สุรชาติ บำรุงสุข l หกตุลารำลึก : สงครามไทย-พรรคจีน

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

หกตุลารำลึก (10) สงครามไทย-พรรคจีน

“เราหวังว่าสงครามกองโจรในประเทศไทยจะเกิดขึ้นก่อนสิ้นปีนี้ [2508]”

จอมพลเฉิน ยี่ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศจีน

เมื่อผมเข้ามาเรียนคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 1 ในปี 2516 นั้น เรื่องราวเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์และจีนแผ่นดินใหญ่ ยังคงเป็นความลึกลับอยู่มาก

ผู้คนในสังคมไทยไม่ค่อยได้รับรู้เรื่องนี้ และรัฐก็ไม่อนุญาตให้ข่าวสารในเรื่องนี้เผยแพร่

รัฐเชื่อว่าผู้คนในสังคมไม่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอ จึงไม่สมควรที่จะรับรู้เรื่องดังกล่าว เรื่องราวของคอมมิวนิสต์และที่เรียกในยุคนั้นว่า “จีนแดง” จึงเป็นความอยากรู้สำหรับชีวิตนิสิตรัฐศาสตร์ในขณะนั้น

ยังจำได้ดีว่ามีหนังสือเกี่ยวกับจีนขายในร้านหนังสือที่คณะ เช่น งานของ Stuart Schram, The Political Thought of Mao Tse-Tung เป็นหนังสือภาษาอังกฤษ แม้ผมอยากจะซื้อด้วยความใคร่รู้ แต่ความสามารถที่จะอ่านจริงยังจำกัดอยู่มาก

และถ้าอยากรู้มากขึ้นก็ไปที่ร้านดวงกมลที่สยามสแควร์ ซึ่งเป็นเหมือนร้านหนังสือฝ่ายซ้ายในยุคนั้น เพราะมีหนังสือแนวทางนี้ของสำนักพิมพ์ Penguin จากอังกฤษวางขายหลายเรื่อง

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พวกผมกลับเข้าห้องเรียนตอนเทอมปลาย และต้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์การเมืองจีน ผู้สอนคือ ศ.ดร.เขียน ธีระวิทย์ ซึ่งในยุคนั้นอาจารย์เขียนถือเป็นปัญญาชนปีกซ้ายคนสำคัญในวงวิชาการไทย

พวกเราเรียนเรื่องการปฏิวัติจีนด้วยความตื่นเต้น

ต้องยอมรับว่าเป็นครั้งแรกที่พวกเราเรียนรู้เรื่องคอมมิวนิสต์จีน และเป็นครั้งแรกเช่นเดียวกันที่เราได้รับรู้เรื่องของเหมาเจ๋อตุง ทั้งที่เรื่องเหล่านี้ในขณะนั้นอยู่ภายใต้กฎหมายคอมมิวนิสต์

แต่ด้วยเงื่อนไขของการเรียนในคณะ ทำให้มีวิชานี้เปิดสอนได้ และเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับนิสิตรัฐศาสตร์อย่างพวกเราที่จะทำความรู้จักกับการปฏิวัติจีนของประธานเหมา

จำได้ว่าผมกับเพื่อนส่วนหนึ่งเรียนเรื่องนี้ด้วยความเร้าใจเป็นอย่างยิ่ง

เปิดพรมแดนความรู้ฝ่ายซ้าย

ในตอนต้นปี 2517 มีการจัดนิทรรศการ “โฉมหน้าจีนใหม่” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (30 มกราคม-3 กุมภาพันธ์) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่หนังสือ “ปรัชนิพนธ์เหมาเจ๋อตุง” ออกมาวางจำหน่าย

หนังสือขายดีมาก และคนก็แห่กันมาดูนิทรรศการมากด้วย

แล้วหนังสือในแนวทางสังคมนิยมแห่ทยอยกันออกมาไม่หยุด จนนิทรรศการนี้เป็นดังการ “เปิดประตูจีน” ในสังคมไทย

