้าน อาหาร และการร้องรำทำเพลง

โลกหมุนเร็ว / เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง [email protected]

ความอุดมสมบูรณ์

ความเกียจคร้าน

อาหาร และการร้องรำทำเพลง

           

วันนี้คอลัมน์ เคี้ยวตุ้ย ตะลุยกิน ของชม นำพา ในมติชน เขียนเรื่องน้ำพริก ข้าว ปลาเค็ม ปลาแห้ง ของกินง่ายๆ สมัยอยุธยาได้ถูกอกถูกใจมากๆ

นอกจากจะอ่านสนุกเกี่ยวกับเรื่องอาหารการกินของคนไทยตั้งแต่ครั้งอยุธยาเรื่อยมาจนถึงรัตนโกสินทร์ จำได้ว่าตนเองก็ได้อ่านหนังสือเล่มเดียวกับที่คุณชม นำพา เอามาอ้างอิง เมื่อครั้งไปเยี่ยมเยือนบ้านฮอลันดาที่อยุธยา อันได้แก่ “บันทึกประวัติศาสตร์อยุธยาของวัน วลิต” และ “จดหมายเหตุลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม”

ตามประสาคนที่ไม่ค่อยเอาไหนเรื่องประวัติศาสตร์ เพราะไม่ถนัดเรื่องความจำ อ่านแล้วก็จำมาแต่เรื่องที่ถูกใจ

คุณชม นำพา อ้างอิงถึง “หนังสือ Histoire du Royaume de Siam” ของฟรังซัวร์ส อังรี ตุรแปง ที่บันทึกไว้ว่า “ข้าว และปลาเค็ม ปลาแห้งในกรุงสยามราคาถูกเหลือหลาย ฉะนั้น ชนชาตินี้ไม่ต้องห่วงถึงช่องทางทำกิน ปล่อยตัวเกียจคร้าน ทุกบ้านช่องกึกก้องไปด้วยเสียงร้องเพลง และเสียงชื่นชมโสมนัส ซึ่งเราจะไม่ได้ยินในชนชาติอื่น”

สำหรับหนังสือของวาน วลิต ที่ได้อ่านช่วงสั้นๆ แบบพลิกเร็วๆ ที่บ้านฮอลันดา นี้คิดว่าคนไทยผู้ใฝ่รู้จักตนเอง และยอมรับข้อสังเกตของกึ่งคำวิจารณ์ของฝรั่งได้น่าอ่านทุกคน

ผู้เขียนคิดว่าเป็นหนึ่งในหนังสือที่ต้องอ่านเลยละนะคะ

 

ข้อสังเกตที่สะดุดใจผู้เขียนไม่ใช่ที่เขาวิจารณ์ว่าคนไทยขี้เกียจหรอกนะคะ แต่เป็นเรื่องอาหารการกินที่เขาพูดในเชิงว่าการกินของเราแสนจะ simple และ basic สำเนียงพูดทำนองว่ากินอยู่แค่เนี้ย ไม่พัฒนา

“สยามมีความอุดมสมบูรณ์และมีอาหารอย่างล้นเหลือ พวกเขาไม่ฟุ่มเฟือยในเรื่องอาหารการกิน มักรับประทานข้าวธรรมดาๆ ปลาแห้ง ปลาสด ปลาเค็ม กับผัก”

มันก็แน่ละนะ เพราะอาหารที่เขาเห็นเป็นอาหารของชาวบ้าน

ถ้าไปเห็นอาหารชาววังก็จะต้องคิดอีกอย่าง

ตั้งแต่สมัยกรีก โรมัน ในซีกโลกตะวันตก เมื่อบ้านเมืองสงบ ไม่ต้องทำสงคราม ชนชั้นสูงก็จะสร้างวรรณคดี ดนตรี