แล้วตามมาด้วยหนังสือชุด “สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุง” ในปี 2518

แล้วเรื่องราวเกี่ยวกับจีนก็ทะลักเข้าสู่สังคมไทย ช่วงเวลาเช่นนี้เป็นเสมือนกับการ “เปิดพรมแดนความรู้” ของแนวคิดฝ่ายซ้ายอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทั้งที่กฎหมายคอมมิวนิสต์ยังมีผลบังคับใช้

อีกทั้งยังมีเอกสารฝ่ายซ้ายในอดีตและหนังสือจากสำนักพิมพ์ปักกิ่งที่เป็น “หนังสือต้องห้าม” หลายๆ เรื่องทะลักออกมาเช่นกัน การออกมาของหนังสือฝ่ายซ้ายจากต้นปี 2517 ทำให้พวกเราพึ่งพาหนังสือภาษาอังกฤษจากร้านดวงกมลน้อยลง แต่ก็หมายความว่า พวกเราอ่านหนังสือจากปักกิ่งมากขึ้น และปฏิเสธไม่ได้ถึงอิทธิพลจีนในวงการคนหนุ่มสาวฝ่ายซ้ายไทยในขณะนั้น

การเปิดพรมแดนความรู้ฝ่ายซ้ายหลังงานโฉมหน้าจีนใหม่ในตอนต้นปี 2517 ทำให้เรื่องราวของ “จีนแดง” และ “ลัทธิคอมมิวนิสต์” ทะลักออกมาสู่เวทีเปิดในสังคมไทยมากขึ้น

และผลสืบเนื่องเรื่องหนึ่งที่คนรุ่นผมอยากรู้ต่อมาก็คือ เรื่องราวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เพราะเป็นประเด็นที่ถูกปิดเป็นความลับมานาน…

ยิ่งปิดก็ยิ่งอยากรู้ เป็นความอยากรู้ของนิสิตรัฐศาสตร์ที่สนใจการเมืองในท่ามกลางกระแสซ้ายที่กำลังขยับตัวสูงขึ้น

แล้วกระแสนี้ก็พาพวกเราเข้าสู่ความเป็น “นักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย” ในเวลาต่อมา

หลังจากปี 2517-2518 แล้ว กระแสซ้ายเป็นดัง “ลมตะวันออก” ที่พัดแรงไปทั่วทั้งขบวนนักศึกษาไทย

พรรคไทย-พรรคจีน

ในท่ามกลางการเคลื่อนตัวของกระแสซ้ายที่สูงขึ้น ความใคร่รู้ในเรื่องของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะในความเป็นจริงแล้วชุดความคิดเรื่องการปฏิวัตินั้นผูกโยงกับปัญหาสงครามปฏิวัติอย่างแยกไม่ออก

และขณะเดียวกันการปฏิวัติไทยก็มีความสัมพันธ์ที่เชื่อมต่อเข้ากับพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลย

ข้อมูลของเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงไทยมองว่า จุดเริ่มต้นของคอมมิวนิสต์ในไทยมาจากการขับเคลื่อนของสากลที่สามที่ต้องการให้มีการขยายการจัดตั้งในเอเชีย อันนำไปสู่การจัดตั้ง “องค์กรคอมมิวนิสต์แห่งตะวันออกไกล” (The Communist Far East Bureau) ในปี 2465 เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของการดำเนินงานในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

และต่อมาในปี 2466 ได้มีสมาชิกจีนจำนวน 6 คน เดินทางมาจากเซี่ยงไฮ้ เพื่อเข้าทำงานจัดตั้งกับพี่น้องชาวจีนในไทย (มากกว่าจะเน้นคนไทย)

และในปี 2468 โฮจิมินห์จึงได้ส่งคนเข้าจัดตั้งชาวเวียดนามในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อการต่อต้านฝรั่งเศสเป็นหลัก

จนในปี 2469 ทางจีนได้จัดตั้ง “คณะกรรมการทะเลใต้” ขึ้นเพื่อเป็นจุดประสานงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในปี 2470 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “พรรคคอมมิวนิสต์ทะเลใต้”

เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงไทยเชื่อว่า สมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้ามาในไทยมากขึ้นหลังจากการกวาดล้างใหญ่ในจีนในช่วงปี 2470-2472

ต่อมามีการยุบพรรคคอมมิวนิสต์ทะเลใต้ในปี 2473 และโอนภารกิจให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์มลายาในการดูแลงานจัดตั้งในมลายาและสยาม อันนำไปสู่การกำเนิดของพรรคคอมมิวนิสต์สยามในปี 2474

ข้อมูลอาจจะไม่ตรงกับงานของอาจารย์มูราชิมาทีเดียวนัก (กำเนิดพรรคคอมมิวนิสต์สยาม, มติชน, 2555) ที่บันทึกไว้ว่า พรรคนี้เกิดขึ้นในปี 2473 จากการจัดตั้งของโฮจิมินห์และบรรดาแกนนำชาวเวียดนาม

ในขณะที่ข้อมูลของสหายรุ่นเก่าบางส่วนเล่าว่า มีชาวยุโรปเข้ามาทำงานเพื่อรวมหน่วยเยาวชนจีนและเวียดนามเป็นพรรคสยาม… จุดเริ่มต้นของขบวนคอมมิวนิสต์ในไทยยังเป็นหัวข้อวิจัยได้เสมอ

ข้อมูลของเจ้าหน้าที่ไทยให้น้ำหนักกับบทบาทของนักเคลื่อนไหวชาวจีนที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อพรรคคอมมิวนิสต์ไทย (มากกว่าจะมองถึงอิทธิพลของชาวคอมมิวนิสต์เวียดนาม)

แม้การจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในวันที่ 1 ธันวาคม 2485 ประกาศผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงของจีนและเวียดนาม

แต่การดำเนินการในช่วงสงครามและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพราะมีคนไทยเป็นสมาชิกจำนวนไม่มากนัก

และหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในจีนในปี 2492 แล้ว สภาวะความเป็น “สมาชิกซ้อน” (พคจ/ท) ของพรรคจีนและพรรคไทยของสมาชิกบางคนเห็นได้ชัดเจน และพรรคจีนเสนอให้ถอนคนเหล่านี้กลับประเทศ

แน่นอนว่าความสัมพันธ์ระหว่างพรรคทั้งสองดำรงอยู่อย่างลึกซึ้งและแนบแน่น

จีนกับสงครามปฏิวัติไทย

ความสัมพันธ์พรรคไทย-จีนดำรงอยู่อย่างยาวนาน และอีกด้านหนึ่งความสัมพันธ์พรรคไทย-เวียดนามก็มีความยาวนานเช่นกัน

ว่าที่จริงแล้วพรรคไทยไม่สามารถละทิ้งความสัมพันธ์ทั้งสองแกนนี้ได้ เพราะรายงานของหน่วยงานความมั่นคงไทยระบุว่า สมาชิกพรรคไทยในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับการฝึกทางการเมืองและการทหารมาจากทั้งจีนและเวียดนาม

แต่ความสัมพันธ์กับจีนดูจะมีมากขึ้น เช่น การประกาศสุนทรพจน์ของชาวพรรคไทยผ่านสถานีวิทยุแห่งนี้ ต่อมาในปี 2505 จึงมีการจัดตั้ง “สถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย” (สปท.) ในภาคใต้จีนเพื่อกระจายเสียงมายังไทย

และท่าทีที่ใกล้ชิดกับพรรคจีนเห็นได้ชัดในเดือนกรกฎาคม 2507 เมื่อพรรคไทยออกแถลงการณ์ประณาม “ลัทธิแก้” ของสหภาพโซเวียตตามแนวทางของพรรคจีน อันเป็นดังการประกาศจุดยืนของพรรคไทย

จุดสำคัญของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดเห็นได้ชัดอีกครั้งในตอนต้นปี 2508 เมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศจีน จอมพลเฉิน ยี่ ประกาศถึงการกำเนิดของสงครามประชาชนในไทย

และในเดือนสิงหาคมของปีนี้ สงครามของพรรคไทยหรือ “วันเสียงปืนแตก” ได้เริ่มขึ้นที่อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม… สงครามปฏิวัติไทยเปิดฉากขึ้นแล้ว

แต่ด้วยคำประกาศของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน ทำให้สงครามปฏิวัติไทยถูกตีความว่าเป็น “สินค้าส่งออก” จากปักกิ่ง

แม้จีนจะแสดงออกอย่างชัดเจนในการสนับสนุนสงครามในไทย แต่นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงเชื่อว่า สงครามประชาชนในไทยเป็นเครื่องมือของรัฐบาลจีนในการ “ป้องปราม” การขยายความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยกับสหรัฐ

และสงครามที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณว่า จีนพร้อมสนับสนุนให้เกิดการก่อความไม่สงบในไทย ถ้ามีการอนุญาตให้สหรัฐขยายบทบาทในประเทศ

สภาวะเช่นนี้จึงมีการตีความว่า เสียงปืนแตกมาจากการขยายบทบาทและกิจกรรมทางทหารของสหรัฐ (ที่เห็นได้ชัดในปี 2508) มากกว่าจะมาจากเงื่อนไขภายในของการเมืองไทย

หรือในมุมมองของนักวิเคราะห์อเมริกันก็คือ สงครามปฏิวัติไทยผูกอยู่กับการสนับสนุนจากจีนเพื่อใช้ในการต่อต้านสหรัฐ

การตีความเช่นนี้เป็นผลมาจากแถลงการณ์ของ พคท. จะมีประเด็นการต่อต้านสหรัฐเป็นเรื่องหลักเสมอ

หรือในช่วงปี 2503 สำนักข่าวปักกิ่งประกาศสนับสนุนการจัดตั้ง “แนวร่วมรักชาติเพื่อต่อต้านสหรัฐอเมริกาและรัฐบาลไทย” และในปี 2504 มีการเรียกร้องให้มีการก่อตั้งแนวร่วมเพื่อขับไล่จักรวรรดินิยมอเมริกัน เป็นต้น

อีกทั้งมีการมองว่า สงครามปฏิวัติไทยคือเครื่องมือที่จะใช้ป้องปรามไม่ให้สงครามของอเมริกันในเวียดนามขยายตัวมากเกินไปจนกลายเป็นภัยคุกคามต่อจีน (เปรียบเทียบได้กับกรณีสงครามเกาหลีในปี 2493 ที่จีนไม่ต้องการให้สงครามเข้าใกล้จีน)

คำถามที่ไม่มีคำตอบ

แม้พรรคไทยและจีนจะมีความใกล้ชิดกันอย่างมาก แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐมีความเห็นว่า ความช่วยเหลือจากจีนนั้น ไม่ได้สูงมากนัก จนเป็นภัยคุกคามที่น่ากลัว (แต่ก็มิหมายความว่าสหรัฐควรจะละเลยสิ่งนี้) เป็นแต่เพียงมีการแสดงออกด้วยการโฆษณาทางการเมืองมาก จนรู้สึกว่าความช่วยเหลือนี้มีเป็นจำนวนมาก

ซึ่งในด้านหนึ่งก็อาจจะต้องถือว่าเป็นข้อดีที่ทำให้สงครามก่อความไม่สงบในไทยไม่ขยายตัว และไม่กลายเป็นปัจจัยให้สหรัฐขยายเป็นสงครามใหญ่ดังเช่นที่เกิดในเวียดนาม (และขณะเดียวกันสถานทูตอเมริกันที่กรุงเทพฯ ก็ไม่ต้องการให้สงครามขยายตัวในไทยด้วย)