ส่วนไทยเรามีความอุดมสมบูรณ์ก็มาพัฒนาอาหารการกิน

ชาววังมีภูมิปัญญาประดิดประดอยเพราะว่าต้องทำถวายเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ต้องละเมียดทั้งรูปลักษณ์และรสชาติ ส่วนชาวบ้านสมัยโบราณก็กินกันไม่กี่อย่าง มาสมัยนี้ฟ้ากับดินเชื่อมเข้าหากัน คนชั้นกลางได้กินอาหารประดิดประดอยแบบชาววัง เช่น ข้าวแช่ เป็นต้น

 

บทความของคุณชม นำพา ทำให้ผู้เขียนรู้ว่าสมัยกรุงธนบุรีมีหนังสือปาจิตตกุมารชาดก พูดถึงการเดินทัพที่ต้องเตรียมอาหาร ได้แก่ ไก่พะแนง (ของโปรดผู้เขียน) พล่า ยำ ตำกุ้งทอด ของหวานมีจันอับ ขนมโก๋ ทุเรียนกวน (ของหวานโปรด)

คนไทยมีรสนิยมและความคิดสร้างสรรค์เรื่องอาหารอย่างต่อเนื่อง ไม่แปลกใจที่ทุกวันนี้ร้านอาหารขายดีไม่มีตก เช่น ไปแวะร้านกับข้าวกับปลาของคุณปลา อัจฉรา บุรารักษ์ พบว่ามีมังคุดยำ ใช้เนื้อมังคุดขาวๆ เอามายำกินแล้วสดชื่นมาก

หรือเห็นเร็วๆ นี้มีเมนูต้มข่าไก่มะพร้าวน้ำหอม หรือแกงส้มปลากะพงใส่ไหลบัวและดอกขจร เป็นต้น

คนไทยยังคงมีความสุขกับการสร้างสรรค์เมนูอาหารในทุกระดับ

คนรุ่นใหม่จำนวนมากเรียนจบสาขาต่างๆ มา พบว่าทำอาหารดีกว่าทำอาชีพที่อุตส่าห์ร่ำเรียนมา พบว่าทำอาหารสนุก และพอจะมีรายได้ บางคนก็ร่ำรวยไปเลย

แม้แต่หนูน้อยอายุน้อยๆ ยังมีฝีมือทำอาหารอย่างน่าทึ่ง เห็นได้จากรายการ Master Chef เด็กทางโทรทัศน์

รายการทำอาหารในทีวีก็เป็นที่สนใจสม่ำเสมอ

 

นอกจากเรื่องอาหารก็มาถึงการร้องรำทำเพลง

นิสัยรักการร้องรำทำเพลงก็ยังสืบต่อเนื่องมาถึงทุกวันนี้ จะเห็นจากรายการประกวดร้องเพลงที่ดูกันไม่รู้เบื่อทางทีวีทุกช่อง จนบรรดา commentator ร่ำรวยไปตามๆ กัน ส่วนผู้มาประกวดก็มีความสามารถสูง ถ้ามีการทำวิจัยว่าคนไทยนั่งหน้าจอดูรายการประกวดร้องเพลงกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์คงจะได้ตัวเลขที่น่าสนใจทีเดียว

ผู้ที่ฝึกฝนร้องเพลงเพื่อมาล่ารางวัลมีกี่เปอร์เซ็นต์ที่สามารถประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้ตัวเองและครอบครัว น่าจะได้ร้องเพลงออกทีวีก็มีความสุขดีแล้ว

ร้านอาหารที่ขายดี ตั้งแต่ระดับภัตตาคารหรูจนถึงริมถนน กับรายการประกวดร้องเพลงที่ได้รับความนิยม แสดงว่าคนไทยสมัยอยุธยาจนถึงคนไทยสมัยนี้ยังคงรักษานิสัยไว้อย่างเหนียวแน่น

ความอุดมสมบูรณ์ก็ยังคงมีอยู่ แม้ว่านิสัยกินบ้างทิ้งบ้างจะน้อยลง เห็นได้จากการนำอาหารที่ร้านใส่กล่องกลับบ้านเมื่อกินเหลือ

เพราะว่าอาหารมีราคาแพงขึ้น และก็คงจะแพงขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