แต่แม้ความช่วยเหลือจากจีนจะไม่มากในสายตาตะวันตก แต่จีนกลายเป็น “หลังพิง” ที่สำคัญของพรรคไทย และความช่วยเหลือหลักและชุดอุดมการณ์ยังมาจากจีนด้วย

ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธถึงพื้นที่หลังพิงที่สำคัญทั้งในลาวและเวียดนามไม่ได้ การเชื่อมต่อกับจีนในทางภูมิศาสตร์จำเป็นต้องผ่านทางลาว และทั้งยังจำเป็นต้องอาศัยพื้นที่ของเวียดนามเป็นฐานสนับสนุนหลักเช่นกันด้วย

พรรคไทยในขณะนั้นอาจจะไม่เคยตั้งข้อสงสัยว่า ความสัมพันธ์จีน-เวียดนามจะดำรงอยู่อย่างถาวรหรือไม่ ทั้งที่ความสัมพันธ์จีน-โซเวียตในฐานะของ “พี่ใหญ่” ในค่ายสังคมนิยมได้แตกหักให้เห็นมาแล้ว

และพรรคไทยเคยคิดต่อหรือไม่ว่า ในอีกด้านหนึ่งความสัมพันธ์เวียดนาม-โซเวียตกลับทวีความใกล้ชิดมากขึ้นบนเงื่อนไขสงครามเวียดนาม

และขณะเดียวกันความช่วยเหลือของรัสเซียทั้งทางเศรษฐกิจและการทหารมีจุดมุ่งหมายที่ต้องลดอิทธิพลจีนต่อเวียดนามลง

ดังนั้น ถ้าต้องเลือก พรรคเวียดนามจะเลือกโซเวียตหรือจีน และการเลือกตั้งจะกระทบพรรคไทยเพียงใด

เวียดนามได้รับอาวุธจากโซเวียต เช่น เครื่องบินรบ เรดาร์ ปืนใหญ่ ระบบป้องกันทางอากาศ (ปืนและจรวด) อาวุธประจำการ เครื่องกระสุน อาหาร และเวชภัณฑ์ และรายงานข่าวกรองของสหรัฐเชื่อว่า มีเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาทางทหารโซเวียตประจำในเวียดนามประมาณ 15,000 คน และทหารประมาณ 3,000 นายทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมการยิงอาวุธต่อสูอากาศยาน

แต่พรรคไทยเชื่อว่าความสัมพันธ์จะไม่ผันแปรเป็นอื่น เพราะจีนส่งทหารและทหารช่างมาช่วยเวียดนามเหนือจากปี 2508-2514 มากกว่า 320,000 คน และมีจำนวนสูงสุดถึง 170,000 คนในปี 2510

นอกจากนี้จีนยังสนับสนุนรถถัง รถบรรทุก และปืนใหญ่อีกเป็นจำนวนมาก เวียดนามจึงไม่น่าจะทิ้งจีน

แต่จุดผลิกผันเริ่มขึ้นในปี 2511 เมื่อมีการลงนามความตกลงทางเศรษฐกิจและการทหารฉบับใหม่ อันเป็นสัญญาณความใกล้ชิดที่มากขึ้นของสองประเทศ

ด้านหนึ่ง เป็นเพราะโซเวียตต้องการขยายบทบาทในเอเชีย

และอีกด้าน เป็นผลจากความแตกแยกกับจีน ดังนั้นจากปีดังกล่าวเป็นต้นมา โซเวียตมีฐานะเป็นผู้สนับสนุนหลักแก่เวียดนามเหนือ ซึ่งทำให้จีนไม่พอใจ

และน่าสนใจว่า พรรคไทยมองปัญหานี้อย่างไรถ้าวันหนึ่งต้องเลือกข้าง จะเลือกอย่างไร

เป็นไปได้ไหมที่จะอยู่โดยไม่เลือก!